“แม่มด” : การจำกัดสิทธิเสรีภาพของสตรี โดยเอกเทวนิยมและสังคมชายเป็นใหญ่

แม่มด ปีศาจ สัตว์ประหลาด และ ก็อบลิน
ภาพ "Witches in a Hay Loft" เผยให้เห็นแม่มด ปีศาจ สัตว์ประหลาด และก็อบลิน ภาพวาดโดย Thomas Rowlandson ราว ค.ศ. 1807–1813

คำว่า Witch ที่แปลว่า “แม่มด” มีรากมาจากคำว่า Wicca/Wicce ในศัพท์เก่าแก่ อันสัมพันธ์กับการบูชาเทพเจ้าทั้งชายและหญิงในสังคมโบราณที่มีความเชื่อแบบ พหุเทวนิยม นั่นคือ การนับถือหรือบูชาเทพเจ้าหลายองค์

ในสังคมโบราณหรือสังคมแบบเกษตรกรรม เวทมนตร์ หรือ Magic เป็นเรื่องที่ยอมรับนับถือกันทั่วไป แม่มดที่ดี หรือ หมอผีที่ทรงปัญญา ไม่ว่าชายหรือหญิงไม่เคยสร้างความหวาดกลัวให้กับสังคม ในมุมหนึ่ง คนกลุ่มนี้กลับเป็นผู้ใช้พลังอำนาจที่เหนือธรรมชาติช่วยเกื้อกูลสังคม ไม่ว่าจะเป็นการรักษาอาการเจ็บไข้ อำนวยอวยพรความอุดมสมบูรณ์เรื่องฝนฟ้า การเพาะปลูก หรือการต่อสู้กับภัยพิบัติของชุมชน

Advertisement

แต่เมื่อเกิดศาสนาแบบใหม่ที่เป็นศาสนาของผู้ชาย เป็นศาสนาแบบ เอกเทวนิยม โดยเฉพาะศาสนาคริสต์ ซึ่งต้องการความจงรักภักดีต่อผู้ศรัทธาที่ควรมอบให้พระผู้เป็นเจ้ามากกว่าสิ่งอื่นใด แม้กระทั่งครอบครัวของตนก็จัดอยู่ในลำดับความสำคัญที่เป็นรอง เมื่อนั้น ผู้หญิงในศาสนาในลักษณะแบบนี้จึงตกอยู่ในฐานะศัตรูสำคัญของศาสนาในรูปแบบต่าง ๆ และ “แม่มด” ก็เป็นหนึ่งในนั้น (แม้แม่มดส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง แต่ที่เป็นผู้ชายก็มีบ้างแต่น้อยมาก)

ไม่เฉพาะแม่มดที่เป็นพวกใช้เวทมนตร์ ช่วงปลายศตวรรษที่ 13 ก็พบว่า พระคาทอลิกใช้อำนาจเวทมนตร์ และศาสนจักรก็ยอมรับเรื่องเหล่านี้ได้ด้วย พระคาทอลิกระดับล่างยอมรับเรื่องเหล่านี้เป็นวิถีปฏิบัติของสังคม แต่พระคาทอลิกระดับสูงก็ลำบากใจกับการกำจัดสิ่งที่ขัดแย้งกับตัวอักษรในพระคัมภีร์

อย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของแม่มดและการใช้เวทมนตร์เพื่อแก้ไขชีวิตประจำวันหมายความว่า ศาสนาคริสต์มีคู่แข่ง เมื่อนานวันเข้า “ตลาดศาสนา” ถูกแม่มดแบ่งไป ศาสนจักรจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จำต้องกลับมาผูกขาดตลาดนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อแบบเอกเทวนิยมที่อำนาจของศาสนจักรได้รับมาจากพระผู้เป็นเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น

พลังอำนาจของแม่มดมาจากไหน? แน่นอนว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ใช่ผู้มอบให้ เพราะพระองค์มอบให้ศาสนจักรไปแล้ว พลังอำนาจของแม่มดจึงถูกมองว่าได้มาจาก ปีศาจ หรือ ซาตาน ซึ่งต้องทำสัญญากันเพื่อให้ได้พลังอำนาจมา และจะต้องพิธีกรรมบางอย่างเพื่อเซ่นสังเวย เช่น การฆ่าสัตว์ รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์กับซาตาน ทั้งนี้ การหลงใหลในซาตานถูกมองย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นของศาสนาคริสต์ เรื่องการล่อลวงของปีศาจร้ายที่ทำให้ Adam และ Eve กินผลไม้ต้องห้าม

เมื่อ Adam และ Eve ถูกขับออกจากสวนอีเดน มนุษย์จึงไร้ความบริสุทธิ์และไม่เป็นอมตะ เมื่อนั้น มนุษย์จำต้องสืบพันธ์ุซึ่งก็ต้องมีการร่วมเพศ ดังนั้น การร่วมเพศจึงเป็นสัญลักษณ์ของการกบฏหรือไม่เชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า การร่วมเพศจึงสัมพันธ์กับซาตานในกรอบความคิดของศาสนาคริสต์

ในอีกมุมหนึ่ง Eve ผู้หลงใหลในปีศาจร้ายชักชวนหรือยั่วยวนให้ผู้ชายอย่าง Adam กินผลไม้ต้องห้าม ผู้หญิงจึงถูกทำให้เป็นศัตรูกับศาสนา

อดัมกับอีฟ ขณะอีฟรับผลไม้จากงูที่ถูกวาดในคราบของอมนุษย์ครึ่งคนครึ่งงู (ภาพโดย Peter Paul Rubens ศิลปินมีชื่อในยุคศตวรรษที่ 17)

ช่วงศตวรรษที่ 13 ปัญหาเรื่องแม่มดเริ่มปรากฏ ซึ่งได้ถูกนำไปเชื่อมโยงเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องซาตาน เนื่องจากซาตานเกี่ยวข้องกับเรื่องของกิเลสและการยั่วยวน ซาตานซึ่งถือว่าเป็นกลไกของพระผู้เป็นเจ้า ในประเด็นการพิสูจน์ศรัทธาและความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์ ดังนั้น การสร้างภาพซาตานว่าเป็นคู่ปรับที่แข็งแกร่งของพระเจ้าโดยปราศจากคำถาม ทำให้การทำร้ายและทำลายแม่มดเป็นไปอย่างปราศจากคำถามเช่นเดียวกัน นัยยะหนึ่งของการล่าแม่มดก็คือ การล่าซาตาน ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนศรัทธาที่มีต่อศาสนานั่นเอง

การล่าแม่มดเกิดขึ้นใน ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) เมื่อการที่มนุษย์ได้กลับมาเป็นศูนย์กลางขององค์ความรู้ มีความตื่นรู้ ทำให้ผู้หญิงสามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง สภาวการณ์ไต่เต้าสู่ความเท่าเทียมเช่นนี้เองทำให้ สังคมชายเป็นใหญ่ หรือ Patriarchal Society สั่นสะเทือนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

นั่นจึงทำให้เกิดความพยายามกดทับ ปราม หรือจำกัดพื้นที่ของผู้หญิง หากผู้หญิงคนใดที่มีการศึกษา สะสมองค์ความรู้ เป็นที่พึ่งด้านสติปัญญาให้กับผู้คน ก็อาจถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดได้ ทั้งนี้ก็เพื่อลดทอนภาวะความเป็นผู้นำของเธอ อาจเป็นเพราะความสามารถที่โดดเด่นนั้น ไปบดบังรัศมีของผู้ชายบางคนก็เป็นได้ แต่ถึงแม้ผู้หญิงจะไม่ทำตัวโดดเด่น เลือกที่จะอยู่อย่างสันโดด ไม่สุงสิงกับใคร ก็อาจถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดได้เช่นกัน เช่น กรณีของ Walpurga Hausmanin

กรณีนี้เกิดขึ้นในดินแดนเยอรมนีช่วงศตวรรษที่ 16 Walpurga Hausmanin เป็นหญิงหม้ายอาศัยอยู่ตามลำพัง เธอถูกสงสัยว่าเป็นแม่มด เพียงเพราะไม่สุงสิงกับผู้ใด ก่อนที่เธอจะถูกนำตัวมาตัดสินโทษฐานที่ทำให้เกิดการตายอย่างผิดปกติของทารกหญิงสาวหลายคนในชุมชน รวมถึง วัว ม้า ห่าน และสุกร โดยเพื่อนบ้าน (ที่เกลียดชังเธอเป็นทุนเดิม) เป็นพยานในเหตุการณ์เหล่านี้ และในที่สุดเธอถูกเผาทั้งเป็น

Walpurga Hausmanin สารภาพว่า เธอพบปะกับซาตานและร่วมเพศกัน และยอมตกเป็นทาส ทำไมเธอจึงสารภาพเรื่องที่ยากจะพิสูจน์? คำตอบนั้นง่ายมาก นั่นเพราะการทรมานระหว่างที่ถูกคุมขัง จึงกล่าวคำสารภาพออกไปเพื่อสร้างความพึงพอใจให้คณะลูกขุนที่หวังไว้แต่แรกแล้วเท่านั้น แล้วทรัพย์สินของเธอตกเป็นของใคร? คาดเดาได้ไม่ยาก ที่ดินของเธอถูกยึดเป็นของพระคาทอลิกประจำชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะลูกขุน

หากผู้หญิงคนใดที่มีที่ดินหรือทรัพย์สมบัติมหาศาล หากไร้ทายาท ไม่มีผู้สืบสกุล ก็อาจถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด เมื่อตัดสินประหารเธอไม่ว่าจะด้วยการแควนคอหรือเผาทั้งเป็น คณะลูกขุนจะแบ่งที่ดินของเธอเป็นหลายส่วนเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับพวกเดียวกัน หรือให้กับญาติผู้ชายที่ได้ติดสินบนหรือตกลงกันไว้ล่วงหน้าแล้ว แม้แต่ผู้หญิงที่พลาดพลั้งร่วมเพศกับผู้ชายจนตั้งครรภ์และทำแท้งจะถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด จนกลายเป็นผู้หญิงที่ถูกสังคมหรือชุมชนกีดกัน

ตำนาน แม่มด Slavic Baba-Yaga
ภาพประกอบเนื้อหา – การจัดแสดงซีนจากตำนานแม่มด Slavic ที่รู้จักกันในนาม Baba-Yaga ในพิพิธภัณฑ์ แม่มด ใน Blancafort ใกล้กับ VIERZON ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 22 สิงหาคม ค.ศ. 2002 ภาพจาก ALAIN JOCARD / AFP

อีกด้านหนึ่ง คดีแม่มดจำนวนมากในอังกฤษสะท้อนภาพถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงในยุคนี้ โดยโจทก์ที่เป็นผู้ชายมักอ้างว่าตนถูกคำสาปชั่วร้ายของแม่มด ทั้งที่อาจเป็นเพียงการพูด ติติง หรือการวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาของผู้หญิงที่ตกเป็นจำเลยเท่านั้น ผู้หญิงที่เป็นภรรยาของชาวนาหรือกรรมกรมักได้รับการปรนนิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เมื่อพวกเธอเลือกที่จะลุกขึ้นสู้ หรือออกมาเปิดเผยความไม่เป็นธรรมเหล่านั้นอาจทำให้ผู้เป็นสามีอับอายขายหน้า หนทางในการปิดปากพวกเธอก็คือ การทำให้คนอื่นเห็นว่าคำพูดเหล่านั้นล้วนมาจากปีศาจร้าย

การล่าแม่มดจากถ้อยคำในยุคนั้น อีกด้านหนึ่งคือ การกำจัดการพูดอย่างเสรี หรือ Free Speech ของผู้หญิงจากสังคมชายเป็นใหญ่นั่นเอง หญิงใดที่ต้องกลายเป็นหม้าย หญิงใดที่ปราศจากคู่ครอง หญิงใดที่เกิดมาพิกลพิการ หรือหญิงใดที่ไม่อาจมีบุตรสืบสกุล เธอเหล่านี้ล้วนมีความรู้สึกลึก ๆ ในใจว่าถูกลงโทษจากพระผู้เป็นเจ้า ทำให้เธอถูกผลักให้เชื่อว่ามีแต่ซาตานที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่พร้อมจะโอบอ้อมและดูแลเธอ

การเกิดขึ้นของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการทำให้สิ่งที่หาเหตุผลไม่ได้จำนวนมากกลายเป็นความชั่วร้าย ซึ่งพลังอำนาจหรือความเชื่อที่ไร้เหตุผลนั้นจะมีและได้มาก็จากซาตานเท่านั้น จริงอยู่ที่ว่า ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการเป็นช่วงเวลาแห่งการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ มากมาย แต่ช่วงเวลานั้นก็เป็นช่วงที่ก่อให้เกิดความรุนแรงมากมายตามมาด้วย เมื่อศาสนจักรต้องการอำนาจที่สูญเสียไปกลับคืนมา การกำจัดผู้คนที่ทำให้มันแปดเปื้อนก็เป็นสิ่งจำเป็น เมื่อบุรุษเพศต้องการอำนาจของพวกเขาคืน การจำกัดสตรีเพศก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน

กระทั่งเมื่อเกิด การปฏิรูปศาสนา (Reformation) ความขัดแย้งระหว่างคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ทวีคูณ ความหวาดกลัวจึงเริ่มแพร่กระจายไปทุ่งหย่อมหญ้า ความหวาดกลัวนั้นก็คือ ปีศาจร้าย ทั้งที่เป็นเทพเจ้านอกระบบ ซาตาน แม่มด รวมไปถึงพวกนอกรีต การกำหนดกรอบความคิดว่าแม่มดมีฐานะเป็นตัวแทรกซึมบ่อนทำลายจากฝ่ายตรงข้ามจึงนำไปสู่การต่อต้านและการล่าแม่มด

การปฏิรูปศาสนาบีบให้พวกคาทอลิกลงโทษพวกโปรเตสแตนต์อย่างหนักหน่วง ต่างฝ่ายต่างก็เห็นอีกฝ่ายเป็นปีศาจร้ายหรือพวกนอกรีต จึงจำต้องถูกกำจัดให้หมดไป ในแง่หนึ่งการล่าแม่มดจึงเป็นกลไกกำจัดศัตรูทางศาสนาที่ไม่สามารถแยกการเมืองออกไปได้ สงครามศาสนาจึงเป็นตัวเร่งการล่าแม่มด แต่หากพิจารณาลงไปในแต่ละพื้นที่จะพบว่า ในสเปนพบการล่าแม่มดไม่รุนแรงนัก เพราะดินแดนนี้ต้องต่อสู้กับพวกยิวและอิสลามมากกว่าพวกโปรเตสแตนต์

ในขณะที่ทางยุโรปเหนือหรือเยอรมนี การล่าแม่มดเป็นไปอย่างหนักหน่วง เพราะได้อิทธิพลมาจาก “ทฤษฎีเรื่องแม่มด” ผลงานของนักล่าแม่มดนาม Heinrich Kramer ผลงาน Alleus Maleficarum ที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1486 เป็นคู่มือแม่มดที่ทรงอิทธิพลจนถือได้ว่าเป็นคู่มือที่นำไปสู่การล่าแม่มด อย่างไรก็ตาม ความหวาดกลัวเรื่องแม่มดปรากฏอยู่ในดินแดนแถบนี้มาก่อนที่หนังสือเล่มนี้จะปรากฏแล้ว

การล่าแม่มดดำเนินไปตลอดช่วงศตวรรษที่ 15-16 ตั้งแต่ในทวีปยุโรปลามไปถึงดินแดนอาณานิคมในทวีปอเมริกา เช่น กรณีแมสซาชูเซตส์ใน ค.ศ. 1692-1693 และกรณีสเปนก็ใช้การล่าแม่มดเป็นกลไกในการจัดการทาสผิวดำและชนพื้นเมืองละตินอเมริกามาตลอดหลายทศวรรษ

การล่า แม่มด เผาทั้งเป็น
ภาพวาดการล่าแม่มดในศตวรรษที่ 19 ด้วยการเผาทั้งเป็น

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า แม่มดกับซาตานมักถูกกล่าวหาว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างกันในเรื่องทางเพศ และความเชื่อนี้ถูกย้ำชัดเมื่อมีการค้นพบ “คลิตอริส” ในศตวรรษที่ 16 การเปิดเผยว่าผู้หญิงสามารถถูกกระตุ้น และทำให้หลงใหลในเรื่องเพศได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อว่าผู้หญิงมีหน้าที่เพียงการคลอด และดำรงเผ่าพันธุ์มนุษย์อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้กลายเป็นความเพลิดเพลินส่วนตัว แล้วใครเล่าที่จะให้ความเพลิดเพลินนี้ได้ดีเท่ากับซาตาน

ยกตัวอย่างกรณี Margaret Jones เมื่อ ค.ศ. 1648 ที่ตั้งตนเป็นคนทรง ถูกจับและตั้งข้อหาว่าเป็นแม่มด มีการตรวจพบว่าอวัยวะเพศและโดยเฉพาะคลิตอริสมีความบอบช้ำ แม้เพื่อนบ้านจะให้การว่าเกิดจากการคลอดบุตรแบบผิดวิธีของเธอ แต่นักล่าแม่มด (ผู้ชาย) ไม่ฟังข้อแก้ตัว แน่นอนว่าเขามีความเชื่อว่าความบอบช้ำเหล่านั้นคือ การถูกรุกรานจากซาตาน ทั้งที่ความรู้ด้านกายวิภาคของเขามีอย่างจำกัด ไม่นับว่าผู้ชายเป็นเพศที่ไม่อาจเข้าใจกระบวนการคลอดบุตรได้เลย

การค้นพบคลิตอริสเป็นการประกาศชัยชนะของผู้ชายว่า พวกเขาได้ประจักษ์แล้วในสิ่งที่เป็นดั่งกุญแจที่ใช้ไขสู่ความลับของอีกเพศหนึ่ง พวกเขาเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วในเครื่องมือที่เชื่อว่าจะใช้ควบคุมผู้หญิงได้ คำถามที่ตามมาจากนี้ คือจะปกป้องไม่ให้จุดเล็ก ๆ ของผู้หญิงนี้ตกอยู่ในมือของซาตาน จะทำอย่างไรไม่ให้พวกเธอถูกซาตานล่อลวงจนเสียคน?

ขณะเดียวกัน การล่าแม่มดในมุมมองของรัฐนั้น คือการจัดการพลเมือง โดยการตั้งข้อหาว่าเขาหรือเธอเป็นศัตรู ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์ยุโรป ศตวรรษก่อน ๆ คนป่วยด้วยโรคเรื้อน พวกนอกรีต คนยิว คนรักร่วมเพศ ถือว่าเป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาของสังคมส่วนใหญ่ ก่อนที่แม่มดจะกลายเป็นเหยื่อสำคัญในศตวรรษที่ 15-17

ประวัติศาสตร์ความเป็นเหยื่อของคนในยุโรปจะอยู่คู่กับประวัติศาสตร์การจัดระเบียบอำนาจของผู้ปกครอง ฉะนั้น การสร้างศัตรูให้มีขึ้นในรัฐนั้นจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการปกครอง ไม่ว่าจะต้องสิ้นเปลืองกำลังคนมากมายเพียงใด สำหรับผู้ปกครองมักถือว่าเป็นสิ่งที่ควรค่าอยู่

ดูเหมือนว่าพื้นที่ของผู้หญิงจะถูกรุกล้ำเข้าไปในแทบทุกมิติ ไม่เว้นแม้แต่อาชีพหมอตำแย มักมีความพยายามกล่าวหาผู้ทำอาชีพหมอตำแยว่าเป็นแม่มด กล่าวหาว่าการทำคลอดเกี่ยวข้องกับซาตาน ใช้เป็นพิธีกรรมด้านมืด หรืออะไรทำนองนั้น ซึ่งเป้าหมายคือ การลบความน่าเชื่อถือของศาสตร์ว่าด้วยการทำคลอดที่ตกทอดมานับพันปีผ่านหมอตำแย แม้จะเข้าใจได้ว่าการแพทย์สมัยใหม่ที่ถูกพัฒนาอย่างก้าวหน้า มีความน่าเชื่อถือ และปลอดภัยกว่าการคลอดโดยหมอตำแย แต่กระนั้น แพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยกลับไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปศึกษาด้านนี้ ไม่อนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ของศาสตร์ใหม่ที่ผู้ชายสงวนพื้นที่ให้แก่ตนเอง

สังคมแพทย์ในยุคกลางและสังคมการล่าแม่มดนั้นมีจุดร่วมที่คล้ายคลึงกันตรงที่มีความพยายามในการควบคุมร่างกายของผู้หญิง ไปพร้อม ๆ กับการที่เห็นว่า ผู้ชายควรเข้าไปมีบทบาทสำคัญกว่าในการตัดสินถึงกระบวนการเกิดและการตาย ซึ่งน่าสนใจว่าการเสื่อมถอยของหมดตำแย การงดและห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าเรียนในด้านแพทยศาสตร์ และการอุบัติของช่วงเวลาการล่าแม่มดนั้นมาบรรจบในเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อปลายศตวรรษที่ 15

ไม่ว่าผู้หญิงจะประกอบอาชีพหมอตำแย หรืออาชีพอื่นใดซึ่งอาจท้าทายต่ออำนาจทางการเมือง ต่ออำนาจรัฐ ต่ออำนาจศาสนจักร ต่ออำนาจศาสนา หรือต่ออำนาจของผู้ชายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เมื่อนั้นพวกเธอจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด การล่าแม่มดจึงตอบสนองความต้องการที่จะกดขี่ผู้หญิงให้กลับมาอยู่ในกรอบเยี่ยงในยุคกลางหรือยุคก่อนหน้า หรือกรอบของสังคมที่ชายเป็นใหญ่นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อนุสรณ์ ติปยานนท์. (2558). ล่าแม่มด. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มีนาคม 2564