ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2559 |
---|---|
ผู้เขียน | ธีระวัฒน์ แสนคำ |
เผยแพร่ |
ศึกปราบ เจ้าพระฝาง พระเจ้าตากสินปราบ “พวกสงฆ์อลัชชี” ที่เมืองสวางคบุรี
กำเนิดชุมนุม “เจ้าพระฝาง” ที่เมืองสวางคบุรี
เมืองสวางคบุรีซึ่งเดิมตกเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 มากนัก จึงทำให้เกิดการตั้งตัวเป็นอิสระในการปกครอง ภายใต้การนำของพระพากุลเถระ พระภิกษุตำแหน่งสังฆราชาแห่งเมืองสวางคบุรี หรือที่คุ้นชื่อกันดีในนาม “เจ้าพระฝาง” ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าเมืองหรือคฤหัสถ์อย่างเช่นที่คุ้นเคยกันในประวัติศาสตร์
เจ้าพระฝาง เดิมชื่อ “เรือน” สอบเปรียญธรรมได้เป็น “มหาเรือน” เป็นภิกษุชาวเมืองเหนือ ได้ลงมาศึกษาเล่าเรียนอยู่ในกรุงศรีอยุธยาได้เป็นที่พระพากุลเถระ พระราชาคณะอยู่ ณ วัดศรีอโยธยา ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงตั้งให้เป็นตำแหน่งสังฆราชา ณ เมืองสวางคบุรี (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), 2505 : 307)
พระพากุลเถระครั้นรู้ว่ากรุงเสียแก่พม่าแล้วจึงซ่องสุมผู้คนเข้าด้วยเป็นหลายเมือง ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าอีกตำบลหนึ่ง แต่หาสึกเป็นคฤหัสถ์ไม่ คงอยู่ในเพศสมณะ แต่นุ่งห่มผ้าแดง คนทั้งปวงเรียกว่า “เจ้าพระฝาง” บรรดาเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองฝ่ายเหนือตั้งแต่เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไป ก็เกรงกลัวนับถืออยู่ในอำนาจทั้งสิ้น (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), 2505 : 307) ประกอบกับเจ้าพระฝางได้อาศัยเหตุหัวเมืองฝ่ายเหนือว่างผู้ปกครอง เพราะเจ้าเมืองต้องมาติดศึกในกรุงตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้า (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2505 : 171)
ในขณะเดียวกันท่านคงมีผู้นับถือศรัทธามาก ด้วยมีตำแหน่งเป็นถึงพระสังฆราชาและเก่งทางด้านวิทยาคมมาก การห่มผ้าสีแดงคงเป็นสิ่งที่ท่านพยายามแสดงให้เห็นว่าไม่เป็นพระภิกษุแล้ว แต่ยังเคร่งครัดในศีลบางข้อและยังไม่มีภรรยา อีกประการหนึ่งก็เพื่อสร้างความเชื่อถือในหมู่ศิษย์ว่า อาจารย์ยังยึดหลักพุทธศาสนาอยู่ เรียกว่าใช้ศาสนาเป็นรัฐธรรมนูญในการบริหารบ้านเมือง แต่ไม่ได้เป็นพระ ท่านมีความรู้เรียนเก่ง คงไม่ทำให้ผู้คนที่ศรัทธาในตัวท่านได้รับความละอายเป็นแน่ (อนุสรณ์ ผลสวัสดิ์, 2551 : 4)
ที่สำคัญคือ เจ้าพระฝางน่าจะอาศัยอำนาจที่เกิดขึ้นจากพระมหาธาตุเมืองสวางคบุรี เพราะแม้ว่าภายหลังจะตีเมืองพิษณุโลกได้ก็มิได้ย้ายศูนย์อำนาจลงมายังเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นเมืองใหญ่ มีกำแพงเมือง ค่ายคูและประตูหอรบมั่นคง สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจของเจ้าพระฝางนั้นผูกพันอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหาธาตุที่เมืองสวางคบุรี และอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของเจ้าพระฝางเอง แกนกลางของชุมนุมเจ้าพระฝางก็คงเป็นคนในแถบเมืองสวางคบุรีที่ให้ความนับถือ ส่วนที่มีอำนาจมากนั้นก็คงเพราะมีชุมนุมท้องถิ่นอื่นๆ เข้าร่วมด้วยมาก (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2550 : 172)
ด้วยเหตุผลนี้จึงมีชาวบ้านจำนวนมากเข้ามาพึ่งพาอาศัยอยู่กับเจ้าพระฝาง เพื่อหลบหนีภยันตรายจากกองทัพพม่าที่ยกมาลาดตระเวนตามบ้านเล็กเมืองน้อยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีพระสงฆ์เข้ามาร่วมเป็นแม่ทัพนายกองในกองทัพเจ้าพระฝางด้วย
ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาระบุว่า “เจ้าพระฝางตั้งแต่งนายทัพนายกองแต่พื้นพระสงฆ์ทั้งสิ้น คือพระครูคิริมานนท์ 1 พระครูเพชรรัตน 1 พระอาจารย์จันทร์ 1 พระอาจารย์ทอง 1 พระอาจารย์เกิด 1 แต่ล้วนเปนอลัชชีมิได้ลอายแก่บาปทั้งนั้น” (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), 2505 : 308) แสดงให้เห็นว่าพระสงฆ์ในหัวเมืองฝ่ายเหนือจำนวนไม่น้อยได้เข้าร่วมกับเจ้าพระฝาง ซึ่งพระสงฆ์กลุ่มนี้ก็น่าจะเป็นหัวหน้าชุมนุมเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในหัวเมืองฝ่ายเหนือ แล้วก็มาเข้ากับเจ้าพระฝางในภายหลัง จึงทำให้ชุมนุมเจ้าพระฝางกลายเป็นชุมนุมที่ใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ และสามารถเอาตีชุมนุมเจ้าพิษณุโลกได้
นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีเจ้าเมืองแพร่เข้าร่วมกับชุมนุมเจ้าพระฝางด้วย เพราะปรากฏหลักฐานว่าเจ้าเมืองแพร่ซึ่งในหลักฐานเรียกว่า “เมืองไชย” ก็เข้าด้วยกับเจ้าพระฝาง (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), 2505 : 341) แต่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ สันนิษฐานว่าเป็นเจ้าเมืองน่าน (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2550 : 172)
อย่างไรก็ตาม เมืองไชยผู้นี้กลับมาอ่อนน้อมต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในภายหลัง ดังปรากฏในคำโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี (นายสวนมหาดเล็ก, 2446 : 61)
เมื่อพิจารณาจากผู้นำและศูนย์กลางชุมนุมในแต่ละแห่ง ก็จะเห็นได้ว่าชุมนุมเจ้าพระฝาง เป็นชุมนุมที่มีพัฒนาการมาจากเมืองที่ค่อนข้างมีอำนาจทางการปกครองภายใต้ศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาน้อยที่สุดในบรรดากลุ่มชุมนุมที่ตั้งตนเป็นใหญ่หลังกรุงศรีอยุธยาสิ้นอำนาจ
อย่างไรก็ดี ชุมนุมเจ้าพระฝางตามความที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยหลังสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ให้ภาพของชุมนุมเจ้าพระฝางที่ไม่มีความหมายเท่าไรนัก เพียงแต่หัวหน้าที่เป็นพระสงฆ์คิดทะเยอทะยานอยากตั้งตัวเป็นใหญ่ในแผ่นดินโดยปราศจากความชอบธรรม ในที่สุดจึงถูกปราบปรามลงได้อย่างราบคาบ
แต่เมื่อพิจารณาในอีกแง่หนึ่งว่า ชุมนุมเจ้าพระฝางเป็นชุมนุมสุดท้ายที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบได้ เป็นชุมนุมที่สามารถรวบรวมเอาชุมนุมเมืองพิษณุโลกเข้าไว้ได้ บริเวณอิทธิพลของชุมนุมนี้จึงประมาณเท่าๆ กับดินแดนที่เคยเป็นเขตเมืองเหนือหรือแคว้นสุโขทัยแต่เดิมนั่นเอง จำนวนพรรคพวกผู้คนในดินแดนแห่งนี้จึงมีมาก จนยากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะทรงปราบปรามลงได้ (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, 2543 : 51-52)
การขยายอำนาจของชุมนุม เจ้าพระฝาง
ภายหลังที่ศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาล่มสลายแล้ว ก็เกิดการตั้งชุมนุมต่างๆ ขึ้นหลายแห่งตามหัวเมือง เช่น ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ชุมนุมเจ้าพิมาย และชุมนุมเจ้าพิษณุโลก เป็นต้น ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีพระยาตากรวบรวมกำลังพลขับไล่กองทัพกรุงอังวะที่เหลืออยู่บางส่วนออกไปได้ แล้วสถาปนาศูนย์อำนาจรัฐขึ้นมาใหม่ที่เมืองธนบุรี และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพยายามที่จะขยายอำนาจเพื่อรวบรวมดินแดนของกรุงศรีอยุธยาเดิมให้กลับมาอยู่ใต้ศูนย์อำนาจรัฐของพระองค์ ได้ทรงนำกำลังออกปราบปรามหัวเมืองต่างๆ ที่ตั้งตนเป็นอิสระตามภูมิภาคต่างๆ ภายหลังการล่มสลายของศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยา โดยเลือกที่จะปราบชุมนุมพิษณุโลกเป็นแห่งแรกใน พ.ศ. 2311 ทั้งนี้คงเป็นเพราะว่าเมืองพิษณุโลกและหัวเมืองฝ่ายเหนือมีกำลังพลอยู่มาก หากปราบปรามได้ก็จะสามารถใช้เป็นกำลังหลักในการทำสงครามขยายอำนาจของศูนย์อำนาจรัฐกรุงธนบุรีได้ (ขวัญเมือง จันทโรจนี, 2534 : 31-32)
พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า “เสด็จยกพลนิกรดำเนินทัพ สรรพด้วยโยธาทหารใหญ่น้อยขึ้นไปปราบเมืองพิสณุโลกยถึงตำบลเกยไชย พญาพิศณุโลกยรู้ประพฤติเหตุ แต่งพลทหารให้หลวงโกษา (ยัง) ยกออกมาตั้งรับ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จนำพลทั้งปวงเข้ารณรงค์ด้วยข้าศึกครั้งนั้น ฝ่ายข้าศึกยิงปืนมาดังห่าฝน ต้องพระชงฆ์เบื้องซ้าย เลียบตัดผิวพระมังสะไป จึงให้ลาดทัพกลับยังกรุงธนบุรีย์” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), 2542 : 488)
ความในพระราชพงศาวดารได้แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยอำนาจของเมืองพิษณุโลกก็ขยายลงไปถึงบริเวณตำบลเกยไชย ซึ่งปัจจุบันอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านเขตอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เหนือเมืองนครสวรรค์ขึ้นมาเล็กน้อย และแสดงให้เห็นถึงจำนวนกำลังพลและอาวุธของเมืองพิษณุโลกว่ามีประสิทธิภาพไม่น้อย จนทำให้กองทัพกรุงธนบุรีต้องถอยทัพกลับไป
ฝ่ายเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ก็มีความพยายามที่จะฟื้นฟูอำนาจท้องถิ่นของเมืองพิษณุโลกซึ่งเคยเป็นศูนย์อำนาจรัฐสุโขทัยและเป็นศูนย์กลางอำนาจในหัวเมืองฝ่ายเหนือมาแต่เดิม ดังปรากฏในจดหมายเหตุจีนว่า หูซื่อลู่ (พิษณุโลก) ได้มีพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้ากรุงจีน เพื่อขอให้พระองค์ยอมรับตนเป็นพระมหากษัตริย์ที่ถูกต้องของกรุงศรีอยุธยา สืบต่อจากพระมหากษัตริย์พระองค์เดิมที่สวรรคตในระหว่างสงคราม และได้ต่อต้านรัฐที่สถาปนาโดยเจิ้นเจ้า (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) จนเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่พระจักรพรรดิจีนไม่ยอมรับสถานะของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่าเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ของกรุงศรีอยุธยา เพราะพระองค์ยังไม่สามารถปราบปรามรัฐอิสระเล็กๆ ได้ (ณัฏฐภัทร จันทวิช, 2523 : 21-24)
ดังจะเห็นได้ว่า ถึงแม้เมืองพิษณุโลกจะสามารถต่อต้านการโจมตีของกองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ แต่ก็ยังมีกองกำลังฝ่ายเจ้าพระฝางซึ่งมีเจ้าพระฝาง (เรือน) เป็นผู้นำ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสวางคบุรีซึ่งเป็นเมืองบริวารเมืองหนึ่งของเมืองพิชัย เดิมมีอำนาจเหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไปจนถึงเมืองน้ำปาด กระทั่งแดนลาว (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), 2505 : 308) และพยายามแข่งขันอำนาจกับเจ้าพระยาพิษณุโลกด้วย ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับภาษามคธระบุว่าเจ้าพระยาพิษณุโลกได้กรีธาพลใหญ่ไปรบกับกองกำลังฝ่ายเจ้าพระฝางถึง 3 ครั้ง แต่ไม่แพ้ไม่ชนะกัน (สมเด็จพระพนรัตน (แก้ว), 2550 : 83)
ส่วนพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาระบุว่าเจ้าพระฝางได้ “…จัดแจงกองทัพยกลงมาตีเมืองพระพิศณุโลก ตั้งค่ายล้อมเมืองทั้งสองฟากน้ำ แลเจ้าพิศณุโลกยกพลทหารออกต่อรบเปนสามารถ ทัพฝางจะหักเอาเมืองมิได้ แต่รบกันอยู่ประมาณหกเดือน ทัพฝางก็พากันเลิกกลับไปเมือง” (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), 2505 : 308) ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าชุมนุมเจ้าพระฝางก็มีความพยายามที่จะขยายอำนาจลงมาทางใต้เช่นกัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะต้องการเสบียงอาหารสำหรับเลี้ยงดูผู้คนในชุมนุมก็เป็นได้
ต่อมาเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ก็ถึงแก่พิราลัย พระอินทร์อากรซึ่งเป็นน้องชายเจ้าพระยาพิษณุโลกก็ขึ้นครองเมืองแทน แต่พระอินทร์อากรนั้นเป็นคนไม่มีความสามารถในการสงคราม กองทัพเจ้าพระฝางจึงลงมาตีเมืองพิษณุโลกอีกครั้ง ต่อรบต้านทานอยู่ได้ประมาณ 3 เดือน ชาวเมืองไม่สู้รักใคร่นับถือ ก็เกิดไส้ศึกขึ้นในเมือง เปิดประตูเมืองรับข้าศึกในเวลากลางคืน กองทัพเจ้าพระฝางก็เข้าเมืองได้ จับได้ตัวพระอินทร์อากร
เจ้าพระฝางให้ประหารชีวิตเสียแล้วเอาศพขึ้นประจานไว้ในเมือง จึงให้เก็บเอาทรัพย์สิ่งของทองเงินต่างๆ ของเจ้าเมืองกรมการและชาวเมืองทั้งปวงได้เป็นอันมาก ให้ขนเอาปืนใหญ่น้อยและกวาดต้อนครอบครัวอพยพชาวเมืองพิษณุโลกขึ้นไปยังเมืองสวางคบุรี แล้วก็เลิกทัพกลับไปเมือง และยังมีชาวเมืองพิษณุโลก เมืองพิจิตรที่แตกหนี พาครอบครัวอพยพลงมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ กรุงธนบุรีเป็นอันมากด้วย (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), 2505 : 323; ดำรงเดชานุภาพ, 2543 : 320)
เมื่อพระอินทร์อากรถูกประหารชีวิตก็ถือว่ากลุ่มอำนาจท้องถิ่นเดิมของเมืองพิษณุโลกก็ล่มสลายลง พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวไว้ว่า “ขณะนั้นบรรดาหัวเมืองเหนือทั้งปวงนั้น ก็เป็นสิทธิแก่เจ้าพระฝางทั้งสิ้น” (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), 2505 : 323) เจ้าพระฝางได้มอบหมายให้หลวงโกษา (ยัง) อดีตแม่ทัพคนสำคัญของเจ้าพระยาพิษณุโลกและทหารส่วนหนึ่งทำหน้าที่คอยส่งข่าว สกัดทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและรักษาเมืองพิษณุโลก
เป็นอันว่าเมืองสวางคบุรีของเจ้าพระฝางมีอำนาจปกครองบริเวณหัวเมืองเหนือได้เกือบทั้งหมด และมีความพยายามที่จะขยายอำนาจลงทางใต้เรื่อยๆ ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ความว่า
“ลุศักราช 1132 (พ.ศ. 2313) ปีขาลโทศก ถึง ณ เดือนหก ฝ่ายเจ้าพระฝางซึ่งเป็นใหญ่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงนั้น ประพฤติพาลทุจริตทุศีลกรรมลามกบริโภคสุรา กับทั้งพวกสงฆ์อลัชชี ซึ่งเป็นนายทัพนายกองทั้งปวงนั้น แลชวนกันกระทำมนุษย์วิคหฆาตกกรรมปาราชิก แล้วยังนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตรอยู่ หาละจากเพศสมณะไม่ แล้วเกณฑ์กองทัพให้ลงมาลาดตระเวนตีเอาเข้าปลาอาหาร และเผาบ้านเรือนราษฎรเสียหลายตำบล จนถึงเมืองอุทัยธานีเมืองชัยนาท และราษฎรหัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งอยู่ในพระราชอาณาเขตได้ความเคืองแค้นขัดสนนัก…” (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), 2505 : 333)
จากข้อความในพระราชพงศาวดารจะเห็นได้ว่า เจ้าพระฝางได้ส่งทหารลงไปลาดตระเวนและตีเอาเสบียงอาหารจากราษฎรจนถึงเขตเมืองอุทัยธานีและเมืองชัยนาท และมีความพยายามที่จะตระเวนลงไปเรื่อยๆ ทั้งนี้อาจเพื่อสังเกตการณ์กองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และคงหมายจะส่งกองทัพลงไปตีกรุงธนบุรี (ดำรงราชานุภาพ, 2543 : 330) ซึ่งส่งผลถึงความมั่นคงของศูนย์อำนาจรัฐกรุงธนบุรีที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชต้องทรงปราบปรามให้จงได้
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคลื่อนทัพปราบปรามพวกสงฆ์อลัชชี
กองทัพเจ้าพระฝางนอกจากจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของศูนย์อำนาจรัฐกรุงธนบุรีแล้ว ยังถูกเสนอในภาพของกลุ่มพระภิกษุที่ไม่ปฏิบัติอยู่ในพระธรรมวินัย ด้วยประพฤติพาลทุจริตทุศีลกรรมลามกบริโภคสุรา กระทำการฆ่ามนุษย์ทั้งที่ยังนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์อยู่ ทำให้กลายเป็น “พวกสงฆ์อลัชชี” ในสายตาของศูนย์อำนาจรัฐกรุงธนบุรีด้วย การกระทำของพระภิกษุในชุมนุมเจ้าพระฝางจึงอันเป็นภัยต่อทั้งฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายพุทธจักร
ล่วงมาจนถึงเดือน 6 ปีขาล พ.ศ. 2313 กรมการเมืองอุทัยธานีและเมืองชัยนาทบอกลงมายังกรุงธนบุรีว่า เจ้าพระฝางให้กองทัพลงมาลาดตระเวนถึงเมืองอุทัยธานีและเมืองชัยนาท (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), 2505 : 333) สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงมีรับสั่งให้เตรียมกองทัพจะยกไปตีหัวเมืองเหนือในปีขาลนั้น พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่า
“…ครั้นได้ทราบจึงมีพระราชดำรัสให้เกณฑ์กองทัพ จะยกไปปราบอ้ายพวกเหล่าร้ายฝ่ายเหนือให้แผ่นดินราบคาบ จึงโปรดให้พระยาพิชัยราชาเป็นแม่ทัพถือพลห้าพัน สรรพด้วยช้างม้าสรรพาวุธ ยกไปทางฟากตะวันตกทัพหนึ่ง ขณะนั้นพระยายมราชถึงแก่กรรม จึงโปรดให้พระยาอนุชิตราชาเลื่อนที่เป็นพระยายมราช [ต่อมาคือ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) – ผู้เขียน] ให้เป็นแม่ทัพถือพลห้าพัน สรรพด้วยช้างม้าสรรพสัตราวุธยกไปฟากตะวันออกทัพหนึ่ง และทัพบกทั้งสองทัพ เป็นคนหมื่นหนึ่งให้ยกล่วงไปก่อน” (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), 2505 : 334)
ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า “จนถึงลุศักราช 1132 ปีขาลโทศก (พ.ศ. 2313) วันพุธ แรม 4 ค่ำ เดือน 8 จะยกกองทัพไปปราบคนอาสัตย์อาธรรมฝ่ายเหนือ ด้วยอ้ายเหล่าร้ายนั้นยกลงมาลาดตระเวนตีเอาข้าวปลาอาหารเผาบ้านเรือนเสียหลายตำบล ไพร่พลหัวเมืองได้ความแค้นเคืองขัดสนนัก เหตุฉะนี้จึงให้เจ้าพญาพิไชราชา ถือพล 5,000 ยกไปทางตะวันตก พญายมราชถือพล 5,000 เข้ากันเป็นคน 10,000 สรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธทั้งปวง” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), 2542 : 493)
จากนั้นพระองค์จึงเคลื่อนทัพหลวงตามขึ้นไป พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า “…วันเสาร์ แรม 14 ค่ำ เดือน 8 เพลาโมงเช้าเศษ เป็นมหาพิชัยฤกษ์ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จจากเมืองธนบุรีย ไปโดยทางชลมารค ทรงนาวาพระที่นั่งพร้อมด้วยหมู่พลพยุหโยธาเสนา ข้าทหารทั้งปวงประมาณ 12,000…” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), 2542 : 493)
ในการสงครามครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จฯ โดยกระบวนทัพเรือและจัดทัพขึ้นไปตีชุมนุมเจ้าพระฝางเป็น 3 ทัพ ทัพที่ 1 เป็นทัพหลวงมีจำนวนพล 12,000 ให้พระยายมราชถือพล 5,000 เป็นทัพที่ 2 ยกขึ้นไปทางบกข้างฟากตะวันออกลำน้ำแควใหญ่ (แม่น้ำน่าน) พระยาพิชัยราชาถือพล 5,000 เป็นทัพที่ 3 ยกขึ้นไปทางบกข้างฟากตะวันตก (ดำรงราชานุภาพ, 2543 : 330)
ในขณะเดียวกันช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้มีแขกเมืองยักกระตราส่งปืนใหญ่มาถวาย 10 กระบอก และแขกเมืองตรังกานู เอาปืนคาบศิลาเข้ามาถวาย 2,200 กระบอก (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), 2542 : 493) จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรบครั้งนี้เป็นอย่างมาก
ฝ่ายเจ้าพระฝางรู้ว่ากองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพขึ้นมา จึงให้หลวงโกษา (ยัง) ขุนนางเก่าเมืองพิษณุโลก ผู้ที่เคยรบกับกองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ปากน้ำเกยชัย คุมกองทัพลงมาตั้งรับที่เมืองพิษณุโลก กองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเข้าตีเมืองได้ในช่วงกลางคืน หลวงโกษาจึงหนีมาตั้งค่ายรับศึกอยู่ที่บริเวณปากโทก เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นมาเล็กน้อย แต่ไพร่พลแตกหนีไปเสียมาก หลวงโกษาเห็นเหลือกำลังก็ทิ้งค่ายหนีกลับขึ้นไปยังเมืองสวางคบุรี (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), 2505 : 335)
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เมืองพิษณุโลกแล้ว กองทัพบกยังขึ้นไปไม่ถึงทั้ง 2 ทัพ ด้วยเป็นฤดูฝนหนทางบกเดินลำบาก จึงประทับรออยู่ที่เมืองพิษณุโลก 9 วัน กองทัพพระยายมราชจึงขึ้นไปถึง ต่อมาอีก 2 วันกองทัพพระยาพิชัยราชาก็ขึ้นไปถึง มีรับสั่งให้จ่ายเสบียงอาหารแล้วให้กองทัพบกรีบยกตามข้าศึกที่แตกหนีขึ้นไปยังเมืองสวางคบุรีพร้อมกันทั้ง 2 ทาง ส่วนกองทัพเรือยังไม่ยกขึ้นไป ด้วยทรงพระราชดำริว่าเวลานั้นน้ำในแม่น้ำยังน้อย หนทางต่อขึ้นไปลำน้ำแคบตลิ่งสูงทั้ง 2 ฟาก ถ้าข้าศึกมาดักทางทัพเรือจะรบพุ่งยังเสียเปรียบ แต่ดำรัสว่าไม่ช้าดอกน้ำเหนือคงหลากมา คงได้ยกขึ้นไปตามกัน พอสองสามวันน้ำก็หลากดังพระราชดำรัส (ดำรงราชานุภาพ, 2543 : 331) พระองค์ก็ยกกองทัพเรือตามขึ้นไป
เหตุการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่เหนือความคาดหมาย พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกไว้ว่าเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโดยแท้
“…แล้วพอทัพบกข้ามแม่น้ำน้อยเสียได้สามวันน้ำก็เกิดมากขึ้น เดชะพระบารมีบรมโพธิสมภาร ครั้นถึงสามวัน น้ำก็เกิดมากเสมอตลิ่งบ้างล้นตลิ่งบ้างประดุจตรัสไว้นั้น จำเดิมแต่นั้น กองทัพบกทัพเรือทั้งปวงได้แจ้งเหตุแล้ว ก็ยกมือขึ้นกราบถวายบังคมเอาพระเดชเดชานุภาพปกเกล้าฯ มีน้ำใจมิได้ย่อท้อต่อการรณรงค์ ก็องก็อาจที่จะรบสู้หมู่ปัจจามิตรข้าศึก ด้วยเห็นพระบารมีเป็นแท้…” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), 2542 : 493)
หลังจากนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ได้ยกทัพหลวงเสด็จออกจากเมืองพิษณุโลกโดยทางชลมารค เมื่อวันอาทิตย์ แรม 7 ค่ำ เดือน 9 เวลาประมาณ 08.00 นาฬิกา
“วันอาทิตย์ แรม 7 ค่ำ เดือน 9 เพลา 2 โมงเช้า ยกทัพหลวงจากเมืองพิษณุโลกโดยทางชลมารค ประทับรอนแรมไปได้ 3 เวน พบผู้ถือหนังสือบอกกองหน้า ใจความว่าได้เมืองฝางแล้ว แต่อ้ายเรือนซึ่งคิดมิชอบนั้นหนีไป ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงยังติดตามอยู่ ก็เสด็จรีบไปทั้งกลางวันกลางคืน ถึงตำหนักค่ายหาดสูง ให้นายทัพนายกองเกณฑ์กันไปติดตามอ้ายเรือนฝางแลนางพญาช้างเผือกจงได้” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), 2542 : 494)
นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ว่าในแง่อุดมการณ์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เปรียบที่จะประณามกลุ่มเจ้าพระฝางว่าเป็น “คนอาสัตย์อาธรรมฝ่ายเหนือ” ได้อย่างสะดวก ขุนนางจำนวนไม่น้อยที่รับราชการขณะนั้นก็พร้อมจะยอมรับได้ทันทีว่ากลุ่มเจ้าพระฝางเป็น “คนอาสัตย์อาธรรม” เพราะย่ำยีพระธรรมวินัยและย่ำยีจารีตประเพณีทางการเมืองของราชอาณาจักรอยุธยาไปพร้อมกัน อีกทั้งการปราบชุมนุมเจ้าพระฝางยังสอดคล้องกับการที่พระเจ้าแผ่นดินของราชอาณาจักรอยุธยาต้องแสดงพระองค์เป็นธรรมราชาด้วย เพราะเป็นการยอยกพระพุทธศาสนามิให้ถูกฝ่ายอธรรมย่ำยี (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2550 : 170-171)
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ในพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ จะมีการบันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระบารมีหรือเหตุการณ์ปาฏิหาริย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเมืองสวางคบุรี ตลอดจนให้ภาพว่าพระองค์ทรงเป็น “พุทธมามกะ” อย่างชัดเจนภายหลังจากที่ปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางเสร็จสิ้น เช่น การสมโภชปูชนียสถานสำคัญต่างๆ ในหัวเมืองฝ่ายเหนือ เป็นต้น
สมรภูมิศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ. 2313
เมื่อทัพหน้าของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองสวางคบุรี ก็เกิดการต่อสู้กันเป็นกำลังระหว่างกองทัพพระยายมราชและพระยาพิชัยราชากับกองทัพเจ้าพระฝาง ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ความว่า
“ฝ่ายกองทัพพระยายมราช และพระยาพิชัยราชายกขึ้นไปถึงเมืองสวางคบุรี ก็ให้ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ และเมืองสวางคบุรีนั้น ตั้งแต่ระเนียดไม้ขอนสักถมเชิงเทินดิน หามีกำแพงไม่ เจ้าพระฝางก็เกณฑ์พลทหารขึ้นรักษาเชิงเทินรอบเมืองยิงปืนใหญ่น้อยต่อรบป้องกันเมือง แต่คิดครั่นคร้ามพระเดชานุภาพเป็นกำลัง…” (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), 2505 : 336)
จากข้อความในพระราชพงศาวดารจะเห็นได้ว่า กองทัพของพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาได้ตั้งค่ายล้อมเมืองสวางคบุรีไว้ ในขณะเดียวกันก็ได้ยิงปืนใหญ่น้อยต่อสู้กัน โดยที่ฝ่ายเมืองสวางคบุรีนั้นมีเพียงระเนียดไม้ขอนสักทำเป็นกำแพงเท่านั้น ไม่ได้เป็นกำแพงอิฐหรือคันดินสูงเหมือนเมืองใหญ่หลายเมืองในลุ่มแม่น้ำน่าน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเมืองสวางคบุรีมีสภาพภูมิประเทศที่เอื้อต่อยุทธศาสตร์อยู่แล้วจึงไม่มีการสร้างกำแพงเมืองก็เป็นได้ สภาพพื้นที่หรือสมรภูมิศึกเมืองสวางคบุรีใน พ.ศ. 2313 จึงจำเป็นที่จะต้องอธิบายให้ทราบในที่นี้ด้วย
ข้อมูลจากการลงพื้นที่ของผู้เขียนและการสัมภาษณ์ คุณตาเย็น ภู่เล็ก ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลผาจุก ซึ่งเป็นชาวบ้านพระฝางโดยกำเนิดและเคยเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดพระฝาง ทำให้ทราบว่าเมืองสวางคบุรีมีคลองธรรมชาติ 2 สายเป็นแนวคูเมืองธรรมชาติ นอกเหนือจากเขตเมืองทางทิศเหนือที่ติดกับแม่น้ำน่าน
ทางทิศตะวันออกมีคลองน้ำพุ ซึ่งไหลมาจากบ่อน้ำพุเจ้าพระฝางทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองแล้วไหลมาลงแม่น้ำน่านทางด้านตะวันออกของเมือง ทางทิศตะวันตกมีคลองพระฝาง ซึ่งไหลมาจากเชิงเขาใกล้กับบ่อน้ำพุเจ้าพระฝางแล้วไหลมาลงแม่น้ำน่านที่บ้านบุ่ง ทางด้านทิศตะวันตกของเมือง คลองทั้ง 2 สายมีขนาดร่องน้ำที่ลึกมาก ในอดีตมีน้ำไหลอยู่ตลอดทั้งปี แต่ปัจจุบันในฤดูแล้งน้ำค่อนข้างมีน้อยเนื่องจากว่าป่าไม้ต้นน้ำถูกทำลายไปมาก (เย็น ภู่เล็ก, สัมภาษณ์)
คุณตาเย็น ภู่เล็ก ยังได้ให้ข้อมูลว่า ตอนที่ท่านยังเป็นเด็ก พ่อแม่พาไปทำไร่ทำนายังเคยเห็นหลักไม้ขนาดใหญ่ปักเป็นแนวคล้ายระเนียดหรือกำแพงเมือง ที่ริมฝั่งคลองพระฝางทางทิศใต้ของเมือง ท่านเชื่อว่าน่าจะเป็นแนวกำแพงเมืองสวางคบุรีที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยเจ้าพระฝางเรืองอำนาจเพื่อรับศึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (เย็น ภู่เล็ก, สัมภาษณ์)
นอกจากนี้ถ้าหากดูจากแผนที่ทางภูมิศาสตร์ จะพบว่าบริเวณที่ตั้งของเมืองสวางคบุรีเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำน่าน มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก ที่ราบลุ่มแห่งนี้ถูกล้อมรอบด้วยภูเขาถึง 3 ด้านด้วยกัน ยกเว้นทางทิศตะวันตกด้านเดียวเท่านั้นที่ไม่มีภูเขากั้น มีลักษณะเป็นแอ่งที่ราบลุ่มหุบเขา และถือว่าเป็นที่ราบลุ่มแห่งแรกในลุ่มแม่น้ำน่านตอนล่าง
นอกจากที่ตั้งของเมืองสวางคบุรีจะมีความอุดมสมบูรณ์แล้ว ในทางยุทธศาสตร์ก็เป็นชัยภูมิที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เป็นการดีที่มีภูเขาล้อมรอบ เพราะข้าศึกสามารถเข้ามาได้เพียง 2 ทาง คือ ทางด้านตะวันตกและด้านตะวันออก แต่ทว่าทางตะวันออกนั้นอาศัยเข้ามาทางแม่น้ำน่านตามหุบเขาเพียงทางเดียวเท่านั้น หากมีการตั้งด่านสกัดกั้นขวางแม่น้ำข้าศึกก็เข้ามายังตัวเมืองได้ลำบาก ในขณะที่ทางด้านตะวันตกสามารถเดินทางเข้ามาได้ทั้งทางบกและทางน้ำ โดยสรุปแล้วก็เหมือนกับว่าข้าศึกสามารถเข้าตีเมืองได้ทางตะวันตกด้านเดียวเท่านั้น
แม้ว่าสภาพภูมิประเทศดังกล่าวที่มีความได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถที่จะต้านทานกองทัพอันห้าวหาญและมีจำนวนไพร่พลนับหมื่นของกองทัพพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาได้ จนในที่สุดกองทัพเจ้าพระฝางต้องแตกพ่ายไป
จากคำบอกเล่าของชาวบ้านในเขตบ้านคุ้งตะเภา ชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งในเขตเมืองสวางคบุรี ได้ให้ข้อมูลที่สื่อให้เห็นว่ากองทัพของพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาไม่ได้เข้าตีเมืองสวางคบุรีในตำแหน่งที่มีคลองลึกดังกล่าวมาแล้วขวางอยู่ หากแต่เข้าตีทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองสวางคบุรีซึ่งเป็นที่ราบและทุ่งกว้าง
บริเวณ “ทุ่งบ่อพระ” เป็นตำแหน่งที่ชาวบ้านให้สัมภาษณ์ว่ามีคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่าเป็นจุดปะทะรบพุ่งกันระหว่างกองทัพกรุงธนบุรีกับกองทัพเจ้าพระฝาง เคยมีการพบชิ้นส่วนอาวุธ เช่น หอกและดาบโลหะ เป็นต้น อยู่ในบริเวณทุ่งบ่อพระ (พระอู๋ ปญฺญาวชิโร, สัมภาษณ์)
คำว่า “บ่อพระ” นี้ไม่ปรากฏที่มาอย่างชัดเจน แต่กลางทุ่งเคยมีบ่อน้ำที่สามารถใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคได้ ปัจจุบันถูกดินถมและสูญหายไปแล้ว บางคนให้ข้อมูลว่าเคยมีการพบพระพุทธรูปในบ่อน้ำ บ้างก็ว่าเป็นบ่อน้ำที่พระสงฆ์เคยนำน้ำไปใช้สรง (พระฝ้าย เตชพโล, สัมภาษณ์) ในขณะเดียวกันยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจเพี้ยนมาจากคำว่า “บ่อพัก” ก็เป็นได้
กองทัพบกของของพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาเมื่อมาถึงเขตเมืองสวางคบุรีนั้น สันนิษฐานว่าได้ตั้งค่ายใหญ่อยู่บริเวณที่เรียกว่า “หัวไผ่หลวง” ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของบึงกะโล่ในปัจจุบัน เนื่องจากบริเวณนี้มีคำบอกเล่าจากชาวบ้านว่าเป็นที่ตั้งของกองทัพสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช (พระสมุห์สมชาย จีรปญฺโญ, สัมภาษณ์)
โดยยกทัพมาจากริมฝั่งแม่น้ำน่านบริเวณ “ท่าควาย” ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของวัดคุ้งตะเภา นอกจากจะมีคำบอกเล่าว่าเป็นท่าน้ำที่พ่อค้านำควาย-วัวมาลงแล้ว ท่าควายยังเป็นท่าน้ำสำคัญในเขตนี้ด้วย จากนั้นก็คงเคลื่อนทัพจากสองฝั่งแม่น้ำน่านไปตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่บริเวณหัวไผ่หลวงและมีค่ายเล็กกระจายล้อมรอบเมืองสวางคบุรี
เส้นทางนี้ เมื่อครั้งที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เสด็จเมืองฝางและทอดพระเนตรวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถใน พ.ศ. 2444 พระองค์ก็เสด็จตามเส้นทางนี้ ดังปรากฏในจดหมายระยะทางไปพิษณุโลกว่าเสด็จมาทางเรือแล้วขึ้นที่ท่าวัดป่ากล้วยใต้บ้านคุ้งตะเภาลงมาเล็กน้อย “…ลงเรือเล็กออกจากที่พัก ขึ้นไปตามลำน้ำ จอดที่วัดป่ากล้วย ฝั่งตะวันออกแม่น้ำ ขึ้นม้าตัดทางตรงไปเมืองฝาง ตามทางตอนริมตลิ่งเปนป่าพง ลึกเข้าไปเปนป่าเตงรังตลอด ทางเปนน้ำเปนโคลน เพราะเมื่อคืนนี้ฝนตกยังรุ่ง ม้าวิ่งได้บ้าง ไม่ได้ต้องเดินไปบ้างในที่ต้องลุยน้ำ ตอนจวนถึงเมืองฝางเปนป่าแดงเพราะใกล้แม่น้ำ…” (นริศรานุวัดติวงศ์, 2506 : 48)
เมื่อพิจารณาจากสภาพภูมิประเทศแล้วพบว่า บริเวณหัวไผ่หลวงเป็นที่ดอนอยู่ติดกับบึงกะโล่ซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองสวางคบุรี จึงมีความเป็นไปได้อาจเป็นที่ตั้งค่ายของพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาในศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ. 2313 ก็เป็นได้ เพราะทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองสวางคบุรีก็เป็นทางเดียวที่เป็นที่ราบ สามารถเข้าตีเมืองสวางคบุรีได้สะดวกมากที่สุด
กาลอวสานแห่งอำนาจของเจ้าพระฝาง
กองทัพพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาเมื่อยกขึ้นไปถึงเมืองสวางคบุรีก็เข้ามาล้อมเมืองไว้ พวกชาวเมืองเห็นกองทัพหน้าของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีกำลังสามารถ ก็พากันครั่นคร้ามไม่กล้าหาญดังแต่ก่อน เจ้าพระฝางเห็นเหลือกำลังที่จะรบพุ่งเอาชัยชนะได้จึงทิ้งเมือง หลบหนีไปในความมืดท่ามกลางสงคราม พร้อมด้วยลูกช้างพังเผือก ดังปรากฏสถานการณ์ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า
“…เจ้าพระฝางก็เกณฑ์พลทหารขึ้นรักษาเชิงเทินรอบเมืองยิงปืนใหญ่น้อยต่อรบป้องกันเมือง แต่คิดครั่นคร้ามพระเดชานุภาพเป็นกำลัง ขณะนั้นช้างพังช้างหนึ่งอยู่ในเมืองตกลูกเป็นพังเผือกสมพงศ์ และเจ้าพระฝางจึงว่าช้างเผือกนี้มิได้บังเกิดเป็นของคู่บุญของเรา เกิดเป็นพาหนะสำหรับบุญแห่งท่านทัพใต้ซึ่งยกขึ้นมานั้น ก็ยิ่งคิดเกรงกลัวพระบารมียิ่งนัก และสู้รบอยู่ได้สามวัน เจ้าพระฝางก็พาสมัครพรรคพวกหนีออกจากเมืองในกลางคืนไปข้างทิศเหนือ พวกทหารก็นำเอาลูกช้างเผือกกับทั้งแม่ช้างพาหนีไปด้วย กองทัพกรุงก็เข้าเมืองได้ แล้วแต่งคนถือหนังสือบอกลงมายังทัพหลวง ณ เมืองพระพิษณุโลก” (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), 2505 : 336)
จะเห็นได้ว่า ในขณะนั้นช้างพังเชือกหนึ่งของเจ้าพระฝางตกลูกเป็นช้างพังเผือกตัวหนึ่ง เจ้าพระฝางคิดเห็นว่าช้างเผือกเกิดขึ้นในเวลาข้าศึกล้อมเมืองเป็นของเกิดสำหรับบุญบารมีข้าศึก ก็ยิ่งท้อใจต่อสู้อยู่ได้ 3 วัน ก็พาสมัครพรรคพวกยกออกจากเมืองในเวลากลางคืนตีหักหนีไปข้างทิศเหนือ
ในจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี กล่าวถึงเหตุการณ์ศึกเมืองสวางคบุรีว่า “…ปีขาล โทศก ไปตีเมืองสวางคบุรี พระฝางมีช้างเผือกลูกบ้านออก ยังไม่จับหญ้า รู้ว่าทัพเมืองใต้ยกขึ้นไปจะรบเอาช้างเผือก จึ่งเสี่ยงหญ้าว่าช้างนี้คู่บุญเมืองเหนือ ให้รับหญ้าเมืองเหนือ คู่บุญเมืองใต้ ให้รับหญ้าเมืองใต้ รับหญ้าเมืองใต้ พอทัพถึงเข้าตีได้เมือง พระฝางพาช้างหนี…” (พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี, 2472 : 5)
ต่อมาข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จฯ จากเมืองพิษณุโลกไปได้ 3 วัน ก็ได้รับใบบอกว่าตีเมืองสวางคบุรีได้แล้ว จากนั้นก็รีบเสด็จขึ้นไปทันที
“วันอาทิตย์ แรม 7 ค่ำ เดือน 9 เพลา 2 โมงเช้า ยกทัพหลวงจากเมืองพิษณุโลกโดยทางชลมารค ประทับรอนแรมไปได้ 3 เวน พบผู้ถือหนังสือบอกกองหน้า ใจความว่าได้เมืองฝางแล้ว แต่อ้ายเรือนซึ่งคิดมิชอบนั้นหนีไป ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงยังติดตามอยู่ ก็เสด็จรีบไปทั้งกลางวันกลางคืน ถึงตำหนักค่ายหาดสูง ให้นายทัพนายกองเกณฑ์กันไปติดตามอ้ายเรือนฝางแลนางพญาช้างเผือกจงได้” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), 2542 : 494)
เป็นอันว่ากองทัพเมืองสวางคบุรีของเจ้าพระฝางได้แตกพ่ายในคืนวันเสาร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 9 พ.ศ. 2313
ส่วนเรื่องการได้ช้างเผือกนั้นในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า “ครั้น ณ วันอาทิตย์ แรม 13 ค่ำ เดือน 9 หลวงคชชาติกองพญาอินท์วิชิต จับได้นางช้างพญามงคลเสวตคชสารศรีเมืองตัวประเสริฐ นำมาทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงพระกรุณาพระราชทานบำเหน็จโดยสมควร” (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), 2542 : 494) แต่ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาระบุว่า หลวงคชศักดิ์กับกองพระยาอินทรวิชิต เจ้าเมืองวิเศษไชยชาญ จับได้นางพระยาเศวตมงคลคชสารตัวประเสริฐ (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), 2505 : 336-337)
มีการจับลูกช้างพังเผือกได้ที่ป่าน้ำมืด สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาให้สมโภช “นางพระยาเศวตมงคลคชสาร” และให้พังหมอนเป็นแม่นม ดังปรากฏในจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีระบุว่า “…ติดตามไปพบช้าง อยู่ชายป่าแม่น้ำมืด ได้มาถวาย รับสั่งสมโภชนางพระยาแล้ว…ให้พลายแหวนเป็นพญาปราบ พังหมอนเป็นแม่นมนางพญา…” (พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี, 2472 : 5-6)
ในประเด็นการจับได้ลูกช้างพังเผือกนี้ เดิมทีนั้นเคยมีผู้สันนิษฐานว่าไม่สามารถจับลูกช้างเผือกได้ ตามจับได้แต่แม่ช้างเท่านั้น โดยใช้คำเรียกกลบความสำคัญลูกช้างพังเผือกที่ไม่ได้มาว่า “นางพระยาเศวตมงคลคชสารตัวประเสริฐ” โดยมิได้กล่าวถึงลูกช้างพังเผือกที่ไม่ได้คืนมาเลย (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, 2543 : 55)
แต่เมื่อพิจารณาข้อความจากจดหมายความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวีแล้ว ก็จะเห็นว่ามีการตั้งพังหมอนเป็นแม่นมนางพระยาช้าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “นางพระยาช้าง” หรือ “นางช้าง” ในพระราชพงศาวดารนั้นน่าจะเป็นลูกช้างตัวเมียมากกว่า แต่การที่เรียกว่านางพระยาช้างนั้น น่าจะเรียกตามยศศักดิ์ของลูกช้างพังเผือกที่ได้รับพระราชทานหลังการสมโภชแล้วมากกว่า เพราะพระราชพงศาวดารที่ปรากฏก็ชำระขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น
ลูกช้างพังเผือกนี้ภายหลังได้ลงแพล่องไปกรุงธนบุรี ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาระบุว่า “แล้วเสด็จกรีธาทัพหลวงกลับ ให้รับนางพระยาเศวตรกริณีลงแพล่องลงมายังกรุงธนบุรี ให้ปลูกโรงรับ ณ สวนมังคุดแล้ว ให้มีงานมหรสพสมโภชสามวัน” (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), 2505 : 340) ลูกช้างพังเผือกนี้คงได้สมโภชขึ้นเป็นช้างเผือกสำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเชือกหนึ่งด้วย
การหาตัวเจ้าพระฝางไม่พบนั้น บ้างก็ว่าท่านหนีไปอยู่เมืองแพร่ บ้างก็ว่าท่านเดินทางต่อไปยังเมืองน่านและไปอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของเมืองสวางคบุรียังมีสภาพหรือฐานะเป็นเมืองด่านที่ควบคุมเส้นทางคมนาคมที่จะต่อไปยังเมืองน่านและบรรดาเมืองทางลุ่มแม่น้ำโขง ในแถบเมืองหลวงพระบางด้วย อาจกล่าวได้ว่าตำแหน่งที่เมืองสวางคบุรีตั้งอยู่นี้ อยู่ในบริเวณตอนเหนือสุดของลุ่มแม่น้ำน่านตอนล่าง (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2532 : 61)
ซึ่งในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ก็เคยได้มีเจ้านายทางล้านช้างบางองค์เมื่อถูกขับไล่ก็จะหนีมาขออาศัยอยู่กับเจ้าเมืองน่าน ในเวลาเดียวกันถ้าเจ้าเมืองน่านมีศึกจวนตัวก็จะหลบภัยไปขออาศัยอยู่กับเจ้าเมืองล้านช้าง (มณเฑียร ดีแท้, 2519 : 42)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเสด็จฯ เมืองสวางคบุรีในวันที่ 25 ตุลาคม 2444 ก็มีพระราชดำรัสว่า “…ถ้าหากว่าดูเดี๋ยวนี้เมืองฝางไม่น่าจะเปนเมืองใหญ่โตอันใด ฤๅจะเปนที่มั่นรับศึก เว้นไว้แต่ผู้ที่ตั้งตัวนั้นคิดจะคอยหนีไปเมืองลาว เพราะระยะทางตั้งแต่เมืองฝางขึ้นไปจนถึงเมืองผาเลือก ซึ่งเปนต้นทางจะเดินบกไปเมืองน่าน แลเข้าแขวงเมืองน่านแล้วนั้นเพียง 500 เส้น…” (จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ และคณะ, 2551 : 71) จึงมีความเป็นไปได้ว่าเจ้าพระฝางจะหลบหนีขึ้นไปทางเมืองน่านและอาจข้ามต่อไปทางดินแดนล้านช้าง
แต่ตำนานเรื่องเล่าในท้องถิ่นเมืองสวางคบุรีซึ่งมีผู้สูงอายุเล่าให้ฟังว่า เจ้าพระฝางพยายามหนีขึ้นเหนือแต่ก็ไปมรณภาพที่ภูเขาลูกหนึ่งซึ่งคั่นกลางระหว่างอุตรดิตถ์กับเมืองแพร่ ภูเขาลูกนั้นได้มีชื่อในภายหลังว่า “ขุนฝาง” มาจนทุกวันนี้ (มณเฑียร ดีแท้, 2519 : 24)
แต่อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ว่าเจ้าพระฝางอาจจะหลบหนีไปในเขตล้านช้างตามลุ่มแม่น้ำปาด ข้ามแดนทางด่านภูดู่ไปทางเมืองปากลาย เนื่องจากข้อความในจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีระบุว่ามีการพบลูกช้างพังเผือกอยู่บริเวณชายป่าแม่น้ำมืด (พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี, 2472 : 5) ซึ่งบริเวณป่าน้ำมืดนั้นอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองสวางคบุรีในเส้นทางที่สามารถออกไปด่านภูดู่ได้ (ดังจะได้นำเสนอให้ทราบในส่วนถัดไป)
นอกจากนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงสันนิษฐานว่า มีพวกเจ้าพระฝางหนีไปพึ่งพม่าทางเมืองเชียงใหม่ด้วย (ดำรงราชานุภาพ, 2543 : 333)
สาเหตุที่กองทัพเจ้าพระฝางพ่ายแพ้ต่อกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอย่างง่ายดายนั้น นอกจากจะมีกำลังพลที่น้อยกว่าและขาดอาวุธที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีนักวิชาการบางท่านวิเคราะห์ว่า กองทัพเจ้าพระฝางซึ่งแม้จะตีพิษณุโลกได้แล้ว ก็มิได้ย้ายศูนย์อำนาจจากเมืองสวางคบุรีมาตั้งมั่นที่เมืองพิษณุโลก เพราะอำนาจปาฏิหาริย์ของเจ้าพระฝาง หัวหน้าชุมนุมผูกพันอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุเมืองฝางซึ่งผู้คนนับถือมาก จึงทำให้ชุมนุมนี้มีคนเข้าร่วมอย่างกว้างขวาง แต่ขาดระเบียบและการบริหารที่ดี (สุดารา สุจฉายา, 2550 : 58) เมื่อกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกมาตีจึงแตกโดยง่าย
ในขณะที่ อนุสรณ์ ผลสวัสดิ์ ได้ให้เหตุผลในความพ่ายแพ้ของกองทัพเจ้าพระฝางเพิ่มเติมว่า สภาพเมืองสวางคบุรีที่มั่นเจ้าพระฝาง ไม่มีกำแพง มีแต่ระเนียดไม้ขอนสักถมเชิงเทินดินเท่านั้น ไม่อาจทนต่อไฟที่ถูกนำมาเผาได้ (อนุสรณ์ ผลสวัสดิ์, 2551 : 11)
หากจะวิเคราะห์สาเหตุโดยสรุปนั้น ก็คงเป็นเพราะว่ากองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีผู้นำเป็นนักรบโดยแท้ และมีนักรบมืออาชีพมากมาย ส่วนกองทัพของเจ้าพระฝางมีผู้นำเป็นนักบวช ผู้คนที่เข้าร่วมนั้นส่วนใหญ่ก็เพราะเลื่อมใสในเรื่องคาถาอาคมหรือเรื่องไสยศาสตร์ ผู้นำระดับล่างของกองทัพส่วนใหญ่ก็เป็นนักบวช เช่น พระครูคิริมานนท์ พระครูเพชรรัตน์ พระอาจารย์จันทร์ พระอาจารย์ทอง และพระอาจารย์เกิด เป็นต้น (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ), 2505 : 308) จึงไม่อาจจะสู้กองทัพที่มีการจัดการโดยนักรบที่แท้จริงไม่ได้ จนนำมาซึ่งการล่มสลายของชุมนุมเจ้าพระฝาง
นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ว่าการปราบกลุ่มผู้ถืออำนาจของชุมนุมเจ้าพระฝางในทางทหารนั้นทำได้ไม่ยากนัก เพราะเมื่อขาดการบริหารภายในที่ดี เจ้าพระฝางก็ย่อมไม่สามารถจัดทัพใหญ่มาต่อต้านกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ ฉะนั้นใน พ.ศ. 2313 เมื่อเสด็จยกกองทัพขึ้นไปทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ ยังไม่ทันที่ทัพหลวงซึ่งเดินทางโดยทางเรือจะขึ้นไปถึงเมืองสวางคบุรี ก็ได้ข่าวจากทัพหน้าว่าตีเมืองสวางคบุรีได้แล้ว (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2550 : 172)
ผลของการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสามารถปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางได้เป็นชุมนุมสุดท้าย อาจกล่าวได้ว่าเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรวบรวมดินแดนในอิทธิพลของเจ้าพระฝางได้นั้น เท่ากับว่าทรงสามารถรวบรวมดินแดนอันเป็นขอบเขตของราชอาณาจักรสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้ทั้งหมด (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, 2543 : 51)
การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสามารถตีเมืองสวางคบุรี ปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางได้สำเร็จ ทั้งยังได้ลูกช้างพังเผือก ทรงชำระสิกขาบทคณะสงฆ์ฝ่ายเหนือและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงในแผ่นดิน นอกจากจะเป็นการยกสถานะความเป็นพระมหากษัตริย์ที่รวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยอันเป็นเขตขอบขัณฑสีมาของศูนย์อำนาจรัฐกรุงศรีอยุธยาได้ดังเดิมแล้ว ยังเป็นการยกฐานะความเป็น “พระจักรพรรดิราชผู้ทรงธรรม” และทำให้ได้รับการรับรองสถานะความเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ใหม่จากพระเจ้ากรุงจีนในเวลาต่อมาอีกด้วย (ณัฏฐภัทร จันทวิช, 2523 ข : 68-69)…
อ่านเพิ่มเติม :
- ตามติดปฏิบัติการ พระเจ้าตาก “ตามล่า” รัชทายาทกรุงศรีอยุธยา
- พระเจ้าตาก “ล้างแค้น” : ไทย “ล้อม” พม่าที่บางแก้ว เมืองราชบุรี
- รบพม่าที่ “ปากพิง” สมรภูมิศึกอะแซหวุ่นกี้ พระเจ้าตากทรงนำทัพหลวงรบข้าศึกที่พิษณุโลก
หมายเหตุ: เนื้อหานี้คัดจากบทความ “ศึกเจ้าพระฝาง พ.ศ. ๒๓๑๓ : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับการปราบ ‘พวกสงฆ์อลัชชี’ ที่เมืองสวางคบุรี” โดย ธีระวัฒน์ แสนคำ ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2559
* ตัดตอนและปรับปรุงจากหนังสือของผู้เขียนเรื่อง “สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปีแห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา” ซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ. 2558
บรรณานุกรม :
ก. เอกสารชั้นต้นที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์
กองหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. จดหมายเหตุรัชกาลที่ 4 จ.ศ. 1217 (พ.ศ. 2398). เลขที่ 162 ร่างตราเจ้าพระยาจักรีตอบเรื่องทำการวัดสว่างคบุรี พระวิหารหลวงเมืองทุ่งยั้ง.
กจช. ร.4 จ.ศ. 1217 (พ.ศ. 2398). เลขที่ 200 คัดบอก 13 หัวเมือง เกณฑ์เลกข้าพระโยมสงฆ์วัดต่างๆ ทำวัดพระมหาธาตุเมืองทุ่งยั้ง.
ข. เอกสารชั้นต้นที่ตีพิมพ์แล้ว
จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ และคณะ. (2551). รายงานการวิจัยเอกสารประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือของรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2444 (ร.ศ. 120). พิษณุโลก : รัตนสุวรรณการพิมพ์ 3.
นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยา. (2506). จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์.
นายสวนมหาดเล็ก. “คำโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี”. ใน วชิรญาณ. ตอนที่ 113 (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446)
พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี, (2472). พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิงอับษรสมาน กิติยากร.
พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ภาคจบ). (2505), พระนคร : โอเดียนสโตร์.
“พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม),” (2542). ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 3. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
“พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม),” (2542). ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 3. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
“พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน,” (2542). ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 2. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
สมเด็จพระพนรัตน (แก้ว). (2550). พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ภาษามคธแลคำแปล กับ จุลยุทธการวงศ์ ผูก 2 เรื่อง พงศาวดารไทย. กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ.
ค. หนังสือ
ขวัญเมือง จันทโรจนี. (2534). ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของหัวเมืองฝ่ายเหนือในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2325-2394). วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. (2543). ไทยรบพม่า. กรุงเทพฯ : เจริญรัตน์การพิมพ์.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2550). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : มติชน.
พาณี สีสวย. (2540). สุนทรียะทางนาฏศิลป์ไทย. กรุงเทพฯ : ภาควิชานาฏศิลป์ คณะวิชามนุษยศาสตร์เเละ สังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏธนบุรี.
มณเฑียร ดีแท้. (2519). ประวัติวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถและเจ้าพระฝางหัวหน้าก๊กเจ้าพระฝาง เมืองอุตรดิตถ์. อุตรดิตถ์ : วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์.
ศรีศักร วัลลิโภดม. (2532). เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สุดารา สุจฉายา. (2550). ประวัติศาสตร์สมัยธนบุรี. กรุงเทพฯ : สารคดี.
อนุสรณ์ ผลสวัสดิ์. (2551). เจ้าพระฝาง เมืองสวางคบุรี. เอกสารอัดสำเนา.
ง. บทความ
ณัฏฐภัทร จันทวิช. (2523 ก). “ข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาตอนปลายและกรุงธนบุรีจากจดหมายเหตุจีน,” ใน ศิลปากร. ปีที่ 24 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม.
ณัฏฐภัทร จันทวิช. (2523 ข). “ข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาตอนปลายและกรุงธนบุรีจากจดหมายเหตุจีน,” ใน ศิลปากร. ปีที่ 24 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. (2543). “เจ้าพระฝาง วีรบุรุษของใคร?,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 21 ฉบับที่ 6 เมษายน.
ศรีสัชนาลัยบดี, พระยา. (2528). “ชีวประวัติพระยาพิชัยดาบหัก,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 6 ฉบับที่ 3 มกราคม.
จ. สัมภาษณ์บุคคล
1. นายเย็น ภู่เล็ก อายุ 79 ปี ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลผาจุก บ้านเลขที่ 67 หมู่ที่ 3 ตำบลผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ สัมภาษณ์วันที่ 13 พฤษภาคม 2552
2. พระฝ้าย เตชพโล (ปานวน) อายุ 78 ปี วัดคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ สัมภาษณ์วันที่ 13 เมษายน 2553
3. พระสมุห์สมชาย จีรปญฺโญ อายุ 52 ปี วัดคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ สัมภาษณ์วันที่ 3 พฤศจิกายน ๒๕๕๘
4. พระอู๋ ปญฺญาวชิโร (แสงสิน) อายุ 74 ปี วัดคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ สัมภาษณ์วันที่ 13 เมษายน 2556
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2563