จาก “เสียม (สยาม)” สู่ “ไถ (ไทย)” : บริบทและความหมายในการรับรู้ของชาวกัมพูชา

ภาพสลักรูปกองทัพสฺยำกุก ที่ผนังระเบียงปราสาทนครวัดด้านทิศใต้ปีกตะวันตก เดิมมีข้อความจารึกว่า "เนะ สฺยำกุก" ปัจจุบันถูกกะเทาะหลุดหายไปแล้ว (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2552)

บทนำ

ในการรับรู้ของชาวกัมพูชาคำภาษาเขมรที่ใช้เรียก “คนไทย” และ “ประเทศไทย” มี 2 คำ คำแรกคือ คำว่า “เสียม” (ออกเสียงว่า “เซียม” ตรงกับคำว่า “สยาม”) คำนี้เป็นคำโบราณที่ปรากฏหลักฐานการใช้มาตั้งแต่สมัยหลังพระนครเป็นอย่างน้อยและเพิ่งมีการเปลี่ยนเป็นคำว่า “ไถ” (ออกเสียงว่า “ไท” ตรงกับคำว่า “ไทย”) เช่นเดียวกับคำเรียกชื่อประเทศไทย ซึ่งแต่เดิมในภาษาเขมรใช้ว่า “เสียม” (ตรงกับคำว่า “ประเทศสยาม”) แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “ไถ” ซึ่งคือคำเดียวกับคำว่า “ไทย” นั่นเอง

หากพิจารณาโดยผิวเผิน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงคำเรียกชื่อประเทศไทยและคำเรียกชื่อคนไทยจากคำว่า “เสียม” มาเป็น “ไถ (ไท)” ก็ไม่น่าจะมีประเด็นปัญหาอะไรมากนัก แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อในภาษาเขมรมีคำเรียกคนไทยและประเทศไทยถึง 2 ศัพท์ แล้วทั้ง 2 คำนี้ในการรับรู้ของชาวกัมพูชามีบริบทในการใช้และความหมายที่เหมือนกันหรือไม่อย่างไร เนื่องจากหากบริบทของการใช้คำและความหมายมีความแตกต่างกัน ย่อมส่งผลต่อความรับรู้ความเข้าใจของผู้รับสารชาวกัมพูชาที่น่าจะมีความแตกต่างกันตามไปด้วย

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับบริบทการใช้และความหมายของคำเรียกชื่อคนไทย และประเทศไทยในภาษาเขมรปัจจุบัน ผู้เขียนจึงขอนำเสนอที่มาของคำว่า “เสียม” และ “ไถ (ไท)” ซึ่งเป็นภาษาเขมรที่ใช้เรียกชื่อประเทศไทยและคนไทยทั้ง 2 คำนี้ก่อน แล้วจึงอภิปรายถึงบริบทของการใช้และความหมายที่แตกต่างกันของคำทั้ง 2 ศัพท์นี้ต่อไปตามลำดับ

1. “เสียม (สยาม)” ในการรับรู้ของกัมพูชา

คำว่า “เสียม” ปรากฏหลักฐานการอ้างถึงในภาษาเขมรตั้งแต่ในศิลาจารึกของเขมรโบราณ ดังปรากฏหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของคำนี้ในศิลาจารึกอังกอร์โบเร็ย K. 557 และ 600 ซึ่งจารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1154 กล่าวถึงชื่อทาสว่า “กุ สฺยำ” [1] แปลว่า “นาง (กุเป็นคำนำหน้าเรียกทาสหญิงในสมัยก่อนพระนคร) สฺยำ (เสียม)”

ในศิลาจารึกตาแก้ว K. 79 ของพระเจ้าภววรมันที่ 2 ตรงกับ พ.ศ. 1182 แต่เขียนตามอักขรวิธีของภาษาเขมรสมัยก่อนพระนครว่า “สฺยำ” ดังความในจารึกว่า “แสฺรอํโนยโปญสฺยำ” [2] แปลว่า “นาที่ให้โปญ (ยศขุนนาง) ชื่อ สฺยำ (เสียม)” นอกจากนี้ยังพบชื่อทาสผู้หญิงในจารึกสมัยก่อนพระนครเช่นเดียวกันใช้ชื่อว่า “สฺยำ” ดังข้อความในจารึกว่า “กุ สฺยำ 1 โกน” [3] แปลว่า “นางสฺยำ (เสียม) 1 ลูก 1” เป็นต้น

นอกจากนี้ในศิลาจารึกเขมรสมัยพระนครยังปรากฏการใช้คำว่า “สฺยำ” หลายแห่ง เช่น ในจารึกที่ระเบียงปราสาทนครวัด ที่มีข้อความว่า “เนะ สฺยำกุก” [4] แปลว่า “นี่สฺยำกุก (เสียมกุก?)” และ “อฺนกฺ ราชการฺยฺย ภาค ปมญฺ เชง ฌาล ต นำ สฺยำ กุกฺ” ซึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ แปลไว้ว่า “ข้าราชการฝ่ายทหารพรานแห่งเมืองเชงฺฌาล ซึ่งนำชาวเสียมกุก” [5]

จิตร ภูมิศักดิ์ สันนิษฐานว่า คำว่า “สฺยำ” ในจารึกเขมรโบราณเหล่านี้เป็นชื่อชนชาติ หมายถึง “คนไทย” ตามขนบที่ในจารึกเขมรโบราณนิยมเอาชื่อชนชาติมาตั้งเป็นชื่อ [6] แม้กระนั้นนักวิชาการทั้งชาวเขมรและชาวต่างประเทศยังไม่สามารถอธิบายความหมายของคำว่า “สฺยำ” นี้ได้อย่างชัดเจนมากนัก

พจนานุกรมเขมรโบราณ-ฝรั่งเศส-อังกฤษ ของ สาวรส เพา ได้อธิบายความหมายของคำว่า “สฺยำ” ไว้ว่า “ผิวคล้ำ, คำดูถูกสำหรับชาวต่างประเทศ, คนป่า” [7] นอกจากนี้ยังอธิบายว่าคำนี้ในภาษาเขมรปัจจุบันใช้ว่า “เสียม” หมายถึง “ไทย หรือ สยาม” [8] แสดงให้เห็นถึงความสับสนของนักวิชาการในการให้ความหมายคำว่า “สฺยำ” ในจารึกเขมรโบราณเหล่านี้

หลักฐานของกัมพูชาสมัยหลังพระนครเป็นต้นมา ซึ่งตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาของไทย คำว่า “เสียม” ซึ่งเปลี่ยนจากอักขรวิธีเขมรโบราณว่า “สฺยำ” มาใช้อักขรวิธีแบบปัจจุบันว่า “เสียม” ได้มีความหมายหมายถึง “คนไทย” อย่างชัดเจน

ดังปรากฏในวรรณกรรมเขมรสมัยหลังเมืองพระนครเรื่องเลบิกนครวัด ผลงานของนักปาง ซึ่งประพันธ์ขึ้นเมื่อปีมหาศักราช 1542 ตรงกับพุทธศักราช 2163 [9] มีกล่าวถึง “เสียม” ว่าเป็นชนชาติหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการสร้างปราสาทนครวัดตามความคิดของกวีผู้ประพันธ์ ดังนี้

เขมรเสียมพม่า มอญลาวลันทา ชวาจามลังกา

ญวนเก่าไกเซิน เจริญมากเตรียบตรา กะเหรี่ยงหงสา

ทั้งกลิงค์แขกขมัง ฯ [10]

จารึกมีข้อความว่า “สฺยำกุก” อีกแห่งหนึ่งที่อยู่ในภาพสลักกระบวนทัพที่นำหน้ากองทัพสฺยำกุกที่ผนังระเบียงปราสาทนครวัด (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2552)

ในสมัยหลังพระนครของกัมพูชานี้เอง ปรากฏหลักฐานว่า กรุงศรีอยุธยาได้ส่งกองทัพเข้าไปตีกัมพูชาหลายครั้ง เช่น การตีเมืองศรียโศธรปุระในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) เมื่อปี พ.ศ. 1974 [11] และสงครามคราวสมเด็จพระนเรศวรตีเมืองละแวก เมื่อปี พ.ศ. 2136 [12] ซึ่งน่าจะทำให้คำว่า “เสียม” ในภาษาเขมรสมัยหลังพระนครเป็นต้นมา จึงน่าจะมีนัยในเชิงลบแฝงอยู่ด้วย

ดังปรากฏว่ามีการนำคำว่า “เสียม” ไปตั้งเป็นชื่อสถานที่ในประเทศกัมพูชาหลายแห่งเพื่อแสดงให้เห็นถึงความทรงจำบางอย่างเกี่ยวกับ “เสียม” ในสถานที่นั้น ๆ เช่น เสียมราบ (สยามราบเรียบ) ซึ่งเป็นชื่อสถานที่ซึ่งกองทัพกรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพไปรบแพ้สมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าพญาจันทราชา) แห่งกัมพูชาที่บริเวณทางใต้ของเมืองพระนคร ชื่อนี้ในภายหลังจึงกลายมาเป็นชื่อเมืองและเป็นชื่อจังหวัดในปัจจุบัน [13]

นอกจากนี้ที่จังหวัดสตึงแตรง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาในปัจจุบันที่ติดกับลาวใต้ มีสถานที่แห่งหนึ่งเรียกว่า เสียมโบก (สยามหลอกลวง) ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเนื่องจากสยามได้เกณฑ์ชาวเขมรไปขุดแก่งหลี่ผีเพื่อยกทัพเรือไปตีเวียงจันทน์ในสมัยกรุงธนบุรี [14]

ชื่อทั้ง 2 ชื่อนี้แสดงให้เห็นถึงนัยบางอย่างที่แสดงออกถึงความไม่พอใจของชาวกัมพูชาในเวลานั้นที่มีต่อ “เสียม” จึงนำพฤติกรรมที่ไม่ดีของ “เสียม” ที่มีทั้งการแพ้สงครามของ “เสียม” และการหลอกลวงของ “เสียม” มาตั้งเป็นชื่อสถานที่เพื่อแสดงถึงความทรงจำที่มีต่อเหตุการณ์นั้น ณ สถานที่นั้น ๆ ดังปรากฏคำอธิบายเกี่ยวกับความไม่พอใจ “เสียม” ในนิราศนครวัด ของออกญาสุตตันตปรีชา (อินท์) เมื่อกล่าวถึงชื่อเมือง “เสียมราบ (เสียมเรียบ)” ว่า

อนึ่งสงสัยกับเมืองเสียมราบนี้

โบราณริให้ชื่อผิดปริยาย

เมืองเขมรไฉนยกเสียมกราย

ตามปริยายพงศาวดารตำรามี ฯ

กาลพระจอมจักรีตรีเนตรกษัตริย์

ครองสมบัติอินทปัตถ์บุรีสถาน

คือนครธมเนาเป็นประธาน

จอมกษัตริย์กสานต์มีบุญเลิศนานา ฯ

มีพระเนตรสามดวงแปลกชนอื่น

เนตรกลางตื่นเพ่งไปคนใดหนา

คนนั้นเล่าก็ดลกษัยสิ้นชีวา

ชาวพาราก็แสยงเกรงบารมี ฯ

ลุหนองโสนคือเสียมเป็นส่วยน้ำ

ก็เป็นศึกยกมาตีบุรี

มาถึงที่ตรงนี้หยุดโยธี

ตั้งเป็นที่สมรภูมิชัย ฯ

ครั้นทราบถึงนรินทร์ปินกษัตริย์

จอมอินทปัตถ์ก็ทรงพระโกรธไกร

จึงยกพวกจตุรงค์ในเวียงชัย

ออกต่อมือไพรีฤทธีหาญ ฯ

มาดลเสร็จเสด็จเบิกพระเนตรแก้ว

แต่หนึ่งเปลวถูกเสียมเสงี่ยมไม่ได้

ทิ้งอาวุธจากมือทรุดกราบกราน

ราบไม่หาญต่อฤทธิ์หนีกลับไป ฯ [15]

เหตุดังนั้นจึงได้เรียกว่าเสียมราบ

เพราะมีภาพเสียมขลาดพระจอมเจ้า

โบราณราชจารึกตั้งนามเนา

เดี๋ยวนี้เสียมเปลี่ยนเรียกเสียมราฐ

คำเสียมราฐแปลว่าเสียมปราศเกรง

ตั้งสำแดงอิทธิฤทธิ์คิดประมาท

เดินรุกล้ำรานรุกสีหนาท

ไม่เกรงชาติกัมพูชาเวลานั้น ฯ

เพราะเมืองนี้เป็นเมืองขึ้นสยาม

เสียมทำตามอำนาจไม่ขลาดนั่น

คำ “ราฐ” ศัพท์นี้แปลดังนั้น

ถ้าราฎฐะนั้นจะแปลว่าแดนเมือง ฯ [16]

นอกจากนี้ยังพบว่าชื่อสถานที่บางแห่งในกัมพูชา โกรม (เวียดนามใต้) มีชื่อที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “เสียม” หลายชื่อด้วยกัน ได้แก่ หมู่บ้านแซรเสียมจ๊ะส์-หมู่บ้านแซรเสียมเถม็ย-หมู่บ้านเสียมจอด ในจังหวัดกระมวนสอ (Rach gai) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเวียดนาม หมู่บ้านเหล่านี้มีตำนานว่า ในสมัยสงครามญวนกับสยาม (สงครามอานามสยามยุทธ์ ในสมัยรัชกาลที่ 3) หลังจากสยามแตกทัพ ทหารเสียม (สยาม) บางคนได้หนีไปซ่อนมาอยู่กับเขมร ประกอบอาชีพทำนาไร่ธรรมดา จนหมู่บ้านนี้ได้ชื่อว่า “แซรเสียม” (นาสยาม) ส่วนหมู่บ้าน “เสียมจอด” ตั้งอยู่ตามแนวยาวริมแม่น้ำ ซึ่งมีวัดหนึ่งชื่อว่าวัด “จำปาเมียนเจ็ยซ็อมแจต” เรือทหารเสียม (สยาม) แตกทัพจำนวนหนึ่งได้มาจอดหลบซ่อนจากการตามหาของทหารญวน ดังนั้นที่นั้นเขาจึงให้ชื่อว่า “เสียมจอด” [17]

จากการศึกษาพัฒนาการของคำว่า “เสียม” ในเอกสารเขมรต่าง ๆ ที่กล่าวมา แสดงให้เห็นว่าคำว่า “เสียม” เป็นคำที่ใช้เรียก “คนไทย” และ “ประเทศไทย” ซึ่งอาจจะมีการใช้มาตั้งแต่ในภาษาเขมรโบราณ และมีการใช้ต่อมาในภาษาเขมรสมัยหลังพระนครและภาษาเขมรปัจจุบันโดยเปลี่ยนอักขรวิธีเป็นแบบปัจจุบัน ดังที่มีให้ความหมายไว้ในวจนานุกรมเขมร ฉบับพุทธศาสนบัณฑิตย์ ว่า

“เสียม น. ชื่อประเทศหนึ่งมีพรมแดนติดกันกับประเทศกัมพูชา ภาคตะวันตกและภาคเหนือ หนึ่งเฉียงด้านตะวันตก หรือด้านพายัพ : ประเทศเสียม ฯ ชนชาติของคนในประเทศนั้นก็เรียก เสียม ด้วย : ชาติเสียม, ภาษาเสียม… [18]

นอกจากนี้คำว่า “เสียม” ที่ใช้ในเอกสารของกัมพูชา ที่แปลจากภาษาต่างประเทศยังอาจเป็นคำที่แปลมาจากคำว่า “Siam” ด้วย ดังเช่น ในหนังสือปัญหาปราสาทพระวิหาร ที่จัดพิมพ์โดยคณะผู้แทนถาวรของประเทศกัมพูชาในองค์การสหประชาชาติ เมื่อปี ค.ศ. 1957 ได้ใช้คำว่า “เสียม” โดยเทียบกับคำว่า “Siam” เมื่อกล่าวถึงสนธิสัญญาระหว่างฝรั่งเศส-สยาม [19]

ภาพสลักรูปกองทัพสฺยำกุก ที่ผนังระเบียงปราสาทนครวัดด้านทิศใต้ปีกตะวันตก เดิมมีข้อความจารึกว่า “เนะ สฺยำกุก” ปัจจุบันถูกกะเทาะหลุดหายไปแล้ว (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2552)

2. “ไถ (ไท)” คำเรียกใหม่ในภาษาเขมร

ด้วยเหตุที่รัฐบาลไทยสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก “ประเทศสยาม” เป็น “ประเทศไทย” ในปี พ.ศ. 2482 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ใช้ชื่อประเทศชาติ ประชาชนและสัญชาติ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ว่า

“…โดยที่ชื่อของประเทศนี้มีเรียกกันเป็นสองอย่าง คือ ไทย และสยาม แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า ไทย รัฐบาลเห็นสมควรถือเป็นรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศให้ต้องตามชื่อ เชื้อชาติ และความนิยมของประชาชนชาวไทย ดังต่อไปนี้

ก. ในภาษาไทย ชื่อ ประเทศ ประชาชน และสัญชาติ ให้ใช้ว่า ไทย

ข. ในภาษาอังกฤษ 1. ชื่อประเทศ ให้ใช้ว่า Thailand 2. ชื่อประชาชนและสัญชาติ ให้ใช้ว่า Thai…” [20]

ต่อมาในปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้รัฐบาลในเวลานั้นจะมีการประกาศให้กลับไปใช้ชื่อประเทศเป็นภาษาอังกฤษว่า “Siam” แต่เมื่อถึงวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้เรียกชื่อประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษว่า Thailand ตามเดิม ซึ่งได้มีการใช้มาจนกระทั่งในปัจจุบันนี้

เมื่อประเทศไทยประกาศเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการ กัมพูชาจึงเปลี่ยนคำเรียกชื่อประเทศไทยมาเป็นคำว่า “ไถ (ออกเสียงว่า “ไท”)” ตามรูปเขียนในภาษาเขมร และปรากฏความหมายตามในวจนานุกรมเขมร ฉบับ พุทธศาสนบัณฑิตย์ พ.ศ. 2511 ว่า “ไถ น. (ส. ไทย อ่านว่า ไท) ดูคำว่า เสียม” [21] และเรียกประเทศไทยว่า “ปรฺเทสไถ (ปรอเตะส์ไท)”

ปัจจุบันคำเรียก “คนไทย” และ “ประเทศไทย” ในภาษาเขมรจึงมี 2 คำ คำแรกคือคำว่า “เสียม” ซึ่งเป็นคำเดิมที่มีใช้ในภาษาเขมรตามหลักฐานในศิลาจารึกตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 จนถึงปัจจุบัน แต่มีการเปลี่ยนรูปแบบอักขรวิธีการเขียนไปบ้าง ส่วนคำที่ 2 คือคำว่า “ไถ (ไท)” ซึ่งเป็นคำที่น่าจะเกิดขึ้นใหม่ เมื่อประเทศไทยเปลี่ยนชื่อจากสยามมาเป็นประเทศไทยในปี พ.ศ. 2482

“เสียมกุก” ถอดแบบลายเส้นจากภาพสลักบนระเบียงปราสาทนครวัด (โดย อ. คงศักดิ์ กุลกลางดอน คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)

3. “เสียม” กับ “ไถ (ไท)” : ความแตกต่างและการรับรู้ของชาวกัมพูชา

เมื่อในภาษาเขมรมีทั้งคำว่า “เสียม” และคำว่า “ไถ (ไท)” สำหรับใช้เรียกคนไทยและประเทศไทย คำถามต่อไปคือ ปัจจุบันบริบทของการใช้คำทั้ง 2 คำและความหมายในการรับรู้ของชาวกัมพูชาที่มีต่อคำ 2 คำนี้เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ภาษาเขมรปัจจุบันใช้คำว่า “ไถ (ไท)” เป็นคำที่ใช้อย่างเป็นทางการ ทั้งในการเรียกคนไทยและประเทศไทย เป็นคำที่มีความหมายค่อนข้างเป็นกลาง ไม่มีนัยทางชาติพันธุ์หรือความหมายในเชิงลบมากนัก ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากคำนี้เป็นคำที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่เมื่อไม่นานมานี้และเป็นคำที่ใช้อย่างเป็นทางการในทางราชการ

แต่สําหรับคำว่า “เสียม” ค่อนข้างเป็นคำที่มีนัยประวัติถึงประเทศไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับกัมพูชาในอดีต เนื่องจาก “เสียม” เคยเป็นผู้ที่รุกรานประเทศกัมพูชา การใช้คำว่า “เสียม” ในกรณีที่กล่าวถึงประเทศไทยเพื่อตอกย้ำประวัติศาสตร์ในอดีต จึงมักปรากฏให้เห็นได้จากเอกสารประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ที่พาดพิงถึงไทยในประวัติศาสตร์ของกัมพูชา เอกสารประวัติศาสตร์ต่าง ๆ เหล่านี้มักใช้คำว่า “เสียม” เมื่อกล่าวถึงประเทศไทย (โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงสงครามระหว่างไทย-กัมพูชา) ดังตัวอย่างเช่น

“เสียมเอาเมืองพระนครได้ เสียมประมวลเอาวัตถุมีค่า และจับชาวเขมรไปเป็นเชลยจำนวนมาก” [22] หรือเมื่อกล่าวถึงว่าไทยได้เข้าไปปล้นประเทศกัมพูชา เช่น “เสียมจึงปล้นเมืองพระนครได้อีก” [23] หรือกล่าวถึงว่า ไทยจับตัวกษัตริย์กัมพูชาไปคุมขังไว้ที่ไทย เช่น “ทัพเสียมได้รุกเข้ามาจนจับพระบาทศรีราชาได้ในปี ค.ศ. 1474 พระองค์จึงสวรรคตในประเทศเสียม ทรงมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งพระนาม เจ้าพญาอุง (พระองค์โอง) ซึ่งเสียมขังไว้ที่ประเทศเสียม” [24]

ในแบบเรียนประวัติศาสตร์กัมพูชาเหล่านี้จึงมักปรากฏคำ “เสียม” ในเชิงลบอยู่ตลอด เช่น “อิทธิพลอย่างแข็งกล้าของเสียม (สยาม)”, “ใต้อำนาจเสียม” “เสียมเอาดินแดนเขมร” “เสียมตีเขมร” หรือ “เสียมยึดครองดินแดนเขมร” เป็นต้น

แม้กระทั่งในหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กเรื่อง “พระโค-พระแก้ว” ซึ่งสำนักพิมพ์ “ไรยํ” ได้พิมพ์เผยแพร่ในปี ค.ศ. 2001 ในตอนท้ายเรื่องได้กล่าวถึง “เสียม” เมื่อได้ “พระโค-พระแก้ว” ไปแล้วไว้ว่า “…พวกเสียมเห็นว่าเมื่อใดได้พระโคอยู่ ณ ที่ใด ที่นั้นจะได้สุขเกษมสานต์ ดังนี้แล้วพวกเสียมจึงได้พยายามดูแลรักษาพระโคพระแก้วไว้อย่างแข็งแรง แล้วนับแต่เวลานั้นมา พระโคพระแก้วจึงมิได้กลับคืนมายังเมืองเขมรจนถึงทุกวันนี้…” [25]

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการใช้คำว่า “เสียม” และ “ไถ (ไท)” ในภาษาเขมรปัจจุบันมีนัยทางการใช้ที่แตกต่างกันตามบริบทที่ผู้ใช้ต้องการนำเสนอต่อผู้รับสาร

พระวิหารวัดเรียจโบร์ เมืองเสียมราบ สร้างในสมัยที่ไทยปกครองเมืองเสียมราฐ

บทสรุป

จากที่กล่าวมาอาจสรุปได้ในเบื้องต้นว่า ในภาษาเขมรปัจจุบันมีคำที่ใช้เรียกคนไทยและประเทศไทย 2 คำ คือ คำว่า “เสียม” ซึ่งเป็นคำที่สันนิษฐานว่าน่าจะมีการใช้มาตั้งแต่สมัยก่อนพระนคร สมัยพระนคร และสมัยหลังพระนครจนถึงปัจจุบัน และคำว่า “ไถ (ไท)” ซึ่งเป็นคำที่น่าจะเกิดขึ้นภายหลังเมื่อมีการเปลี่ยนชื่อประเทศไทย จากประเทศสยามมาเป็นประเทศไทยแล้ว

สำหรับคำว่า “เสียม” ในภาษาเขมรสมัยหลังพระนคร และสมัยปัจจุบันค่อนข้างเป็นคำที่มีนัยถึงประเทศไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับกัมพูชาในอดีต เนื่องจาก “เสียม” เคยเป็นผู้ที่รุกรานประเทศกัมพูชา ด้วยเหตุนี้คำว่า “เสียม” จึงมีความหมายในเชิงลบแฝงอยู่ด้วย ส่วนคำว่า “ไถ (ไท)” เป็นคำที่ใช้อย่างเป็นทางการ จึงเป็นคำที่มีความหมายค่อนข้างเป็นกลาง ไม่มีนัยทางชาติพันธุ์หรือความหมายในเชิงลบมากนัก ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากคำนี้เป็นคำที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่เมื่อไม่นานมานี้และเป็นคำที่ใช้อย่างเป็นทางการในภาษาราชการ

ด้วยเหตุที่คำว่า “เสียม” ในภาษาเขมรในปัจจุบัน นอกจากจะหมายถึง “คนไทย” และ “ประเทศไทย” ตามความหมายของคำตามปรกติแล้ว คำว่า “เสียม” ในภาษาเขมรยังมีนัยยะในด้านลบ จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อสื่อมวลชนกัมพูชาในปัจจุบันนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับกรณีความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา ในกรณีปราสาทเขาพระวิหาร จึงเลือกที่จะกล่าวถึง “ประเทศไทย” โดยใช้คำว่า “เสียม”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] G. Coedès. Inscription du Cambodge Vol. II. (Hanoi : EFE0, 1942), p. 22.

[2] Ibid., p. 70.

[3] Ibid., p. 90.

[4] จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชนชาติ. (กรุงเทพฯ : ดวงกมล, 2524), น. 70.

[5] เรื่องเดียวกัน 

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 153.

[7] Saveros POU. Dictionnaire Vieux Khmer-Francais-Anglais. (Paris : Cedoreck, 1992), p. 514.

[8] Ibid.

[9] ศานติ ภักดีคำ, นครวัดทัศนะเขมร. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2545), น. 98.

[10] เรื่องเดียวกัน, น. 112.

[11] คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ฯ ประชุมจดหมายเหตุสมัยอยุธยาภาค 1. (พระนคร : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2510), น. 94.

[12] เรื่องเดียวกัน, น. 103

[13] ศานติ ภักดีคำ, นครวัดทัศนะเขมร. น. 23.

[14] โปรดดู กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. (กรุงเทพฯ : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2535), น. 221.

[15] ตำนานเรื่องนี้คล้ายคลึงกับตำนานเรื่องพระร่วงมาแพ้พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ที่บริเวณเมืองเสียมเรียบ เมืองนั้นจึงได้ชื่อว่าเสียมเรียบ โปรดดูเพิ่มเติมได้ในเรื่องพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์

[16] อุกญาสุตฺตนฺตปฺรีชา (อินฺท), นิราสนครวตฺต. (ภฺนํเพญ : พุทธสาสนบณฺฑิตฺย, 2541), น. 49.

[17] ตุรำงฉาต ปุต. กมฺพูชาโกรฺม : อํณาจคฺมานแขฺมรโกฺรม. (ภฺนํเพญ : อินฺทฺรเทวี, 2005), น. 171-172.

[18] พุทฺธสาสนบณฺฑิตฺย. วจนานุกฺรมแขฺมร. (ภฺนํเพญ : พุทฺธสาสนบณฺฑิตฺย, 2511), น. 1398.

[19] คณเปสกกมฺมอจินฺไตย์ไนปฺรเทสกมฺพุชาปฺรจำองคฺการสหปฺรชาชาติ. ปญฺหาปฺราสาทพฺระวิหาร. (ภฺนํเพญ : คณเปสกกมฺมอจินฺไตย์ไนปฺรเทสกมฺพุชาปฺรจำองคฺการสหปฺรชาชาติ), น. 10.

[20] สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 14 ทะเบียน-ธรรมราชา. (กรุงเทพฯ : บริษัท ประยูรวงศ์ จำกัด, 2527-2528), น. 8910.

[21] พุทฺธสาสนบณฺฑิตฺย. วจนานุกฺรมแขฺมร. น. 390.

[22] ศานติ ภักดีคำ. ประวัติศาสตร์สังเขปของประเทศกัมพูชา แปลจาก “ปฺรวตฺติสาสฺตฺรไนปฺรเทสกมฺพุชา” ของ ชา อวม ไผเผง นึงโสม อิม. น. 48.

[23] เรื่องเดียวกัน, น. 50. 

[24] เรื่องเดียวกัน, น. 51.

[25] พฺระโค พฺระแกว, (ภฺนํเพญ : ไรยํ, 2001), น. 36.

บรรณานุกรม :

กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. กรุงเทพฯ : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2535.

คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ฯ. ประชุมจดหมายเหตุสมัยอยุธยาภาค 1. พระนคร : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2510.

คณเปสกกมฺมอจินฺไตย์ไนปฺรเทสกมฺพุชาปฺรจำองคฺการสหปฺรชาชาติ. ปญฺหาปฺราสาทพฺระวิหาร. ภฺนํเพญ : คณเปสกกมฺมอจินฺไตย์ไนปฺรเทสกมฺพุชาปฺรจำองคฺการสหปฺรชาชาติใ

จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชนชาติ, กรุงเทพฯ : ดวงมล, 2524.

ตฺรำงฉาต ปุต. กมฺพูชาโกฺรม : อํณาจคฺมานแขฺมรโกฺรม. ภฺนํเพญ : อินฺทฺรเทวี, 2005.

พระโค พระแกว. ภฺนํเพญ : ไรยํ, 2001.

พุทฺธสาสนบณฺฑิตฺย. วจนานุกฺรมแขฺมร. ภฺนํเพญ : พุทธสาสนบณฺฑิตฺย, 2511.

ศานติ ภักดีคำ. นครวัดทัศนะเขมร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545.

ศานติ ภักดีคำ (ผู้แปล), ประวัติศาสตร์สังเขปของประเทศกัมพูชา แปลจาก “ปฺรวตฺติสาสฺตฺรไนปฺรเทสกมฺพุชา” ของ ชา อวม ไผเผง นึงโสม อิม. กรุงเทพฯ : ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, 2542.

สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 14 ทะเบียน-ธรรมราชา, กรุงเทพฯ : บริษัท ประยูรวงศ์ จำกัด, 2528.

สุตฺตนฺตปฺรีชา (อินฺท), อุกญา, นิราสนครวตฺต. ภฺนํเพญ : พุทธสาสนบณฺฑิตฺย, 2541.

Coedes, G. Inscription du Cambodge Vol. II. Hanoi : EFE0, 1942.

POU, Saveros. Dictionnaire Vieux Khmer-Francais-Anglais. Paris : Cedoreck, 1992.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 สิงหาคม 2565