ผู้เขียน | ชิษณุพงศ์ แจ่มปัญญา |
---|---|
เผยแพร่ |
แม่นากพระโขนง ตำนานผีเรื่องเล่าสุดอมตะนิรันดร์กาลของประเทศไทยอันน่าสะพรึงกลัว หากฟังยามค่ำคืน ผู้คนต่างก็จินตนาการถึงความน่ากลัวของผีแม่นากที่สิ้นใจขณะคลอดบุตร และเฝ้ารอสามีกลับจากสนามรบ ภาพเหล่านี้ถูกสะท้อนออกมาจากสื่อหลากรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ที่ผลิตซ้ำออกมาครั้งแล้วครั้งเล่า ละครโทรทัศน์ ละครเวที ละครวิทยุ หนังสือ นวนิยาย และหนังสือพิมพ์ ฯลฯ แต่เรื่องราวสุดสะพรึงนี้มี “อีกด้าน” ที่น่าสนใจ ด้วยทฤษฎีที่ว่าด้วย “ผีแม่นากเป็นเรื่องแกล้งหลอกของบุตรผู้มิอยากให้บิดามีเมียใหม่”
ในหนังสือ “สยามประเภท” ฉบับมีนาคม ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2442) ได้มีผู้อ่านแต่งโคลงสี่สุภาพตั้งคำถามกับ ก.ศ.ร. กุหลาบ (กุหลาบ ตฤษณานนท์) ในหัวข้อ “นางนากปีศาจนั้น เปนไฉน หนะพ่อ” และนายกุหลาบก็เขียนคำตอบไว้ด้วยในหัวข้อ “คำตอบเรื่องอำแดงนากพระโขนง” โดยสาระสำคัญของคำตอบก็เป็นคำบอกเล่าของ “พระศรีสมโภช (บุด)” เกี่ยวกับภูมิหลังของอำแดงนาก นายชุ่มทศกรรฐ์ผู้เป็นสามี และบุตรธิดาของพวกเขา และเรื่อง “ผีแม่นากไม่มีจริง” โดยประเด็นนี้เองจะเล่าไว้ว่า
“…ศพอำแดงนากฝังไว้ที่นั่น (ป่าช้าวัดมหาบุด) ไม่มีปีศาจหลอกผู้ใด เปนแต่พระศรีสมโภสเจ้าของวัดมหาบุดเล่าถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ว่านายชุ่มทศกรรฐ์เปนคนมั่งมี เปนตาน้อยของนายสนเศรษฐี บุตรนายชุ่มมีชายหญิงหลายคน แต่ล้วนยังไม่มีสามีภิริยาทั้งสิ้น บุตรนายชุ่มหวงทรัพย์สมบัติของบิดา เกรงว่าบิดาจะมีภรรยาใหม่ จะกระจายสมบัติเสียหมด พวกลูกจะอดตาย
พวกลูกชายจึ่งทำอุบายใช้คนไปขว้างปาชาวเรือตามลำคลองริมป่าช้าที่ฝังศพอำแดงนากมารดา กระทำกิริยาเปนผีดุร้ายหลอกคน จนถึงช่วยนายชุ่มถีบระหัดน้ำเข้ามา แลวิดน้ำเรือกู้เรือของนายชุ่มที่ล่มได้ บุตรชายแต่งกายเปนหญิงให้คล้ายอ่ำแดงนากมารดา ทำกิริยาเปนผีดุร้ายให้คนกลัวทั่วทั้งลำคลองพระโขนง เพื่อประโยชน์ความประสงค์จะกันเสียไม่ให้ผู้หญิงมาเปนภรรยานายชุ่มบิดา…”
จากข้อความที่ยกมา ผีแม่นากดูเหมือนเป็น “อุบาย” ของบุตรของนายชุ่มผู้เป็นสามีแม่นาก เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้หญิงใดเข้ามาหมายปองผู้เป็นบิดา ซึ่งอาจทำให้สมบัติของนายชุ่มไปกับภรรยาใหม่เสียหมด และบุตรธิดาจะไม่ได้สมบัติเหล่านั้นไป เห็นได้ถึงความ “หวง” สมบัติของบุตรผู้มีบิดาที่มั่งคั่งไปด้วยสมบัติ จนถึงขนาดที่ต้องสร้างความหวาดกลัวไปทั่วพระโขนง จนกลายเป็นตำนานโด่งดังของประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้
เรื่องพรรค์นี้ยังมีปรากฏอยู่ในเรื่องแต่งที่ชื่อว่า “The Second Ghost of Phra-Kanong (นากพระโขนงที่สอง)” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้งทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ในตอนแรกพระองค์ทรงแต่งเป็นภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะขัดเกลาเป็นภาษาไทย และตีพิมพ์ลงหนังสือ “ทวีปัญญา” ฉบับที่ 1 เดือนเมษายน ร.ศ.123 หรือ พ.ศ.2448
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ พ่อวัดและนายทองอินที่ร่วมกันสืบเรื่องของปีศาจที่บางพระโขนงอีกครา บ้างก็ว่าเป็นนางนากที่เลื่องชื่อกลับมาหลอกหลอนใหม่ บ้างก็ว่าเป็นนางนากตนใหม่ แต่แล้วก็สืบรู้ความจริงว่าปีศาจตนที่มาหลอกหลอนชาวบ้าน เป็นนายชมผู้เป็นบุตรของพันโชติกับนางนากที่ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว โดยกระทำไปด้วยเหตุผลที่ว่าบุตรมิอยากให้พ่อมีเมียใหม่ จะเห็นได้ว่าโครงเรื่องมีความคล้ายกับเรื่องของนายกุหลาบที่เคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้มาก สันนิษฐานได้ว่าพระองค์อาจจะทรงเคยอ่านหนังสือสยามประเภท และนำข้อเท็จจริงของนายกุหลาบมาแต่งเรื่องสนุก ๆ ก็เป็นได้
สุดท้ายนี้ ตำนานของ แม่นากพระโขนง นั้นเป็นความเชื่อของคนไทยมาอย่างช้านาน เรื่องราวที่ว่าผีแม่นากไม่มีจริงนี้ เป็นเพียงทฤษฎีในหน้าประวัติศาสตร์เท่านั้น จะเชื่อหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและดุลยพินิจของผู้ศึกษา หรือเลือกจะยอมรับกับความเชื่อดั้งเดิมที่รับรู้กันมาตามเรื่องเล่า ภาพยนตร์ หรือสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทุกวันนี้ ก็มิอาจจะบังคับความคิดได้
อ่านเพิ่มเติม :
- แม่นาก กลายเป็นหนังเมื่อใด เปิดเส้นทางผีอมตะ สู่แฟนตาซี ถึงฉบับคลาสสิก “นางนาก” 2542
- ผัว “แม่นาก” ไม่ได้ชื่อ “ชุ่ม” หรอกหรือ? ปัญหาเรื่องชื่อ “นายมาก” ผัวแม่นากพระโขนง
- “แม่นาก” ผีชาวบ้านเริ่มเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พระผู้ใหญ่ได้อย่างไร
อ้างอิง :
เอนก นาวิกมูล. (2549). เปิดตำนานแม่นากพระโขนง. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กรกฎาคม 2562