“บางจาก” มาจาก “ต้นจาก” ชื่อบ้านนามเมืองที่บ่งชี้จุดเด่นของท้องถิ่น

ภาพถ่ายคลองสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปี 1938 สังเกตบริเวณสองฝั่งคลองมีต้นจากขึ้นแน่นขนัด (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

“บาง” หมายถึง ทางน้ำเล็ก ๆ ในภาษามอญโบราณหมายถึง ปาก, “จาก” หมายถึง พืชชนิดหนึ่งในตระกูลปาล์มที่ขึ้นเป็นกออยู่ตามป่าชายเลนหรือบริเวณน้ำกร่อย

ต้นจาก (Nypa fruticans) เป็นพืชตระกูลปาล์ม เป็นปาล์มชนิดเดียวที่พบบริเวณป่าชายเลน พบในเขตจังหวัดแถบชายทะเล

ต้นจากเป็นพืชสารพัดประโยชน์ ใบอ่อนนำมามวนยาฉุนหรือยากรายสูบเรียกว่า “มวนใบจาก” ใบเขียวสดนำมาใช้ห่อขนมเรียกว่า “ขนมจาก” ใบแก่นำมาเย็บเป็น “ตับจาก” ใช้สำหรับมุงหลังคา ใบจากยังนำมาทำข้าวของเครื่องใช้อีกหลายอย่าง เช่น ภาชนะตักน้ำ ที่เรียกว่า “หมาจาก” หรือเครื่องป้องแดดกันฝน ที่มีทั้ง “หมวกเปี้ยว” “แชง” “อีหุบ” “แมงดา” “งอบ”

รากของต้นจากเอามาทุบทำเป็นแส้ปัดไล่แมลงได้, ส่วนลูกจากอ่อนคนใต้นิยมนำมารับประทานเป็นผักเหนาะ ลูกจากที่แก่ขึ้นนำมาหั่นเป็นชิ้นเชื่อมเป็นขนมหวาน ลูกจากที่ยังเป็นน้ำอยู่เรียกว่า “ไข่น็อก” ว่ากันว่ามีรสหวานน้อย ๆ และมีกลิ่นหอม และถ้าปาดช่อดอกที่ยังอ่อนหรือ “งวงจาก” ก็จะได้น้ำตาลเช่นเดียวกับต้นตาลโตนด น้ำในลูกจากก็สามารถนำมาหมักทำน้ำส้มสายชู หรือน้ำตาลก็นำมาหมักเป็นน้ำตาลเมา (arrack) ได้อีกด้วย

หญิงชาวสมุทรสาครกำลังทำขนมจาก ภาพถ่ายเมื่อปี 1936 (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

ชื่อ “บางจาก” มีทั้งที่เป็นวัด คลอง สถานีรถไฟฟ้า และเขตการปกครอง อย่างตำบลบางจาก ในจังหวัดสมุทรปราการ เพชรบุรี นครศรีธรรมราช ในกรุงเทพฯ มีแขวงบางจากอยู่สองแห่ง คือ แขวงบางจาก เขตพระโขนง และแขวงบางจาก เขตภาษีเจริญ

สุนทรภู่เคยเดินทางผ่านย่านบางจาก คลองบางจาก หรืออาณาบริเวณแขวงบางจาก เขตภาษีเจริญในปัจจุบัน ดังปรากฏในนิราศพระบาท ความว่า “…ถึงคลองขวางบางจากยิ่งตรมจิต ใครช่างคิดชื่อบางไว้กางกั้น ว่าชื่อจากแล้วไม่รักรู้จักกัน พิเคราะห์ครันหรือมาพ้องกับคลองบาง ทั้งจากที่จากคลองเป็นสองข้อ ยังจากกอนั้นก็ขึ้นในคลองขวาง…”

คลองบางจาก พื้นที่ปากคลองตั้งแต่คลองบางกอกใหญ่ ไหลไปทางทิศตะวันตก มีวัดโบราณตั้งเรียงราย คือ วัดกำแพง และวัดยาง นับเป็นย่านเก่าแก่แห่งหนึ่งของสยาม กวีผู้แต่งโคลงกำสรวลสมุทร หรือกำสรวลศรีปราชญ์ บันทึกถึงชื่อบางจากเอาไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ราว พ.ศ. 2000 ลงมา

“บางจาก” จึงหมายถึงชุมชนที่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลองที่มี “ต้นจาก” ขึ้นปกคลุม ซึ่งคงมีอยู่จำนวนมากมหาศาล จนเป็นจุดเด่นเป็นจุดสังเกตของย่านนั้นชุมชนนั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อนันต์ อุ่นอรุณ. “ลูกชิด-ลูกจาก” ใน, ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 24 : ฉบับที่ 9, น. 52-53.

สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. “กรุงเทพฯ กรุงธนฯ มีภูมิสถาน ชื่อบ้านนามเมือง”. (ดรีม แคทเชอร์, 2556)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มกราคม 2566