ก๊กเจ้าพระฝางเป็น “นิมิตอุบาทว์” เช่นใด? สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงปราบ

ตีเมืองสวางคบุรี เจ้าพระฝาง นั่งเปล ทหารหามหลบหนี
"ตีเมืองสวางคบุรี" ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมนุมเจ้าพระฝาง ภาพจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร เชียนโดย หลวงฤทธิจักรกำจร ในสมัยรัชกาลที่ 5 ในภาพวาดเจ้าพระฝางนั่งเปลให้ทหารหามหลบหนีออกจากเมือง

พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ของสยาม “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์ที่มีการกล่าวถึงมากที่สุดพระองค์หนึ่ง ด้วยทรงกอบกู้แผ่นดินจากคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310

เริ่มตั้งแต่ทรงรวบรวมไพร่พลเพื่อกลับมาต่อสู้กับพม่า และทรงสามารถขับไล่พม่าออกจากพระ ราชอาณาจักรได้ในที่สุด จากนั้นก็ทรงปราบปรามชุมนุมต่างๆ ที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ จนถึงการศึกสงครามกับเขมร พม่า หลังจากนั้นอีก

พระราชกรณียกิจของพระองค์จึงเป็นที่จดจําและโจษจันจนถึงปัจจุบัน

ดังจะเห็นได้จากผลงานของนักวิชาการ, นักเขียน ฯลฯ ที่นําเสนอผลงานเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราชออกมาเป็นระยะตามสื่อต่างๆ หนึ่งในจํานวนนั้นก็คือ นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ซึ่งตีพิมพ์บทความ เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาอย่างต่อเนื่อง และฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ก็ได้งานของ ดร.ปฐมพงษ์ สุขเล็ก จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ที่ชื่อว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรง ปราบก๊กเจ้าพระฝางในฐานะเป็น นิมิตอุบาทว์”

พระพุทธรูปพระฝางองค์จำลองภายในโบสถ์วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ (ปัจจุบันพระพุทธรูปพระฝางองค์จริงประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร) (ถ่ายโดย ดร.ปฐมพงษ์ สุขเล็ก พ.ศ. 2561)

แต่ก่อนที่จะไปดูว่าเกิดนิมิตอุบาทว์อย่างไร ขอกลับไปฟื้นความจําเกี่ยวกับเจ้าพระฝางกันก่อน

ท่านใดเป็นแฟนคลับ “ศิลปวัฒนธรรม” กลับไปดูบทความชื่อ “ศึกเจ้าพระฝาง พ.ศ. 2313 สมเด็จพระ เจ้าตากสินมหาราชกับการปราบ พวกสงฆ์อลัชชี ที่เมืองสวางคบุรี” ของ ธีระวัฒน์ แสนคํา ในฉบับเดือนมีนาคม 2559 ตอนหนึ่ง อธิบายถึงชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองสวางคบุรีพอสรุปได้ว่า

เมื่อเกิดสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 เมืองสวางคบุรีนั้นไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ต่อมา เมืองสวางคบุรีตั้งตัวเป็นอิสระในการปกครอง ภายใต้การนําของพระพากุล-เถระสังฆราชแห่งเมืองสวางคบุรี หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “เจ้าพระฝาง”

เจ้าพระฝาง เดิมชื่อ “เรือน” สอบเปรียญธรรมได้เป็น “มหาเรือน” เป็นภิกษุชาวเมืองเหนือ ที่ลงมา ศึกษาเล่าเรียนในกรุงศรีอยุธยา จนได้เป็นพระพากุลเถระ พระราชาคณะ ณ วัดศรีอโยธยา ภายหลังพระ เจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงตั้งให้เป็นพระสังฆราชา ณ เมืองสวางคบุรี

เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก เจ้าพระฝางก็ซ่องสุมผู้คนเป็นจํานวนมาก ด้วยมีตําแหน่งเป็นถึงพระสังฆราช และเก่งทางวิทยาคมเป็นที่เลื่อมใสของผู้คน บรรดาเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองฝ่ายเหนือตั้งแต่เหนือเมือง พิษณุโลกขึ้นไป ต่างก็เกรงกลัวนับถืออยู่ในอํานาจของเจ้าพระฝางทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามเจ้าพระฝางก็ยังไม่ได้สึกเป็นคฤหัสถ์ หากเปลี่ยนเป็นนุ่งห่มสีแดงเพื่อให้เห็นว่าไม่ใช่ พระภิกษุแล้ว แต่ยังเคร่งครัดในศีลบางข้อและยังไม่มีภรรยา ได้

สรุปว่า เจ้าพระฝาง ที่พูดถึงกันบ่อย จึงไม่ใช่เป็นเจ้าเมือง แต่เป็นอดีตพระภิกษุที่มีตําแหน่งถึงสังฆราช

กลับมาเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบก๊กเจ้าพระฝางกันต่อ ผู้เขียน (ดร. ปฐมพงษ์ สุข เล็ก) อธิบายถึงทัพของเจ้าพระฝางว่า

วัดพระมหาธาตุเมืองฝาง (ปัจจุบันใช้ชื่อ “วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ” จังหวัดอุตรดิตถ์) ศูนย์กลางอำนาจก๊กเจ้าพระฝาง (ถ่ายโดย ดร.ปฐมพงษ์ สุขเล็ก พ.ศ. 2561)

“เจ้าพระฝางตั้งแต่งนายทัพนายกองแต่พื้นพระสงฆ์ทั้งสิ้น คือพระครูศิริมานนท์ 1 พระครูเพชรรัตน 1 พระอาจารย์จันทร์ 1 พระอาจารย์ทอง 1 พระอาจารย์เกิด 1 แต่ล้วนเป็นอลัชชีมิได้ละอายแก่บาปทั้งนั้น”

นอกจากนี้เมื่อเจ้าพระฝางรู้ข่าวว่า เจ้าเมืองพิษณุโลกเสียชีวิต เจ้าเมืองคนใหม่ยังขาดประสบการณ์ ก็ ยกทัพมาตีเมือง

“…พระอินทรเจ้าเมืองพระพิษณุโลกใหม่นั้นฝีมืออ่อน มิได้แกล้วกล้าในการสงคราม ต่อรบต้านทานอยู่ ได้ประมาณสามเดือน ชาวเมืองไม่สู้รักใคร่นับถือก็เกิดไส้ศึกขึ้นในเมือง เปิดประตูรับข้าศึกในเพลากลางคืน ทัพฝางก็เข้าเมืองได้ จับได้ตัวพระอินทรเจ้าเมืองพระพิษณุโลก เจ้าพระฝางให้ประหารชีวิตเสีย แล้วเอาศพขึ้น ประจานไว้ในเมือง

จึงให้เก็บเอาทรัพย์สินสิ่งของทองเงินต่างๆ ของเจ้าเมืองกรมการและชาวเมืองทั้งปวงได้เป็นอันมาก แล้วให้ขนเอาปืนใหญ่น้อย และกวาดต้อนครอบครัวอพยพชาวเมืองพระพิษณุโลกขึ้นไปยังเมืองสวางคบุรีแล้ว ก็เลิกทัพกลับไปเมือง ขณะนั้นบรรดาหัวเมืองเหนือทั้งปวงนั้น ก็เป็นสิทธิ์แก่เจ้าพระฝางทั้งสิ้น”

ซึ่งพฤติกรรมของชุมนุมเจ้าพระฝาง ถือเป็นหนึ่งใน “นิมิตอุบาทว์”

นิมิตอุบาทว์นั้นมีทั้งหมด 8 ประการ มีการรวบรวมบันทึกไว้ในตําราพิไชยสงคราม โดยเทวดาที่รักษา ทิศทั้ง 8 องค์จะสําแดงให้รู้ถึงเหตุร้ายล่วงหน้า ตามบทบาทหน้าที่ของเทวดาแต่ละองค์

สําหรับกรณีของเจ้าพระฝางนั้น เรียกว่า “อุบาทว์พระนารายณ์” ปรากฏนิมิตต่างๆ เช่น เครื่องดนตรี บรรเลงเอง พระพุทธรูปหรือเทวรูปแตกหักเอง สายน้ำไหลเป็นเลือดแล้วหายเป็นปกติดังเดิม พระพุทธรูปหรือ เทวรูปมีเหงื่อเลือดไหลออกจากพระองค์ อาวุธตีกันเอง และพระสงฆ์สะสมอาวุธ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ภายหลังปราบก๊กเจ้าพระฝางได้แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงโปรดให้ชําระพระสงฆ์หัวเมืองเหนือ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2563