ตำนาน “เจ้าแม่สองนาง” เมืองหนองคาย ธิดากษัตริย์ลาวสู่เทพแม่น้ำโขง

เจ้าแม่สองนาง ใน ศาลเจ้าแม่สองนาง วัดหายโศก หนองคาย
เจ้าแม่สองนาง (ภาพจาก เฟซบุ๊ก วัดหายโศก อ.เมือง จ.หนองคาย)

หนองคาย นอกจากเป็น “เมืองพญานาค” แล้ว ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่ ผี หรือเทพเจ้าท้องถิ่นอีกมากมาย เนื่องจากหนองคายมีภูมิศาสตร์ทอดยาวตามแม่น้ำโขง ตำนานหรือเรื่องเล่าขานต่าง ๆ จึงมักเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับแม่น้ำโขงด้วย หนึ่งในนั้นคือ “เจ้าแม่สองนาง” แห่ง “วัดหายโศก” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนแถบลุ่มน้ำโขงบูชาสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน

เจ้าแม่สองนาง เป็นที่นับถือว่าคือเทพเจ้าประจำแม่น้ำโขง ความนิยมในเจ้าแม่สองนางนั้น เห็นได้จากทุกอำเภอของจังหวัดหนองคายและหลายพื้นที่ของจังหวัดติดแม่น้ำโขง จะมี “ศาลเจ้าแม่สองนาง” สำหรับกราบไหว้บูชา

Advertisement

ศาลเจ้าแม่สองนางที่โด่งดังที่สุด ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง บริเวณวัดหายโศก ถนนมีชัย กลางตัวเมืองหนองคาย

สำหรับตำนานเจ้าแม่ทั้งสองเล่าว่า ในอดีตเมื่อราว 200 ปีก่อน มีธิดากษัตริย์ลาว 2 พระองค์ องค์พี่ชื่อ “มัคชี” องค์น้องชื่อ “ศรีสุวรรณ” เมื่อบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม ทั้งสองพระองค์นำทรัพย์สมบัติ ข้าวของเครื่องใช้ ขนใส่เรือแล้วล่องมาตามลำน้ำโขงพร้อมเหล่าข้าราชบริพาร ทหารและนางพี่เลี้ยงทั้งหลายก็ลงเรือตามมาด้วย

แต่ปรากฏว่าเมื่อเรือล่องมาถึงบริเวณที่ปัจจุบันคือท่าน้ำวัดหายโศก สมัยนั้นจุดนี้เป็นลำห้วยน้ำไหลเชี่ยว เพราะเป็นจุดบรรจบกับแม่น้ำโขง จึงเกิดเป็นวังน้ำวน เรือของพระธิดาทั้งสองเมื่อล่องมาเจอกับกระแสน้ำวนก็ล่มลงกลางแม่น้ำ ทั้งคณะจมหาย ไม่มีใครรอดชีวิต

ต่อมาเกิด “วัดหายโศก” ขึ้น ณ บริเวณนี้ และราวทศวรรษ 2460-2470 ดวงวิญญาณพระธิดาทั้งสองมานิมิตเข้าฝัน “พระกั่ว” เจ้าอาวาสวัดหายโศกรูปแรก บอกให้ตั้งศาลเพียงตาให้ เพราะอยากประทับอยู่ที่นี่อย่างเป็นหลักเป็นแหล่ง รุ่งเช้า เจ้าอาวาสจึงขอกำลังชาวบ้านมาช่วยสร้างศาลเพียงตาให้ตามคำขอ โดยสร้างเป็นศาลไม้ทรงไทย 2 หลัง ตั้งอยู่คู่กันริมแม่น้ำโขง ชาวบ้านเรียกศาลแห่งนี้ว่า “ศาลเจ้าแม่สองนาง” นับแต่นั้นถึงปัจจุบัน

เจ้าแม่สองนาง ไม่ใช่ผีที่ถูกอุปโลกน์ให้เป็นเทพเฉย ๆ เพราะชาวบ้านริมฝั่งโขงให้ความเคารพนับถือกันเป็นวงกว้าง อย่างคนเฒ่าคนแก่ในหนองคายมักเล่าสืบต่อกันมาว่า สมัยก่อนที่ชาวบ้านต้องพึ่งพาแม่น้ำโขงทั้งในการอุปโภคบริโภค หากวันไหนมีเหตุการณ์ไม่ปกติ เจ้าแม่จะแปลงร่างเป็นงู 2 ตัว เป็นพญานาคีหรือนาคคู่ มาไล่ต้อนชาวบ้านขึ้นจากน้ำ

ดังนั้น เมื่อชาวบ้านเห็นงู 2 ตัว จะรู้ได้ทันทีว่า เจ้าแม่สองนางมาบอกเหตุอันตรายให้รีบขึ้นฝั่ง หากใครไม่เชื่อฟัง ยังเล่นน้ำ หรืออยู่ในน้ำต่อไป ไม่กี่อึดใจจะถูกสายน้ำพัดพาหรือเกิดวินาศภัยบางอย่างขึ้น

บางทีเรื่องเล่าดังกล่าวอาจเป็นกุศโลบายให้คนทั่วไปหรือเด็ก ๆ ที่เล่นน้ำระมัดระวังกระแสน้ำ เพื่อป้องกันการจมน้ำหรือถูกกระแสน้ำพัดพาไปก็ได้ แต่นั่นทำให้ชาวหนองคายเลื่อมใสศรัทธาเจ้าแม่สองนางและมากราบไหว้บนบานขอพรอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องลงเรือล่องแม่น้ำโขงเป็นประจำ เมื่อผ่านจุดที่เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่สองนางก็จะพนมมือบอกกล่าวขอให้ช่วยคุ้มครอง ให้เดินทางทางน้ำโดยสวัสดิภาพ

ในช่วงเทศกาลบุญบั้งไฟ ราว ๆ เดือน 7 ชาวหนองคายจะจัดพิธีบวงสรวงเจ้าแม่สองนาง โดยมีร่างทรงลงมาประทับ มีพิธีรำดาบ ถวายเหล้าไห ไก่ตัว มะพร้าว กล้วยหอม อาหารคาวหวาน ถวายเจ้าแม่สองนางและเทพเจ้าท้องถิ่นองค์อื่น ๆ เสร็จพิธีก็นำเครื่องเซ่นไหว้บวงสรวงลอยแพถวายเจ้าแม่คงคาและพญานาคแม่น้ำโขง ปิดด้วยพิธีสู่ขวัญ ผูกข้อมือชาวบ้านและลูกหลานที่มาร่วมพิธี

เมื่อถึงวันออกพรรษา 15 ค่ำ เดือน 11 ชาวหนองคายจะแข่งเรือยาวและทำปราสาทผึ้งเพื่อถวายเจ้าแม่สองนาง เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาวลุ่มน้ำโขงทั้งหมด

เจ้าแม่สองนาง ใน ศาลเจ้าแม่สองนาง วัดหายโศก หนองคาย
ศาลเจ้าแม่สองนาง (ภาพจาก เฟซบุ๊ก วัดหายโศก อ.เมือง จ.หนองคาย)

การบูชาเจ้าแม่สองนาง โดยทั่วไปจะใช้ดอกไม้ 1 คู่ ธูป 9 ดอก เทียน 2 เล่ม และจุดแต่งขันธ์ 5 กราบไหว้ บอกชื่อ-สกุล ที่อยู่ ตั้งจิตอธิษฐานขอพรตามประสงค์ หากบนบานไว้ เมื่อสัมฤทธิ์ผลก็ต้องมาแก้บนให้เร็วที่สุด

ศาลเจ้าแม่สองนางหลังปัจจุบันสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. 2549 เป็นศาลาทรงไทยขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ข้างศาลาการเปรียญวัดหายโศก

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กองบรรณาธิการข่าวสด. (2553). เทพ-เทวะ ศักดิ์สิทธ์-สักการะ. กรุงเทพฯ : มติชน.

สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น. วัดหายโศก: ประวัติความเป็นมา. สืบค้นเมื่อ 21 กุมภาพันธ์. (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2567