“จิงโจ้” ภาษาไทยแต่เดิมหมายถึงนก และสัตว์ประหลาดหัวเป็นคนตัวเป็นนก

จิงโจ้ เรือสำเภา
ภาพจิงโจ้เกาะหัวเรือสำเภาจิตรกรรมลายรดน้ำในวัดโพธิ์

คำว่า “จิงโจ้” เป็นคำที่คนไทยใช้เรียกสัตว์หน้าท้องที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศออสเตรเลีย ที่ฝรั่งเขาเรียกกันว่า “Kangaroo” ซึ่งก็น่าแปลกที่มันเป็นสัตว์ต่างถิ่นแท้ๆ เราก็ไม่เรียกตามอย่างเขา แต่เอาคำที่คนไทยใช้อยู่ก่อนแล้วมาใช้เรียกสัตว์ชนิดนี้แทน

ที่ว่าจิงโจ้เป็นคำไทยใช้มาแต่เดิมนั้น ปรากฏอยู่ในหนังสืออิเหนา ซึ่งแต่งสมัยรัชกาลที่ 1 ที่มีบทชมนกตอนหนึ่งว่า

Advertisement

กะลุมพูจับ   กะลำภ้อ

จิงโจ้   จับจิงจ้อแล้วส่งเสียง

พระยาอนุมานราชธน ได้อธิบายว่า กะลุมพู เป็นนกชนิดหนึ่ง มีขนาดเท่าๆ นกพิราบ กะลำพ้อ เป็นไม้ยืนต้น ส่วน จิงจ้อ เป็นไม้เถาในสกุลผักบุ้ง คำว่า “จิงโจ้” จึงน่าจะหมายถึงนกด้วย

แต่ได้ความเท่านั้นก็ยังไม่มีใครรู้จักแน่ว่านกจิงโจ้มีหน้าตาอย่างไร จนพระยาอนุมานฯ มาได้ข้อมูลจาก นายสุด ปราชญ์ชาวเวียงจันท์ ว่า มีนกชนิดหนึ่งมีชื่อเรียกในภาษาอีสานว่า “นกจีโจ้” เพราะมันชอบร้องว่า “จี….(ลากเสียง)…โจ๊ะ” จึงเป็นไปได้ว่า นกจิงโจ้ที่ถูกกล่าวถึงในอิเหนาน่าจะมีอยู่จริง

แต่เรื่องราวของจิงโจ้ยังพิสดารขึ้นไปอีก เมื่อมันถูกนำมาใช้เรียกสัตว์ประหลาด “จิงโจ้โล้สำเภา” ในจิตรกรรมของวัดโพธิ์ด้วย กลายเป็นที่มาทำให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสงสัย และสอบถามไปยังพระยาอนุมานฯ ให้ช่วยค้นคว้าหาคำตอบข้างต้นมานั่นเอง

คุณเอนก นาวิกมูล ผู้รอบรู้เรื่องของเก่าเล่าว่า ภาพจิงโจ้ที่ว่านี้อยู่ในพระอุโบสถที่ขอบล่างหน้าต่างซีกซ้ายมือของพระประธาน ช่างเขียนสมัยรัชกาลที่ 3 เขียนเป็นลายรดน้ำ มีรูปหมากำลังยืนอยู่บนเรือสำเภา ทำท่าเห่าสัตว์ประหลาดซึ่งเกาะอยู่ที่หัวเรือ จะตกแหล่ไม่ตกแหล่ ตามเรื่องราวในนิทานโบราณแต่งเป็นกลอนกล่อมเด็กที่ร้องกันว่า

จิงโจ้เอย   มาโล้สำเภา

หมาไนไล่เห่า   จิงโจ้ตกน้ำ

หมาไนไล่ซ้ำ   จิงโจ้ดำหนี

ได้กล้วยสองหวี   ทำขวัญจิงโจ้ โห่ฮิ้ว

ฟังแล้วเจ้าจิงโจ้ที่ว่านี้จึงไม่น่าจะเป็นนก แต่มีความเป็นคนปนๆ เข้าไปด้วย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทรงเห็นพ้องกันว่า เหตุที่ช่างเขียนสมัยรัชกาลที่ 3 เขียนรูปจิงโจ้ออกมาเช่นนั้น เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าจิงโจ้เป็นนก แต่ถ้าเขียนรูปนกลงไปก็ย่อมขัดกับบทกลอน จึงเอาทั้งคนทั้งนกมาปนกันกลายเป็นตัวประหลาดดังภาพไป

นอกจากนี้ คำว่าจิงโจ้ยังถูกนำไปใช้เรียกทหารหญิงที่รัชกาลที่ 4 ทรงจัดให้มีขึ้นด้วย

ส่วนการนำคำว่าจิงโจ้มาใช้กับสัตว์หน้าท้องจากออสเตรเลียนั้น คุณเอนก ไปค้นมาว่า จากหลักฐานที่เก่าที่สุด คำๆ นี้ใช้เรียก “Kangaroo” ก็เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ตามที่ปรากฏในพจนานุกรมที่ชื่อว่า “ศริพจน์ภาษาไทย์” ของ บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ แก้ไขเพิ่มเติมโดย บาทหลวงเวย์ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2439

ขณะที่ “สัพพะจะนะพาสาไท” พจนานุกรมฉบับดั้งเดิมของ บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ ที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2397 นั้นยังไม่มีคำว่าจิงโจ้แต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“เรื่องของ จิงโจ้ 4 แผ่นดิน ยิ่งมากรัชกาล ยิ่งหลากความหมาย”. เอนก นาวิกมูล. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กุมภาพันธ์ 2525


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤศิจกายน 2559