ขึงโซ่ข้ามแม่น้ำ ฤาไทยได้แบบอย่างจากจีน?

ถ่ายใกล้-โซ่ข้ามแม่น้ำของไทย จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (เอนกถ่าย ๔๐๒๔-๐๐๘-พุธ๒๑กย๒๕๕๙)

ขึงโซ่ข้ามแม่น้ำ ฤาไทยได้แบบอย่างจากจีน?

การขึงโซ่หรือผูกโซ่ข้ามแม่น้ำเพื่อป้องกันข้าศึกของไทยเริ่มมีเมื่อไรไม่ทราบ

แต่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) และฉบับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวตอนหนึ่งว่า

ในปีจอ พ.ศ. 2357 ร.2 ทรงพระราชดำริว่าที่ลัตต้นโพธิ์ หรือปากลัด กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งเป็นวังหน้า (และเป็นน้องรัชกาลที่ 1) ลงไปกะการสร้างเมืองป้องกันข้าศึกที่จะมาทางทะเลอีกแห่ง การนั้นยังค้างอยู่ จะไว้ใจไม่ได้

ร.2 จึงโปรดฯ ให้ “กรมหมื่นศักดิพลเสพ” (พ.ศ. 2328-2375) ซึ่งเป็นน้องของ ร.2 เอง เป็นแม่กอง

ลงไปทำเมืองที่ปากลัด แล้วพระราชทานนามเมืองใหม่ว่านครเขื่อนขันธ์ มีกำแพง มีป้อม มีตึกดิน

และพร้อมกันนั้นก็ให้ทำ “ลูกทุ่นสายโซ่ สำหรับขึงกั้นแม่น้ำ”

โซ่ข้ามแม่น้ำของไทย จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (เอนกถ่าย ๔๐๒๔-๐๑๑-พุธ๒๑กย๒๕๕๙)

หลักผูกทุ่นของเดิมที่ก่อด้วยอิฐใช้ไม่ได้

จึงคิดเอาซุงมาทำเป็นต้นโกลน ร้อยเกี่ยวคาบกระหนาบกันเป็นตอนๆ เข้าไปปักหลักระหว่างต้นโกลนทุกช่อง ให้ร้อยโซ่ผูกทุ่นได้มั่นคง…

แล้วทรงสร้างพระอารามขึ้นพระราชทานนามว่าวัดทรงธรรมการ

ส่วนการผูกทุ่นสายโซ่ป้องกันข้าศึกทางน้ำนั้น ถึงสมัยรัชกาลที่ 3 (ครองราชย์ พ.ศ. 2367-2394) ก็ยังทำต่อมาอีก

เช่น เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ไปสร้างเมืองพระตะบองในเขมร ก็ได้ทำสายโซ่ขึงข้ามแม่น้ำไว้ ดังพระราชพงศาวดาร ร.3 กล่าวใน น. 180 (ฉบับคลังวิทยา พ.ศ. 2506) ว่า

“ครั้นมาถึงเดือน 4 เจ้าพระยาบดินทรเดชาบอกมาว่าการซึ่งสร้างเมืองบัตบอง ได้ขุดคูรอบเมือง ถมดินเชิงเทิน ทำทุ่นต้นโกลน แล่นสายโซ่สำหรับขึงข้ามแม่น้ำไว้ที่หน้าป้องแห่ง 1 แล้วปลูกศาลเจ้าหลักเมือง…”

(ทบทวนจากหนังสือชื่อหมายเหตุประเทศสยาม เล่ม 8 โดย เอนก นาวิกมูล เรื่องที่ 384 น. 136 แต่ในเล่มนั้นผมเขียนชื่อกรมหมื่นศักดิพลเสพ เป็นกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ซึ่งเป็นคนละคนกัน โปรดแก้…)

ภาพวาดลายเส้นปากน้ำเจ้าพระยา จากบันทึกการเดินทางของ อองรี มูโอต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ซึ่ง
เข้ามาเมืองไทยเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๔ (ซีดีเอนก๐๓๔๒-๐๒๑)

ในหนังสือมหามุขมาตยานุกูลวงศ์ เล่ม 1 ซึ่ง ก.ศ.ร.กุหลาบ หรือ นายกุหลาบ ตฤษณานนท์ อายุ 72 ปีเป็นผู้เรียบเรียง พิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อ ร.ศ. 124 พ.ศ. 2448 น. 196 พูดถึงการซ่อมโซ่ข้ามแม่น้ำว่า…(อยู่ในช่วงประวัติเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์-วร บุนนาค)

ครั้งหนึ่งรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค-ภายหลังได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) ผู้เป็นบิดาของนายวร เป็นแม่กองซ่อมแซมป้อมผีเสื้อสมุทรซึ่งอยู่กลางน้ำหน้าพระสมุทรเจดีย์ เมืองสมุทรปราการ (ปัจจุบันกองทัพเรือเป็นผู้ดูแล เวลาเรานั่งเรือจากพระสมุทรเจดีย์จะต้องผ่านป้อมนี้)

ขณะนั้นป้อมดังกล่าวชำรุดทรุดโทรม

“ให้จัดการลูกทุ่นไม้ซุง ผูกติดกับสายโซร่ขึงขวางกลางลำแม่น้ำที่น่าเมืองสมุทร์ปราการเพื่อจะมิให้เรือรบทเลของข้าศึกแล่นผ่านเข้ามาในปากอ่าวได้…”

นายวรขณะมีตำแหน่งเป็นนายจันทร์มีชื่อหุ้มแพรก็ลงไปดูกิจการผลัดเปลี่ยนกับบิดา

หลังจากนี้ ร.3 จึงให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (ช่วง) ผู้พ่อ ออกไปเป็นแม่กองต่อกำปั่นใบด้วยไม้ตะเคียนที่เมืองจันทบุรี และนายวรผู้เป็นบุตรก็ออกไปช่วยต่อกำปั่นด้วยอีก

การผูกโซ่ดังกล่าวเมื่อครู่ น่าจะมีสาเหตุจากกรณีฮันเตอร์ พ.ศ. 2387…

เพราะว่าในปีนั้น นายฮันเตอร์ พ่อค้าฝรั่งที่ไทยเรียก “หันแตร” (ได้เป็นหลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช  ด้วย) เอากำปั่นไฟมาขาย เจ้าพนักงานไม่ซื้อ

ฮันเตอร์พูดจาหยาบช้าว่าในหลวงรับสั่ง ถ้าเจ้าพนักงานไม่ซื้อจะเอาเรือไปผูกไว้ที่หน้าตำหนักน้ำ (เหมือนจะประชด)

ความตอนนี้อยู่ในพระราชพงศาวดาร ร.3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)

เมื่อ ร.3 ทรงทราบก็ขัดเคือง ให้ไล่นายฮันเตอร์ไปเสีย ไม่ให้อยู่ในประเทศไทย แทนที่ฮันเตอร์จะสงบปากคำ กลับพูดต่ออีกว่าจะออกไปฟ้องรัฐบาลอังกฤษให้เอากำปั่นรบเข้ามาชำระความ

เมื่อเกิดเรื่องลามไปอีกขั้น ร.3 ก็จึงโปรดให้กรมหลวงรักษรณเรศร ออกไปทำเมืองนครเขื่อนขันธ์ เสริมป้อม และทำปีกกาหน้าเมือง

ส่วนที่เมืองสมุทรปราการ (ใกล้จะออกปากอ่าว) โปรดให้เจ้าพระยาพระคลัง สมุหพระกลาโหม ไปทำปีกกาสองฟากแม่น้ำ

ทำทุ่นปักหลักต้นโกลน และแล่นสายโซ่ข้ามแม่น้ำที่หลังป้อมผีเสื้อสมุทร ข้ามมาถึงปากคลองด้านฝั่งตะวันออก (คือฝั่งข้างเดียวกับกรุงเทพฯ)

แล้วถมศิลาที่ “แหลมฟ้าผ่ารั้วกะลาวน” (ฝั่งธนบุรี) อีก 5 กอง เว้นช่องเดินเรือไว้แต่พอเดิน เรียกว่า “โขลนทวาร”

แผนที่ปากน้ำ ช่วงขึงโซ่ หน้าเกาะป้อมผีเสื้อสมุทร (ซ้ายบน) ที่มีเรือข้ามฟากไปตัวเมืองสมุทรปราการ (ภาพจากหนังสือแผนที่กรุงเทพมหานคร ของบางกอกไกด์ พ.ศ. ๒๕๔๙ น. ๒๓๕ เอนกก๊อปจ๑๐ธค๒๕๖๑)

อันนี้ระบุชัดเจนว่าขึงโซ่ตรงป้อมผีเสื้อสมุทร

รายละเอียดอื่นๆ เช่น ต้นโกลนทำกันอย่างไร ปักอย่างไร ไม่มีอธิบาย ต้องใช้โซ่ยาวเท่าไรไม่บอก

ผมนั่งเรือข้ามแม่น้ำจากพระสมุทรเจดีย์ กับป้อมผีเสื้อสมุทร (อยู่ตรงท่าเรือนั่นแหละ) ไปตัวเมืองสมุทรปราการฝั่งโน้น เห็นแม่น้ำกว้างใหญ่มากๆ น่าจะราว 300 เมตร ถ้าเช่นนั้นก็เห็นจะต้องใช้โซ่ และทุ่นเรียงต่อกันหลายช่วง

ที่น่าสงสัยคือเจ้าพระยาเป็นมหานทีอันกว้างใหญ่ โซ่ซึ่งเส้นไม่ใหญ่มาก จะกั้นเรือหนักๆ ได้จริงหรือ เอาเรือใหญ่ชนทีเดียวจะไม่ขาดออกจากกันจริงหรือ?

เพราะเท่าที่ดูของจริงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อมีนิทรรศการพิเศษเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 โซ่นั้นก็ไม่ได้ใหญ่โตเลย

ค้นข้อมูลจากหนังสือชื่อเฉลิมพระเกียรติ 200 ปีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. 2530 ปกสีเขียวไพล น. 68 ก็ไม่บอกว่าโซ่ข้ามแม่น้ำยาวเท่าไร

บอกแต่ว่าเป็นเหล็ก พระพิชัยบุรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระประแดงส่งมา…

การขึงโซ่ของไทยน่าจะได้แบบอย่างจากจีน เพราะของจีนย้อนขึ้นไป 1,000 กว่าปีก่อนก็มีการขึงโซ่แล้ว…

หนังสือพิชัยสงครามสามก๊ก โดย สังข์ พัธโนทัย ฉบับ พ.ศ. 2513 ปกสีฟ้า น. 488 ช่วยเตือนความจำข้อนี้!!!!

การขึงโซ่มีในสามก๊กตอนจบ แต่ สังข์ พัธโนทัย ไม่ได้ให้รายละเอียดมากนัก ต้องไปเอาสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มาตรวจสอบดู พบว่าละเอียดกว่า

สามก๊กกล่าวในสามหน้าท้ายสุดของสามก๊กเล่ม 2 (ใกล้จะจบเต็มที) ว่าเมื่อพระเจ้าสุมาเอี๋ยนแต่งตั้งขุนพลเตาอี้เป็นแม่ทัพใหญ่ให้ยกทัพเข้าตีเมืองกังเหล็งและเมืองกังตั๋ง

ปกสามก๊ก ฉบับสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา เล่ม ๒ พ.ศ. ๒๕๑๐

พระเจ้าซุนโฮซึ่งได้รับสืบทอดราชสมบัติจากซุนกวน เป็นคนเพลิดเพลินในราชสมบัติ เมื่อทราบข่าวศึกก็ปรึกษากับยิมหุน หรืองิมหุน ขันทีคนสนิทด้วยความวิตก

ยิมหุนทูลว่าอันกองทัพเรือนั้นพระองค์จะปรารมภ์ไปไย ไว้พนักงานข้าพเจ้าจะคิดกลอุบายตีให้แตกไปจงได้ พระเจ้าซุนโฮถามว่าจะคิดเป็นประการใด

ยิมหุนทูลว่าข้าพเจ้าคิดว่าจะขอให้เอาเหล็กมาตีเป็นสายโซ่สัก 500 สาย สายละ 50 วา (เท่ากับ 100 เมตร) ขึงกั้นแม่น้ำกังตั๋งเสียแล้วจะได้ปักขวากเหล็กไว้ใต้น้ำนอกสายโซ่ออกไป

ถ้ากองทัพเรือยกมาก็จะโดนขวากเหล็กเข้าติดอยู่ เรือก็จะทะลุล่มลง ทะแกล้วทหารก็จะล้มตายฉิบหายไปเอง

พระเจ้าซุนโฮฟังดังนั้นก็เห็นชอบด้วยจึงสั่งให้ช่างตีสายโซ่และขวากเหล็กเป็นอันมากแล้วก็ให้ขึงปักไว้ที่ทางเลี้ยวแม่น้ำเมืองกังตั๋งทุกตำบล

ฝ่ายเตาอี้แม่ทัพใหญ่ของพระเจ้าสุมาเอี๋ยนคุมพลทหารรีบยกไปถึงตำบลเขาปาสันแต่ในเวลากลางคืนก็ให้ซุ่มพลทหารไว้เป็นอันมาก

ครั้นเวลารุ่งเช้าม้าใช้เอาเนื้อความไปแจ้งแก่ง่อเอี๋ยน กับซุนหลิม ทั้งสองก็ให้ยกพลทหารทั้งทางบกทางเรือเข้าโจมตีกองทัพเตาอี้เป็นสามารถ

แต่เวลาเช้าจนเที่ยงทหารล้มตายลงเป็นอันมาก

กองทัพเมืองไต้จิ๋นหนุนกันซ้ำมา กองทัพกังตั๋งน้อยตัวอิดโรยลง ง่อเอี๋ยนกับซุนหลินเข้ารบตะลุมบอนกับกองทัพเมืองไต้จิ๋นจนถึงแก่ความตายในที่รบ ทหารทั้งปวงสู้มิได้ก็แตกไป

เตาอี้ได้ทีก็ยกทหารรีบตีหัวเมืองรายทางรวดขึ้นมา ขุนนางทั้งปวงชวนกันออกมาคำนับนับสิ้นทุกหัวเมือง  เตาอี้กำชับทหารไม่ให้ทำอันตรายไพร่บ้านพลเมืองเป็นอันขาด

จากนั้นก็เกณฑ์ทหารไปตีเมืองกังตั๋งซึ่งเป็นที่ตั้งใหญ่ต่อไป

ฝ่ายเรือใช้ซึ่งเข้ามาสอดแนมตามลำน้ำเห็นสายโซ่และขวากเหล็กก็กลับออกไปบอก “องโยย”

องโยย หรืออ้องโยย แม่ทัพเรือฝ่ายใต้ของพระเจ้าสุมาเอี๋ยนยกทัพเรือมุ่งไปตีพระนครกังตั๋งประสานกับกำลังทางบกเมื่อได้ทราบข่าวก็ยิ้มเยาะ

สั่งให้ทหารตัดไม้ทำแพให้เอาดินถมหลังแพตั้งเตาชักสูบบนหลังแพแล้วให้ใช้ไปเข้ามาตามลำคลองเอาเรือรบเล่นตามมาข้างหลัง

ครั้นแพใช้ใบเข้าไปติดขวากพอคลื่นพักแพโครงก็ถอนขวากเหล็กหลุดขึ้นจนหมดสิ้น แพก็เลื่อนขึ้นไปถึงสายโซ่ กองเพลิงบนหลังแพนั้นก็เผาสายโซ่เข้า

พอทหารทั้งปวงซึ่งอยู่ในเรือรบเห็นสายโซ่แดงแล้วก็ชวนกันตัดโซ่ในทันใด เรือรบก็เคลื่อนเข้าไปตามลำคลองได้

ทหารเมืองกังตั๋งซึ่งรักษาหน้าที่ก็แตกตื่นหนีไปสิ้น ทหารเมืองไต้จิ๋นของพระเจ้าสุมาเอี๋ยนได้ทีก็ไล่ฟันเป็นอลหม่าน

แม่ทัพเมืองกังตั๋งตายหมดทั้งสามคน เต้าอี้กับองโยยได้ทีก็ให้ทหารเข้าล้อมเมืองกังตั๋งไว้

ฝ่ายพระเจ้าซุนโฮผู้โหดร้ายเห็นทหารพ่ายแพ้ก็สลดพระทัย ชักกระบี่ออกจะเชือดคอตาย ขุนนางก็เข้าห้ามยึดกระบี่ไว้และทูลว่าให้ยอมแพ้ต่อพระเจ้าสุมาอี้เหมือนคราวพระเจ้าเล่าเสี้ยนยอมแพ้ สุมาอี้ (เล่าปี่+ขงเบ้งอุตส่าห์ทำราชการช่วยเล่าเสี้ยนแทบตาย)

ที่สุดง่อก๊กโดยพระเจ้าซุนโฮก็ตกเป็นของพระเจ้าสุมาเอี๋ยนใน พ.ศ. 823 แล้วเรื่องราวของสามก๊กก็จบลง

สรุปแล้วการขึงโซ่และปักขวากกลางแม่น้ำ ถึงจะทำแข็งแรงแค่ไหนก็ยังพ่ายแพ้แก่ผู้มีสติปัญญาอยู่ดี

กองทัพเรือไทยใช้โซ่ขึงปากน้ำมาจนถึงปีใด ยังค้นไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 ตุลาคม 2562