ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อถามว่า “เมืองไทยเมื่อก่อนมี สิงห์โต หรือเปล่า” หมอบุญส่ง เลขะกุล (15 ธันวาคม 2450 – 9 กุมภาพันธ์ 2535) นายแพทย์นักนิยมไพรผู้มีชื่อเสียงของประเทศหัวเราะและตอบว่า
“เมืองไทยไม่มีสิงห์โตหรอกคุณ จะมีก็แต่สิงห์โตจีนเท่านั้น…อย่าว่าแต่เมืองไทยเราเลย ในภูมิภาคแถบอินโดจีน ตั้งแต่พม่ามาจนสุดแหลมมลายูก็ไม่มี ตามเกาะตามแก่งในจีนในญี่ปุ่น ก็ไม่มีทั้งนั้น สิงห์โตมันชอบอากาศร้อน แต่ไม่ใช่ร้อนชื้นอย่างบ้านเรา ต้องเป็นร้อนแห้งแล้ง จนถึงขั้นทะเลทรายฉะนั้นพื้นถิ่นเดิมของมันจึงอยู่ในอาฟริกาเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็คาบเกี่ยวมาถึงอินเดียแถบตะวันตกและตอนกลางของประเทศ”
ความน่าสนใจของสิงห์โต
สิงห์โต เป็นสัตว์ที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลกตะวันตกและโลกตะวันออก คือทั้งฝรั่งและเอเชีย ในตราต่างๆ มักใช้สิงห์มาร่วมขบวนด้วยเสมอและใช้กันหลายประเทศ เช่น ตราราชการอินเดีย (สิงห์เสาอโศก)
ด้านธรรมชาติ สิงห์โต ได้รับการยอกย่องให้เป็นเจ้าแห่งสัตว์ป่า ส่วนในเทพนิยายสิงห์โค ก็ยังเป็นเจ้าอยู่นั่นเอง ดังนั้น ความเป็นเจ้าใหญ่นายโตของสิงห์โตจึงน่าศึกษา
ในพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทย พระแท่นจะต้องปูด้วยหนังราชสีห์ หรือหนังสิงห์โต ตั้งแต่สมัยโบราณเป็นต้นมา แม้สมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อหาหนังราชสีห์ไม่ได้แล้ว ก็ยังโปรดฯ ให้เขียนรูปราชสีห์บนแผ่นทองคำแทน
สิงห์ในประวัติศาสตร์
ก่อนที่คนไทยจะรู้จักราชสีห์ หรือสิงห์โต สัตว์ประเภทนี้มีเรื่องราวเริ่มต้นจากประเทศอื่นๆ ก่อน อาทิเช่น
อียิปต์ มีบันทึกเก่าเก่าที่สุดเกี่ยวสิงห์โต คือ ตัวสฟิงค์ ซึ่งมีอยู่ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ราวๆ 5,000 ปีมาแล้ว ตัวสฟิงค์เป็นประติมากรรมหินขนาดใหญ่หน้าเป็นคน ตัวเป็นสิงห์โต ภายในบรรจุศพอาบน้ำยา (มัมมี่) ของกษัตริย์อียิปต์
จีน ด้วยภูมิประเทศไม่เหมือนทางอินเดีย หรืออาฟริกา ดังนั้นสิงห์โตในความหมายฝรั่งว่า “LION” สันนิษฐานว่าหลวงจีนและคณะธรรมทูตหลายคณะที่จีนส่งไปศึกษาพระธรรม และอัญเชิญพระไตรปิฎกที่อินเดียน่าจะได้เห็นสิงห์โตตัวจริงและทางศิลปกรรม แล้วนำเรื่องราวกลับมาถ่ายทอดในจีน โดยสิงห์โตจีนจะมีลักษณะคล้ายสุนัขตัวใหญ่ ขนปุกอย่างหมาจู
ขอม ซึ่งได้รับอิทธิพลทางศิลปะจากอินเดียส่งผ่านมาทางแหลมอินโดจีน ปรากฏในลวดลายเครื่องประดับต่างๆ เช่น รูปมกรกำลังคายสิงห์เล็กๆ รูปสิงห์กำลังยกขาหน้าบางครั้งก็มีปีก บางครั้งก็มีเขา ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงให้ความเห็นว่า สิงห์ขอมรุ่นแรกมีศีรษะโต รูปร่างไม่ได้สัดส่วนนัก ดูเหมือนสุนัข นั่งอยู่บนส้นเท้า แต่มีขนที่คอ ปราสาทขอมหลายแห่งก็มีสิงห์อยู่ในงานศิลปกรรม เช่น ปราสาทพะโค, ปราสาทบาแค็ง, ปราสาทบันทายสรี, ปราสาทนครวัด ฯลฯ
สิงห์โตมาเมืองไทย
สิงห์โตเป็นๆ เข้ามาเมืองไทยเป็นครั้งแรกในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ในโคลงที่ติดอยู่ ณ พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ บันทึกเอาไว้ว่า
“มีนายกำปั่น ภักดี
ชื่อ อะลังกะปูนี จัดให้
นกกระจอกเทศสี มอใหญ่ จริงพ่อ
กับสัตว์สิงห์โตให้ อมาตย์น้อมนำถวาย”
สำหรับคนไทยในอดีตมีทัศนะว่าสิงห์โตเป็นสัตว์ในนิยายมากกว่า หรือถ้ามีตัวตนจริงก็อยู่ในป่าหิมพานต์ เราจึงคุ้นแต่รูปสิงห์โตในแบบที่เขียนขึ้นมา เช่น ในดวงตราพระราชสีห์ และตามสมุดข่อย หรือภาพจิตรกรรมฝาผนัง
โดยตราราชสีห์น่าจะเป็นตราสัญลักษณ์เก่าแก่ของบ้านเมือง (ไม่นับตราครุฑ ซึ่งเป็นตราแผ่นดิน) ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิษฐานว่า
“ตราราชสีห์เห็นจะมีก่อนอื่นหมด เพราะเดิมเสนาบดีคงมีตำแหน่งเดียว เป็นรองจากพระเจ้าแผ่นดินในที่ว่าราชการต่งๆ ตามตำแหน่งที่เรียกเสนาบดี…ภายหลังราชการมากขึ้น คนเดียวบังคับไม่ไหวจึงตั้งเติมอีกตำแหน่งหนึ่งแบ่งกันบังคับการคนหนึ่งให้บังคับพลทหารที่จะประจำการสงคราม อีกคนหนึ่งให้บังคับพลเรือน ตำแหน่งใหม่ที่ตั้งขึ้นนั้นจะให้ใช้ตราอะไรคู่กัน ก็เลือกได้แต่คชสีห์…”
สำหรับตราสำนักนายกที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ก็เป็นรูปราชสีห์กับคชสีห์รักษารัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบขึ้นจากตราสมุหกลาโหม และสมุนายก นั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
ข้อมูลจาก :
เอนกวิทย์ ทรงสันติภพ. “สิงห์โตมาจากไหน เพราะเมืองไทยไม่มีสิงห์โต”, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2531
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2561