ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2561 |
---|---|
ผู้เขียน | รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ |
เผยแพร่ |
ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 กองทัพพม่าสามารถตีเข้าพระนครศรีอยุธยาได้สำเร็จ พม่าได้เผาทำลายเมืองและกวาดต้อนผู้คนไปยังค่ายพม่า สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ สวรรคตระหว่างเสด็จพระราชดำเนินหนีออกจากพระนคร ส่วน สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งทรงพระผนวชและประทับอยู่ ณ วัดราชประดิษฐาน ก็ถูกพม่ากวาดต้อนไปไว้ที่ค่ายพร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลายทั้งปวงด้วย ก่อนจะถูกส่งขึ้นไปยังกรุงรัตนปุระอังวะ จากนั้นเนเมียวมหาเสนาบดี จึงตั้งพระนายกองให้เป็นผู้รักษากรุงศรีอยุธยา และรวบรวมผู้คนที่ยังหลงเหลือตกค้าง แล้วให้ยกทัพกลับ “กรุงรัตนปุระอังวะ”
บั้นปลายพระชนมชีพในอมรปุระจากหลักฐานพม่า
หลังจากสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรซึ่งทรงพระผนวช พระราชวงศานุวงศ์กรุงศรีอยุธยา และเชลยชาวกรุงศรีอยุธยา (ซึ่งไม่ได้มีแค่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น หากหมายถึงผู้คนจากเมืองอื่นๆ ที่อยู่รายรอบพระนครศรีอยุธยา เช่น อ่างทอง สิงห์บุรี ฯลฯ ที่ถูกพม่ากวาดต้อนไปทั้งหมด) ไปยังพม่าแล้ว เนเมียวมหาเสนาบดีได้นำครอบครัวไทยและพระบรมวงศานุวงศ์เข้าเฝ้าพระเจ้ามังระ
ในหนังสือ “มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า” ซึ่งนายต่อแปลจากมหาราชวงศ์ พงศาวดารพม่าฉบับหอแก้วนั้น ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า เนเมียวสีหบดี เดินทางบกกลับมาถึงเมืองรัตนปุระอังวะในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2310 แล้วเข้าเฝ้า พระเจ้ามังระ ถวายพระบรมวงศานุวงศ์และเชลยชาวกรุงศรีอยุธยา ดังความใน “มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า” ว่า
“…แต่สีหะปะเต๊ะนั้นคุมทหารไปโดยทางบก ครั้นเดือน 9 ศกนั้นก็ถึงเมืองรัตนบุระอังวะ แล้วสีหะปะเต๊ะแม่ทัพได้เอาสาตราอาวุธทั้งปวง แลพระราชวงษ์แลพระมเหษีแลพระสนมทั้งปวงกับเครื่องภาชนใช้สอยเงินทองทั้งปวงถวายแด่พระเจ้ากรุงอังวะสิ้น…แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระมเหษีแลพระราชบุตรีแลพระสนมที่เปนพระราชวงษ์พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ที่เปนเจ้าหญิงทั้งปวงนั้น ทรงจัดให้สร้างวังเอาเข้าไว้ในมหาพระราชวังหลวง แต่พระราชวงษานุวงษ์แลขุนนางข้าราชการแลพลเมืองพลทหารอยุทธยาทั้งปวงนั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังแลทำเย่าเรือนเคหาอยู่ตามภูมิลำเนานอกกำแพงพระราชวัง แล้วทรงโปรดเกล้าฯ เลี้ยงดูให้อยู่เปนศุขทุกคน มิให้ร้อนใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด…”
…จากหลักฐานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าชาวอยุธยาหรือชาวโยเดียที่ถูกกวาดต้อนไปอยู่ที่เมืองรัตนปุระอังวะนั้น ถูกแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม แยกย้ายกันไปตั้งหลักแหล่งที่อยู่ กล่าวคือ
1. พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหญิงของกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ พระอัครมเหสี พระมเหสี พระภคินี พระราชธิดา พระราชนัดดา พระราชภาคิไนย และพระสนมทั้งหมด ให้เข้าไปอยู่ในพระราชวังของรัตนปุระอังวะ ดังความใน “มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า” ว่า “…ให้พระมเหษีแลพระราชบุตรีแลพระสนมที่เปนพระราชวงษ์พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ที่เปนเจ้าหญิงทั้งปวงนั้น ทรงจัดให้สร้างวังเอาเข้าไว้ในมหาพระราชวังหลวง…” ซึ่งในเวลาต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหญิงจำนวนหนึ่งได้ถวายตัวเป็นพระสนมของกษัตริย์พม่า
2. พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายชายของกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ พระราชอนุชา พระราชโอรส พระราชนัดดา พระราชภาคิไนย ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่นอกกำแพงพระราชวังรัตนปุระอังวะ ดังความใน “มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า” ว่า “…แต่พระราชวงษานุวงษ์แลขุนนางข้าราชการแลพลเมืองพลทหารอยุทธยาทั้งปวงนั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังแลทำเย่าเรือนเคหาอยู่ตามภูมิลำเนานอกกำแพงพระราชวัง…” เชื้อสายของเจ้าชายอยุธยาที่เป็นหญิง ได้เป็นเจ้าจอมมารดาของกษัตริย์พม่า สืบเชื้อสายเป็นเจ้านายพม่าเชื้อสายโยเดีย (อยุธยา) สืบเนื่องมาจนถึงสมัยพระเจ้ามินดง
3. เชลยชาวกรุงศรีอยุธยา ตั้งบ้านเรือนอยู่นอกพระราชวังของรัตนปุระอังวะ และบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นช่าง น่าจะไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองสะกาย (เมืองจักไก) สอดคล้องกับหลักฐานทางศิลปกรรมว่า มีร่องรอยของงานศิลปกรรมอยุธยา โดยเฉพาะงานจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างอยุธยาตอนปลาย ปรากฏอยู่ที่วัดมหาเตงดอจี เมืองสะกาย ตรงข้ามกับเมืองรัตนปุระอังวะ
…ต่อมาเมื่อพม่าได้ย้ายราชธานีจากเมืองรัตนปุระอังวะ ไปยังเมืองอมรปุระในสมัยพระเจ้าปดุง (โบดอพญา) และเมืองมัณฑะเลย์ในรัชกาลพระเจ้ามินดง ชาวกรุงศรีอยุธยาและเชื้อสายชาวอยุธยาได้ถูกอพยพไปอยู่ในราชธานีเหล่านี้ด้วย ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏว่ามีชุมชนชาวโยเดียทั้งที่เมืองรัตนปุระอังวะ เมืองสะกาย เมืองอมรปุระ และเมืองมัณฑะเลย์ นั่นเอง
ในระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรซึ่งทรงพระผนวชประทับอยู่ที่เมืองอังวะนั้น ปรากฏหลักฐานในคำบอกเล่าของชาวพม่าว่า สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรซึ่งทรงพระผนวช ได้เสด็จฯ มาประทับอยู่ที่ วัดเยตะพัน (วัดมะเดื่อ) ทางใต้ของเมืองอังวะ เป็นเวลากว่า 16 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2310-25 มีเรื่องเล่าว่าในระหว่างที่พระเจ้าอุทุมพรซึ่งทรงพระผนวชประทับอยู่ที่วัดเยตะพันได้สร้างพระพุทธรูปจากไม้มะเดื่อ จากนั้นจึงเสด็จฯ ไปประทับที่เมืองอมรปุระ
จากกรุงรัตนปุระอังวะ สู่อมรปุระ
ใน พ.ศ. 2325 พระเจ้าปดุง หรือพระเจ้าโบดอพญาปะโดเมง แห่งราชวงศ์คองบอง ได้ย้ายราชธานีจากกรุงรัตนปุระอังวะ ไปยังกรุงอมรปุระ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พระเจ้าปดุงโปรดให้ย้ายพระราชวัง และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ย้ายไปประทับยังกรุงอมรปุระ ดังนั้นพระราชวงศ์ของกรุงศรีอยุธยาซึ่งประทับอยู่ที่ กรุงรัตนปุระอังวะ จึงได้ย้ายไปประทับที่พระราชวังแห่งใหม่ในเมืองอมรปุระด้วย
สำหรับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรซึ่งทรงพระผนวช ก็ปรากฏหลักฐานว่าได้เสด็จไปประทับที่เมืองอมรปุระด้วย ดังปรากฏหลักฐานว่า เมื่อมีการย้ายราชธานีไปยังเมืองอมรปุระนั้น สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรซึ่งทรงพระผนวช ได้เสด็จไปประทับจำพรรษาที่ “ปองเลไต๊” (ตึกปองเล) ปัจจุบันคือ วัดปองเล ในย่านตลาดระแหง กรุงอมรปุระ ปรากฏในหลักฐานพม่าออกพระนามของพระองค์ว่า “เจ้าฟ้าทอกมหาเถระ” ดังปรากฏในจารึกภาษาพม่าที่วัดนั้น ดังนั้นวัดแห่งนี้จึงน่าจะเป็นวัดแห่งแรกของชุมชนชาวอยุธยาในพม่า
ส่วนเชลยชาวอยุธยานั้นปรากฏหลักฐานว่าได้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณริมคลองชเวตชอง ในเมืองอมรปุระ–มัณฑะเลย์ ร่วมกันกับชุมชนเชลยชาวฉาน (ไทใหญ่) ชาวโยน (ล้านนา) และชาวลินซิน (ล้านช้าง) ที่ถูกกวาดต้อนมายังพม่าในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้ชาวโยเดีย (อยุธยา) ชาวฉาน (ไทใหญ่) ชาวโยน (ล้านนา) และชาวลินซิน (ล้านช้าง) ได้สืบเชื้อสายผสมผสานกันในบริเวณนี้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร สวรรคตที่เมืองอมรปุระในหลักฐานพม่า
หลังจากสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรเมื่อทรงพระผนวช ได้ประทับอยู่ที่กรุงอมรปุระจนถึง พ.ศ. 2339 จึงสวรรคตในสมณเพศ ณ กรุงอมรปุระ ดังความในพงศาวดารพม่า สมัยราชวงศ์คองบอง กล่าวถึงพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ตอนหนึ่งว่า
“…ในปีพุทธศักราช 2310 (ค.ศ. 1767) ขณะเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก พระองค์ก็ทรงถูกกวาดต้อนมายังนครอังวะทั้งที่ยังครองเพศบรรพชิต จากนั้นจึงตกมาอยู่ยังอมรปุระมหานคร แล้วสิ้นพระชนม์ลงในเพศบรรพชิต ในพุทธศักราช 2339 (ค.ศ. 1796)…”
หลักฐานสำคัญซึ่งเกี่ยวกับสถานที่สวรรคต และสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรนอกจากที่ปรากฏในมหาราชวงศ์พงศาวดารพม่า สมัยราชวงศ์คองบอง ดังกล่าวมาแล้ว ยังปรากฏหลักฐานสำคัญในสมุดพม่าชื่อ “นั้นเตวั้งรุปซุงประบุท” แปลว่า “เอกสารการบันทึกราชสำนัก พร้อมด้วยภาพเขียน” บันทึกโดยราชเลขาราชจอว์เทง ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าปดุง…
สมุดพม่าเล่มนี้มีภาพจิตรกรรมกษัตริย์ชาติต่างๆ ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า และมีภาพกษัตริย์อยุธยาคือ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ รวมอยู่ในนั้นด้วย โดยปรากฏข้อความด้านล่างของภาพเขียนอธิบายเป็นภาษาพม่า แปลสรุปมีใจความว่า
“ในรัชกาลสมเด็จพระไปยกาธิราชฉินพยูชิน (พระเจ้าช้างเผือก หมายถึง พระเจ้ามังระ) เมืองรัตนปุระตติยราชธานี (อังวะ) ไปตีกรุงศรีอยุธยา สามารถตีกรุงศรีอยุธยาและจับกษัตริย์ (หมายถึงพระเจ้าอุทุมพรในสมณเพศ) อัญเชิญมาที่พม่า ในสมัยของพระอนุชาของสมเด็จพระไปยกาธิราชฉินพยูชิน (ตรงกับรัชกาลของพระเจ้าปดุง หรือ โปดอพญา) สมัยอมรปุระ เสด็จมาประทับที่อมรปุระและสวรรคตในสมณเพศ ทำพิธีพระศพและถวายพระเพลิงที่สุสานลินซินกง ภาพนี้คือภาพพระเจ้าเอกาทัสส์”
จากหลักฐานในสมุดพม่าเล่มนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ได้สวรรคตที่เมืองอมรปุระ ส่วนพระบรมศพนั้นได้ถวายพระเพลิงที่เลงเซงกอง หรือลินซินกง คือสุสานล้านช้าง ซึ่งเป็นบริเวณที่พระเจ้ามังระพระราชทานให้เชลยชาวยวน (เชียงใหม่) และชาวอยุธยาอยู่อาศัย ต่อมาเมื่อมีการถวายพระเพลิงแล้วได้มีการสร้างสถูปบรรจุพระบรมอัฐิไว้ ณ ที่นั้นด้วย สันนิษฐานว่าคือบริเวณเดียวกับที่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นวัด เรียกกันว่า “วัดโยเดีย” ในสุสานลินซินกง เมืองอมรปุระนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- 7 เมษายน : กรุงศรีอยุธยาแตก
- “สร้างคอกล้อมวัว” ยุทธวิธีพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตก “ล้อม 10 ปีก็จะล้อมจนกว่าจะได้”
- นักวิชาการม.ออสเตรเลียชี้ กรุงศรีอยุธยามิได้ถูกพม่าเผาทั้งหมด พวกอื่นทำลายหลังกรุงแตก
- บันทึกฝรั่งชี้ เสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2 ไทย-จีนพากันล่ำซำ ได้โอกาสปล้นทองที่ซ่อนตามวัด
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “ตามรอยสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือ ขุนหลวงหาวัด จากกรุงศรีอยุธยาสู่กรุงอมรปุระ” เขียนโดย รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2561
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2563