“ตึกโดม” ตึกแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สัญลักษณ์พิทักษ์ธรรมของ “ลูกแม่โดม”

แต่เดิมนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีสภาพเป็นนิติบุคคล ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ธรรมศาสตร์ได้เงินจากค่าลงทะเบียนของนักศึกษารุ่นแรก ๆ จำนวน 3 แสนบาท (ราว 50% ของรายรับทั้งหมดในปีแรกของธรรมศาสตร์) นำมาซื้อที่ดินด้านติดแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาด 18 ไร่ 2 งาน บริเวณท่าพระจันทร์ถึงท่าประตูพระอาทิตย์ พื้นที่เดิมเป็นที่ตั้งของโรงทหารกองพันทหารราบที่ 4 ซึ่งกระทรวงกลาโหมไม่ต้องการใช้งานแล้ว

ตึกเก่าของทหารเป็นตึก 4 หลัง หลังละ 2 ชั้น ตั้งเรียงขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยา ปรีดี พนมยงค์ จึงมอบหมายให้ นายหมิว อภัยวงศ์ ซึ่งจบวิชาสถาปัตยกรรมจากประเทศฝรั่งเศส ให้เป็นสถาปนิกออกแบบตึกใหม่ของธรรมศาสตร์ โดยให้หลักไว้ว่า “ประหยัด สวยงาม และทันสมัย”

กระทั่ง ได้สร้างหลังคาเชื่อมตึกทั้ง 4 หลัง จนกลายเป็นตึกหลังเดียว ส่วนตรงกลางของตึก สร้างเป็นตึกสูง 3 ชั้น มียอด “โดม” ทรงแปดเหลี่ยมเป็นสัญลักษณ์ กล่าวกันว่า สถาปนิกผู้ออกแบบได้แรงบันดาลใจจากการเหลือบไปเห็น “ดินสอแปดเหลี่ยม” ที่เหลาไว้แหลมคม เปรียบเสมือนภูมิปัญญาทางการศึกษา ตึกโดมจึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของธรรมศาสตร์

ใต้ยอดโดมมี “นาฬิกาปารีส” ซึ่งเป็นนาฬิกาลูกตุ้มเหล็ก 7 ชิ้น มูลค่า 1,250 บาท ที่ห้าง เอส.เอ.บี. ตั้งใจจะขายให้ธรรมศาสตร์ แต่ภายหลังเปลี่ยนใจยกให้เป็นของขวัญโดยไม่คิดเงิน

พิธีเปิดตึกโดมมีขึ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นประธานในพิธีเปิด ทำการไขกุญแจเปิดประตูเหล็กบานพับของตึกโดม

ราวปลายทศวรรษ 2510 ปีกซ้ายสุดของตึกโดมที่ติดกับคณะเศรษฐศาสตร์ถูกทุบ สร้างตึกใหม่ คือ ตึก เอ.ที. ลักษณะเป็น 1 ใน 4 ของวงกลม ในลักษณะเป็นลำโพง ตึกหลังนี้ได้กลายเป็นจุดศูนย์รวมข่าวสาร งานวิชาการ และการเคลื่อนไหวของนักศึกษาธรรมศาสตร์ และเมื่อ พ.ศ. 2537 ได้ทุบตึกหลังนี้แล้วสร้างหอสมุดปรีดี พนมยงค์ขึ้นแทน สำหรับปีกขวาสุดก็ทุบลงเมื่อ พ.ศ. 2520 สร้างเป็นตึกใหม่สูง 9 ชั้น

ตึกโดมได้รับการยกย่องให้เป็น “แม่” ตั้งแต่เมื่อไหร่นั้น ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่า อาจมีขึ้นหลังการเปิดใช้งานตึกโดมเมื่อ พ.ศ. 2479 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีนักเรียนเตรียมธรรมศาสตร์ ในช่วงทศวรรษ 2480

“โรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” เป็นผลของการจัดระเบียบการศึกษาแบบใหม่ในยุคนั้น โดยยกเลิกชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 และ 8 (ม.7-ม.8) แล้วให้มีโรงเรียนเตรียมขึ้น เพื่อสร้างความพร้อมให้กับนักเรียนก่อนเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา

นักเรียนเตรียมธรรมศาสตร์มีทั้งหมด 8 รุ่น นับตั้งแต่ พ.ศ. 2481-2488 รวม 5,898 คน ต้องมาเรียนที่ธรรมศาสตร์ทุกวัน โดยมีอาคารเรียนเป็นตึกยาว 2 ชั้น ริมกำแพงชรา ซึ่งเป็นตึกคณะสังคมฯ และบัญชีในปัจจุบัน สำหรับนักศึกษาธรรมศาสตร์ แม้จะมีจำนวนมาก แต่ที่มานั่งฟังคำบรรยายมีไม่มากนัก เพราะนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นคนทำงานแล้ว

ความเป็น “แม่” ของตึกโดมจึงก่อตัวขึ้นในช่วงเวลานี้

ศาสตราจารย์วิกรม เมาลานนท์ (อดีตประธานศาลฎีกาและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) นักศึกษาธรรมศาสตร์รุ่นที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2479 ได้กล่าวถึง “แม่โดม” ไว้ว่า “ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ย่อมจำใจจากโลกนี้ไปรุ่นแล้วรุ่นเล่าตามกฎธรรมชาติ แต่แม่โดมของเราทุกคนจะดำรงอย่างตระหง่านรับใช้ชาติไทยตลอดไปตราบชั่วกัลปาวสาน”

ในช่วง พ.ศ. 2494 “โดม” นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของธรรมศาสตร์แล้ว ยังได้พัฒนามาเป็น “สัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม” เนื่องจากท่ามกลางบริบทช่วงสงครามเย็น เสรีนิยม ทุนนิยม สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ฯลฯ นำมาสู่การจัดตั้ง “คณะกรรมการสันติภาพ” ของนักศึกษาธรรมศาสตร์ ซึ่งได้ตั้งโต๊ะลงชื่อนักศึกษาเกือบ 2 พันคน เพื่อเรียกร้องสันติภาพ

ปัญหาเรื่องสันติภาพถูกซ้อนทับด้วยปัญหาความพยายามที่จะยึดครองพื้นที่ของธรรมศาสตร์โดยกองทัพบก หลังเหตุการณ์ “กบฏแมนฮัตตัน” เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2494 ซึ่งทหารเข้ายึดพื้นที่และเสนอขอซื้อที่ดินคืนเป็นเงิน 5 ล้านบาท จึงต้องเผชิญกับการเคลื่อนไหวประท้วงของนักศึกษาธรรมศาสตร์ ซึ่งนักศึกษาสามารถยึดพื้นที่กลับคืนได้ในวันที่ 5 พฤศจิกายน ปีเดียวกันนั้น โดยใช้วิธียึดพื้นที่คืนอย่างสันติวิธีด้วยกำลังของนักศึกษากว่าพันคน

เปลื้อง วรรณศรี หนึ่งในนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่เคลื่อนไหวเรื่องสันติภาพ ได้เขียนบทกวีชื่อ “โดม…พิทักษ์ธรรม” แสดงออกถึงจิตสำนึกของธรรมศาสตร์ว่า

“สิ่งเหล่านี้ที่โดมโหมจิตข้า
ให้แกร่งกล้าเดือนปีไม่มีหวั่น
ถ้าขาดโดมเจ้าพระยาท่าพระจันทร์
ก็ขาดสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม”

ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถ่ายเมื่อ กันยายน 2016 ภาพจาก LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP

อ้างอิง :

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. (2547). ธรรมศาสตร์การเมืองไทย จากปฏิวัติ 2475 ถึง 14 ตุลา 2516 – 6 ตุลา 2519. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 สิงหาคม 2563