เปิดที่มาชื่อเขต “บางขุนเทียน” เกี่ยวกับ “เกวียน” ที่ใช้เดินทางหรือไม่?

ภาพวิวทิวทัศน์ชายทะเลบางขุนเทียน

บางขุนเทียน เป็น 1 ใน 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ทิศเหนือติดกับเขตบางบอนและเขตจอมทอง ทิศตะวันออกติดกับเขตทุ่งครุและอำเภอพระสมุทรเจดีย์ (จังหวัดสมุทรปราการ) ทิศใต้ติดอ่าวไทย และทิศตะวันตกติดกับจังหวัดสมุทรสาคร ความที่เป็นเขตเดียวของกรุงเทพฯ ที่ติดอ่าวไทย ทำให้ บางขุนเทียน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวกรุงเทพฯ

ชื่อ บางขุนเทียน ปรากฏครั้งแรกในโคลงนิราศทวาย ซึ่งไม่ปรากฏนามผู้แต่ง กรมศิลปากรสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระพิพิธสาลี กวีในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่งขึ้นในคราวที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จพระราชดำเนินไปรบกับพม่าที่เมืองทวาย เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2335 ตามเส้นทางจากบางกอกหรือคลองบางหลวง เข้าบางยี่เรือ บางขุนเทียน บางบอน ออกไปทางแสมดำ เข้าคลองมหาชัย ไปทางปราจีนบุรี ความว่า

Advertisement

“ถึงขุนเทียนเทียบเข้า   เรียมถาม
เทียนแม่พอกมืองาม   เล็บไล้
ขุนเอยช่วยบอกความ   ขวัญสั่ง
ขุนบ่เทียนไห้   พอกช้ำทรวงเรียม ฯ”

ที่มาของชื่อบางขุนเทียนมีผู้สันนิษฐานไว้ว่า มาจากคำว่า “บางขุนเกวียน” โดยคำว่า “บาง” หมายถึงทางน้ำเล็ก ๆ “ขุนเกวียน” มีที่มาจากพื้นที่แถบนี้เป็นบริเวณหยุดพักของกองเกวียนที่จะลงไปทำการค้ากับหัวเมืองทางใต้ของกรุงเทพ ฯ (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ฯลฯ) จึงมีความหมายว่า ทางน้ำที่เป็นจุดพักของกองเกวียนต่าง ๆ

เมื่อเวลาผ่านไปมีการเรียกเพี้ยนจากคำว่า “บางขุนเกวียน” กลายเป็น “บางขุนเทียน” นั่นเอง

พื้นที่ในเขตบางขุนเทียนเดิม มีสถานะเป็นอำเภอบางขุนเทียน ดังพบหลักฐานในราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้พระราชบัญญัติออกตราจองชั่วคราวในอำเภอบางขุนเทียน เมื่อ ร.ศ. 121 (ปี 2445) ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อมีการกำหนดเขตพื้นที่การปกครองกรุงเทพมหานคร ปี 2458 กำหนดให้อำเภอบางขุนเทียนเป็นหนึ่งในอำเภอของจังหวัดธนบุรี

เขตบางขุนเทียนมีชุมชนชาวมอญอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ “ชุมชนบางกระดี่” ซึ่งอพยพมาจากสมุทรสาครตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 จึงเป็นชุมชนที่มีความเก่าแก่และยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยเชื้อสายมอญเอาไว้ เช่นวันสงกรานต์ จะมีการละเล่นพื้นบ้าน สะบ้ามอญ การแสดงดนตรีขับร้อง เรียกว่า ทะแย มีการทำข้าวแช่และขนมต่าง ๆ ฯลฯ เป็นจุดเด่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนเป็นจำนวนมาก

ภายหลังเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ปี 2514 มีการรวมจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนครเป็นกรุงเทพมหานคร อำเภอบางขุนเทียน จึงเปลี่ยนสถานะเป็นเขตบางขุนเทียน และด้วยพื้นที่เขตบางขุนเทียนเดิมนั้นกว้างขวาง เมื่อมีความเจริญและจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น เพื่อความสะดวกในการปกครองดูแลประชาชน ทำให้มีการแบ่งแยกพื้นที่บางขุนเทียนเป็นเขตใหม่เพิ่มคือ เขตจอมทอง ในปี 2532 และ เขตบางบอน ในปี 2540

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บัณฑิต จุลาสัย และรัชดา โชติพานิช. เขตคลองมองเมือง.กรุงเทพ ฯ : มติชน, 2566.

รุ่งโรจน์ อภิรมย์ และประภัสสร์ ชูวิเชียร. กรุงเทพฯ กรุงธนฯ มีภูมิสถาน ชื่อบ้านนามเมือง. กรุงเทพฯ: ดรีม แคชเชอร์, 2556.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มีนาคม 2566