หลากวิถีหลากวัฒนธรรม “ผี” กับกรณี “บนบานศาลกล่าว” สะท้อนคอร์รัปชันในสังคมไทย?

รูปปั้นแม่นากพระโขนงภายในศาลแม่นาก ข้างป่าช้าวัดมหาบุศย์ เอนก นาวิกมูล ถ่ายเมื่อยังอยู่ในศาลที่มุงหลังคาด้วยสังกะสี วันอาทิตย์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๑ (ภาพจาก “เปิดตำนานแม่นากพระโขนง” โดย เอนก นาวิกมูล. พ.ศ. ๒๕๔๙)

“ผี” สิ่งเร้นลับในคติความเชื่อของมนุษย์มาทุกยุคสมัยนับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบันก็ยังมีความเชื่อเรื่องผีกันมาตลอด ความเชื่อนี้ปรากฏในทุกวัฒนธรรมทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียก็มีความเชื่อเรื่อง “เดือนผี” ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่ามนุษยชาติต่างก็มี “ผี” เป็นวัฒนธรรมร่วมมาโดยตลอด

ในงานเสวนา “ล้อมวงเสวนาว่าด้วยเดือนผีออก : เห็นผี เห็นประเพณี เห็นผู้คน” มีวิทยากรคือ อาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร และกูรูวัฒนธรรมผีในอินเดีย, อาจารย์เศรษฐพงษ์ จงสงวน นักวิชาการด้านจีนศึกษาและกูรูวัฒนธรรมผีจีน และคุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักเขียนสารคดีและกูรูวัฒนธรรมผีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2562 ณ ไทยพีบีเอส

วิทยากรทั้งสามท่านมีมุมมองที่คล้ายกันว่า “ผี” เป็นสิ่งที่มีขึ้นเพื่อจุดประสงค์บางประการ กำเนิดและเกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง สำหรับคำถามที่ว่า “ผีมาจากไหน?” คุณนิพัทธ์พรแสดงทรรศนะว่า มนุษย์มีความเชื่อเรื่องผีมาจากความสามารถในการรับรู้และการหยั่งถึงด้วยจิตในการสัมผัสถึงพลังงานที่อยู่ในธรรมชาติแล้วจึงแพร่ความเชื่อเรื่องผีนี้ถึงคนอื่น ๆ 

“ถ้ามันไม่มีจริงแล้วทำไมทุกชาติเชื่อในสิ่งเดียวกัน” คุณนิพัทธ์พรกล่าว

อ.คมกฤช กล่าวว่า ศาสนาผีก็คือศาสนาก่อนยุคประวัติศาสตร์ ที่มาพร้อมมนุษยชาติซึ่งมีความเชื่อในธรรมชาติอยู่แล้ว ความคิดเหล่านี้เชื่อว่ามีอยู่ในตัวมนุษย์มานานแล้วเพราะมนุษย์ในอดีตนั้นมีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติอย่างมาก สิ่งเหล่านี้จึงเป็นพื้นฐานของมนุษยชาติมายาวนาน เป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้จิตใต้สำนึก “ความเชื่อเรื่องผีนี้มาพร้อมกับมนุษยชาติ” อ.คมกฤช กล่าว ขณะที่ อ.เศรษฐพงษ์ เห็นสอดคล้องว่าความเชื่อเหล่านี้มาพร้อมกับการกำเนิดของมนุษย์เช่นกัน

ความเชื่อเรื่องผีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และจีน โดยส่วนใหญ่แล้วจะสะท้อนผ่านวัฒนธรรมและพิธีกรรมในการบูชาเซ่นไหว้ โดยเฉพาะเทศกาลใน “เดือนผี” เหตุที่ต้องมีช่วงเวลาเซ่นไหว้ผีสืบเนื่องจากเป็นช่วงเวลาของฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิต ในทุกวัฒนธรรมดังกล่าวจะมีการเซ่นไหว้บูชาเพื่อความสิริมงคลและตอบแทนแก่ผี ซึ่งมักตรงกันช่วงเดือนสิบตามปฏิทินจันทรคติ ยกเว้นแต่ในจีนจะตรงกับเดือนเจ็ด โดย อ.เศรษฐพงษ์ อธิบายว่า จีนมีฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ต่างจากที่อื่นจึงมีเดือนผีขึ้นก่อน แต่เชื่อว่าหากฤดูกาลตรงกันกับวัฒนธรรมอื่น เป็นไปได้ว่าจะมีเดือนผีตรงกันกับอินเดียและไทย

ในประเทศไทยนั้นปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับผีเป็นภาพเอกซเรย์เขียนสีโดยมนุษย์ยุคโบราณอายุกว่าสองพันปีที่เขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี และเขาผีหัวโต จังหวัดกระบี่ และยังมีภาพแบบนี้ที่ปรากฏบนผนังถ้ำทั่วโลกมีอายุนับหมื่นนับพันปี คุณนิพัทธ์พร ได้ยกคำกล่าวของ โกวิท เขมานันทะ บอกว่า เชื่อว่าคนก่อนประวัติศาสตร์ หรือชนเผ่าต่าง ๆ ได้ปฏิบัติตัวอย่างเข้มข้นจนได้ปัญญาญาณและได้ถ่ายทอดนิมิตรนั้นออกมา สำหรับผีไทยไม่ได้มีเฉพาะผีบรรพบุรุษเท่านั้น จะมีผีทางวิชาชีพ เช่น โนรา หนังตะลุง ตีดาบ ทำหม้อ จะมีผีเป็นครู และต้องไหว้ผีหรือไหว้ครูกัน และจะทิ้งผีเหล่านั้นไม่ได้เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดหายนะ

สำหรับผีจีนจะผูกพันผับผีบรรพบุรุษเสียเป็นส่วนใหญ่ สะท้อนผ่านพิธีกรรมในวันสารทจีนซึ่งเป็นเดือนผี นอกจากนี้ยังมีขอพรผีบรรพบุรุษในช่วงต้นปีหรือช่วงวันตรุษจีน และในปลายปีก็มีการเซ่นไหว้ขอบคุณผีบรรพบุรุษ ด้วยเหตุที่พื้นฐานความคิด สังคม และวัฒนธรรมจีนผูกพันกับระบบครอบครัวขนาดใหญ่จึงทำให้ผีบรรพบุรุษจีนมีความสำคัญอย่างมาก

อ.เศรษฐพงษ์ กล่าวถึงผีอีกแบบหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือผีเทพเจ้า เช่น กวนอู เจ้าแม่มาจู่หรือเจ้าแม่ทับทิม และหมอฮัวโต๋ เป็นต้น ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีตัวตนจริง และนับว่าเป็น “ผี” ที่ถูกเลื่อน-ยกสถานะให้เป็นเทพเจ้า ซึ่งล้วนแต่มีความพิเศษบางอย่างที่สามารถดลบันดาลพรให้ผู้กราบไหว้บูชาได้สมดังปรารถนา อ.เศรษฐพงษ์ ได้ยกตัวอย่างผีคนสำคัญคนหนึ่งคือ “เทพจงขุย”

ตำนานเล่าว่า จงขุย เป็นบัณฑิตผู้มาสอบจองหงวนในสมัยราชวงศ์ถัง แต่ท่านมีรูปอัปลักษณ์ ฮ่องเต้จึงไม่โปรดจึงไม่ได้เป็นจองหงวน จงขุยเสียใจเดินลงจากท้องพระโรงตกบันไดเสียชีวิต ภายหลังมีวิญญาณมาอาละวาดฮ่องเต้ วิญญาณของจงขุยจึงมาช่วยปราบ ฮ่องเต้จึงยกสถานะของจงขุยเป็นเทพเจ้าและให้ใส่ชุดขุนนางสีแดงเหมือนชุดจองหงวน และกลายเป็นเทพเจ้าปราบผีในที่สุด อ.เศรษฐพงษ์ อธิบายเพิ่มว่า ชาวจีนนิยมไหว้เทพเจ้าจงขุยมาก มักนำรูปเทพเจ้าจงขุยมาติดไว้หน้าบ้านหรือบูชาในช่วงเทศกาลบ๊ะจ่าง ซึ่งตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติถือว่าเป็นวันแรง เชื่อว่าจะช่วงป้องกันสัตว์มีพิษหรือสิ่งไม่ดีที่อาจเข้าสู่บ้านเรือน

สำหรับผีในอินเดียนั้น ผีปรากฏในยุคก่อนที่ศาสนาพราหมณ์และพุทธจะมีอิทธิพล แต่ผีของอินเดียในปัจจุบันก็อยู่ในรูปศาสนาพราหมณ์ฮินดู เช่น เทพเจ้าพื้นบ้าน และผีที่สำคัญของอินเดียก็คือผีบรรพบุรุษ พิธีเกี่ยวกับบรรพบุรุษจะทำพิธีให้ 3 รุ่นก่อนเท่านั้น คือ รุ่นพ่อ รุ่นปู่ และรุ่นทวด หากรุ่นปัจจุบันเสียชีวิตเชื่อว่า คนรุ่นทวดจะกลายเป็นเทพเจ้า จะไม่ทำพิธีให้ผีรุ่นทวดอีก

โดยชาวอินเดียจะไปที่แม่น้ำคงคา ตำบลคยา เพื่อเซ่นไหว้บูชาอุทิศอาหารให้บรรพบุรุษ โดยผู้ชายจะโกนหัวสวมชุดขาวเป็นสัญลักษณ์การไว้ทุกข์และความบริสุทธิ์ จะมีการกรวดน้ำถวายข้าวบิณฑ์ ซึ่งเป็นก้อนข้าวปั้นมอบให้บรรพบุรุษ โดยจะโยนให้อีกากินซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของบรรพบุรุษ นอกจากนี้ผีบรรบุรุษของอินเดียมีสถานะแฝงอีกประการคือเป็นเจ้าที่เจ้าทางด้วย 

(จากขวา) คุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว, อาจารย์เศรษฐพงษ์ จงสงวน และอาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (ภาพจาก ไทยบันเทิง ThaiPBS)

ความเชื่อเรื่องผีที่ถูกถ่ายทอดผ่านพิธีกรรมจนกลายเป็นวัฒนธรรมในหลาย ๆ เชื้อชาตินั้น นอกจากจะเป็นเรื่องวิถีชีวิตแล้วยังเกี่ยวข้องกับการเมืองอีกด้วย คุณนิพัทธ์พร ชี้ประเด็นว่า ในวัฒนธรรมไทยมักใช้พิธีกรรม ประเพณี เนื่องในศาสนาหรือผีจะใช้เป็นแหล่งชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐอันไม่เป็นธรรม หากมองในมิติประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยาที่ปรากฏการก่อกบฏอยู่เสมอ การส่องสุมกำลังก็นิยมปรึกษาชุมนุมกันในวัดหรือแหล่งพบปะเนื่องในประเพณีหรือพิธีกรรมเกี่ยวกับผีหรือศาสนา เช่น ศาลากลางบ้าน คือการเชิญพระมาเทศน์ ซึ่งรวมผู้คนมากหน้าหลายตาจากหลายชุมชน จึงไม่ดูเป็นที่ผิดสังเกตหากจะทำการวางแผนหรือซ่องสุมกำลัง

อ.คมกฤช กล่าวว่า การนิยามว่าสิ่งใดงมงายเป็นเรื่องยาก “เพราะภายใต้กรอบเกณฑ์ที่เรามองโลกผ่านกรอบบางอย่างที่เราจะไปจะตัดสินอย่างอื่นว่าไม่ใช่ ผมเชื่อว่าผีมีภูมิปัญญาแบบผี พุทธมีภูมิปัญญาแบบพุทธ และพราหมณ์มีภูมิปัญญาแบบพราหมณ์ และมันไม่ได้มีอันไหนดีกว่าอันไหน… สมมุติเราไปบนบานศาลกล่าวหรือเห็นข่าวชาวบ้านไปอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สำหรับผมบางทีมันไม่ได้เป็นแค่เรื่องของความงมงาย มันเป็นวิถีชีวิตของเขา มันมีเงื่อนไขหลายอย่างที่เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าทำไมเขาทำแบบนั้น…”

นอกจากนี้ประเด็นที่ อ.คมกฤช สนใจคือ การบนบานศาลกล่าวเป็นสิ่งที่สะท้อนสังคมไทยอย่างมากในเรื่องของการคอร์รัปชั่น ประเด็นนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่ามีความเหมือนกันอย่างมาก ยกตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่ายคือ นาย ก. ต้องการให้ลูกชายเรียนในโรงเรียนดังแห่งหนึ่ง แต่จำต้องจ่าย “ใต้โต๊ะ” ให้ผอ. ซึ่งอาจมาในรูปแบบของ “ซอง” หรือ “กระเช้า” หรือตามแต่สิ่งที่ผอ. ร้องขอ เพื่อแลกกับลูกชายได้เข้าเรียน ซึ่งถือเป็นการติดสินบน

กลับกันหาก นาย ก. มีความต้องการดังกล่าวแต่ทำการ “บนบานศาลกล่าว” กับศาลเจ้า เจ้าที่ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้ลูกชายของตนเข้าเรียนในโรงเรียนแห่งนั้นได้โดยแลกกับ “ใต้โต๊ะ” ซึ่งอาจมาในรูปแบบของ “คณะนางรำ” “ม้าลาย” “ไข่ต้ม” “พวงมะลิ” หรือตามแต่สิ่งที่ “ท่าน” โปรดปราน 

ทั้งสองกรณีนี้แตกต่างกันอย่างเดียวคือ ผู้รับใต้โต๊ะ แบบหนึ่งเป็นคน แบบหนึ่งเป็นผี ฉะนั้นการบนบานศาลกล่าวจึงไม่แตกต่างจากการติดสินบน และล้วนสะท้อนการคอร์รัปชันในสังคมไทยทั้งสิ้น

อ.เศรษฐพงษ์ กล่าวถึงในประเด็นนี้ว่า สำหรับชาวจีนจะบนบานเช่นกันแต่จะทำเป็นระบบคือ ต้นปีขอพร ปลายปีขอบคุณ ทำกันเป็นประเพณีด้วยเงื่อนไขของผลผลิต หากได้มากก็เลี้ยงมาก และเงื่อนไขของหน้าตาและฐานะในสังคมของครอบครัวและชุมชน อ.เศรษฐพงษ์ มองว่าเรื่องเรานี้เป็นเรื่องของสังคมมากกว่าจะเป็นเพียงแค่เรื่องความเชื่ออย่างเดียว

คุณนิพัทธ์พรกล่าวปิดท้ายว่า “…จากเดิมที่ผีเคยสนับสนุนอุดมคติในการบรรลุธรรมของคนไทย หากตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาที่รับวัฒนธรรมตะวันตก วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ คนไทยมุ่งแต่จะรวย ผีก็ไปสนับสนุนซัพพอร์ตการถูกหวยหรือเรื่องใด ๆ ที่เกิดขึ้นในไทยไปจบลงที่เล่นหวยได้เสมอ จึงบอกอย่างหนักแน่นได้เลยว่า

ผีคือเสาเข็มอันเป็นฐานรากในชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ศรัทธา ความเชื่อ ให้กับคนไทยทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น ทุกวิชาชีพ ทุกอุดมการณ์ ทุกยุคทุกสมัย ผีสนับสนุนได้หมด จะหาอะไรมามหัศจรรย์เท่าผีไม่มีอีกแล้ว”

คลิกรับชมคลิปการเสวนาที่นี่

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กันยายน 2562