ผู้เขียน | นารีรัตน์ จำปาเฟื่อง |
---|---|
เผยแพร่ |
กระสือ-กระหัง “คู่จิ้น” ผีไทยสมัยโบราณ
กระสือ-กระหัง เป็นผีที่คนไทยน่าจะคุ้นเคยมากที่สุด และได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง เช่น กระสือสยาม, แสงกระสือ ซึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับ “ผีไทย” บางเรื่องมาแรงจนต้องทำภาคต่อ สะท้อนให้เห็นว่าแม้โลกจะเข้าสู่ยุคดิจิทัล แต่ตำนานความเชื่อพื้นบ้านของไทยก็ยังคงอยู่คู่สังคมมาโดยตลอด โดยเฉพาะกระสือและกระหัง “คู่จิ้น” ผีไทยสมัยโบราณ ที่หยิบยกมาเล่าขานเมื่อไหร่ก็ได้รับความสนใจเสมอ
ผีคู่รัก “กระสือ-กระหัง” ถือเป็นผีเก่าแก่แต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา มีปรากฏหลักฐานในกฎหมายตราสามดวง ผีทั้ง 2 ชนิดเป็นผีในคติความเชื่อของคนไทยภาคกลาง และยังอยู่ในความรับรู้ของคนไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีการนำเรื่องเล่าผีดังกล่าวมาสร้างสรรค์เป็นวรรณกรรมและภาพยนตร์หลายเรื่อง โดยนิยมนำเรื่องผีกระสือมาเล่ามากกว่าผีกระหัง
ก่อนจะเข้าเรื่องความรักของสองผี ในที่นี้จะพาไปทำความรู้จัก กระสือ และกระหัง พอสังเขปก่อน
[ส่วนต่อไปนี้เป็นการคัดย่อและสรุปเนื้อหาบางส่วนจากบทความของ ผศ.ดร. อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ชื่อ “กระสือ” แฟน “กระหัง” ความหลังของคู่รักผีไทย (อ่านฉบับเต็มได้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2566)]
ผีกระสือ (ฝ่ายหญิง)
ผีกระสือเป็นผีเก่ามาแต่ครั้งกรุงเก่าใน กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่าถ้ามีคำฟ้องร้องเรียนและพบว่าเป็นผีดังมีรายชื่อดังต่อไปนี้จะไม่รับฟ้องให้ยกฟ้อง ดังปรากฏข้อความว่า “ถ้าเปนสัจว่าเปนกระสือกระหางจะกละจริงไซร้” ซึ่งกล่าวถึงผีกระสือ ผีกระหัง และผีจะกละ
พระยาอนุมานราชธน หรือ เสฐียรโกเศศ อธิบายไว้ในหนังสือผีสางเทวดา ว่า ชื่อกระสือนี้เป็นชื่อผีที่ชาวภาคกลางรับรู้กัน เป็นผีผู้หญิง (ในภาคกลางไม่ปรากฏว่าเป็นผีผู้ชาย) โดยมากมักเป็นยายแก่ ชอบกินของสดของคาวและชอบออกหากินในเวลากลางคืน ดึกๆ เวลาเคลื่อนที่ไปจะมีแต่หัวและตับไตไส้พุงเท่านั้น ส่วนร่างกายไม่ไปด้วยคงทิ้งไว้ที่บ้าน เมื่อไปจะเห็นเป็นดวงไฟเป็นแสงเรืองวาบๆ สีเขียวเป็นดวงโต
หากใครเพิ่งคลอดลูกใหม่ๆ ถ้าผีกระสือได้กลิ่นสดคาวก็จะไปกินหญิงคลอดลูก หรือไม่ก็กินเด็กแรกเกิดเสีย เหตุนี้ตรงใต้ถุนเรือนที่มีร่องถ่ายอุจจาระปัสสาวะ โบราณมัก “สะ” คือสุมด้วยหนามพุทราเพื่อให้ผีกระสือไม่กล้าเข้าไปใกล้ เพราะกลัวหนามจะเกี่ยวไส้
ผีกระสือชอบกินอาจม (อุจจาระ) หากกินแล้วมันเห็นผ้าของใครตากทิ้งค้างคืนไว้ ก็เอาผ้านั้นเช็ดปากของมันที่เปื้อนอุจจาระ ตื่นเช้าจะเห็นผ้าที่ตากไว้มีรอยเปื้อนเป็นดวงๆ ถ้าเอาผ้านั้นไปต้ม ผีกระสือจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อนปาก ทนไม่ไหวต้องมาขอร้องไม่ให้ต้มผ้านั้นอีกต่อไป
เสฐียรโกเศศ มีคำอธิบายเรื่องผ้าเช็ดปากกระสือไว้ว่า ที่ผ้ามีรอยเปื้อนมักมีในหน้าฝน คงเนื่องจากผ้าเกิดเป็นราขึ้น ที่ว่าถูกผีกระสือเช็ดปากก็เป็นการดี จะได้ไม่เผอเรอทิ้งผ้าที่ตากไว้จนค้างคืน
คำว่ากระสือนี้เป็นคำเรียกเฉพาะถิ่นของชาวภาคกลาง ในภาคเหนือและอีสานจะเรียกผีที่ชอบกินของสดของคาวและออกหากินเวลากลางคืน ไปไหนมีแสงแวมๆ เป็นดวงเช่นเดียวกับผีกระสือนี้ว่า “ผีโพง” หรือโพลง โดยผีโพลงกับผีกระสือจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่จัดอยู่ในผีพวกเดียวกัน ซึ่งจุดที่ทำให้ต่างกันอย่างชัดเจนคือ ผีกระสือจะมีแต่ผีผู้หญิงเท่านั้น ส่วนผีโพลงไม่ได้มีการระบุเพศไว้
ผีกระหัง (ฝ่ายชาย)
ผีกระหัง โบราณเรียกว่า กระหาง เป็นผีผู้ชาย คู่กับผีกระสือซึ่งเป็นผู้หญิง เป็นผีเก่าที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง เช่นเดียวกับผีกระสือ นับเป็นผีคู่บุญกันมา กระหังเป็นผีที่พบเฉพาะในภาคกลางและไม่พบในชาติอื่นๆ นับเป็นผีที่แสดงเอกลักษณ์ของไทยที่สะท้อนวัฒนธรรมข้าวได้อย่างดี เพราะมีทั้งปีกที่ใช้กระด้งฝัดข้าว และพาหนะคือสากตำข้าว แต่ด้วยความที่เป็นผีเฉพาะถิ่น ทำให้ไม่มีข้อมูลกล่าวถึงมากนัก
เสฐียรโกเศศ กล่าวว่า ผีชนิดนี้ไม่มีใครทราบเรื่องมันมากนัก รู้แต่ว่ารูปร่างก็เป็นคนเหมือนกัน แต่ว่ามีหางอยู่ที่ก้น เพราะฉะนั้นจึงระวังก้นของมันนัก ไม่ยอมให้ใครลูบก้นเพราะกลัวจะคลำถูกหางและรู้ว่าเป็นกระหัง ตรงกันข้ามกับผีกระสือซึ่งชอบลูบก้นคน ผีกระหังนั้นแม้มันมีหาง มันยังใช้สากต่างหางอีกชั้นหนึ่ง แล้วเอากระด้งทำปีก บินไปได้ในเวลากลางคืน ส่วนเรื่องที่จะทำอันตรายคนอย่างไรไม่ปรากฏ
ปัจจุบันเล่ากันว่า ผีกระหังจะเป็นผู้ที่เล่นไสยศาสตร์ เมื่อไม่สามารถควบคุมอาคมได้ก็จะเข้าตัวและกลายเป็นผีกระหัง หรือเป็นชายที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้กับครูบาไสยศาสตร์ แล้วทำผิดคำสัญญาจึงกลายเป็นผีกระหัง กระหังเป็นผีที่ชอบเก็บตัว อยู่ในที่ที่มีหน้าต่างปิดมิดชิดและมืดทึบ ในกลางวันจะทบทวนวิชาไสยศาสตร์ที่เล่าเรียนมา พอตกกลางคืนจะออกหากิน
ด้วยเหตุที่ผีกระหังเกิดจากผู้มีความเก่งกล้าในคาถาอาคมต่างๆ รวมทั้งไสยศาสตร์มนต์ดำมากมาย จึงทำให้เมื่อกลายมาเป็นผีกระหังแล้วก็จะมีผู้ต้องการจับผีกระหัง โดยเฉพาะผู้มีวิชาอาคมทั้งหลาย ดังนั้น กระหังจึงมักถูกล่าจากหมอผี เพื่อขโมยวิชาของกระหังมาเป็นของตัวเอง
ผีคู่จิ้น “กระสือ-กระหัง”
ความรับรู้เรื่องความรักของ “กระสือ-กระหัง” มีมานานแล้ว แต่ไม่พบหลักฐานที่บันทึกแน่ชัด ในวรรณกรรมเรื่อง พล นิกร กิมหงวน ตอนผีกะสือ มีกล่าวถึงเหตุการณ์ที่บ้านพัชราภรณ์ เป็นเหตุการณ์ที่คู่สามีภรรยา คือเจ้าคุณประสิทธิ์กับคุณหญิงวาด ต่างสงสัยซึ่งกันและกัน โดยเจ้าคุณประสิทธิ์สงสัยว่าคุณหญิงวาดเป็นกระสือ ส่วนคุณหญิงวาดสงสัยว่าเจ้าคุณประสิทธิ์เป็นกระหัง สะท้อนว่าในความเป็นสามีภรรยา เมื่อจะกลายเป็นผีก็ยังเป็นผีคู่รัก “กระสือ-กระหัง” อีก
การคลุมถุงชนผีกระสือและกระหังให้รักกันนั้น มีจุดที่น่าสนใจคือ ผี 2 ชนิดนี้เป็นผีเฉพาะถิ่นภาคกลางไม่พบในภาคอื่น (ภายหลังมีการนำเสนอในสื่อต่างๆ ทำให้ผีภูมิภาคยกระดับเป็นผีระดับชาติในที่สุด) และโดยเฉพาะลักษณะของผีกระสือที่มีในภาคอื่น แต่อาจเรียกชื่อต่างกันนั้นก็พบเพศชายด้วย ในขณะที่ภาคกลางจำกัดไว้เฉพาะเพศหญิง ในเบื้องต้นจึงกล่าวได้ว่าคนไทยภาคกลางเป็น “แม่สื่อ” ของความรักครั้งนี้นั่นเอง
ในสมัยใหม่มีเรื่องเล่าว่าผีกระสือกับผีกระหัง เดิมเป็นคู่รักกันมาก่อน ต่อมาทั้งคู่ได้รับถ่ายทอดความเป็นผีผ่านทางน้ำลายมาจากแหล่งเดียวกัน แต่ออกฤทธิ์ต่างกัน ผู้หญิงกลายเป็นกระสือ ส่วนผู้ชายกลายเป็นกระหัง
ลักษณะร่วมของผีทั้งสองที่นำมาสู่เส้นทางรักครั้งนี้ที่เห็นชัดเจนคือ เป็นผีในภาคกลางที่เป็นคำ 2 พยางค์ ชื่อขึ้นต้นด้วย “กระ” เหมือนกัน ซึ่งน่าจะเป็นคำที่เติมเสียงหน้าเข้ามาภายหลัง พระยาอนุมานราชธน กล่าวถึงเรื่องนี้ในหนังสือนิรุกติศาสตร์ อธิบายว่า
“คำเติมเสียงหน้า (Prosthesis) ซึ่งมีอยู่พวกหนึ่งที่แยกส่วนคำผิด (Wrong Division of Words) และออกเสียงตัวสะกดของคำหน้าให้เป็นเสียงระเบิด (explosion) แทนที่จะให้เป็นเสียงอุบ (implosion) ก็มีเสียงเสียดแทรกเข้ามาในระหว่างกลางเสียงหนึ่ง และมักจะมีแก่คำที่เป็นแม่กก เช่น ผัก…กะเฉด กะโฉม กะชาย กะพังโหม กะสัง, นก…กะจับ กะจาบ กะจอก กะทุง กะทา กะยาง กะสา, ลูก…กะดุม กะเดือก กะสุน คำเหล่านี้เติม กะ เข้ามา เพราะด้วยอิทธิพลของเสียงตัวสะกดของคำหน้า
“คำที่เติม กะ ต่อมาอาจเป็น กระ เพื่อความไพเราะของเสียงก็มี แล้วคำเหล่านี้มีอิทธิพลไปถึงคำอื่นด้วย ซึ่งไม่เกี่ยวกับเสียงตัวสะกดของคำหน้า เช่น ดูก-กระดูก เอว-กระเอว ที่เกิดมี กะ ขึ้นเช่นนี้ เป็นด้วยได้แนวเทียบมาจากข้างต้น เรียกในตำรานิรุกติศาสตร์ในภาษาอังกฤษว่า Arbitrary prefixing of a consonant คือ เติมพยัญชนะลงไปดื้อๆ โดยไม่มีเหตุผล”
นอกจากชื่อที่ขึ้นต้นด้วย “กระ” เหมือนกันแล้ว ยังพบความคล้ายคลึงถึงคุณสมบัติพิเศษ คือ การบินหรือลอยตัวได้ รวมถึงยังออกหากินตอนกลางคืนเหมือนกัน อีกทั้งเมนูโปรดที่เหมือนกัน ทำให้ไม่มีปัญหาเวลาออกเดต ทั้งนี้ในเวลากลางวันผีกระสือและผีกระหังจะมีร่างเหมือนมนุษย์ปกติ แต่มีนิสัยเก็บตัว ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาในความสัมพันธ์ฉันท์คู่รัก แม้กลางคืนจะถอดหัวกับไส้ไป แต่เมื่อหมดเวลาทำการก็กลับเข้าร่างปกติดังเดิม
ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน นิสัยชอบจับคู่ของคนไทยก็แทรกซึมอยู่ในทุกมิติ แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ถึงขั้นจับคู่ให้กับผี เพราะหากมองย้อนไป เรื่องเพศในพิธีกรรมและวัฒนธรรมต่างๆ โดยเฉพาะในคติชาวบ้าน มักยึดโยงมนุษย์กับความสมดุลระหว่างชายหญิงจึงจะถือว่าสมบูรณ์ นั่นอาจเป็นคติที่ใช้มองว่าผีก็ควรมีคู่เช่นเดียวกัน
อ่านเพิ่มเติม :
- ปอบ ผีปอบเป็นอย่างไร? เกิดจากไหน? การไล่-กำจัดปอบทำอย่างไร?
- แฟนมาจากไหน? คนไทยเรียกคนรักว่า “แฟน” ตั้งแต่เมื่อไหร่?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ผศ.ดร. อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. “กระสือ” แฟน “กระหัง” ความหลังของคู่รักผีไทย ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2566
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2566