“ฟ้อนผีมด” พิธีไหว้ผีบรรพบุรุษในภาคเหนือ

ฟ้อนผีมด ฟ้อนผี
ภาพการฟ้อนผีมด (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2527)

“ฟ้อนผีมด” เป็นพิธีกรรมบวงสรวงผีบรรพบุรุษในภาคเหนือ เรียกอย่างย่อว่า “ฟ้อนผี” และมีฟ้อนผีอีกชนิดหนึ่งว่า “ฟ้อนผีเม็ง” 

ฟ้อนผีมดผีเม็ง สันนิษฐานว่า ไม่ได้เป็นพิธีกรรมดั้งเดิมของ “คนเมือง” มาแต่แรก อาจได้รับอิทธิพลมาจากชาติพันธุ์อื่น เนื่องด้วย ผีมด หมายถึง ผีของคนธรรมดาสามัญของพวกลั๊วะ (ละว้า) หรือแจ๊ะ ส่วน ผีเม็ง หมายถึง ผีของแม่ทัพนายกองเชื้อสายมอญ เพราะคำว่า เม็ง ในภาษาล้านนา หมายถึง พวกมอญ ภายหลังคนเมืองคงรับเอาคตินี้มาปรับ และถือปฏิบัติ จนนิยมฟ้อนผีมดผีเม็งอย่างแพร่หลาย กลายเป็นประเพณีในท้องถิ่นภาคเหนือ

Advertisement

ในบทความนี้จะขอกล่าวเฉพาะการฟ้อนผีมด

คำว่า “มด” อาจแปลได้ว่า ระวังรักษา ดังเช่นคำว่า มดลูก ซึ่งหมายถึงส่วนที่คุ้มครองทารกในครรภ์ ในภาษาเขมรมีคำว่า “มต” (ต สะกด) แปลว่า “หมอ” ได้ ถ้า “มด” (ด สะกด) มาจาก “มต” (ต สะกด) ซึ่งเป็น ภาษาบาลี อ่านว่า “มะ-ตะ” แปลว่า “ตายแล้ว” ตรงข้ามกับ “อมตะ” ที่แปลว่า “ไม่ตาย”

ฟ้อนผีมด เป็นพิธีกรรมบวงสรวงผีบรรพบุรุษ โดยปกติมักฟ้อนกันเป็นประจำทุกปี ทุกสองปี หรือทุกสามปี ตามแต่กำลังทรัพย์ ตามแต่โอกาส ส่วนใหญ่มักจัดขึ้นราวเดือนมีนาคมเป็นต้นไป อันเป็นช่วงเวลาการว่างเว้นการทำไร่ทำนา มีการตระเตรียมงานอย่างยิ่งใหญ่

ก่อนวันงานจะมีการตั้งปะรำพิธีสำหรับฟ้อนผีเรียกว่า ผาม จะถูกสร้างขึ้นเป็นเพิงอย่างง่าย ๆ อาจเป็นเสาไม้ไผ่ปักเป็นหลัก หลังคามุงด้วยหญ้าคา หรือทางมะพร้าว ยุคใหม่ก็ปรับเป็นเต๊นท์เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และมีการสร้างหอผีไว้เพื่อเป็นที่สำหรับผีบรรพบุรุษมาอยู่ร่วมกันในระหว่างการฟ้อนผี

ส่วนของเซ่นไหว้ผีก็มีหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ส่วนใหญ่จะมี หัวหมู ไก่ต้ม เหล้า น้ำหวาน ขนมหวาน มะพร้าว กล้วย อ้อย ข้าวตอก ดอกไม้ ธูป เทียน ฯลฯ

ในวันฟ้อนผีก็จะมีการเชิญผีบรรพบุรุษมาสู่หอผี แล้วเชิญเครื่องเซ่นไหว้ให้ผีบรรพบุรุษมารับ จากนั้นก็จะเริ่มการ “ฟ้อนผี” โดยเชิญผีเข้าสู่ “ม้าขี่” หรือคนทรง ผู้เป็นเสมือนตัวแทนติดต่อกับผีบรรพบุรุษ ซึ่งพอใจให้เป็นสื่อกลางติดต่อกับลูกหลาน โดยม้าขี่จะเข้าไปร่วมฟ้อนอยู่เสมอ หากม้าขี่ชราภาพแล้วไม่สามารถฟ้อนได้ ก็ต้องเข้าร่วมงานพอเป็นพิธี ในอดีตแต่ละตระกูลจะมีม้าขี่และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่ภายหลังพิธีกรรมความเชื่อนี้เริ่มจางหาย ม้าขี่ก็มีจำนวนลดน้อยลง

เมื่อผีบรรพบุรุษเข้าร่างม้าขี่แล้ว จะมีการแต่งองค์ทรงเครื่องม้าขี่อย่างดงามด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ สวมโสร่ง หรือเสื้อและผ้าหลายสีหลายขนาด นำมาคลุมบ้าง นำมาโพกศีรษะบ้าง ฯลฯ จากนั้นจะเชิญผีบรรพบุรุษมาเสกคาถาปัดเป่าเคราะห์และให้ความสิริมงคลแก่ลูกหลาน แล้วการฟ้อนผีในปะรำพิธีก็ดำเนินต่อไป บ้างร่ายรำ บ้างฟ้อนดาบ

เมื่อใกล้ถึงเวลาพักเที่ยง ก็จะนำขันโตกที่ใส่สำรับอาหารมีทั้ง ลาบ แกงอ่อม ไส้อั่ว ข้าวเหนียว หมาก พลู เหล้า บุหรี่ ฯลฯ มาวางไว้กลางปะรำพิธี จากนั้นม้าขี่ก็จะร่ายรำไปพร้อมกับนำดาบที่มีเทียนไขจุดไฟติดที่ปลายดาบ เดินวนไปรอบ ๆ พร้อมกับกวัดแกว่งดาบเหนือขันโตก เป็นสัญลักษณ์ว่า ผีได้รับของเซ่นไหว้แล้ว เสร็จขั้นตอนนี้ผีบรรพบุรุษก็ออกจากร่างม้าขี่ แล้วจึงพักรับประทานอาหารกลางวัน

ช่วงบ่ายพิธีกรรมจะแตกต่างออกไป โดยจะมีการละเล่นตามฮีต (จารีต) เพิ่มเข้ามานอกเหนือจากการฟ้อนร่ายรำอย่างพิธีในช่วงเช้า โดยเริ่มจากพิธีปัดต่อปัดแตน จะใช้ข้าวเกรียบแทนต่อ ข้าวตอกแทนแตน เอาแขวนไว้ตรงที่ขื่อ ก่อนจะปัดต่อปัดแตนต้องตีฆ้องร้องป่าวร้องให้รู้ จากนั้นก็นำทางมะพร้าวมาฟาดไปที่ข้าวเกรียบและข้าวตอกจนร่วงลงมาทั้งหมด ก็เป็นอันเสร็จสิ้นไม่มีต่อและแตนแล้ว

ไล่หนู ในการฟ้อนผีมด (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2527)

พิธีต่อมาก็จะเป็นการละเล่นอื่น ๆ อีก เช่น ยิงนก ยิงกระรอกกระแต คล้องช้างคล้องม้า ชนไก่ ทำไร่ทำสวน จับหนู ตีผึ้ง ยิงเสือ ทอดแหหาปลา ก่อนจะทำพิธีเหล่านี้ก็ต้องมีการตีฆ้องร้องป่าวร้องให้รู้เช่นกัน แต่การละเล่นเหล่านี้ไม่ได้ทำจริง ๆ หนูและปลาเป็นของแกะสลัก ไม่ได้ออกไปจับหนูจับปลาตัวเป็น ๆ พิธีกรรมในช่วงบ่ายจะแสดงออกมาอย่างรวบรัดไม่เยิ่นเย้อ เป็นที่สนุกสนานครื้นเครงของคนที่มาร่วมฟ้อนผี 

พิธีกรรมหรือการละเล่นเหล่านี้อาจถ่ายแบบมาจากวิถีชีวิตประจำวัน ไล่เรียงตั้งแต่การทำความสะอาดบ้านเรือน (ปัดต่อปัดแตน) การประกอบอาชีพไปไร่ทำนาทำสวน การทำกิจกรรมต่าง ๆ เรื่อยไปจนถึงการเก็บผลผลิต เช่น ข้าว ผลไม้ ผัก ปลา ฯลฯ 

การละเล่นสุดท้ายคือ พิธีถ่อเรือถ่อแพ โดยนำเงินทองหรือข้าวของผลผลิตใส่เรือจำลอง ทำท่าทางถ่อเรือ แล้วแห่เข้าสู่ปะรำพิธี เพื่อถวายของให้กับผีไปใช้เพื่อไม่ให้อดอยาก จบการถ่อเรือถ่อแพส่งข้าวของให้ผีผ่านไปแล้วก็แสดงว่า การฟ้อนผีสิ้นสุด จากนั้นก็จะเชิญผีออกจากร่างม้าขี่ แล้วกล่าวเชิญผีบรรพบุรุษแยกย้ายกลับไปสู่เรือนของตระกูลตนเอง

ทั้งนี้ การฟ้อนผีมดมีรูปแบบและรายละเอียดที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่

ไปยิงเสือ ในการฟ้อนผีมด (ภาพจากศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2527)

การฟ้อนผีมดจึงไม่ใช่พิธีกรรมที่แสดงออกมาเหมือนกับการบูชายัญเจ้าพ่อ เจ้าแม่ เจ้าป่า เจ้าเขา ภูตผีต่าง ๆ การฟ้อนผีนี้ก็ไม่ใช่ลัทธิที่มีการบวงสรวงเทพเจ้า การฟ้อนผีมดเจาะจงที่จะบูชาผีของบรรพบุรุษของตนที่มีสายเลือดเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ ไม่ไหว้ผีสะเปะสะปะ ซึ่งหากจะกล่าวแล้วก็ไม่ต่างไปจากการไหว้เจ้าในเทศกาลต่าง ๆ หรือไหว้บรรพบุรุษของคนจีนมากนัก เพียงแต่พิธีของคนจีนไม่ได้แสดงออกมาในรูปฟ้อนรำเท่านั้น

ปัจจุบัน การฟ้อนผีมดมีกระทำบ้างในบางตระกูล บางหมู่บ้าน บางพื้นที่ในกลุ่มชนที่ยังศรัทธายึดมั่นอยู่ก็คงกระทำกัน แต่ก็มีแนวโน้มลดน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากปัจจัยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การงาน การศึกษา ความเชื่อ ฯลฯ ที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ประเพณีนี้ก็จะค่อยคลายความเข้มข้นลง และอาจจางหายไปในท้ายที่สุด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง : 

นัย บำรุงเวช. “ฟ้อนผีมดผีเม็ง” ใน, ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 5 : ฉบับที่ 10.

“ฟ้อนผีมด” ใน, สารานุกรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 9. จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542.

จำนงค์ ทองประเสริฐ. “มดหมอ”, จาก http://legacy.orst.go.th/?knowledges=%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%AD-%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2-%E0%B8%A8-%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C-%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มีนาคม 2566