“คลิตอริส” จุดกระตุ้นรักสะเทือนคริสต์ศาสนา สู่การล่าแม่มด

หนังสือ De re anatomica แมตธีโอ เรอัลโด้ โคลอมโบ คลิตอริส
ปกหนังสือ De re anatomica

คลิตอริส (Clitoris) อวัยวะที่ซ่อนเร้นในร่างกายเพศหญิง ถูกค้นพบในศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นช่วงที่วิทยาศาสตร์และการแพทย์ยังอยู่ระหว่างพัฒนาและศึกษาให้กระจ่างชัด และถูกมองว่าเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้การค้นพบทวีปอเมริกา แต่ช่วงแรกของการค้นพบครั้งนี้ ไม่มีใครรู้ว่ามันจะนำไปสู่การ “ล่าแม่มด” ได้

ความปรารถนาทางเพศจากมุมมองทาง คริสต์ศาสนา ก่อนหน้าศตวรรษที่ 16 ถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกนำเสนอมาโดยปีศาจร้าย การเอาชนะ “ปีศาจร้าย” ที่ว่า จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือกดข่มสิ่งเหล่านี้เพื่อรักษาจิตวิญญาณดั้งเดิมให้บริสุทธิ์ อันเป็นความเชื่อว่าเมื่อคงสถานะได้จะทำให้มีโอกาสเข้าพบพระผู้เป็นเจ้า บันทึกอัตชีวประวัติของนักบุญที่สำคัญหลายท่านเอ่ยถึงกิจการทรมานตัวเอง อาทิ นักบุญพาดูล์ฟ (Saint Padulf) ในศตวรรษที่ 8 หรือ นักบุญวิลเลียมแห่งเกลโลน (Saint Williams of Gellone)

เครื่องมือที่ถูกนำมาใช้มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการภาวนา ทรมานตนเองในแบบต่าง ๆ หรือโบยตี นิกายที่เข้มงวดก็ยังนำการทรมานตัวเองและความตายบนไม้กางเขนของพระคริสต์มาใช้เป็นต้นแบบอีกด้วย การทรมานยิ่งแพร่หลายมากขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 14 ในอิตาลีและกรุงโรม

การทรมานตัวเองยังแพร่หลายออกไปนอกกลุ่มนักบวชและแม่ชีในช่วงศตวรรษที่ 16 และ 17 แต่เมื่อไปอยู่ในมือของกลุ่มคนทั่วไปกลับไม่ได้ทำให้เห็นถึงการทำให้จิตใจสงบ แต่การโบยตีนั้นกลับทำให้เกิดความรู้สึกทางเพศ

การโจมตีจากนักวิชาการต่อพฤติกรรมการโบยตีหรือทรมานตัวเอง ทำให้ “การทรมาน” เริ่มแปรสถานะกลายเป็นกิจกรรมลับในทางศาสนาไปแทน การกระทำที่ไม่มีเหตุผลทาง “วิทยาศาสตร์” รองรับ กิจกรรมหรือความประพฤติที่นอกกรอบทั่วไปกลายเป็นของต้องห้าม เพศหญิงไม่สามารถจัดการหรือศึกษาร่างกายของตัวเองได้ เสมือนกับการพรากชีวิตส่วนตัวไป

ในศตวรรษที่ 16 นี้เอง นายแพทย์แมตธีโอ เรอัลโด้ โคลอมโบ (Matteo Realdo Colombo) แพทย์หนุ่มอิตาเลียนจากมหาวิทยาลัยปาดัว (Padua) เป็นผู้ค้นพบอวัยวะชิ้นหนึ่งในช่องคลอดของเพศหญิง ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์และระบบไหลเวียนของเหลวในร่างกาย เขาเรียกอวัยวะส่วนนี้ว่า คลิตอริส (Clitoris)

อนุสรณ์ ติปยานนท์ เขียนอธิบายในหนังสือ “ล่าแม่มด” ว่า นายแพทย์โคลอมโบ เกิดเมื่อ ค.ศ. 1515 ศึกษาด้านศัลยศาสตร์ที่นครเวนิส 7 ปี และศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยปาดัว ใน ค.ศ. 1545 โคลอมโบ รับตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญกายวิภาคที่มหาวิทยาลัยปิซ่า และเป็นศาสตราจารย์ด้านกายวิภาคของมหาวิทยาลัยในนครวาติกัน ในกรุงโรม ซึ่งช่วงเวลานี้เขาศึกษากายวิภาคร่วมกับศิลปินชั้นนำอย่าง “มีเกลันแองเจโล” (Michaelangelo) และยังได้รับแต่งตั้งเป็นศัลยแพทย์ประจำองค์สันตะปาปาจูเลียสที่ 3

นายแพทย์โคลอมโบ แต่งตำรากายวิภาคไว้เล่มหนึ่งชื่อ De re anatomica ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1559 หลังจากตัวเขาเองเสียชีวิตแล้ว เชื่อว่าเขาเขียนตำราเล่มนี้เมื่อปี 1552

ปกหนังสือ De re anatomica

อย่างไรก็ตาม ตำราซึ่งถูกแบ่งเป็น 15 เล่มนี้เป็นหนึ่งในการศึกษาด้านกายวิภาคที่ส่งอิทธิพลอย่างมาก อันเนื่องมาจากการแก้ไขความเชื่อเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ที่ผิด อาทิ การพิสูจน์ว่าไตสองข้างไม่ได้อยู่ระดับเดียวกันในร่างกายมนุษย์ เลือดไม่ได้เคลื่อนที่จากซ้ายไปขวาแบบธรรมดา แต่ต้องผ่านการผสมอากาศจากปอด

การค้นพบสำคัญที่ส่งอิทธิพลมากอีกอย่างอยู่ในเล่มที่ 11 ซึ่งโคลอมโบแสดงอวัยวะชิ้นหนึ่งที่ซ่อนในตำแหน่งเล็ก ๆ ในช่องคลอดเพศหญิง เป็นอวัยวะที่ทำให้เกิดความสุขทางเพศต่อเพศหญิง

ในตำราเล่มที่ 11 โคลอมโบ บันทึกไว้ว่า

“เนื่องจากไม่เคยมีผู้ใดเขียนถึงสิ่งนี้ และกระบวนการที่ว่านี้มาก่อน ข้าพเจ้าจึงอยากขนานนามสิ่งนี้ว่า เป็นดังศูนย์รวมของความกระสันแห่งเทพวีนัส ข้าพเจ้าแปลกใจไม่น้อยที่หามีนักกายวิภาคคนใดค้นพบมันมาก่อน ทั้งที่มันแทบจะเป็นงานศิลปะชั้นยอดในร่างกายอิสตรีเลยทีเดียว”

หลังการค้นพบของโคลอมโบ ผ่านไป 2 ศตวรรษ ช่วงเวลาต่อมาเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นศตวรรษแห่งการล่าแม่มด (ค.ศ. 1560-1760) อนุสรณ์ อธิบายว่า การค้นพบนี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในความเชื่อว่าเพศหญิงมีหน้าที่คลอดและดำรงเผ่าพันธุ์มนุษย์ตามความเชื่อใน “คริสต์ศาสนา” เท่านั้น การมีเพศสัมพันธ์ซึ่งแต่เดิมควรเป็นกิจกรรมที่สร้างมนุษย์อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นความสุขส่วนตัวไป

ในยุคของการล่าแม่มด การมีเพศสัมพันธ์อย่างผิดปกติมากเกินควร ร่องรอยของคลิตอริสหรือหัวนมที่บอบช้ำคือสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการรุกรานโดยปีศาจร้าย กลายเป็นสิ่งโจมตีเพศหญิงในช่วงล่าแม่มด

ผู้เขียนหนังสือยกตัวอย่าง มาร์กาเร็ต โจนส์ หญิงวัยกลางคนรายหนึ่งในเมืองบอสตันถูกจับและตั้งข้อหาเป็นแม่มด เมื่อตรวจสอบอวัยวะเพศของเธอ (และคลิตอริส) แล้วพบอาการบอบช้ำ ในด้านหนึ่งเพื่อนบ้านของเธอสามารถยืนยันได้ว่าเรื่องนี้เป็นผลจากการคลอดบุตรผิดวิธี แต่นักล่าแม่มด (ที่ความรู้ด้านกายวิภาคมีจำกัด) ก็ไม่รับฟังข้อแก้ตัวนี้

สภาพการใช้อวัยวะเพศของเพศหญิงเข้ามาเป็นเครื่องชำระความเกิดขึ้นในหลายประเทศในทวีปยุโรป อาทิ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส การพิจารณาคดี ผู้พิพากษาจำเป็นต้องถามถึงกิจกรรมทางเพศระหว่างผู้หญิงกับคู่รักหรือสามี เพิ่มเติมจากการไต่สวนว่าผู้หญิงมีกิจกรรมความสัมพันธ์ระหว่างปีศาจร้ายหรือไม่ ซึ่งในแง่หนึ่ง อนุสรณ์มองว่า การว่าความโดยเพศชายไม่ใช่แค่การแสวงหาความจริง แต่ยังเป็นการแสวงหาความเพลิดเพลินอีกแบบด้วย

ในช่วงศตวรรษที่ 16-18 หลังการค้นพบของโคลอมโบ ศาสนจักรเจอโจทย์อีกอย่างว่าจะปกป้องจุดซ่อนเร้นเล็ก ๆ นี้ให้พ้นจากเงื้อมมือซาตานได้อย่างไร

การค้นพบของโคลอมโบ ไม่เพียงแต่กระเทือนสังคมและคริสต์ศาสนา ข้อมูลใหม่นี้น่าสนใจจน เฟเดริโก อันดาหาซี (Federico Andahazi) นักเขียนอาร์เจนไตน์ หยิบเรื่องราวของโคลอมโบมาเขียนเป็นนวนิยายใช้ชื่อว่า “นักกายวิภาค” (The Anatomist) เล่าเรื่องราวภารกิจการรักษาหญิงหม้ายรายหนึ่งนามว่า ยิเนส เด ทอร์เรโมลิโนส (Ines de Torremolinos) ที่ป่วยด้วยโรคที่ไม่อาจหาสาเหตุได้ และถูกนำส่งมาที่มหาวิทยาลัยปาดัว ซึ่งโคลอมโบทำงานอยู่ ผู้ที่รับหน้าที่รักษาโรคก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากโคลอมโบ

ในเรื่องที่เขียนเล่า โคลอมโบ ตรวจสอบอาการและร่างกายอย่างละเอียด และพบว่าตรงอวัยวะเพศของหญิงหม้ายรายนี้มีอวัยวะชิ้นเล็ก ๆ ยื่นออกมา โคลอมโบคิดว่าเป็นองคชาติ เธออาจเป็นผู้มีสองเพศตามตำนานของอียิปต์และอาหรับ อย่างไรก็ตาม เมื่อโคลอมโบใช้นิ้วสัมผัสอวัยวะชิ้นนั้น ร่างกายของผู้ป่วยตอบสนอง เธอผ่อนคลาย หัวใจเต้นแรงขึ้น ลมหายใจขาดเป็นห้วง มีเหงื่อออก สภาพร่างกายที่เหมือนป่วยใกล้สิ้นลมก็เริ่มเปลี่ยนกลับมาใกล้เคียงกับอาการปกติ

โคลอมโบ ใช้วิธีนี้รักษาเธอนาน 10 วัน อวัยวะที่คล้ายกับองคชาติก็หดตัว อาการของเธอดีขึ้นตามลำดับ หลังการรักษาโคลอมโบเดินทางกลับมหาวิทยาลัยปาดัว ขณะที่ยิเนสกลับได้รับผลกระทบจากการรักษา โดยเธอเปลี่ยนจากอยู่ในอารามมาเป็นผู้ก่อตั้งโรงโสเภณีที่โด่งดังในเมืองฟลอเรนซ์ เธอสอนผู้หญิงที่ทำงานในโรงโสเภณีถึงอวัยวะชิ้นเล็ก ๆ ด้วย

แม้ว่าการตั้งโรงโสเภณีไม่มีความผิด แต่การสั่งสอนของเธอที่ทำให้เพศหญิงค้นพบวิธีหาความสุขส่วนตัวด้วยตัวเองโดยปราศจากการปฏิบัติจากลูกค้า ทำให้เธอถูกตั้งข้อหาเป็นแม่มด และถูกเผาใน ค.ศ. 1559

รื่องราวในนวนิยายนี้สะท้อนผลกระทบจากการค้นพบต่อมุมมองของคนในสมัยนั้นได้ว่าเชื่อมโยงกับสถานการณ์เหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง และส่งผลต่อ “คริสต์ศาสนา” รวมถึงเป็นผลสืบเนื่องมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดการพิจารณาคดีในหมู่พวก “ล่าแม่มด” ด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

อนุสรณ์ ติปยานนท์. ล่าแม่มด. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ธันวาคม 2561