ความรู้จำกัด หมอสมุนไพร ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็น “แม่มด”

ภาพ "Witches in a Hay Loft" เผยให้เห็นแม่มด ปีศาจ สัตว์ประหลาด และก็อบลิน ภาพวาดโดย Thomas Rowlandson ราว ค.ศ. 1807–1813

ช่วงกลางศตวรรษที่ 14 จนถึงปลายศตวรรษที่ 18 มีโมเลกุลกลุ่มหนึ่งเป็นต้นเหตุแห่งเคราะห์กรรมของผู้คนนับแสน ไม่อาจรู้แน่ชัดว่ามีผู้คนในเกือบทุกประเทศของทวีปยุโรปในช่วงเวลาดังกล่าวจำนวนเท่าใดที่ต้องสังเวยชีวิตจากการถูกมัดกับเสาแล้วเผาทั้งเป็น ถูกแขวนคอหรือถูกทรมานเนื่องจากข้อกล่าวหาว่าเป็น “แม่มด”

ประมาณตัวเลขตั้งแต่ 40,000 ไปจนถึงนับล้านคน ผู้ถูกกล่าวหาเป็นแม่มดนั้นมีทั้งบุรุษ สตรี และเด็ก แต่ส่วนใหญ่มักเป็นสตรี โดยเฉพาะสตรีชราผู้ยากไร้

สตรีจำนวนมากที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดมีเวทมนตร์คาถามักเป็นหมอสมุนไพร พวกเธอมีทักษะในการใช้พืชท้องถิ่นเพื่อรักษาโรคและบรรเทาความเจ็บปวด บ่อยครั้งที่พวกเธออาจถูกร้องขอให้เตรียมยาเสน่ห์ ให้ร่ายมนตร์ ให้ถอนคำสาป การที่สมุนไพรเหล่านี้บางชนิดมีพลังในการรักษา อาจฟังดูมหัศจรรย์พอๆ กับการสวดและพิธีการรายล้อมพิธีกรรมที่เธอทำ

ในเวลานั้น การใช้และการสั่งจ่ายยาสมุนไพรอาจเป็นเรื่องสุ่มเสียงคล้ายกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ส่วนต่างๆ ของพืชมีสารออกฤทธิ์ในปริมาณต่างกันไป โดยพืชที่เก็บรวบรวมจากพื้นที่ต่างกันก็อาจมีความสามารถรักษาโรคต่างกันไปด้วย นอกจากนี้ ช่วงเวลาต่างกันในรอบปีก็มีผลต่อปริมาณพืชที่จำเป็นต้องใช้ในสูตรยา พืชจำนวนมากในสูตรยาหมอเทวดาอาจแทบไม่มีประโยชน์ใดเลย ขณะที่บางชนิดอาจมีตัวยาที่น่าจะมีประสิทธิภาพอย่างมากแต่ก็มีพิษถึงตายได้เช่นกัน

โมเลกุลในพืชเหล่านี้อาจช่วยสร้างชื่อเสียงหมอสมุนไพรในฐานะแม่มดมหัศจรรย์ แต่ความสำเร็จอย่างดียิ่งของโมเลกุลเหล่านี้ที่สุด แล้วก็อาจนำพามัจจุราชมาเยี่ยมเยือนหมอยาได้เช่นกัน หมอสมุนไพรผู้มีทักษะการรักษาดีที่สุดอาจเป็นคนแรกที่จะถูกหมายหัวว่าเป็นแม่มด

ขณะที่สมุนไพรมีคุณสมบัติในการรักษา มันก็มีอันตรายถึงชีวิตด้วย ตัวอย่างเช่น ดิจิทาลลิส สารสกัดจากต้นฟอกซ์โกลฟ มีส่วนประกอบของโมเลกุลที่รู้จักกันมานานแล้วว่ามีผลรุนแรงต่อการทำงานของหัวใจ มันคือคาร์ดิแอคไกลโคไซด์ (cardiac glycosides) โมเลกุลเหล่านี้ออกฤทธิ์ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ช่วยควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ และเพิ่มความแรงการเต้นของหัวใจ

นี่ถือเป็นส่วนผสมออกฤทธิ์รุนแรงมากหากตกอยู่ในมือผู้ไร้ประสบการณ์ (มันเป็นสารในกลุ่มซาโปนินคล้ายกับที่พบในต้นซาร์ซะพารีลละ และในกลอยป่าเม็กซิกัน สารตั้งต้นสำหรับการสังเคราะห์ยาคุมกำเนิดนอร์เอทินโดรน) ตัวอย่างของคาร์ดิแอคไกลโคไซด์ได้แก่ โมเลกุลดิจอกซิน (digoxin) หนึ่งในตัวยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา และเป็นตัวอย่างที่ดีของยาแผนปัจจุบันอันมีต้นกำเนิดมาจากยาสมุนไพรพื้นบ้าน

โมเลกุลที่ออกฤทธิ์ต่อหัวใจไม่ได้พบเฉพาะแต่ในพืชเท่านั้น สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่นสารสกัดจากคางคกและกบถูกใช้เป็นยาพิษอาบธนูในหลายท้องถิ่นบนโลก น่าสนใจยิ่งที่คางคกถือเป็นสัตว์สามัญ ซึ่งถูกเชื่อมโยงกับคติชาวบ้านในฐานะสัตว์คู่กายแม่มด

กล่าวกันว่าในตำรับยาเสน่ห์หลายชนิดที่เตรียมโดยคนที่ถูกเรียกว่าแม่มดนั้นมีส่วนผสมของคางคกอยู่ในตำรับ โมเลกุลบูโฟท็อกซิน (bufotoxin) เป็นองค์ประกอบออกฤทธิ์พบอยู่ในพิษจากคางคกบ้าน (Bufo Yulgaris) พันธุ์ที่พบในยุโรปและจัดเป็นหนึ่งในโมเลกุลพิษร้ายแรงสุดเท่าที่เคยรู้จักกัน อย่างไรก็ดี บูโฟท็อกซินเป็นพิษต่อหัวใจมากกว่าจะช่วยฟื้นฟูหัวใจ อาจกล่าวได้ว่า แม่มดมีสารประกอบเป็นพิษให้เลือกใช้มากมาย ไล่ไปตั้งแต่คาร์ดิแอคไกลโคไซด์จากฟอกซ์โกลฟ ไปจนถึงชนิดที่พบในพิษคางคก

หนึ่งในความเชื่อที่ไม่เคยสิ้นสุดเกี่ยวกับแม่มดเลยคือการที่แม่มดบินได้ แม่มดบินโดยใช้ไม้กวาดเพื่อไปเข้าร่วมพิธีกรรมหมู่ของเหล่าแม่มด ซึ่งเป็นการนัดพบช่วงกลางดึก ความเชื่อเหล่านี้อาจอธิบายได้ในทางเคมี โดยพิจารณากลุ่มของสารประกอบที่เรียกกันว่า “อัลคาลอยด์”

อัลคาลอยด์เป็นสารประกอบจากพืช ภายในโครงสร้างมีอะตอมไนโตรเจนอยู่ 1 อะตอมหรือมากกว่า เช่น พิเพอรีนในพริกไทย แคปไซซินในพริก อินดิโก เพนนิซิลลิน และกรดโฟลิก อาจมีผู้กล่าวว่า ในฐานะของประเภทสารแล้วต้องถืออัลคาลอยด์มีบทบาทอย่างใหญ่หลวงต่อการดำเนินไปของประวัติศาสตร์มนุษย์มากกว่าสารเคมีประเภทอื่นทุกชนิด อัลคาลอยด์มีฤทธิ์ต่อมนุษย์ในเชิงสรีรวิทยา โดยปกติมันจะส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง และโดยทั่วไปมันก็มักจะเป็นพิษอย่างมาก แต่สารประกอบเหล่านี้ที่พบในธรรมชาติก็ถูกใช้เป็นยามานานนับพันปี สารอนุพันธ์จากอัลคาลอยด์เป็นรากฐานของยาแผนใหม่จำนวนมาก เช่นในกรณีโมเลกุลโคเดดิน (codeine) บรรเทาอาการปวด เบนโซเคน (benzocaine) ที่ใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ และคลอโรควิน (chloroquine) ที่ใช้เป็นยาต้านเชื้อโรคมาลาเรีย

ในปริมาณที่ไม่มากนัก ผลเชิงสรีรวิทยาของอัลคาลอยด์มักเป็นที่ยอมรับโดยมนุษย์ มีอัลคาลอยด์จำนวนมากถูกใช้เป็นยามาเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว อะเรไคดีน (arecaidine) อัลคาลอยด์ที่พบในหมาก จากต้นหมาก (Areca catechu) มีประวัติการใช้ในทวีปแอฟริกาและทางแถบตะวันออกอย่างยาวนานในฐานะสารกระตุ้น

ต้นหมาหวง (the mahuang plant) ถูกใช้ในตำรับสมุนไพรจีนเป็นเวลานานนับพันปี ปัจจุบันชาวตะวันตกนำมาใช้ในฐานะยาลดอาการคัดจมูกและยาขยายหลอดลม

ส่วนพวกตระกูลวิตามินบี เช่น ไทอามีน (วิตามินบี 1) ไรโบฟลาวิน (วิตามินบี 2) และไนอะซิน (บี 4) ทั้งหมดก็เป็นสารอัลคาลอยด์ รีเซอร์ฟิน (reserpine) สารใช้รักษาอาการความดันโลหิตสูงและกล่อมประสาทก็สกัดได้จากต้นระย่อมน้อย หรือรากงูอินเดีย (Indian Snakeroot หรือ Rauwolfia serpentina)

สำหรับ “ขี้ผึ้งบินได้” อันเป็นไขและขี้ผึ้งซึ่งเชื่อว่าช่วยทำให้บินได้นั้น เหล่าแม่มดมักผสมมันขึ้นมาจากสารสกัดจากแมนเดรก (mandrake) เบลลาดอนนา (belladonna) และเฮนเบน (henbane) พืชเหล่านี้อยู่ในวงศ์ Solanaceae หรือไนต์เชด (nightshade)

ต้นแมนเดรก (Mandragora officinarum) มีรากแตกแขนงดูคล้ายร่างมนุษย์ เป็นพืชมีถิ่นกำเนิดแถบเมดิเตอร์เรเนียน ถูกใช้มาแต่โบราณเพื่อคืนชีวิตชีวาทางเพศและใช้เป็นยานอนหลับ มีตำนานพิลึกมากมายว่าต้นแมนเดรกนี้ หากดึงมันขึ้นจากพื้น มันจะกรีดร้องส่งเสียงดังแสบแก้วหู ใครที่อยู่ใกล้จะได้รับอันตรายจากเสียงกรีดร้องน่ากลัวดั่งภูตผีปีศาจรวมถึงกลิ่นที่เกิดขึ้น

เบลลาดอนนา หรือเดดลี่ไนต์เชด (deadly nightshade, Atropa belladonna) ชื่อของมันมาจากแนวปฏิบัติของสตรีในอิตาลี ซึ่งหยดน้ำคั้นจากผลเบอร์รี่สีดำใส่ลูกตา การขยายม่านตาที่เกิดขึ้นนั้นถูกมองว่าเพิ่มความสวยงามแก่สตรีผู้ใช้ จึงเป็นที่มาของชื่อ belladonna ซึ่งเป็นภาษาอิตาลีมีความ “beautiful lady (สตรีผู้งดงาม)” เดดลี่ไนต์เชดที่ร่างกายได้รับในปริมาณมากจะเหนี่ยวนำให้มีอาการหลับเหมือนตาย

เฮนเบน พืชชนิดที่สามในวงศ์ไนต์เชด แม้อาจมีการใช้สปีชีส์อื่นด้วยในตำรับยาแม่มด มันถูกใช้มานานแล้วในฐานะยานอนหลับ ยาบรรเทาปวด (โดยเฉพาะอาการปวดฟัน) ยาชา และอาจรวมถึงเป็นยาพิษ คุณสมบัติของเฮนเบนดูเป็นที่รู้จักกันดี

ทั้งแมนเดรก เดดลี่ไนต์เชด และเฮนเบน ต่างมีองค์ประกอบของอัลคาลอยด์คล้ายกันหลายชนิด สองชนิดหลักได้แก่ ไฮออสไซยามีน (hyoscyamine) และไฮออสซิน (hyoscine) โดยจะพบได้ในพืชทั้ง 3 ชนิดในสัดส่วนต่างกันไป รูปหนึ่งของไฮออสไซยามีน เป็นที่รู้จักในนามอะโทรปีน (atropine) มันยังคงคุณค่าอยู่จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากสารละลายเจือจางมากของอะโทรปินถูกใช้ขยายม่านตาระหว่างการตรวจตา หากมีความเข้มข้นมากพอมันจะทำให้ตาเบลอ เกิดอาการกระวนกระวายหรือแม้แต่เพ้อ ซึม สับสน หนึ่งในอาการเบื้องต้นของอาการเป็นพิษจากอะโทรปินได้แก่อาการของเหลวที่หลังจากร่างกายแห้งลง เช่น มีอาการปากคอแห้ง คุณสมบัตินี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ โดยแพทย์ใช้อะโทรปินกับผู้ป่วยกรณีที่การหลั่งน้ำลายหรือเมือกอาจรบกวนการผ่าตัด ส่วนไฮออสซีนหรือเป็นที่รู้จักในนามสโคโปลามีน (Scopolamine) ก็มีชื่อเสียงที่ไม่สมควรจะได้รับในฐานะยารีดความจริง

สโคโปลามีนเมื่อนำมาผสมกับมอร์ฟีนถูกใช้เป็นยาระงับความรู้สึกซึ่งรู้จักในนาม “ยาไวไลต์สลีป (Twilight sleep)” แต่การที่ผู้ต้องหาพูดมากเผยความจริงออกมา เนื่องจากผลของมัน หรือเป็นแค่เพียงการพูดอ้อแอ้เรื่อยเปื่อยไร้สาระนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด อย่างไรก็ดี นักเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนมักชอบแนวคิดเกี่ยวกับยารีดความจริงนี้ และมันก็คงถูกกล่าวถึงเช่นนี้เรื่อยไป เช่นเดียวกับอะโทรปืน สโคโปลามีนมีคุณสมบัติต้านการคัดหลั่งและทำให้เคลิบเคลิ้มเป็นสุขหากใช้ในปริมาณไม่สูงนัก มันช่วยป้องกันอาการเมารถ เมาเรือ นักบินอวกาศของสหรัฐอเมริกาใช้สโคโปลามีนรักษาอาการเมาจากการเคลื่อนไหวในอวกาศ

สิ่งที่เรารู้ในปัจจุบันเกี่ยวกับอัลคาลอยด์ทั้งสองชนิดซึ่งได้แก่อะโทรปีนและสโคโปลามีน และคงเป็นสิ่งที่รู้กันดีมากในกลุ่มแม่มดยุโรป คือการที่ทั้งคู่ละลายน้ำได้ไม่ดี นอกจากนี้ เป็นที่รู้กันว่าการกลืนกินสารประกอบนี้เข้าไปอาจนำไปสู่ความตายแทนที่จะส่งผลให้เกิดความเคลิบเคลิ้มมึนเมาตามต้องการ

ดังนั้น สารสกัดของแมนเดรก เบลลาดอน และเฮนเบน จึงถูกนำไปละลายในไขมันหรือน้ำมัน แล้วนำไขผสมสารเหล่านี้ไปทาลงบนผิวหนัง การดูดกลืนตัวยาผ่านผิวหนังถือเป็นหนึ่งในวิธีการมาตรฐานสำหรับส่งตัวยาเข้าสู่ร่างกายในปัจจุบัน เช่นกรณีแผ่นนิโคตินสำหรับผู้พยายามเลิกสูบบุหรีและยารักษาอาการเมารถเมาเรือ ตลอดจนการรักษาโดยการให้ฮอร์โมนทดแทนต่างในทางนี้

ในทางเคมีนั้น คำอธิบายของสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ แท้จริงแล้วเหล่าคนที่ถูกเรียกว่าแม่มด ไม่ได้ขี่ไม้กวาดบินไปเข้าร่วมพิธีกรรมหมู่ การบินได้เป็นแค่เพียงหนึ่งในภาพหลอน เป็นจินตนาการอันเกิดจากอัลคาลอยด์ออกฤทธิ์หลอนประสาท

เออร์กอต อัลคาลอยด์ สารการประกอบอัลคาลอยด์อีกหนึ่งกลุ่มที่มีโครงสร้างค่อนข้างต่างออกไปอาจเป็น แม้ไม่ใช่โดยตรงก็ตาม) ให้เกิดการย่างสดแม่มดนับพันรายในทวีปยุโรป อัลคาลอยด์กลุ่มนี้พบได้ในเชื้อราเออร์กอต Claviceps purpurea ที่เข้าไปติดเชื้อเติบโตในบรรดาพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้าวไรน์ ภาวะพิษจากเออร์กอตคร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดรองลงมาจากแบคที่เรียและไวรัสเออร์โกตามีน (ergotamine) หนึ่งในอัลคาลอยด์เหล่านี้ทำให้หลอดเลือดหดตัว ส่วนเออร์โกโนวีน (ergonovine) เหนี่ยวนำให้เกิดการแท้งลูกในมนุษย์และเหล่าปศุสัตว์ ขณะที่สารชนิดอื่นก่อให้เกิดโรคทางระบบประสาทอาการเนื่องจากเออร์กอติซึม

อาการโดยร่วมที่พบได้คือการชักจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมอง ท้องร่วง เฉื่อยชา มีอาการบ้าคลั่ง ประสาทหลอน แขนขาบิดเบี้ยว อาเจียน กระตุก รู้สึกเหมือนมีอะไรคลานอยู่ตามผิวหนัง ชาตามมือเท้า มีความรู้สึกแสบร้อนซึ่งเพิ่มระดับความเจ็บปวดอย่างรุนแรงเมื่อเกิดแกงกรีนหรือเนื้อเน่าขึ้นมาจากการลดลงของเลือดที่หมุนเวียนไปยังบริเวณนั้น

ในยุคกลางโรคเหล่านี้ถูกรู้จักในหลายชื่อด้วยกัน ตั้งแต่ holy fire, Saint Anthony’s fire, occult fire และ Saint Vitus’ dance การที่ชื่ออาการมีคำว่าเปลวเพลิง หรือ ไฟ (fire) ประกอบอยู่แสดงถึงอาการเจ็บปวด แสบร้อนอย่างรุนแรง และลักษณะผิวสีที่คล้ำลงเนื่องจากการขยายตัวของแกงกรีน บ่อยครั้งที่มันทำให้ผู้ป่วยสูญเสียแขน ขา หรืออวัยวะเพศ

เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ชาวบ้านจำนวนมากถูกคุกคาม โดยภาวะเออร์กอตติซึม ช่วงฝนตกชุกก่อนฤดูเก็บเกี่ยวเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการเติบโตของเชื้อราในข้าวไรน์ การเก็บรักษาที่ไม่ดีของธัญพืชในสภาพอับชื้นช่วยกระตุ้นให้เชื้อเติบโตดีขึ้น แค่เออร์กอตในแป้งสาลีเพียงเล็กน้อยก็เพียงพอจะทำให้เกิดภาวะพิษจากเออร์กอต

ผู้คนในเมืองแสดงอันน่าหวาดกลัวนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดความสงสัยว่าทำไมชุมชนของตนจึงโชคร้าย หากเมืองที่อยู่ติดกันปรากฏสัญญาณของโรคนี้ก็จะดูเหมือนว่าหมู่บ้านถูกเวทมนตร์ต้องคำสาป

 


ข้อมูลจาก :

เพนนี่ เลอ กูเตอร์, เจย์ เบอร์เรสัน-เขียน. ดร. ยุทธนา ตันติรุ่งโรจน์ชัย-แปล. “โมเลกุล” ใน, โมเลกุล เปลี่ยนประวัติศาสตร์ กระดุม นโปเลียน เปลี่ยนโลก, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2556.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 สิงหาคม 2565