ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2541 |
---|---|
ผู้เขียน | เอื้อ มณีรัตน์ |
เผยแพร่ |
ค้นที่ไปที่มา คำว่า สิงห์โต สิงโต ประวัติของคำที่น่าจะสืบสวนให้แน่นอน?
ไม่ทราบว่าเหตุใดพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานจึงเขียน สิงโต แทนที่จะเขียนว่า สิงห์โต อย่างที่คนไทยเคยเขียนกันมา อาจเป็นเพราะผู้ชำระพจนานุกรมเห็นว่า สิงห์โตเป็นคำที่ประกอบขึ้นมาจากคำนาม (คือสิงห์) กับคำวิเศษณ์ (คือโต) ไม่ใช่คำนามแท้
สิงห์โต (เขียนแบบเก่า) ไม่ใช่สัตว์พื้นเมืองของไทย ในหนังสือมหาชาติคำหลวงซึ่ง แต่งเมื่อประมาณ พ.ศ. 2025 สมัยกรุงศรีอยุธยายังไม่มีคำว่า สิงห์โต ใช้ ตัวอย่างเช่นข้อความที่ว่า
“อถ ตโต เทวปุตฺตา สาธูติ ตาสํ เทวตานํ วจนํ ปฏิสุณิตฺวา กษณไตรเทเวศ วรฤทธิ เมื่อรับสนิทในพนาดถ์ แห่งอิศรเทวราชวาที สีห พฺยคฺฆทีปิโน หุตฺวา เปนราชสีห เสือโคร่ง เสือเหลือง มีมหิทธิเรืองกาจกำแหง”
นี่เป็นการแปลทับศัพท์ สีห และแปลคำว่า พฺยคฺฆทีปิโน หุตฺวา เป็น เสือโคร่ง เสือเหลือง เพราะสัตว์ ๒ ชนิดหลังนี้มีอยู่ประเทศไทย บางครั้งก็แปลว่า สิงหราช เช่น
“วเน วาฬมิคากิณฺเณ เสือโคร่งควายสิงหราช คชสีหดาษคชสาร”
สิงห เป็นภาษาสันสกฤต มีความหมายอย่างเดียวกับ สีห ในภาษาบาลี ไทยเรานำเอาคำ สิงห มาประสมกับ โต เป็น สิงห์โต ทำไมจึงต้องเอาคำสันสกฤตมาประสมกับคำไทย? โต ในที่นี้แปลว่าอะไร?
ที่ จ.แม่ฮ่องสอน มีการแสดงฟ้อนโตของไทยใหญ่ คล้ายกับการเชิดสิงห์โตของชาวจีน ชาวไทยใหญ่เชื่อว่า โต เป็นสัตว์ป่าหิมพานต์ มีตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ ประชาชนมีความยินดีพากันไปรับเสด็จเป็นจำนวนมาก แม้แต่สัตว์ป่าหิมพานต์ที่เรียกว่า โต ก็ไปรับเสด็จด้วย จึงมีการแสดงฟ้อนโต เพื่อระลึงถึงวันสำคัญนั้น
อ.วิทย์ พิณคันเงิน เขียนลงในหนังสือ “ลายไทย” ตอนหนึ่งว่า “ลายหางโต มีลักษณะของตัวลายเป็นช่อกนก โดยมีหลักฐานแสดงว่าเป็นลายเก่าแก่ลายหนึ่ง ใช้ในการจำหลักศิลาประดับโบราณสถาน กระหนกหางโตที่ปรากฏในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ก็คงจะได้สืบต่อมาจากสมัยโบราณด้วย ท่วงทีของการผูกลายไม่แสดงเถาลายให้ซับซ้อนแต่ก็อ่อนไหวพลิ้วขึ้นเบื้องบน โดยชูช่อลายให้ดูเด่น เช่น ขนปลายหางราชสีห์…”
ข้อเขียนข้างต้นนี้ชวนให้เชื่อว่า แต่เดิมคนไทยเรียกราชสีห์ว่า โต เพราะลายหางโตนั้นมีรูปร่างเหมือนหางราชสีห์
เหตุที่คนไทยเรียกว่าสิงห์โตในเวลาต่อมา อาจเป็นเพราะความนิยมที่มักจะเอาคำบาลีสันสกฤตนำหน้าคำไทย ตัวอย่างเช่น คำต่อไปนี้:- ทุกข์ยาก รูปร่าง นัยน์ตา กิริยาท่าทาง ทรัพย์สิน นิสัยใจคอ โรคภัยไข้เจ็บ เคารพนบนอบ สาปแช่ง โกรธเคือง ฯลฯ
คนไทยภาคเหนือ ชอบใช้คำว่า สิงห์ นำหน้าชื่อว่า สิงห์แก้ว สิงห์คำ สิงห์ทอง สิงห์ทน วัดในภาคเหนือมักจะปั้นรูปสิงห์ไว้หน้าวัด อารามที่มีชื่อเสียงในจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย ก็มีชื่อว่า วัดพระสิงห์ คำว่า สิงห์ จึงคุ้นหูคนภาคเหนือมาก
คำว่า สิงห์โต จึงมีที่ไปที่มา ไม่เหมือนคำว่า สิงโต ของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก่อนที่จะบัญญัติให้คนไทยทั้งประเทศใช้ น่าจะสืบสวนให้แน่นอน มิฉะนั้นก็จะทำให้คนรุ่นหลังไม่ทราบประวัติของคำเดาไม่ถูกว่าทำไมจึงเขียนว่า สิงโต
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 เมษายน 2560