บันทึก “โจวต้ากวาน” ใช้เป็นหลักฐานอ้างว่า “คนสยามสร้างนครวัด” ไม่ได้

ปราสาทนครวัด นครวัด กัมพูชา เขมร สมัย พระนคร
ภาพวาดนครวัดจากหนังสือ Voyage d'exploration en Indo-Chine เมื่อ ค.ศ. 1866

เมื่อหลายปีที่ผ่านมา มีผู้เผยแพร่ (ซ้ำ) บทความเสนอความเห็นว่า “คนสยาม” คือผู้สร้าง “นครวัด” ปราสาทขนาดมหึมาที่ปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชา โดยระบุว่า หลักฐานยืนยันข้ออ้างนี้ ปรากฏอยู่ในบันทึกของ “โจวต้ากวาน” ทูตชาวจีนที่เดินทางมาขอให้อาณาจักรกัมพูชาสมัยนั้นยอมเป็นรัฐบรรณาการของราชวงศ์หยวน

สำหรับคนที่เคยอ่านบันทึกดังกล่าว ฟังแล้วอาจจะตกใจว่า “เฮ้ย! นี่เราอ่านตรงไหนตกหล่นไปรึเปล่า?” ลุงโจวแกไปเขียนไว้ตรงไหน? อะไรทำให้ผู้เสนอเชื่อเช่นนั้น?

ด้วยเหตุที่ผู้เขียนเองอ่านภาษาจีนไม่ออก จึงขออนุญาตยกบางช่วงบางตอนจากฉบับแปลของ เฉลิม ยงบุญเกิด ใน “บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ” มาให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูว่า สิ่งที่ลุงโจวแกเขียนไว้ มันสามารถเอามาอ้างได้หรือไม่ว่า “คนสยาม” สร้าง “นครวัด” โดยเฉพาะในส่วนที่ผู้เสนอฯ นำมาอ้าง เรื่องความสามารถในการทอไหม เย็บปัก ของ “ชาวเสียน” ดังนี้

“พวกชาวพื้นเมืองไม่เลี้ยงตัวไหมและปลูกต้นหม่อนกันเลย และพวกผู้หญิงก็ไม่ประสากับการใช้เข็มด้ายและการเย็บการชุน เพียงแต่ทอผ้าด้วยฝ้ายเป็นเท่านั้น และก็ไม่รู้จักปั่นด้าย แต่ใช้มือทำให้เป็นเส้นด้าย พวกเขาไม่มีกี่สำหรับใช้ทอผ้า แต่ผูกชายผ้าข้างหนึ่งเข้ากับเอวแล้วทำงานต่อไปอีกชายหนึ่ง ส่วนกระสวยนั้นใช้กระบอกไม้ไผ่

เมื่อเร็วๆ นี้ชาวเสียน ได้มาอาศัยอยู่ในประเทศนั้น ได้ทำการเลี้ยงตัวไหมและปลูกต้นหม่อนเป็นอาชีพ พันธุ์ตัวไหมและพันธุ์ต้นหม่อนจึงมาจากประเทศเสียนทั้งสิ้น พวกเขาไม่มีป่านรามีแต่มีปอกระเจา ชาวเสียนใช้ไหมทอผ้าแพรบางๆ สีดำใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ผู้หญิงชาวเสียนนั้นเย็บชุนเป็น ชาวพื้นเมืองทำผ้าขาดก็ต้องไปจ้างชาวเสียนให้ช่วยปะชุนให้”

นั่นคือถ้อยคำทั้งหมดที่ โจวต้ากวาน เขียนถึงเรื่อง “ตัวไหมกับต้นหม่อน” ซึ่งมี “ชาวเสียน” (ที่เข้าใจกันว่าเป็น “คนสยาม”) มาเกี่ยวข้องโดยตรง จากความตอนนี้ทำให้เราเข้าใจได้ว่า “ชาวเสียน” เป็นคนต่างถิ่นแน่ๆ และเพิ่งจะเข้ามาทำมาหากินในแผ่นดินกัมพูชา “เมื่อเร็วๆนี้” เท่านั้นเอง

และอีกใจความที่ โจว สื่อคือ ชาวเสียนมีความรู้เรื่องการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และการเย็บการทอ ขณะที่คนพื้นเมือง (กัมพูชา) ไม่มีองค์ความรู้ในด้านนี้ แต่การไปสรุปว่า คนพื้นเมืองนั้นขนาดชุนผ้ายังไม่เป็นแล้วจะไปสร้างนครวัด นครธมใหญ่โตได้อย่างไร เอาความรู้เทคโนโลยีไปจากไหน” ถือว่าเป็นการตีความเกินกว่าสิ่งที่ โจว เขียนไปมาก

ประติมากรรมรูปหน้าขนาดใหญ่อันโด่งดังที่ปราสาทบายน นครธม ภายในอุทยานประวัติศาสตร์นครวัด ภาพถ่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2007 (AFP PHOTO / VOISHMEL)

วิญญูชนทั่วไปย่อมพิจารณาได้ว่า องค์ความรู้ในการทอผ้า เย็บผ้า ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ การอ้างว่า “คนพื้นเมืองชุนผ้าไม่เป็น ย่อมสร้างปราสาทไม่ได้” จึงเป็นการสรุปที่ไม่ถูกต้อง แต่ถ้าบอกว่า คนพื้นเมืองใช้เครื่องมือตัดหินยังไม่เป็น ย่อมสร้างปราสาทหินไม่ได้ อย่างนี้จึงจะพอรับฟังได้ แต่ โจว ก็ไม่เคยกล่าวไว้ 

หากเรายอมรับตรรกะเช่นนั้นมิกลายเป็นว่า ชาวโรมันก็คงไม่มีปัญญาสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่โตได้เช่นกันหรอกหรือ? เพราะชาวโรมันโบราณก็ไม่รู้เรื่องการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม (เช่นเดียวกับชนพื้นเมืองกัมพูชาสมัยโจวต้ากวาน) แถมยังเคยเข้าใจว่า ใยไหมเป็นผลิตภัณฑ์จากพืชที่คนไปเก็บมาจากในป่าด้วยซ้ำ

สิ่งหนึ่งที่ผู้เสนอทฤษฎีที่ว่า คนสยามเป็นคนสร้างนครวัด จะต้องพิจารณาก็คือความเป็น “มหานคร” ซึ่งทั้งพระนคร และโรม ในยุครุ่งเรืองต่างมีเหมือนกันคือ ความเป็นศูนย์กลางที่ชนจากชาติต่างๆ เข้ามาทำหากิน เหมือนกับเมืองใหญ่ในยุคปัจจุบันที่มีแรงงานต่างด้าวแห่มาขายแรงงานในภาคที่คนท้องถิ่นไม่ค่อยอยากจะทำ (ซึ่งไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้) อย่างร้านอาหารไทยสมัยนี้ ก็มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นคนทำซะเยอะ (อาจจะทำได้ไม่ดีกว่า แต่คุ้มกว่า) อย่างนี้จะบอกว่า คนไทยทำอาหารไทยไม่เป็นรึป่าว ถึงต้องใช้แรงงานต่างชาติ?

ทั้งนี้ ผู้เขียนไม่ได้มีปัญหากับการเสนอข้อมูลใหม่ๆ เพื่อหักล้างข้อสรุปเดิมทางประวัติศาสตร์ กลับกัน ผู้เขียนรู้สึกว่า การเสนอข้อมูลหรือข้อสรุปใหม่ๆ เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นและน่าชื่นชม แต่ขณะเดียวกัน การนำเสนอหลักฐานก็ควรอยู่บนข้อเท็จจริงมากกว่าจินตนาการที่มาจากอคติ 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 ตุลาคม 2559