ลั่นกลองรบ! สงครามปราบก๊กเจ้าพระฝาง แห่งสวางคบุรี ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระเจ้าตาก ทรงม้าสู้ศึก ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เทศบาลเมืองตาก
ภาพวาดพระเจ้าตากทรงม้าสู้ศึก ในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เทศบาลเมืองตาก (ถ่ายโดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2560)

หลังจากเมืองสวางคบุรีของ เจ้าพระฝาง มีอำนาจปกครองบริเวณหัวเมืองเหนือได้เกือบทั้งหมด และมีความพยายามที่จะขยายอำนาจลงทางใต้ เจ้าพระฝางได้ส่งทหารลงไปลาดตระเวนและตีเอาเสบียงอาหารจากราษฎรจนถึงเขตเมืองอุทัยธานีและเมืองชัยนาท และมีความพยายามที่จะตระเวนลงไปเรื่อยๆ ทั้งนี้อาจเพื่อสังเกตการณ์กองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และคงหมายจะส่งกองทัพลงไปตีกรุงธนบุรี ซึ่งส่งผลถึงความมั่นคงของศูนย์อำนาจรัฐกรุงธนบุรีที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชต้องทรงปราบปรามให้จงได้

อ่าน “เจ้าพระฝาง” คือใคร? กำเนิด “ชุมนุมสุดท้าย” ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงปราบ (คลิก)

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคลื่อนทัพปราบปรามพวกสงฆ์อลัชชี

กองทัพเจ้าพระฝางนอกจากจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของศูนย์อำนาจรัฐกรุงธนบุรีแล้ว ยังถูกเสนอในภาพของกลุ่มพระภิกษุที่ไม่ปฏิบัติอยู่ในพระธรรมวินัย ด้วยประพฤติพาลทุจริตทุศีลกรรมลามกบริโภคสุรา กระทำการฆ่ามนุษย์ทั้งที่ยังนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์อยู่ ทำให้กลายเป็น “พวกสงฆ์อลัชชี” ในสายตาของศูนย์อำนาจรัฐกรุงธนบุรีด้วย การกระทำของพระภิกษุในชุมนุม เจ้าพระฝาง จึงเป็นภัยต่อทั้งฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายพุทธจักร

ล่วงมาจนถึงเดือน 6 ปีขาล พ.ศ. 2313 กรมการเมืองอุทัยธานีและเมืองชัยนาทบอกลงมายังกรุงธนบุรีว่า เจ้าพระฝางให้กองทัพลงมาลาดตระเวนถึงเมืองอุทัยธานีและเมืองชัยนาท สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงมีรับสั่งให้เตรียมกองทัพจะยกไปตีหัวเมืองเหนือในปีขาลนั้น พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่า

“…ครั้นได้ทราบจึงมีพระราชดำรัสให้เกณฑ์กองทัพ จะยกไปปราบอ้ายพวกเหล่าร้ายฝ่ายเหนือให้แผ่นดินราบคาบ จึงโปรดให้พระยาพิชัยราชาเป็นแม่ทัพถือพลห้าพัน สรรพด้วยช้างม้าสรรพาวุธ ยกไปทางฟากตะวันตกทัพหนึ่ง ขณะนั้นพระยายมราชถึงแก่กรรม จึงโปรดให้พระยาอนุชิตราชาเลื่อนที่เป็นพระยายมราช [ต่อมาคือ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) – ผู้เขียน] ให้เป็นแม่ทัพถือพลห้าพัน สรรพด้วยช้างม้าสรรพสัตราวุธยกไปฟากตะวันออกทัพหนึ่ง และทัพบกทั้งสองทัพ เป็นคนหมื่นหนึ่งให้ยกล่วงไปก่อน”

ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า “จนถึงลุศักราช 1132 ปีขาลโทศก (พ.ศ. 2313) วันพุธ แรม 4 ค่ำ เดือน 8 จะยกกองทัพไปปราบคนอาสัตย์อาธรรมฝ่ายเหนือ ด้วยอ้ายเหล่าร้ายนั้นยกลงมาลาดตระเวนตีเอาข้าวปลาอาหารเผาบ้านเรือนเสียหลายตำบล ไพร่พลหัวเมืองได้ความแค้นเคืองขัดสนนัก เหตุฉะนี้จึงให้เจ้าพญาพิไชราชา ถือพล 5,000 ยกไปทางตะวันตก พญายมราชถือพล 5,000 เข้ากันเป็นคน 10,000 สรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธทั้งปวง”

จากนั้นพระองค์จึงเคลื่อนทัพหลวงตามขึ้นไป พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า “…วันเสาร์ แรม 14 ค่ำ เดือน 8 เพลาโมงเช้าเศษ เป็นมหาพิชัยฤกษ์ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จจากเมืองธนบุรีย ไปโดยทางชลมารค ทรงนาวาพระที่นั่งพร้อมด้วยหมู่พลพยุหโยธาเสนา ข้าทหารทั้งปวงประมาณ 12,000…”

ในการสงครามครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จฯ โดยกระบวนทัพเรือและจัดทัพขึ้นไปตีชุมนุมเจ้าพระฝางเป็น 3 ทัพ

ทัพที่ 1 เป็นทัพหลวงมีจำนวนพล 12,000 ให้พระยายมราชถือพล 5,000 เป็นทัพที่ 2 ยกขึ้นไปทางบกข้างฟากตะวันออกลำน้ำแควใหญ่ (แม่น้ำน่าน) พระยาพิชัยราชาถือพล 5,000 เป็นทัพที่ 3 ยกขึ้นไปทางบกข้างฟากตะวันตก (ดำรงราชานุภาพ, 2543 : 330)

ในขณะเดียวกันช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้มีแขกเมืองยักกระตราส่งปืนใหญ่มาถวาย 10 กระบอก และแขกเมืองตรังกานู เอาปืนคาบศิลาเข้ามาถวาย 2,200 กระบอก (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), 2542 : 493) จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรบครั้งนี้เป็นอย่างมาก

ฝ่ายเจ้าพระฝางรู้ว่ากองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพขึ้นมา จึงให้หลวงโกษา (ยัง) ขุนนางเก่าเมืองพิษณุโลก ผู้ที่เคยรบกับกองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ปากน้ำเกยชัย คุมกองทัพลงมาตั้งรับที่เมืองพิษณุโลก กองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเข้าตีเมืองได้ในช่วงกลางคืน หลวงโกษาจึงหนีมาตั้งค่ายรับศึกอยู่ที่บริเวณปากโทก เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นมาเล็กน้อย แต่ไพร่พลแตกหนีไปเสียมาก หลวงโกษาเห็นเหลือกำลังก็ทิ้งค่ายหนีกลับขึ้นไปยังเมืองสวางคบุรี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เมืองพิษณุโลกแล้ว กองทัพบกยังขึ้นไปไม่ถึงทั้ง 2 ทัพ ด้วยเป็นฤดูฝนหนทางบกเดินลำบาก จึงประทับรออยู่ที่เมืองพิษณุโลก 9 วัน กองทัพพระยายมราชจึงขึ้นไปถึง ต่อมาอีก 2 วันกองทัพพระยาพิชัยราชาก็ขึ้นไปถึง มีรับสั่งให้จ่ายเสบียงอาหารแล้วให้กองทัพบกรีบยกตามข้าศึกที่แตกหนีขึ้นไปยังเมืองสวางคบุรีพร้อมกันทั้ง 2 ทาง

ส่วนกองทัพเรือยังไม่ยกขึ้นไป ด้วยทรงพระราชดำริว่าเวลานั้นน้ำในแม่น้ำยังน้อย หนทางต่อขึ้นไปลำน้ำแคบตลิ่งสูงทั้ง 2 ฟาก ถ้าข้าศึกมาดักทางทัพเรือจะรบพุ่งยังเสียเปรียบ แต่ดำรัสว่าไม่ช้าดอกน้ำเหนือคงหลากมา คงได้ยกขึ้นไปตามกัน พอสองสามวันน้ำก็หลากดังพระราชดำรัส พระองค์ก็ยกกองทัพเรือตามขึ้นไป

เหตุการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่เหนือความคาดหมาย พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกไว้ว่าเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโดยแท้

“…แล้วพอทัพบกข้ามแม่น้ำน้อยเสียได้สามวันน้ำก็เกิดมากขึ้น เดชะพระบารมีบรมโพธิสมภาร ครั้นถึงสามวัน น้ำก็เกิดมากเสมอตลิ่งบ้างล้นตลิ่งบ้างประดุจตรัสไว้นั้น จำเดิมแต่นั้น กองทัพบกทัพเรือทั้งปวงได้แจ้งเหตุแล้ว ก็ยกมือขึ้นกราบถวายบังคมเอาพระเดชเดชานุภาพปกเกล้าฯ มีน้ำใจมิได้ย่อท้อต่อการรณรงค์ ก็องก็อาจที่จะรบสู้หมู่ปัจจามิตรข้าศึก ด้วยเห็นพระบารมีเป็นแท้…”

หลังจากนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ได้ยกทัพหลวงเสด็จออกจากเมืองพิษณุโลกโดยทางชลมารค เมื่อวันอาทิตย์ แรม 7 ค่ำ เดือน 9 เวลาประมาณ 08.00 นาฬิกา

“วันอาทิตย์ แรม 7 ค่ำ เดือน 9 เพลา 2 โมงเช้า ยกทัพหลวงจากเมืองพิษณุโลกโดยทางชลมารค ประทับรอนแรมไปได้ 3 เวน พบผู้ถือหนังสือบอกกองหน้า ใจความว่าได้เมืองฝางแล้ว แต่อ้ายเรือนซึ่งคิดมิชอบนั้นหนีไป ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงยังติดตามอยู่ ก็เสด็จรีบไปทั้งกลางวันกลางคืน ถึงตำหนักค่ายหาดสูง ให้นายทัพนายกองเกณฑ์กันไปติดตามอ้ายเรือนฝางแลนางพญาช้างเผือกจงได้”

นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ว่าในแง่อุดมการณ์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เปรียบที่จะประณามกลุ่มเจ้าพระฝางว่าเป็น “คนอาสัตย์อาธรรมฝ่ายเหนือ” ได้อย่างสะดวก ขุนนางจำนวนไม่น้อยที่รับราชการขณะนั้นก็พร้อมจะยอมรับได้ทันทีว่ากลุ่มเจ้าพระฝางเป็น “คนอาสัตย์อาธรรม” เพราะย่ำยีพระธรรมวินัยและย่ำยีจารีตประเพณีทางการเมืองของราชอาณาจักรอยุธยาไปพร้อมกัน อีกทั้งการปราบชุมนุมเจ้าพระฝางยังสอดคล้องกับการที่พระเจ้าแผ่นดินของราชอาณาจักรอยุธยาต้องแสดงพระองค์เป็นธรรมราชาด้วย เพราะเป็นการยอยกพระพุทธศาสนามิให้ถูกฝ่ายอธรรมย่ำยี

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ในพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ จะมีการบันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระบารมีหรือเหตุการณ์ปาฏิหาริย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเมืองสวางคบุรี ตลอดจนให้ภาพว่าพระองค์ทรงเป็น “พุทธมามกะ” อย่างชัดเจนภายหลังจากที่ปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางเสร็จสิ้น เช่น การสมโภชปูชนียสถานสำคัญต่างๆ ในหัวเมืองฝ่ายเหนือ เป็นต้น

สมรภูมิศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ. 2313

เมื่อทัพหน้าของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองสวางคบุรี ก็เกิดการต่อสู้กันเป็นกำลังระหว่างกองทัพพระยายมราชและพระยาพิชัยราชากับกองทัพเจ้าพระฝาง ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ความว่า

“ฝ่ายกองทัพพระยายมราช และพระยาพิชัยราชายกขึ้นไปถึงเมืองสวางคบุรี ก็ให้ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ และเมืองสวางคบุรีนั้น ตั้งแต่ระเนียดไม้ขอนสักถมเชิงเทินดิน หามีกำแพงไม่ เจ้าพระฝางก็เกณฑ์พลทหารขึ้นรักษาเชิงเทินรอบเมืองยิงปืนใหญ่น้อยต่อรบป้องกันเมือง แต่คิดครั่นคร้ามพระเดชานุภาพเป็นกำลัง…”

จากข้อความในพระราชพงศาวดารจะเห็นได้ว่า กองทัพของพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาได้ตั้งค่ายล้อมเมืองสวางคบุรีไว้ ในขณะเดียวกันก็ได้ยิงปืนใหญ่น้อยต่อสู้กัน โดยที่ฝ่ายเมืองสวางคบุรีนั้นมีเพียงระเนียดไม้ขอนสักทำเป็นกำแพงเท่านั้น ไม่ได้เป็นกำแพงอิฐหรือคันดินสูงเหมือนเมืองใหญ่หลายเมืองในลุ่มแม่น้ำน่าน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเมืองสวางคบุรีมีสภาพภูมิประเทศที่เอื้อต่อยุทธศาสตร์อยู่แล้ว จึงไม่มีการสร้างกำแพงเมืองก็เป็นได้ สภาพพื้นที่หรือสมรภูมิศึกเมืองสวางคบุรีใน พ.ศ. 2313 จึงจำเป็นที่จะต้องอธิบายให้ทราบในที่นี้ด้วย

ข้อมูลจากการลงพื้นที่ของผู้เขียนและการสัมภาษณ์ คุณตาเย็น ภู่เล็ก ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลผาจุก ซึ่งเป็นชาวบ้านพระฝางโดยกำเนิด และเคยเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดพระฝาง ทำให้ทราบว่าเมืองสวางคบุรีมีคลองธรรมชาติ 2 สายเป็นแนวคูเมืองธรรมชาติ นอกเหนือจากเขตเมืองทางทิศเหนือที่ติดกับแม่น้ำน่าน

ทางทิศตะวันออกมีคลองน้ำพุ ซึ่งไหลมาจากบ่อน้ำพุเจ้าพระฝางทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองแล้วไหลมาลงแม่น้ำน่านทางด้านตะวันออกของเมือง ทางทิศตะวันตกมีคลองพระฝาง ซึ่งไหลมาจากเชิงเขาใกล้กับบ่อน้ำพุเจ้าพระฝางแล้วไหลมาลงแม่น้ำน่านที่บ้านบุ่ง ทางด้านทิศตะวันตกของเมือง คลองทั้ง 2 สายมีขนาดร่องน้ำที่ลึกมาก ในอดีตมีน้ำไหลอยู่ตลอดทั้งปี แต่ปัจจุบันในฤดูแล้งน้ำค่อนข้างมีน้อยเนื่องจากว่าป่าไม้ต้นน้ำถูกทำลายไปมาก

คุณตาเย็น ภู่เล็ก ยังได้ให้ข้อมูลว่า ตอนที่ท่านยังเป็นเด็ก พ่อแม่พาไปทำไร่ทำนายังเคยเห็นหลักไม้ขนาดใหญ่ปักเป็นแนวคล้ายระเนียดหรือกำแพงเมือง ที่ริมฝั่งคลองพระฝางทางทิศใต้ของเมือง ท่านเชื่อว่าน่าจะเป็นแนวกำแพงเมืองสวางคบุรีที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยเจ้าพระฝางเรืองอำนาจเพื่อรับศึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

นอกจากนี้ถ้าหากดูจากแผนที่ทางภูมิศาสตร์ จะพบว่าบริเวณที่ตั้งของเมืองสวางคบุรีเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำน่าน มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก ที่ราบลุ่มแห่งนี้ถูกล้อมรอบด้วยภูเขาถึง 3 ด้านด้วยกัน ยกเว้นทางทิศตะวันตกด้านเดียวเท่านั้นที่ไม่มีภูเขากั้น มีลักษณะเป็นแอ่งที่ราบลุ่มหุบเขา และถือว่าเป็นที่ราบลุ่มแห่งแรกในลุ่มแม่น้ำน่านตอนล่าง

นอกจากที่ตั้งของเมืองสวางคบุรีจะมีความอุดมสมบูรณ์แล้ว ในทางยุทธศาสตร์ก็เป็นชัยภูมิที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เป็นการดีที่มีภูเขาล้อมรอบ เพราะข้าศึกสามารถเข้ามาได้เพียง 2 ทาง คือ ทางด้านตะวันตกและด้านตะวันออก แต่ทว่าทางตะวันออกนั้นอาศัยเข้ามาทางแม่น้ำน่านตามหุบเขาเพียงทางเดียวเท่านั้น หากมีการตั้งด่านสกัดกั้นขวางแม่น้ำข้าศึกก็เข้ามายังตัวเมืองได้ลำบาก ในขณะที่ทางด้านตะวันตกสามารถเดินทางเข้ามาได้ทั้งทางบกและทางน้ำ โดยสรุปแล้วก็เหมือนกับว่าข้าศึกสามารถเข้าตีเมืองได้ทางตะวันตกด้านเดียวเท่านั้น

แม้ว่าสภาพภูมิประเทศดังกล่าวที่มีความได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถที่จะต้านทานกองทัพอันห้าวหาญและมีจำนวนไพร่พลนับหมื่นของกองทัพพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาได้ จนในที่สุดกองทัพเจ้าพระฝางต้องแตกพ่ายไป

จากคำบอกเล่าของชาวบ้านในเขตบ้านคุ้งตะเภา ชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งในเขตเมืองสวางคบุรี ได้ให้ข้อมูลที่สื่อให้เห็นว่ากองทัพของพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาไม่ได้เข้าตีเมืองสวางคบุรีในตำแหน่งที่มีคลองลึกดังกล่าวมาแล้วขวางอยู่ หากแต่เข้าตีทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองสวางคบุรีซึ่งเป็นที่ราบและทุ่งกว้าง

บริเวณ “ทุ่งบ่อพระ” เป็นตำแหน่งที่ชาวบ้านให้สัมภาษณ์ว่ามีคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่าเป็นจุดปะทะรบพุ่งกันระหว่างกองทัพกรุงธนบุรีกับกองทัพเจ้าพระฝาง เคยมีการพบชิ้นส่วนอาวุธ เช่น หอกและดาบโลหะ เป็นต้น อยู่ในบริเวณทุ่งบ่อพระ

คำว่า “บ่อพระ” นี้ไม่ปรากฏที่มาอย่างชัดเจน แต่กลางทุ่งเคยมีบ่อน้ำที่สามารถใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคได้ ปัจจุบันถูกดินถมและสูญหายไปแล้ว บางคนให้ข้อมูลว่าเคยมีการพบพระพุทธรูปในบ่อน้ำ บ้างก็ว่าเป็นบ่อน้ำที่พระสงฆ์เคยนำน้ำไปใช้สรง ในขณะเดียวกันยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจเพี้ยนมาจากคำว่า “บ่อพัก” ก็เป็นได้

กองทัพบกของของพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาเมื่อมาถึงเขตเมืองสวางคบุรีนั้น สันนิษฐานว่าได้ตั้งค่ายใหญ่อยู่บริเวณที่เรียกว่า “หัวไผ่หลวง” ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของบึงกะโล่ในปัจจุบัน เนื่องจากบริเวณนี้มีคำบอกเล่าจากชาวบ้านว่าเป็นที่ตั้งของกองทัพสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช

โดยยกทัพมาจากริมฝั่งแม่น้ำน่านบริเวณ “ท่าควาย” ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของวัดคุ้งตะเภา นอกจากจะมีคำบอกเล่าว่าเป็นท่าน้ำที่พ่อค้านำควาย-วัวมาลงแล้ว ท่าควายยังเป็นท่าน้ำสำคัญในเขตนี้ด้วย จากนั้นก็คงเคลื่อนทัพจากสองฝั่งแม่น้ำน่านไปตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่บริเวณหัวไผ่หลวงและมีค่ายเล็กกระจายล้อมรอบเมืองสวางคบุรี

เส้นทางนี้ เมื่อครั้งที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เสด็จเมืองฝางและทอดพระเนตรวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถใน พ.ศ. 2444 พระองค์ก็เสด็จตามเส้นทางนี้ ดังปรากฏในจดหมายระยะทางไปพิษณุโลกว่าเสด็จมาทางเรือแล้วขึ้นที่ท่าวัดป่ากล้วยใต้บ้านคุ้งตะเภาลงมาเล็กน้อย

“…ลงเรือเล็กออกจากที่พัก ขึ้นไปตามลำน้ำ จอดที่วัดป่ากล้วย ฝั่งตะวันออกแม่น้ำ ขึ้นม้าตัดทางตรงไปเมืองฝาง ตามทางตอนริมตลิ่งเปนป่าพง ลึกเข้าไปเปนป่าเตงรังตลอด ทางเปนน้ำเปนโคลน เพราะเมื่อคืนนี้ฝนตกยังรุ่ง ม้าวิ่งได้บ้าง ไม่ได้ต้องเดินไปบ้างในที่ต้องลุยน้ำ ตอนจวนถึงเมืองฝางเปนป่าแดงเพราะใกล้แม่น้ำ…”

เมื่อพิจารณาจากสภาพภูมิประเทศแล้วพบว่า บริเวณหัวไผ่หลวงเป็นที่ดอนอยู่ติดกับบึงกะโล่ซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองสวางคบุรี จึงมีความเป็นไปได้อาจเป็นที่ตั้งค่ายของพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาในศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ. 2313 ก็เป็นได้ เพราะทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองสวางคบุรีก็เป็นทางเดียวที่เป็นที่ราบ สามารถเข้าตีเมืองสวางคบุรีได้สะดวกมากที่สุด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ศึกเจ้าพระฝาง พ.ศ. ๒๓๑๓ : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับการปราบ ‘พวกสงฆ์อลัชชี’ ที่เมืองสวางคบุรี” เขียนโดย ธีระวัฒน์ แสนคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566