กลวิธีของ Paula de Eguiluz สตรีผู้ “รอดชีวิต” จากการไต่สวนข้อหา “แม่มด” 3 ครั้ง

ภาพประกอบเนื้อหา - การจัดแสดงซีนจากตำนานแม่มด Slavic ที่รู้จักกันในนาม Baba-Yaga ในพิพิธภัณฑ์ แม่มด ใน Blancafort ใกล้กับ VIERZON ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 22 สิงหาคม ค.ศ. 2002 ภาพจาก ALAIN JOCARD / AFP

ช่วงสเปนแผ่ขยายอาณานิคมออกไปในวงกว้าง เมื่อมาถึงค.ศ. 1610 คณะผู้ไต่สวนจากสเปนเข้ามาตั้งสาขาใน Cartagena แห่งโคลอมเบียอันเป็นเมืองท่าสำคัญต่อสเปน พวกเขาแสดงท่าทีชัดเจนในการดำเนินการต่อชาวยิว, มุสลิม, โปรเตสแตนท์ และผู้มีพฤติกรรมเข้าข่ายแม่มด ปรากฏผู้ถูกตัดสินมีความผิดมากมาย แต่มีรายหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากนักประวัติศาสตร์ นั่นคือกรณีของ Paula de Eguiluz สตรีรายหนึ่งซึ่งเคยรอดจากการถูกไต่สวนพฤติกรรมแม่มด

ตลอดระยะเวลาระหว่างทศวรรษ 1620-1630s Paula de Eguiluz ลูกสาวของทาสแอฟริกันในเปอร์โตริโก ต้องต่อสู้ในกระบวนการไต่สวนจากข้อหาประพฤติเป็นแม่มด (witchcraft) รวมแล้ว 3 ครั้ง และยังสามารถ “เอาตัวรอด” แต่ยังอยู่ในสภาพถูกจองจำ

Paula de Eguiluz เกิดในซานโต โดมินโก (Santo Domingo) เมื่อปี 1592 เมื่อเข้าช่วงวัยทีนอายุราวช่วง 20 ปี เธอถูกเจ้าของทาสชาวคิวบาและเจ้าของเหมืองชื่อ Joan de Egauiluz ซื้อตัวไป ทำให้ต้องเคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปฮาวาน่า (Havana)

ที่ฮาวาน่า เธอให้กำเนิดลูก 3 คนและใช้นามสกุล de Egauiluz กระทั่งในปี 1623 เธอถูกจับและถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมแม่มดจากการสังหารทารกเพิ่งเกิดไม่นานและดื่มเลือดของเด็ก เธอจึงถูกนำตัวไปที่ Cartagena เพื่อถูกไต่สวน

จากเอกสารคำให้การ Paula de Eguiluz ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าเธอดื่มเลือดทารก แต่เธอแค่ใช้พืชโรสแมรี่ (rosemary) และลาเวนเดอร์ (lavender) เพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องบวมของทารกตามคำจากแม่ของทารกเอง

เธอยังอ้างว่า ข้อกล่าวหานี้มาจากความอิจฉาริษยาของเพื่อนบ้านที่เห็น Joan de Egauiluz รักและให้เธอสวมใส่เสื้อผ้าดีๆ เพื่อนบ้านชาวคิวบาที่ทำงานเป็นผู้ดูแลห้องเก็บเครื่องพิธี (Sacristan) ในศาสนาคริสต์ ให้การว่า ถึงจะเห็นเธอแต่งตัวดี แต่เขาก็ไม่เคยเห็นเธอไปโบสถ์

สำหรับการรักษาที่ Paula กล่าวอ้างนั้น นักเขียน แคธริน แม็คไนท์ (McKnight, Kathryn Joy) นักเขียนที่ศึกษาการไต่สวนคดีของเธอเชื่อว่า ด้วยสภาพของเมืองท่า Cartagena ที่มีผู้เดินทางมากมาย และมีทั้งทาสและผู้อยู่อาศัยชาวแอฟริกันอยู่ในพื้นที่จำนวนหนึ่ง ในชุมชนหลายแห่งจึงมักมี “ผู้เชี่ยวชาญ” ด้านการประกอบพิธีกรรมและการรักษาต่างๆ

เมื่อเกิดโรคขึ้นในพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้มักพยายามหาวิธีรักษาผู้ป่วย แต่จากมุมมองของชาวสเปน ผู้รักษาและทำพิธีเหล่านี้ต่างหากที่เป็นสาเหตุของโรคภัยและการเจ็บป่วย สำหรับกรณี Paula de Eguiluz เธอก็มีแนวโน้มอยู่ในกลุ่มผู้พยายามหาวิธีรักษาเช่นกัน

กลับมาที่กระบวนการไต่สวนอีกครั้ง หลังจาก Paula de Eguiluz อยู่ในกระบวนการไต่สวนราว 3 เดือน น่าสนใจว่าท้ายที่สุดแล้วเธอสารภาพว่า เธอเป็นข้ารับใช้ของปีศาจ จัดหาแม่มดและฆ่าทารก จากเอกสารคำให้การ เธออ้างว่าเป็นปีศาจที่ถอดความทรงจำของเธอออกไป เนื้อหาในเอกสารระบุว่า

“…เธอสารภาพเพราะเชื่อในเรื่องพระเยซูของพวกเราและอยากรักษาดวงวิญญาณของเธอ”

ปี 1624 เธอถูกลงโทษเฆี่ยน 200 ครั้ง เนรเทศจากคิวบาแบบถาวร และถูกส่งไปทำงานในโรงพยาบาลสาธารณะ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า ในกระบวนการไต่สวนนี้ เชื่อว่า เธอมีแนวโน้มถูกทรมานด้วย

หลังจากการไต่สวนครั้งแรกผ่านไป 2 ปี เธอได้รับอิสระและย้ายไปที่ Getsemaní อันเป็นแถบพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยกลุ่มคนผิวดำ แต่เหตุผลที่เธอเป็นไทนั้น ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน Santiago Flórez นักโบราณคดีและผู้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกรณีนี้เอ่ยถึงสันนิษฐานข้อหนึ่งว่า เป็นไปได้ที่ Joan de Egauiluz นายทาสอาจปล่อยเธอเป็นอิสระเพื่อหลีกเลี่ยงความเกี่ยวข้องกับผู้หญิงซึ่งเคยถูกกล่าวหาเรื่องพฤติกรรมแม่มด

เมื่อมาอาศัยในพื้นที่ใหม่ เธอทำงานเป็นคนซักรีดและยังมีบทบาทเป็น “ผู้รักษา” (healer) อยู่ ลูกค้าที่มาใช้บริการให้เธอรักษาเป็นสตรีหลากหลายเชื้อชาติทั้งคนผิวดำที่เป็นอิสระไปจนถึงกลุ่มคนมีฐานะ

สิ่งที่เธอบริการให้ลูกค้าก็มีตั้งแต่ยารักษา ประกอบพิธีกรรม และสวดภาวนาเพื่อสร้างความมั่นใจว่าสามีของลูกค้าซึ่งมาใช้บริการจะยังอยู่กับพวกเธอ Santiago Flórez ระบุว่า สิ่งที่ Paula มอบให้ลูกค้ายังรวมถึงเรื่องการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศด้วย

เธอได้รับค่าตอบแทน(จากที่ประกอบการรักษา)ส่วนใหญ่อยู่ที่ 50 เปโซ ทั้งนี้ เวลานั้นสินค้าจำพวกไวน์ซึ่งถือเป็นของหรูหรานำเข้าจากสเปนมีราคาขายอยู่ที่ขวดละ 5 เปโซ

นักเขียนบางรายที่ศึกษาเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องแม่มดต่อ Paula ยังเล่าว่า ในช่วงที่เธอเป็นอิสระ ไม่เพียงแค่กอบโกยรายได้จากการประกอบอาชีพข้างต้นแล้ว เธอยังเข้าไปมีส่วนพัวพันลึกซึ้งทั้งในเชิงหัวใจและเชิงสังคมกับหญิงแอฟโร-คาริบเบียนที่ประพฤติเกี่ยวกับเวนมนตร์ในเชิงความเชื่อแนว “อีโรติก” (erotic)

ความประพฤติข้างต้นนี้สืบเนื่องมาจากบริบททางสังคม วัฒนธรรม และความเชื่อในแถบนั้นซึ่งความเชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถาและยาเสน่ห์นั้นเป็นเรื่องที่นิยมแพร่หลาย

เวลาผ่านไปจนถึงปี 1632 Paula จึงถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมแม่มดอีกครั้ง การพิจารณาคดีครั้งนี้ Paula ยังคงกลับไปกลับมาระหว่างโทษคณะไต่สวนว่าล้มเหลวในการปกป้องเธอจากปีศาจทั้งปวง, วิจารณ์คนชนชั้นนำในท้องถิ่น, เอ่ยชื่อผู้อื่นที่มีแนวโน้มเข้าข่ายมีพฤติกรรมแม่มด กับเรียกร้องให้ลูกค้าของเธอและเพื่อนๆ ให้การเข้าข้างเธอ

ถึงแม้การถูกกล่าวหาซ้ำในข้อหาแม่มดอาจนำไปสู่โทษหนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว สถิติที่เกิดขึ้นใน Cartagena นับตั้งแต่เธอมาถึงพื้นที่ มีการพิจารณาคดีซึ่งนำไปสู่พิธีลงโทษในที่สาธารณะที่เรียกว่า “auto-de-fe” 3 ครั้ง มีผู้ถูกลงโทษ 56 คน และมีนักโทษเพียงคนเดียวที่ถูกตัดสินประหารคือ Juan Vicente จากข้อหากลับมายึดถือความเชื่อแบบยูดาห์ (Judaism)

ในการพิจารณาไต่สวนหนที่ 2 เชื่อกันว่า Paula เริ่มเรียนรู้ว่าสิ่งที่ผู้สอบสวนอยากได้ยินจากปากของเธอเป็นข้อมูลแบบไหน แน่นอนว่า ต้องเป็นเรื่องราวที่เพิ่มความน่าเชื่อถือ เพิ่มน้ำหนักต่อความเชื่อที่คณะผู้ไต่สวนยึดมั่น ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นเรื่องที่สร้างความหวาดกลัวต่อลักษณะแม่มด

เธอมอบรายชื่อของผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นแม่มดให้ผู้ไต่สวน เธอยอมรับว่า เธอบูชาปีศาจ แต่ยังเน้นย้ำว่าสิ่งที่ต้องการคือรักษาผู้คน ไม่ใช่การทำร้ายผู้อื่น ซึ่งเป็นข้อมูลหรือรูปแบบที่ตรงกับผู้ไต่สวนต้องการได้ยินและจะรับฟังเธอ

ขณะที่การไต่สวนครั้งที่ 2 ยังดำเนินการอยู่ การไต่สวนครั้งที่ 3 ก็เริ่มต้นขึ้นในปี 1634 เมื่อ Damian Velásquez de Contreras คณะผู้ไต่สวนยื่นคำร้องให้กลับมาตรวจสอบการไต่สวนครั้งที่ 2 อีกหน โดยคณะไต่สวนจะกลับมาตรวจสอบคำให้การจากการสอบสวนครั้งที่ 2 และคำให้การจากพยาน 7 ราย

Santiago Flórez อธิบายว่า สตรีหลายคนซึ่ง Paula เอ่ยชื่อว่าเป็นแม่มดขณะการไต่สวนก่อนหน้านี้ต่างกล่าวหา Paula ว่าเป็นผู้นำกลุ่มของพวกเธอ

ในปี 1635 Rufina และ Diego Lopez คู่รักต่างเชื้อชาติซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมเป็นแม่มดรับสารภาพระหว่างที่ถูกทรมาน จากเอกสารการพิจารณาคดีแสดงให้เห็นว่า Rufina พยายามเปลี่ยนคำให้การ เธอบอกกับผู้ไต่สวนว่า ได้รับคำแนะนำจาก Paula de Eguiluz ให้ยึดคำสารภาพแรก

สำหรับคณะผู้ไต่สวน สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นข้อพิสูจน์ว่ามีกลุ่มแม่มดในพื้นที่อยู่จริง แต่จากมุมของ Paula และเหล่าสตรีที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาแล้ว การให้การสอดคล้องกับสิ่งที่คณะผู้ไต่สวนต้องการได้ยินเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อพลังเหนือธรรมชาติและแสดงออกถึงความสำนึกพร้อมกันกับร้องขอคำให้อภัย

เหล่านี้ล้วนกลายเป็นแนวทางของผู้ถูกกล่าวหาที่ต้องการรอดชีวิตไปจากกระบวนการไต่สวนท่ามกลางสังคมในยุคนั้นซึ่งสภาพ “ความเป็นธรรม” ยังถูกตั้งคำถามอยู่

Paula ได้รับการตัดสินว่ามีความผิดโทษฐานประพฤติแม่มดเป็นครั้งที่ 2 เมื่อปี 1638

มีข้อมูลหลายแหล่งที่เขียนตรงกันว่า ถึงเธอจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมแม่มด แต่ดูเหมือนว่าประวัติเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจของ Pérez de Lizarraga บิชอปแห่ง Cartagena ซึ่งกล้าไปเกี่ยวข้องกับ Paula ถึงขั้นให้เธอมาพยายามรักษาอาการเจ็บป่วยของเขาจนกระทั่งก่อนถึงก่อนวาระสุดท้ายของชีวิตในปี 1647

ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าเธอจะถูกลงโทษอะไรบ้างจากการไต่สวนครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลว่าในปี 1649 Pedro Medina นักบวชสเปนในนิกายโรมันคาทอลิกซึ่งเป็นผู้เขียนเอกสารรายงานกลับไปที่สเปนระบุว่า Paula ยอมรับในตัวคริสตศาสนจักร บริจาคสิ่งของให้สตรีรายอื่นที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด และถือเป็นสมาชิกคนสำคัญในชุมชนท้องถิ่น

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “แม่มด” : การจำกัดสิทธิเสรีภาพของสตรี โดยเอกเทวนิยมและสังคมชายเป็นใหญ่


อ้างอิง:

Flórez, Santiago. “The Spanish Witches of Cartagena”. History Today. Online. Published 12 MAY 2021. Access 25 MAY 2021. <https://www.historytoday.com/miscellanies/spanish-witches-cartagena>

Kathryn Joy McKnight. Performing double-edged stories: the
three trials of Paula de Eguiluz, 2016. Colonial Latin American Review, 25:2, 154-174


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤษภาคม 2564