พระยาตากฯ หนีจากอยุธยา เมื่อเดือนมกราคม 2309 ก่อนกรุงแตก

พระยาตาก พระเจ้าตาก พระบรมราชานุสาวรีย์ พระเจ้าตากสิน จันทบุรี
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ จ.จันทบุรี

เวลาเที่ยง วันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ ศักราช 1128 พุทธศักราช 2309 (วันที่ 3 มกราคม 2309) ฝนตกห่าใหญ่ เป็นชัยมงคลฤกษ์ พระยาตาก พาพรรคพวกทหารไทยจีน ราวๆ 500 คน ฝ่าสายฝน ออกจากค่ายวัดพิชัย มุ่งหน้าตะวันออก พร้อมด้วยเหล่าทหารไทยจีน มีนายทหารคนสำคัญคือ พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยราชา หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี หมื่นราชเสน่หา เป็นต้น

มีคำถามเสมอว่า เหตุใดพระเจ้าตากจึงตัดสินใจมุ่งหน้า “หนี” มาทางตะวันออก เหตุผลตรงไปตรงมาที่สุดคือฝากตะวันออกของกรุงศรีอยุธยามีกองกำลังของพม่าน้อยที่สุด ส่วนทางเหนือ ใต้ และตะวันตก เต็มไปด้วยกองทัพขนาดใหญ่ล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ทั้งสิ้น

นอกจากนี้การ “หนี” ได้ถึงชายทะเล หากเกิดเหตุคับขันประการใด ยังสามารถมุ่งหน้าออกทะเลได้ หรืออย่างน้อยก็ยังสามารถเข้าไปพึ่งพิงกรุงกัมพูชา ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพันธมิตรกันอยู่ หนึ่งในพรรคพวกที่หนีมาพร้อมกันยังมี นักองค์ราม ซึ่งลี้ภัยการเมืองมาอยู่กรุงศรีอยุธยาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่น่าจะพอรู้ทางหนีทีไล่ด้านตะวันตกเป็นอย่างดี

“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้ชาติ” วาดโดย สนั่น ศิลากรณ์ พิมพ์ครั้งแรกเป็นปกนิตยสารฟ้าเมืองไทย ปีที่ 17 ฉบับที่ 875 วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2528

ส่วนข้อสันนิษฐานว่า ชายทะเลตะวันออก เต็มไปด้วยชุมชน “แต้จิ๋ว” ซึ่งเป็นเชื้อสายเดียวกับพระเจ้าตาก และอาจจะเป็น “แหล่งทุน” ในสงครามกู้ชาตินั้น ยังเป็นเรื่องชวนสงสัยอยู่

ข้อแรก นาทีที่พระเจ้าตาก “หนี” นั้น อาจจะยังไม่คิดถึงการทำสงครามกู้ชาติในทันที

ข้อต่อมา ในนาทีนั้นน่าจะยังไม่มีใครรู้จัก “พระยาตาก” ขุนนางบ้านนอกหัวเมืองเหนือ ที่เพิ่งจะรับราชการเป็นพระยาได้ไม่เท่าไหร่ จึงเป็นการยากที่จะตัดสินใจ “เอาด้วย” เพราะอย่างน้อยหัวเมืองฟากตะวันออกขณะนั้นก็ยัง “ดูทิศทางลม” ไม่เข้ากับใครทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ขุนนางบ้านนอกอย่าง “พระยาตาก” จะมั่นใจได้อย่างไรว่า มีการสนับสนุนรออยู่ทางทิศตะวันออก

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า การต่อต้านกองกำลังพระยาตากโดยคนไทยด้วยกัน ซึ่งส่วนมากเป็นผู้นำท้องถิ่น ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ยังไม่ทันจะหยุดผ่อนม้า วางดาบ เลยทีเดียว

บนเส้นทาง “หนี” จากวัดพิชัย ผ่านบ้านหันตรา กำลังจะมุ่งหน้าสู่บ้านข้าวเม่า บ้านสัมบัณฑิต กองกำลังพม่าที่รู้ข่าว ก็ยกทัพตามมาต่อตี แต่ก็ต้องล่าทัพกลับไป เพราะสู้พระยาตากและพรรคพวกไม่ได้

พรรคพวกทหารไทยจีนของพระยาตากเวลานั้นมี พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยราชา หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี กับคนอีกราว 500-1,000 คน

วันแรก ของการเดินทัพผ่าน บ้านหันตรา แล้วหยุดลงตอนเที่ยงคืน ที่ บ้านสัมบัณฑิต เวลาเดียวกันนั้น กองกำลังพระยาตากก็ได้เห็นเพลิงลุกไหม้ในพระนคร “แสงเพลิงรุ่งโรจน์โชตนาการ” จากการถูกปืนใหญ่ระดมยิงเข้าพระนคร แต่กองทัพพม่าก็ยังบุกเข้าเมืองไม่ได้

จุดนี้เป็นจุดสำคัญ เพราะเป็นช่วงเวลาพิสูจน์เจตนารมณ์ของพระยาตากว่าจะหนีหรือจะสู้

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บอกว่าในคืนที่เห็นเพลิงไหม้พระนครนี้เอง ที่พระยาตากคิดที่จะ “แก้กรุงเทพมหานคร”

แต่พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวไว้ช้ากว่านี้ประมาณครึ่งเดือน คือพระยาตากประกาศ ”กู้ชาติ” เมื่อเข้าเขตเมืองระยองไปแล้ว

ความต่างของข้อมูลตรงนี้ คือตัวตัดสินความมุ่งหมายในใจของพระเจ้าตาก ว่า “หนี” เอาตัวรอด หรือ “หนี” ตั้งหลัก แต่ไม่ว่าการตัดสินใจเริ่มแรกจะเป็นอย่างไร ตอนท้ายก็ได้เฉลยแล้วว่าทรงตัดสินใจทำอย่างไร

ปมสำคัญที่น่าคิดก็คือ หากพระเจ้าตากต้องการหนีเอาตัวรอด เหตุใดจึงต้องพาทหารอีกนับพันคนไปด้วย เพราะการหนีด้วยจำนวนคนน้อยน่าจะคล่องตัวกว่า อีกเรื่องหนึ่งคือ หลวงศรเสนี ที่หนีมาพร้อมกันแต่แรกนั้น กลับตัดสินใจที่จะ “พาพรรคพวกหนีไปทางอื่น” ทั้งนี้จะเป็นเพราะหลวงศรเสนีไม่เห็นด้วยกับเส้นทางหนี ซึ่งเป็นเส้นทางที่ดีที่สุดขณะนั้น หรือเป็นเพราะรู้เจตนาของพระเจ้าตากจึงขอปลีกตัวไปทางอื่น

วันที่ 2 ของการเดินทัพ กองกำลังพระยาตากหยุดพักแรมที่ บ้านพรานนก ที่นี่มีเหตุต้องปะทะกับกองทัพพม่าจำนวน 2,000 คนอีกครั้งหนึ่ง และสามารถโจมตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไปได้อีก สร้างขวัญและกำลังใจให้กับไพร่พลเป็นอันมาก การรบครั้งนี้พระยาตากขึ้นม้าออกรบพร้อมกับนายทหารอีก 4 ม้า เหล่าทหารม้า ถือเอาวันนี้เป็น “วันทหารม้า” ตรงกับวันที่ 4 มกราคม 2309

แต่ก่อนจะถึงบ้านพรานนกนี้ มีตำนานท้องถิ่น เกิดขึ้นที่ บ้านโพสาวหาญ อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า นางโพ ได้นำกำลังคนออกรบอย่างกล้าหาญจนกระทั่งตัวตาย พระยาตากจึงตั้งชื่อบ้านนามเมืองไว้เป็นเกียรติประวัติ แต่ชื่อที่บันทึกอยู่ในพระราชพงศาวดารเรียกต่างกันว่าบ้านโพธิ์สามหาว หรือ โพสังหาร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ พระเจ้าตากเบื้องต้น เขียนโดย ปรามินทร์ เครือทอง (สนพ.มติชน)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มิถุนายน 2561