นางนากพระโขนง : ตายเพราะอะไร?

ท่านผู้อ่านทั้งหลายคงจะเคยได้ยินเรื่องผีนางนากพระโขนง กันมาบ้างแล้วเป็นส่วนใหญ่ บางท่านอาจจะเคยชมในรูปแบบของละครโทรทัศน์ซึ่งก็สร้างออกมาหลายครั้งหลายหน บางท่านอาจจะชมจากภาพยนตร์ที่ฉายตามโรงภาพยนตร์ใหญ่ๆ ในสมัยก่อนสำหรับเรื่องราวของผีนางนาก ผมขอสรุปย่อๆ ดังนี้ คือ ที่บางพระโขนง มีสามีภรรยาคู่หนึ่งซึ่งรักใคร่กันมาก คือนายมาก และนางนาก ต่อมานายมากต้องเข้าเวรเป็นทหาร โดยขณะนั้นนางนากกำลังตั้งครรภ์อยู่ ครั้นเมื่อครบกำหนดคลอด นางนากเสียชีวิตขณะคลอดหรือที่เรียกกันว่า “ตายทั้งกลม” ต่อมานายมากกลับมาบ้านโดยที่ยังไม่ทรบว่านางนากเสียชีวิตแล้ว จึงได้อยู่ร่วมบ้าน แต่ต่อมานายมากก็สงสัยในพฤติกรรมบางอย่าง และทราบว่านางนากเสียชีวิตแล้วขณะคลอดบุตร จึงได้หนีไปวัดมหาบุศย์ นางนากติดตามสามีไปและอาละวาด จนกระทั่งสุดท้ายถูกเณรจิ๋วจับนางนากถ่วงหม้อ แล้วเอายันต์ปิดปากหม้อแน่น

คราวนี้บางท่านอาจจะสงสัยว่า แล้วผมกำลังจะเขียนอะไรให้ท่านอ่านกันละ คืออย่างนี้ครับ ในฐานะที่ผมเป็นสูติแพทย์ที่สนใจวิชา “ประวัติศาสตร์” ผมมีความสงสัยมานานแล้วครับว่าที่แม่นากที่ว่าตายทั้งกลมนี่เป็นเพราะสาเหตุใด ผมได้เพียรพยายามค้นหาหลักฐานต่างๆ เพื่อไขข้อสงสัยของผม แต่กลับพบว่ามีข้อสันนิษฐานสาเหตุการตายของแม่นากหลายกรณี ดังที่ผมจะสรุปให้ท่านทราบดังนี้

๑. ลูกในท้องนางนากไม่กลับหัว โดยทั่วไปเด็กในครรภ์ขณะคลอดมักจะมีส่วนนำเป็นหัว ซึ่งเมื่อหัวเด็กคลอดออกมาแล้ว ส่วนอื่นๆ ของตัวเด็ก ตั้งแต่ คอ ไหล่ ท้อง ก้น และขามักจะคลอดตามมาโดยสะดวก แต่หากเด็กใช้ก้นเป็นส่วนนำในการคลอด ซึ่งถือว่าเป็นการคลอดผิดปกติจากธรรมชาติ (รูปที่ ๑) จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูงขึ้น เช่น เกิดภาวะสายสะดือย้อยออกมาก่อนที่เด็กจะคลอดโดยทั่วไปสายสะดือมีลักษณะเป็นท่อยาวๆ ที่มีเส้นเลือดแดง ๒ เส้น เส้นเลือดดำ ๑ เส้น ที่นำเลือดจากแม่ผ่านรก เพื่อนำเลือดที่มีอาหารและออกซิเจนไปให้ลูกขณะอยู่ในครรภ์ ถ้าเกิดภาวะสายสะดือย้อย สายสะดือก็อาจถูกกดทับโดยส่วนต่างๆ ของตัวเด็กอาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้ในเวลาไม่กี่นาที ซึ่งในปัจจุบันหากเกิดภาวะนี้ จำเป็นต้องรีบช่วยคลอดโดยด่วน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือการผ่าตัดคลอด นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะที่คลอดออกมาแล้วศีรษะติดคาอยู่ในช่องคลอดหลังจากที่ส่วนอื่นๆ ของเด็กคลอดออกมาหมดแล้ว ซึ่งเพียงไม่กี่นาทีก็ทำให้เด็กเสียชีวิตได้เหมือนกัน แต่ภาวะนี้โดยทั่วไปคุณแม่มักจะไม่ค่อยเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต และมักจะคลอดเองได้ หากแต่ถ้าคลอดยิ่งช้าเท่าไรก็จะเกิดอันตรายกับทารกในครรภ์มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น หากลูกในท้องนางนากไม่กลับหัวจริงก็ไม่น่าจะเป็นเหตุให้นางนากเสียชีวิตได้ แต่ลูกอาจจะเสียชีวิตได้

2๒. ทารกอยู่ในแนวขวางกับความสูงของแม่ อันนี้หนักหนาสาหัสกว่ากรณีที่ ๑ เสียอีก เพราะว่าเมื่อทารกอยู่ในแนวขวางกับความสูงของแม่แล้วทารกจะใช้ไหล่เป็นส่วนนำในการคลอดแทนการใช้ศีรษะหรือก้น ท่านลองคิดดูสิครับว่า ไหล่ทั้งไหล่มันใหญ่กว่าศีรษะหรือก้นขนาดไหน (รูปที่ ๒) แต่กรณีที่ ๒ นี้ ทารกจะคลอดออกทางช่องไม่ได้เป็นอันขาด ซึ่งถ้าเป็นสมัยนี้ต้องใช้การผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง ถ้าย้อนกลับไปในสมัยที่ยังไม่มีการผ่าตัดคลอด หรือการผ่าตัดคลอดยังมีอันตรายอยู่มากจากภาวะแทรกซ้อน สูติแพทย์จะใช้เครื่องมือ เช่น กรรไกร หรือคีมตัดทารก ซึ่งส่วนใหญ่จะเสียชีวิตไปแล้ว และดึงออกทางช่องคลอด เรียกว่าหัตถการทำลายเด็ก ปัจจุบันนี้เนื่องจากการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องมีความปลอดภัยสูงมาก จึงทำให้ไม่มีสูติแพทย์คนไหนใช้หัตถการทำลายเด็กแล้ว เพราะว่าเมื่อใช้หัตถการนี้แล้ว ทารกทุกคนจะเสียชีวิตหมด และมีอันตรายต่อช่องคลอดของแม่สูงจากการที่ร่างกายของเด็กโดยเฉพาะกระดูกที่ถูกตัด อาจทิ่มตำช่องคลอดหรือมดลูกทำให้เกิดการฉีกขาด และเสียเลือดได้ และหากรอคลอดทางช่องคลอดโดยไม่ได้ทำหัตถการอะไรเลย ก็อาจเกิดภาวะมดลูกแตก ซึ่งจะทำให้คุณแม่ตกเลือดในช่องคลอด และเสียชีวิตในเวลาต่อมาไม่นาน เนื่องจากเกิดภาวะช็อค นอกจากนี้ภาวะสายสะดือย้อยก็อาจเกิดได้เช่นเดียวกับในกรณีแรก

คุณอุทัย ไชยานนท์๓  ได้เขียนถึงการตายของนางนากในหนังสือ “แม่นาคพระโขนง” ดังนี้ “ทารกมาทางขวางคือไม่เอาหัวออกหรือเท้ามา แต่มาขวางทั้งลำตัว แม่นาคเบ่งแล้วเบ่งอีก ทารกก็ไม่ยอมออก เหตุการณ์เป็นไปอย่างนี้อยู่ ๓ วัน ในวันที่ ๓ แม่นาคเอาสองมือโหนเชือก รวบรวมกำลังเบ่งเป็นครั้งสุดท้้าย จนเหงื่อกาฬออกเต็มหน้าผาก ยายจั่นหมอตำแยสั่งให้เบ่งอีก เบ่งอีก นางนาคก็เบ่งอย่างสุดกำลังจนกระทั่งขาดใจตายไปพร้อมกับทารก” ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วมดลูกของนางนากคงจะแตกในวันที่ ๓ ของการเบ่ง ทำให้เสียเลือด และเสียชีวิตไปพร้อมกับลูกในที่สุด โดยผมคิดว่าถ้าเป็นกรณีที่ ๒ (ทารกอยู่ในแนวขวางกับความสูงของแม่) น่าจะมีการพูดถึงในตำนานมากกว่า ๑ เล่ม เพราะส่วนใหญ่หมอตำแยมักจะรู้จักกรณีที่ ๒ และบางครั้งหากหมอตำแยมีความสามารถก็อาจจะทำการคัดท้องหรือโกยท้องแม่ ก็อาจทำให้กลายเป็นมีศีรษะ หรือก้นเป็นส่วนนำหรือที่ทางการแพทย์ปัจจุบันเรียกว่าการหมุนกลับให้ส่วนนำเป็นศ่ีรษะทางหน้าท้อง (External cephalic version) ซึ่งทำให้มีโอกาสคลอดปกติทางช่องคลอดโดยมีศีรษะเป็นส่วนนำได้

๓. ลูกในท้องนางนากเอาหัวเป็นส่วนนำ แต่คลอดออกมาได้แค่คอ โดยลูกสิ้นลมไปก่อนส่วนอื่นๆ ที่เหลือคลอดไม่ได้ โดย คุณสมทรง ใจยงค์ เป็นผู้ให้ข้อมูลดังกล่าวในหนังสือ “แม่นากพบบุญใหญ่ ในกรณีที่ ๓ ในทางการแพทย์เรียกว่า เกิดภาวะคลอดติดไหล่ คือ ทารกที่มีส่วนนำเป็นหัวคลอดหัวได้ทางช่องคลอด แต่ไหล่ของเด็กไม่สามารถคลอดออกมาได้อาจเนื่องจากเด็กมีน้ำหนักมาก ทำให้ไหล่ใหญ่มากกว่าเด็กที่มีน้ำหนักปกติทั่วไป หากเด็กคลอดติดไหล่อยู่ในช่องคลอดเพียงไม่กี่นาทีก็อาจเสียชีวิตได้ ภาวะนี้ส่วนใหญ่ในที่สุดเด็กก็จะคลอดออกทางช่องคลอดได้โดยการใช้หัตถการช่วยหลายๆ อย่างร่วมกัน แต่มักใช้เวลาหลายๆ นาทีก่อนที่เด็กจะคลอดออกมาได้ และเด็กส่วนใหญ่มักเสียชีวิต แต่แม่มักจะรอดชีวิต ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการคลอดติดไหล่ ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับลูกมากกว่าแม่ เช่น กระดูกไหปลาร้าหัก เส้นประสาทของแขนเสื่อมหรืออาจเสียชีวิตหากไม่ได้รับการช่วยเหลือไม่ทันท่วงที ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับแม่ มักจะพบหลังจากที่เด็กคลอดออกมาหมด เช่น ภาวะตกเลือดหลังคลอดที่มีสาเหตุจากการที่มดลูกหดรัดตัวไม่ดี ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุดที่อาจเกิดแก่แม่คือมดลูกแตก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้แม่เสียชีวิตได้ แต่เกิดขึ้นค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตามตำนานเรื่อง นางนาก ส่วนใหญ่แล้วมักจะเขียนว่า ลูกไม่คลอดออกมาเลย๑, ๓, ๔ ดังนั้นผมจึงขออนุญาตสันนิษฐานว่า ลูกของแม่นากไม่น่าจะคลอดติดไหล่ ผมขอเพิ่มสมมติฐานอีกข้อคือ

๔. ทารกมีส่วนนำเป็นหัว แต่คลอดไม่ออกเลย แม้กระทั่งศีรษะ ซึ่งภาวะนี้เรียกว่าเป็นภาวะศีรษะทารกกับเชิงกรานมารดาไม่ได้สัดส่วนกัน (Cephalo-pelvic disproportion) ซึ่งภาวะนี้เกิดจากเชิงกรานเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับศีรษะทารก ทำให้ศีรษะทารกไม่สามารถคลอดผ่านช่องเชิงกรานมายังช่องคลอดและปากช่องคลอดได้ ภาวะนี้อาจเกิดได้ในแม่ที่ขนาดมาตรฐานทั่วไป แต่มีลูกที่มีขนาดใหญ่มาก เช่น ๔,๐๐๐ กรัม ภาวะแทรกซ้อนนี้ก็คล้ายๆ กับในกรณีที่ ๒ ที่ทารกอยู่ในแนวขวางกับความสูงของแม่ คืออาจเกิดภาวะมดลูกแตกได้ ซึ่งในกรณีของนางนากก็อาจมีภาวะศีรษะทารกกับเชิงกรานมารดาไม่ได้สัดส่วนก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามตราบจนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอนที่ยืนยันว่า เรื่องนางนากเป็นเรื่องจริง ดังนั้นโดยข้อมูลเท่าที่สืบค้นได้ในขณะนี้ ผมขอสรุปความเป็นไปได้ในทางการแพทย์ ซึ่งเป็นความเห็นส่วนตัวของผมดังนี้ เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุการตายของนางนาก คือ ทารกในครรภ์ตัวใหญ่มากเกิดภาวะศีรษะทารกกับเชิงกรานมารดาไม่ได้สัดส่วน ทำให้ไม่สามารถคลอดผ่านช่องคลอดได้ สุดท้ายเกิดภาวะมดลูกแตก ตกเลือดในช่องท้องและเสียชีวิตจากภาวะช็อคที่เกิดจากการเสียเลือดในที่สุด

ดังนั้นหากท่านผู้รู้ท่านใดที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากผม ก็ช่วยกรุณาแสดงความคิดเห็นได้นะครับเพื่อประโยชน์ทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์ต่อไป


บรรณานุกรม

๑ ทิพยจักร. แม่นาคพระโขนง : วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ บันดาลฤทธิ์ให้สมปรารถนาร่ำรวย ทันตา วาสนารุ่งเรือง. กรุงเทพฯ : กรีน-ปัญญาญาณ, ๒๕๕๒.

๒ สมทรง ใจยงค์. แม่นากพบบุญใหญ่. ชลบุรี : ม.ป.พ., ๒๕๔๗.

๓ อุทัย ไชยานนท์. แม่นาคพระโขนง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, ๒๕๔๙.

๔ เอนก นาวิกมูล. เปิดตำนานแม่นากพระโขนง. กรุงเทพฯ : โนรา, ๒๕๔๓.

๕ Cunningham FG, et al. William obstetrics 23. New York : McGraw-Hill Medical, 2010.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มกราคม 2560