ผู้เขียน | เอนก นาวิกมูล |
---|---|
เผยแพร่ |
คดีลักภาพกระจก “วัดสังข์กระจาย” พ.ศ. 2539 และลักภาพกระจก “วัดดุสิดาราม” ปิ่นเกล้า พ.ศ. 2519 ทำไมถึงเป็นคดีดังในวงการประวัติศาสตร์?
หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 พาดหัวว่า
“บุกวัดสังข์กระจาย ฉกรูปล้ำค่าภาพเขียนบนกระจกสมัย ร. 1 โจรจากนรกงัดอุโบสถขนไปเกลี้ยงรวม 15 ภาพ เป็นจิตรกรรมจากวรรณคดีพระราชนิพนธ์อุณรุท สงสัยขโมยตามใบสั่ง”
เพื่อไม่ให้เรื่องนี้สูญหายไปกับสายลมโดยที่คนรุ่นหลังไม่ทราบเรื่อง ขอเก็บความจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 มาเผยแพร่ให้ท่านได้ทราบทั่วกันอีกครั้ง
ใครที่ซื้อภาพนี้ไป หากทราบความจริง ขอให้เอาไปคืนเถิดจะได้บุญกุศลยิ่ง ถือเสียว่าซื้อไปโดยไม่รู้
หากรู้แล้วไม่คืน ผู้ครอบครองอาจพบความวิบัติเดือดเนื้อร้อนใจเข้าเมื่อไรก็ได้ไม่มีใครรับรอง
ข่าวกล่าวว่าเช้าของวันที่ 8 ตำรวจบางกอกใหญ่ได้รับแจ้งจากพระมหาอดุลย์ อตุโล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสังข์กระจาย ถนนอิสรภาพ แขวงท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ ว่ามีคนร้ายไม่ทราบจำนวน ลักลอบตัดกุญแจเข้าไปขโมยภาพจิตรกรรมล้ำค่าประจำวัด ซึ่งแขวนไว้ในพระอุโบสถเหนือหน้าต่าง เอาไปจำนวนทั้งสิ้น 15 ภาพ ไม่อาจประมาณมูลค่าได้
เมื่อรับแจ้งแล้วตำรวจก็นำกำลังไปตรวจสอบ พบว่าสายยูประตูทางเข้าถูกตัดขาด ข้างในล็อคกลอน เจ้าหน้าที่ต้องอ้อมไปเข้าทางประตูด้านหลังซึ่งเปิดแง้มเอาไว้
จากการสอบสวนทราบว่าภาพจิตรกรรมขนาด 3 คูณ 3 ฟุต จำนวน 14 ภาพ วาดเป็นเรื่องอุณรุท พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ส่วน อีก 1 ภาพเขียนรูปนกแบบจีน
พระมหาอดุลย์กล่าวว่า ภาพทั้งหมดเป็นมรดกตกทอดที่หาค่าไม่ได้ ปกติทางวัดจะไม่เปิดโบสถ์ให้ประชาชนเข้าไป นอกจากให้พระภิกษุสามเณรใช้ลงโบสถ์เท่านั้น
เหตุการณ์ครั้งนี้คาดว่าคนร้ายต้องคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าเป็นอย่างดีและต้องมีมาไม่ต่ำกว่า 2 คน อาศัยช่วงกลางคืนที่ฝนตกหนักตั้งแต่ตี 2 ถึงเกือบสว่างซึ่งไม่มีพระเณรพักอาศัยเข้าไปขโมยภาพ
เชื่อว่าคนร้ายต้องมีใบสั่ง เพราะทรัพย์สินมีค่าอย่างอื่นไม่ได้แตะต้องเลยแม้แต่ชิ้นเดียว
เมื่อเขียนถึงการลักภาพเขียนสีบนกระจก วัดสังข์กระจาย สมัยรัชกาลที่ 1 ไปแล้ว ก็ต้องเขียนถึงการลักภาพเขียนสีบนกระจก (เขียนกลับด้าน) วัดดุสิดาราม เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า แขวงบางยี่ขันด้วย
คนรุ่นหลังจะได้รู้ว่ามรดกทางศิลปะของไทยตามวัดต่างๆ นั้นถูกลักขโมยสับเปลี่ยนไปมากมายเหลือเกิน
วัดดุสิตเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ปฏิสังขรณ์ใหม่สมัยรัชกาลที่ 1 เดิมเรียกว่าวัดเสาประโคน เพราะมีเสาใหญ่บอกเขตอยู่ที่หน้าวัด ติดแม่น้ำเจ้าพระยา แต่สูญหายไปเสียนานแล้วคงเหลือแต่ชื่อ
ดังสุนทรภู่เขียนในนิราศภูเขาทอง พ.ศ. 2371 สมัยรัชกาลที่ 2 ว่า “…ถึงอารามนามวัดประโคนปัก ไม่เห็นหลักลือเล่าว่าเสาหิน เป็นสำคัญปันแดนในแผ่นดิน มิรู้สิ้นสุดชื่อที่ลือชา…”
เรื่องเสาบอกเขตพระนครและเสาบอกระยะต่างๆ ของกรุงเทพฯ นี้เป็นเรื่องสำคัญ แต่เราไม่ค่อยสนใจกันจึงปล่อยให้จมหายไปในแม่น้ำลำคลองเสียมาก
ดังหาเสาบอกระยะริมคลองเปรมประชากรไม่พบเลยแม้แต่เสาเดียว ทั้งๆ ที่ขุดคลองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5 หรือยุค 2410 นี้เอง
สมัยผมเรียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พยายามดั้นด้นไปสำรวจวัดต่างๆ ตามรอย น. ณ ปากน้ำ ที่ผมเคารพนับถือ ราว 80 วัดจากที่อาจารย์ น. เขียนไว้ 169 วัด
วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2519 หรือเมื่อ 43 ปีก่อน (นับจาก พ.ศ. 2562 – กองบก.ออนไลน์) ได้เข้าไปในพระอุโบสถวัดดุสิต ยังเห็นภาพพุทธประวัติเต็มผนังทั้ง 4 ด้าน ฝีมือช่างวิเศษมาก
เหนือช่องหน้าต่างและบานประตู มีกรอบใส่กระจกเขียนสีแบบไทย ติดอยู่จำนวนหนึ่ง
เอากล้องส่องขึ้นไปถ่ายสุ่มๆ ได้รูปมารูปหนึ่ง เพราะเงินน้อยไม่มีกำลังซื้อฟิล์มมาถ่ายแบบตามใจชอบได้
ทราบจากหนังสือปกแข็งของไทยวัฒนาพานิชที่มีอยู่ข้างตัวว่าเป็นภาพชุดสมุทรโฆษคำฉันท์ ซึ่งแต่งตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช 300 กว่าปีก่อน
ว่าจะหยิบมาถ่ายให้ดูก็หาหนังสือเล่มที่ว่าไม่พบ จำใจต้องให้ดูจากภาพขาวดำที่ผมถ่ายไปก่อน
เมื่อจะเขียนเรื่องนี้ ไปรื้อแฟ้มข่าวขโมยของวัดที่ผมเก็บสะสมมาตั้งแต่ยุค 2510 มาอ่าน พบว่าก่อนหน้าผมไปไม่นาน… คือเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2519
ภาพเขียนสีบนกระจกเรื่องสมุทรโฆษถูกขโมยลักไปแล้ว 5 บาน
เหลือแต่ภาพสำเนาที่สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชไปถ่ายและนำมาพิมพ์เป็นเล่ม แต่ฟิล์มที่ถ่ายชุดนั้นเข้าใจว่าจะซีดไปหน่อย ภาพจึงดูไม่ค่อยคมเข้มเท่าที่ควร
ถึงกระนั้นก็ยังนับว่าเป็นหลักฐานสำคัญ เพราะภาพที่ถูกลักนั้นเข้าใจว่าคงหายไปเลย ไม่อาจตามคืนได้
ข่าวที่เก็บเขียนสั้นมากเพียงแค่ 7 -8 บรรทัด เป็นข่าวจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับ 14 เมษายน พ.ศ. 2519 บอกว่า
เวลา 7 นาฬิกาของวันที่ 14 พระถวิล กาญจนสงคราม นำความไปแจ้งต่อตำรวจสน.บางยี่ขันว่า
เมื่อตอนตี 5 วันนี้ ตนได้ไปดูความเรียบร้อยในพระอุโบสถเนื่องจากจะมีชาวบ้านมาทำบุญในวันสงกรานต์
เมื่อไปถึงก็พบว่าประตูพระอุโบสถถูกคนร้ายงัดเปิดทิ้งไว้ คนร้ายขโมยเอาภาพเขียนซึ่งติดเหนือผนังโบสถ์ไปเป็นจำนวน 5 ภาพ
ตีราคาภาพละ 5,000 บาท (โถ..ตีราคาน้อยจัง)
จึงมาแจ้งความเพื่อให้ตำรวจสืบหาตัวคนร้าย
แน่นอน!!!!! ข่าวสั้นเพียงแค่นี้คงไม่มีพลังพอให้ใครสนใจหรอก… เรื่องจึงได้เงียบงันเป็นคลื่นกระทบฝั่งเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
หลายปีก่อน… อาจารย์อดิศักดิ์ ทองบุญ ราชบัณฑิต เคยขอให้ผมไปที่วัดเพื่อให้คำปรึกษาเจ้าอาวาสองค์ใหม่ ว่าถ้าจะพิมพ์หนังสืองานศพเจ้าอาวาสองค์เก่าควรจะพิมพ์อะไร
ผมเรียนเสนอว่าควรพิมพ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดดุสิตารามพร้อมข้าวของต่างๆ ให้เป็นหลักฐานเอาไว้ เกิดภาพกะเทาะหลุดร่วงไปอีกอย่างน้อยก็จะมีต้นแบบอยู่ในหนังสือ
ตั้งชื่อว่าสมบัติวัดดุสิดาราม…. ผมปวารณาว่ายินดีจะช่วยถ่ายรูปและจัดต้นฉบับให้โดยไม่คิดค่าตัวแต่อย่างใดทั้งๆ ผมก็มีงานสุมอยู่
สมัยนั้นกล้องดิจิตอลเริ่มมีคุณภาพพอจะใช้การได้แล้วถึงไม่ใช่มืออาชีพก็ยังถ่ายภาพได้คมชัดพอสมควรแหละ
ทิ้งระยะกันไปพักหนึ่ง ทราบต่อมาว่าทางวัดพิมพ์หนังสืออื่น คือพระราชพิธี 12 เดือนแทน
จริงอยู่ ในยุค 2520 สำนักพิมพ์เมืองโบราณเคยพิมพ์หนังสือจิตรกรรมฝาผนังวัดดุสิตารามมาแล้วเล่มหนึ่ง แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ นักหรอกเพราะหนังสือหนาไม่มาก และมิได้ถ่ายภาพข้าวของต่างๆ ไม่ได้ก๊อปปี้ภาพถ่ายเก่า หรือถ่ายอาคารกุฏิเก่าของวัดไว้ก่อนเปลี่ยนร่าง
ก็ได้แต่รอว่าอย่าให้ใครมาลักของที่วัดไปอีกก็แล้วกัน
อ่านเพิ่มเติม :
- วณิพกดีดกีตาร์รับบริจาคยุคแรกๆ ในไทย ข้างสนามหลวง พ.ศ. 2520
- “เอนก-อัครชัย” พาส่อง “ของสะสมหายาก” ย้อนอดีตบรรยากาศฉลองวันชาติผ่านภาพและสื่อสิ่งพิมพ์
- “จิงโจ้” ภาษาไทยแต่เดิมหมายถึงนก และสัตว์ประหลาดหัวเป็นคนตัวเป็นนก
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กันยายน 2562