เผย “แม่นากพระโขนงที่สอง” ฉบับพระราชนิพนธ์ร. 6 หรือว่าผีมาเพราะผัวอยากมีเมียใหม่?

ภาพลายเส้น แม่นากพระโขนง โดย ศรีสมิต ประกอบเรื่อง "นางนาคพระโขนง" ของ "ประภาศรี" ในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่วันจันทร์ ฉบับวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2478 (ภาพจาก "เปิดตำนานแม่นากพระโขนง" โดย เอนก นาวิกมูล พ.ศ. 2549)

เรื่องราวของ แม่นากพระโขนง มีเนื้อหาและที่มาที่ไปมากมายหลายฉบับที่รายละเอียดบ่งชี้แตกต่างกันออกไป อีกหนึ่งฉบับที่น่าสนใจ มาจากการเปิดเผยของ เอนก นาวิกมูล ที่ได้รับหนังสือเล่มเล็กเล่มหนึ่งโดยบังเอิญ

เอนก นาวิกมูล ผู้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์เล่าไว้ในหนังสือ “เปิดตำนานแม่นากพระโขนง” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2549 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน เนื้อหาที่พูดถึงใจความในหนังสือมีดังนี้

คัดจากหนังสือ เปิดตำนานแม่นากพระโขนง โดย เอนก นาวิกมูล. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549


 

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ยังทรงดํารงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และกําลังศึกษาในประเทศอังกฤษนั้น ได้ทรงเคยแต่งเรื่องสนุกๆ เกี่ยวกับแม่นาก ขึ้นมาก่อนเป็นครั้งแรก โดยใช้นามแฝงว่า CH.T. (ย่อมาจาก Calton H. Terris) และให้ชื่อเรื่องว่า “The Second Ghost of Phra-Kanong” ซึ่งแปลว่า “นากพระโขนงที่สอง”

พระราชนิพนธ์ภาษาอังกฤษเรื่องนี้แต่งไม่จบและไม่ระบุปีแต่ง จากพระราชประวัติจะพบว่าสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ หรือรัชกาลที่ 6 เสด็จไปเรียนในอังกฤษตั้งแต่ พ.ศ. 2435 จนถึง พ.ศ. 2444 จึงเสด็จกลับเมืองไทย

ในส่วนผู้เขียน (เอนก นาวิกมูล) เมื่อพิจารณาโครงเรื่องแล้ว สันนิษฐานว่าอาจพระราชนิพนธ์ช่วงหลัง พ.ศ. 2442 ที่นายกุหลาบเขียนเรื่องแม่นาก เพราะโครงเรื่องชวนให้นึกถึงแม่นากในสยามประเภทเหลือเกิน

เนื้อเรื่องเริ่มจากการเกริ่นนํา 4 บรรทัดว่า CH.T. พยายามจะไขปัญหาเรื่องความลึกลับเกี่ยวกับปีศาจแม่นากให้ได้โดยคนที่ชื่อนากจริงๆ นั้น “สิ้นชีวิตไปราวๆ กึ่งศตวรรษแล้ว”

จากนั้นก็เข้าเรื่องว่า วันหนึ่ง เพื่อนของ CH.T. ที่ชื่อ ซิดนี่ย์ คิงส์เวลล์ ได้เชิญ C.H.T. ไปกินอาหารค่ำ

ซิดนี่ย์ คิงส์เวลล์ เพิ่งลาราชการจากหน่วยราชการลับกรมตํารวจกรุง สยามและเพิ่งเดินทางมาถึง CH.T. อยากทราบข่าวคราวเมืองไทยจึงรับคําเชิญ อย่างเต็มใจ

หลังจากสนทนาด้วยเรื่องต่างๆ แล้วก็มีคนถามหาเรื่องตื่นเต้น ซึ่งคิงส์ เวลล์ก็บอกว่ามี ได้แก่เรื่องผีนากพระโขนงตัวใหม่

คิงส์เวลล์ได้รับคําสั่งของท่านผู้บัญชาการกรมตํารวจให้ไปสืบเรื่องผีที่พระโขนง ผีตัวนี้ “เคยเป็นเมียนายขํา” ซึ่งเป็นคนมีเงิน เวลานายขําไม่อยู่ นายทําให้ลูกชายคนโตเฝ้าบ้าน ถึงตอนนี้จะมีคนได้ยินเสียงผีตักน้ำใส่โอ่ง บางทีมาสามคืนติดๆ กัน แต่บางทีก็หายไปนาน

คิงส์เวลล์ถามผู้บัญชาการว่า เรื่องแม่นากดั้งเดิมเป็นอย่างไร ผู้บัญชาการเล่าว่า “นากเป็นหญิงที่หน้าตาดี เป็นภรรยาของชาวนาคนหนึ่งที่ออกจะมั่งคั่งในบางพระโขนงนี้ ผัวเมียคู่นี้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขหลายปีแต่นากผู้เป็นภรรยาตายลงเนื่องจากคลอดลูก ซึ่งผัวก็เสียอกเสียใจมาก

แต่นั่นแหละ เขาก็ยังหนุ่มแน่น เขาก็อยากจะมีเมียใหม่ และแจ้งให้เพื่อนฝูงทราบ ตอนนี้แหละผีของแม่นากก็ปรากฏขึ้น ความกลัวนั่นแหละที่ทําให้ผัวแม่นากเลิกคิดมีเมียใหม่

แต่ก็แปลกดี ขณะที่ผีแม่นากมาป้วนเปี้ยนอยู่นั้น มันทําอะไรหลาย อย่างที่เป็นคุณ เช่น ขับต้อนควายเข้าคอก ตักน้ำใส่โอ่ง เป็นต้น

แต่พอผัวแม่นากสิ้นชีวิตลง ผีของแม่นากก็หายไปเลยโดยไม่มีปี่มีกลอง เหมือนตอนที่ปรากฏตัวขึ้นมา ก็คงจะเห็นกันแล้วว่าเรื่องเก่ากับเรื่องใหม่นี้มี อะไรที่คล้ายๆ กันอยู่ ผัวนั้นมีอันจะกินด้วยกันทั้งสองกรรณีย์ ส่วยเมียก็เป็นคนสวยด้วยกันทั้งคู่ และตัวผีนั้นก็ดูเหมือนไม่ได้ทําร้ายใคร ซ้ำได้ทํา ประโยชน์เหมือนๆ กัน”

ตัวท่านผู้บัญชาการเองสนใจเรื่องนี้มาก จึงตั้งใจไปสืบกับคิงส์เวลล์ด้วย

ทั้งสองคนขึ้นรถไฟไปลงสถานีพระโขนงแล้วให้คนพาไปหานายขํา แนะนําตัวเองว่าเป็นนักท่องเที่ยว พอคุยกันไปได้หน่อยหนึ่งท่านผู้บัญชาการ ก็ถามนายขําว่ามีทรัพย์สินไร่นา ทําไมจึงไม่แต่งงาน

นายขำว่าแต่งงานแล้ว และมีลูกโตอายุ 16 แล้ว แต่ไม่กล้าแต่งก็เพราะเมียของตนตายกลายเป็นผี มาต้อนควายบ้าง มาวิดน้ำเข้านาบ้าง ทําให้ไม่มีผู้หญิงคนไหนกล้ามาอยู่ด้วย ลูกชายของตนเห็นก็ว่าเป็นผีแม่ เรียกให้พลตระเวนมาดูผีก็ไม่มา พอพลตระเวนถอนตัวกลับ ผีก็กลับมาอีก

ผีนั้นบอกลูกว่า “แม่มาก็เพราะว่าโกรธที่พ่อจะมีเมียใหม่จ้ะ”

นักท่องเที่ยวทั้งสองฟังเรื่องจากนายจําแล้วก็เผยตัวว่าเป็นตํารวจ อยากมาหาข้อเท็จจริง ถ้านายขํายินดีก็จะหาทางกําจัดผีให้ซึ่งนายขําก็ไม่ขัดข้อง

จากนั้นสองนายตํารวจก็ลงมือสํารวจบ้าน และกําชับไม่ให้นายขำบอกลูกหลาน เว้นแต่ให้บอกชาวบ้านได้ว่าตนจะมีเมียใหม่อีก…

เมื่อแต่งมาถึงตอนนี้ พระราชนิพนธ์ก็สะดุดลง และไม่ได้ทรงแต่งต่อ เรื่อง “The Second Ghost of Phra-Kanong” ก็เป็นอันค้างเติ่ง

และก็น่าประหลาดมากที่พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ถูกทิ้งค้างมานานมากถึงเกือบหนึ่งร้อยปี จนถึง พ.ศ. 2524 ม.ล. ปิ่น มาลากุล จึงได้นํามาแปลเป็นภาษาไทย และพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ หนาเพียง 15 หน้า แจกคราวเปิดหอวชิราวุธานุสรณ์ ฉลองพระบรมราชสมภพครบ 100 ปี ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ พฤศจิกายน 2561