“ผีเสื้อ” ผีบรรพบุรุษเก่าแก่ ที่มาของชื่อ “แมลงผีเสื้อ”

อีโมจิ ผี เสื้อ ผีเสื้อ

เคยสงสัยหรือไม่ว่า “ผีเสื้อ” สัตว์ที่มีสีสันลวดลายบนปีกสวยงามชนิดนี้ ทำไมจึงถูกเรียกว่า “แมลงผีเสื้อ” มันเกี่ยวข้องกับ “ผี” อย่างนั้นหรือ?

“เสื้อ” หรือ “ผีเสื้อ” เป็นผีในคติความเชื่อของกลุ่มชนไต-ไท สันนิษฐานว่า ผีเสื้อเป็นผีพื้นเมืองเก่าแก่ในอุษาคเนย์ มีมาก่อนการมาถึงของศาสนาพราหมณ์และพุทธ มีลักษณะเป็น “ผีโลกาภิวัตน์” ประเภทหนึ่งก็ว่าได้ เพราะถูกแปรเปลี่ยนปรับปรุงให้เข้ากับบริบทของสังคมในแต่ละคติความเชื่อ แต่ละพื้นที่ แต่ละยุคสมัย 

ผีเสื้อปรากฏในหลักฐานโบราณหลายประเภท เช่น ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า “พ่อเชื้อเสื้อคำมัน”, ในจารึกปู่ขุนจิดบุนจอด ว่า “(ผี) มัน ทั้งเสื้อใหญ่…”, ในนิทานของไทอาหม กล่าวถึงเทวดานามว่า ปู่ผีเสื้อ, ในไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึง ท้าววิรุฬหกมีบริวารเป็นกุมภัณฑ์และผีเสื้อ หรือคนตายเป็นเปรต พ้นจากเปรตแต่ยังมีเศษบาปอยู่ ต้องกลับมาเป็นผีเสื้ออีกห้าร้อยชาติ, ในคำให้การชุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ว่า “บวงสรวงพระเสื้อเมืองแลเทวดาอันรักษาพระศาสนาจงมาช่วยป้องกันอันตรายบ้านเมือง” 

ผีเสื้อจึงเป็นผีที่ “variety” มาก มีทั้งที่เป็นลักษณแบบผีปู่ผีย่า ผีบรรพบุรุษ ผีอารักษ์ ผีบ้านผีเมือง ฯลฯ แต่ผีเสื้อที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดประเภทหนึ่งก็คือ “เสื้อเมือง”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า ความเชื่อเรื่องเสื้อเมืองทางอุบลราชธานี จะหมายถึง ผีเจ้าต้นสกุล ผู้บูรณะประดิษฐานบ้านเมือง อันเป็นผีบรรพบุรุษที่ปกปักษ์รักษาเมือง ในขณะที่ทางล้านนาเอง ก็มีความเชื่อเรื่องเสื้อเมืองเช่นกัน แต่ไม่ได้มีเฉพาะเสื้อเมืองอย่างเดียว มีเสื้อแยกย่อยอีกหลายประเภท เช่น เสื้อห้วย เสื้อหนอง เสื้อบ้าน เสื้อวัด ฯลฯ 

เสื้อเมืองในทางล้านนามีหน้าที่รักษาเมือง ในวรรณกรรมตำนาน มักเรียกรวมกันว่าเสื้อบ้านเสื้อเมือง เวลาทำศึกสงคราม ก็มักกระทำพิธีพลีกรรมแก่เสื้อบ้านเสื้อเมือง บางครั้งก็กล่าวถึงอานุภาพของเสื้อบ้านเสื้อเมือง หากเซ่นไหว้บวงสรวงดีก็จะได้รับผลดี หากละเลยก็จะเกิดความวิบัติฉิบหาย (เสื้อเมืองของอาณาจักรอื่นหรือเมืองอื่น ๆ ก็มีลักษณะคติความเชื่อคล้ายคลึงกัน)

นอกจากนี้ ในทางล้านนา ผีเสื้อน่าจะเป็นผีที่มีอำนาจเทียบเท่า ยักขะ กุมภัณฑ์ คันธัพพะ และนาคา ซึ่งมีหน้าที่รักษาด่านสวรรค์ ดังมีบันทึกในคัมภีร์อรุณวดี ฉบับวัดมะกับตอง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ระบุให้ผีเสื้อรักษาด่านสวรรค์ชั้นที่ 5 เรียกได้ว่า ผีเสื้อเป็นผีพื้นเมืองมีศักดิ์ศรี และฐานะตำแหน่งเทียบเท่าอมนุษย์ในพุทธศาสนา แถมยังมีสิทธิ์ลงสระอโนดาตอีกด้วย

เสื้อเมืองคงจะเป็นผีบรรพบุรุษที่ได้รับการสถาปนาให้รักษาเมืองมาแต่ดั้งเดิม ต่อมา เมื่อกระแสวัฒนธรรมและศาสนาจากอินเดียแผ่ปกคลุม เสื้อเมืองคงกลายรูปไปเป็นเทวดาอารักษ์ ซึ่งมีหน้าที่รักษาเมือง คล้ายเสื้อเมือง แต่หากพูดถึงอารักษ์มักอ้างถึงหรือเชื่อมโยงถึงพุทธศาสนามากกว่า

กล่าวโดยภาพรวมแล้ว แต่เดิมผีเสื้อคงมีพวกเดียวคือผีเสื้อรวม ๆ เท่านั้น ต่อมาคงเกิดความคลี่คลายเปลี่ยนแปลงในความคิดของผู้คนเกี่ยวกับผีชนิดนี้ ผีเสื้อจึงแตกแขนงไปเป็นชนิดต่าง ๆ 

ส่วนเหตุที่เรียกสัตว์ปีกชนิดหนึ่งว่า “แมลงผีเสื้อ” นั้น เสฐียรโกเศศ หรือพระยาอนุมานราชธน ให้ความเห็นเอาไว้ว่า

“…คราวนี้เรื่องผีเสื้อยังมีต่อไปว่า ทำไมเราเรียกแมลงชนิดหนึ่งว่า ผีเสื้อ จะเป็นคำเดียวกันหรือไม่ ถ้าใช่ทำไมจึงเรียกแมลงชนิดนี้ว่า แมลงผีเสื้อ เพราะแมลงชนิดนี้ในคำเดิมเขาเรียกว่า ตัวเบื้อ หรือแมงเบื้อ 4 ใช้ว่า กะเบื้อ ก็มี เราเรียกสิ่งที่ประดับด้วยมุกและกระจกว่า มุกแกมเบื้อ เบื้อในที่นี้หมายเอากระจกเงา เห็นจะเป็นเพราะกระจกมีแสงและสีเลื่อมพรายเหมือนปีกของตัวเบื้อ จึงได้เอาชื่อนี้มาตั้งให้แก่กระจกว่าเบื้อ

เกี่ยวกับเรื่องผีเสื้อนี้ ท่านผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า ท่านขึ้นไปโคราชคราวหนึ่ง ‘ได้เห็นที่ข้างทางในดงพระยาไฟ มีผีเสื้อมั่วสุมกันเป็นกลุ่ม ๆ เกาะอยู่ก็มาก บินโฉบฉายอยู่ก็มี ที่มันมั่วสุมอยู่นั้นอยู่ต่ำ ๆ นึกอยากรู้ว่ามันตอมอะไร แต่ไปรถไฟซึ่งไม่มีโอกาสจะลงตรวจดูได้ ครั้นไปถึงโคราชจึงถามเขา แต่ได้ความไปเสียทางหนึ่ง ว่าพวกโคราชกลัวผีเสื้อกันนัก ถือกันว่าผีเสื้อมั่วสุมกันอยู่ที่ไหน เป็นเครื่องหมายว่า ที่นั่นมีโรคภัยไข้เจ็บ คนเดินทางเห็นผีเสื้อเข้าที่ไหน ก็รีบเดินทางหนีไปเสียให้พ้น ไม่มีใครกล้าจะหยุดยั้ง โดยนัยนี้จะว่าผีเสื้อเป็นเชื้อผี คือ ผีเชื้อโรคได้บ้างกระมัง’

ที่ผีเสื้อมัวสุมจับกลุ่มกันในดง มีผู้บอกข้าพเจ้าว่า มันจับกลุ่มตอมกินน้ำค้าง และมีคติทางภาคอีสานว่า ถ้าผีเสื้อบินมามากเป็นกลุ่ม ๆ คือแสดงเป็นลางร้ายบอกให้รู้ว่าจะมีเหตุเภทภัย เช่นเกิดไข้เจ็บเป็นโรคระบาดขึ้น เป็นต้น ชาวอีสานจึงหวั่นหวาดเมื่อเห็นผีเสื้อจับกลุ่มกันมาก ๆ เพราะลักษณะเช่นนี้มักมีแต่ในป่าในดงซึ่งมีไข้ชุมยิ่งกว่าที่อื่น…”

ทั้งนี้ คำว่า แมลงผีเสื้อ เป็นคำศัพท์ภาษากลาง เพราะทางภาคเหนือเรียก กำเบ้อ และทางภาคอีสานเรียก กะเบี้ย กะเบื้อ เหตุที่เรียกแมลงผีเสื้อว่าผีเสื้อนั้น จึงน่าจะสืบทอดแนวคิดมาจากความเชื่อที่ว่า “ผีเสื้อ” หรือวิญญาณของผู้ตาย จะสิงอยู่ในตัว “แมลงผีเสื้อ” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

เสฐียรโกเศศ. “เรื่อง ผีสางเทวดา”, พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพ นางเฮียะ เสฐียรโกเศศ ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม 1 พฤษภาคม 2495.

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล. “เสื้อเมืองทรงเมือง : จากผีบรรพบุรุษสู่เชษฐบิดร,” ใน ผี ในหลักฐานคนตายและคนเป็น. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557.

มาลา คำจันทร์. “เล่าเรื่องผีล้านนา”, กรุงเทพฯ : มติชน, 2544.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 เมษายน 2566