
ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
คำว่า เดรัจฉาน หรือ สัตว์เดรัจฉาน มักใช้เพื่อสื่อถึงลักษณะหรือคุณสมบัติบางประการที่แตกต่างจากมนุษย์ คือ ไม่รู้เหตุผล ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี เช่น สัตว์ร้ายที่สามารถสังหารเหยื่อได้ตามสัญชาตญาณโดยไม่รู้สึกสงสาร
บ้างเรียกรวม ๆ เพื่อหมายถึงสัตว์ทั้งหมดที่ไม่ใช่มนุษย์ หรือใช้เป็นคำเปรียบเพื่อด่าว่าผู้ที่มีพฤติกรรมต่ำช้า ไร้เมตตาปรานีราวกับไม่ใช่มนุษย์ ก็มี
แท้จริงคำนี้หมายถึงหรือครอบคลุมอะไรบ้าง?

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของ เดรัจฉาน ว่า น. สัตว์เว้นจากมนุษย์ เช่นหมู หมา วัว ควาย (มักใช้เป็นคำด่า), ใช้ว่า ดิรัจฉาน หรือ เดียรัจฉาน ก็มี
หากดูกันที่รากทางภาษา คำนี้มาจากภาษาบาลีว่า ติรจฺฉาน (อ่านว่า ติ-รัจ-ฉา-นะ) แปลว่า สัตว์ที่เคลื่อนที่ไปในแนวขวาง คือ ขณะที่เคลื่อนที่ไปนั้น ลำตัวไม่ได้ตั้งตรงอย่างมนุษย์
ในตำรา โลกทีปนี โดยพระเทพมุนี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ. 9) อธิบายไว้ว่า เดรัจฉานนั้นมีอยู่ 4 ประเภท ดังนี้
1. อปทติรัจฉาน สัตว์ไม่มีเท้า ไม่มีขา เช่น งู ปลา ไส้เดือน เป็นต้น
2. ทวิปทติรัจฉาน สัตว์ที่มี 2 ขา เช่น ไก่ เป็ด นกตระกุม แร้ง กา เป็นต้น
3. จตุปปหติรัจฉาน สัตว์ที่มี 4 ขา เช่น หมี หมา วัว ควาย ช้าง ม้า เป็นต้น
4. พหุปปทติรัจฉาน สัตว์ที่มีมากกว่า 4 ขาขึ้นไป เช่น กิ้งกือ ตะเข็บ ตะขาบ เป็นต้น
ในทางพุทธศาสนา แม้สัตว์เดรัจฉานจะอยู่ร่วมกับมนุษย์ แต่จัดอยู่ในโลกเดรัจฉาน ซึ่งเป็นอบายภูมิลำดับสุดท้าย เกิดมาชื่นชมยินดีในเหตุ 3 ประการ คือ กิน นอน และ ประกอบเมถุนกิจ (สืบพันธุ์) เป็นที่มาของชื่อภูมิ ติรัจฉานภูมิ หมายถึง โลกของสัตว์ที่มีความยินดีในเหตุทั้งสาม
โลกทีปนียังระบุด้วยว่า นอกจากร่างกายของสัตว์เหล่านี้จะ ไปโดยขวาง หรือตามยาว (ต้องคว่ำอกไป) ต่างจากมนุษย์ที่ไปตามตรง ศีรษะอยู่เบื้องสูง จิตก็นับว่า “ขวาง” ด้วย ความหมายคือ ขวางจากมรรคผลนิพพาน ต่อให้พยายามทำความดี มีจิตประเสริฐเลิศล้น หรือมีวาสนาบารมี ก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้ อย่างมากก็เพียงได้ขึ้นสวรรค์
นับเป็นสัตว์ชาติอาภัพจริง ๆ

ดังนั้น หากท่านโดนใครว่า (หรือไปว่าใคร) ว่าเป็น “เดรัจฉาน” พึงระลึกว่านั่นไม่ได้หมายถึงความต่ำช้า (แบบตรงๆ) เพียงถูก “ขวาง” การบรรลุธรรม และต้องวนเวียนอยู่กับการกิน นอน และสืบพันธุ์ ก็เท่านั้น…
อ่านเพิ่มเติม :
- สวรรค์แบบพุทธที่เทวดาตกชั้นได้ จาก “ฉกามาพจร” ในไตรภูมิพระร่วง
- “สุขาวดี” คืออะไร? ทำอย่างไรจึงจะได้เข้าสู่แดนสวรรค์อันบริสุทธิ์ของชาวพุทธ
- นอนมากไปไม่ดี!? “โคลงโลกนิติ” บอก “นอน 12 ชั่วโมงไม่ต่างอะไรกับสัตว์เดรัจฉาน”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พระเทพมุนี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ. 9). โลกทีปนี. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์.
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. เดรัจฉาน. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2568.
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉาน. บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553. (ออนไลน์)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มกราคม 2568