อนุสรณ์ “พระเจ้าตาก” ในไทย เกิดเพราะทรงกู้ชาติ แล้วอนุสรณ์ที่จีนเกิดเพราะอะไร?

อนุสรณ์ พระเจ้าตากสิน ที่ สุสาน พระเจ้าตาก ประเทศจีน
สุสานพระเจ้าตากสิน พ.ศ. 2560 (ภาพจากเพจ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ)

บรรดา “อนุสรณ์” ที่สร้างชื่อระลึกถึงบุคคลสำคัญต่อประเทศชาติ ที่เรียกว่า “อนุสาวรีย์” หรือ “พระบรมราชานุสาวรีย์” อนุสรณ์ของ พระเจ้าตากสิน เชื่อได้ว่าเป็นหนึ่งในอนุสาวรีย์ที่มีมากที่สุดในประเทศไทย ส่วนที่เมืองจีน ซึ่งกล่าวว่าเป็นบ้านเกิดของพระราชบิดาของพระองค์ มีพระบรมราชานุสาวรีย์เพียงหนึ่งเดียวของพระองค์ ที่เรียกกันตามรูปลักษณะว่า “สุสานพระเจ้าตากสินมหาราช”

เหตุที่มีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระเจ้าตากสินมหาราชจำนวนมากในประเทศไทย คงมาจากศรัทธามหาชนที่มีต่อ “วีรกรรม” สำคัญของพระองค์ในการกอบกู้บ้านเมือง

Advertisement

ส่วนที่เมืองจีน “สุสานพระเจ้าตากสินมหาราช” เกิดขึ้นเพราะเหตุใด? ในเมื่อคุณูปการของพระองค์เกิดขึ้นที่เมืองไทย ก่อนจะตอบในประเด็นนี้ ขอพาท่านผู้อ่านไปดู “สุสานพระเจ้าตากสินมหาราช” กันก่อน

พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง “คืนถิ่นจีนใหญ่” ตอนหนึ่งกล่าวถึงการเสด็จฯ สุสานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่หมู่บ้านหัวฝู่ อำเภอเฉิงไห่ (เท่งไฮ้) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน 2540 ว่า

“ไปถึงหน้าหมู่บ้านมีผู้อำนวยการสำนักงานชาวจีนโพ้นทะเลของเฉิงไห่เป็นผู้หญิงชื่อคุณไฉเผยหลงมาต้อนรับ ต้องเดินเข้าไปจากถนนใหญ่ประมาณครึ่งกิโลเมตร จึงถึงบริเวณที่เรียกกันว่าเป็นสุสานของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

สุสานเหมือนกับหลุมศพฝรั่งธรรมดา ไม่ได้ทำโค้งๆ แบบฮวงซุ้ยจีนที่เคยเห็นที่อื่น มีป้ายหินแกรนิตสีชมพูสลักตัวทองเป็นอักษรจีนแปลความว่า สุสานฉลองพระองค์และพระมาลาของพระเจ้าตากสินแห่งกรุงสยาม สร้างขึ้นในปีที่ 47 แห่งรัชสมัยเฉียนหลง (ค.ศ. 1784) บูรณะใหม่เมื่อฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1985”

พระราชนิพนธ์ของพระองค์บันทึกสิ่งที่บรรจุภายในสุสานว่า

“คุณไฉอธิบายว่า หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคตได้ 2 ปี ข้าราชบริพารเชื้อสายจีนได้นำฉลองพระองค์และพระมาลามา 2 ชุด ชุดหนึ่งเป็นชุดไทย อีกชุดหนึ่งเป็นจีน กลับมามอบให้พระญาติที่หมู่บ้านหัวฝู่นี้ พวกพระญาติสร้างสุสานบรรจุสิ่งของเหล่านี้ไว้สักการะ”

สุสานพระเจ้าตากสินมหาราช พ.ศ. 2540 มีพานพุ่มของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ วางอยู่ด้านหน้าสุสานฯ (ภาพจาก พระราชนิพนธ์ “คืนถิ่นจีนใหญ่”)

จากเนื้อความในพระราชนิพนธ์ดังกล่าว และรูปประกอบ สุสานของพระเจ้าตากสินมหาราชนั้นเรียบง่ายมากๆ

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 ผู้เขียนเดินทางไปเมืองแต้จิ๋ว และสุสานพระเจ้าตากสินมหาราช ที่อำเภอเฉิงไห่ สุสานฯ ก็ยังคงเป็นแบบเรียบง่ายเช่นเดิม เพิ่มเติมคือมี “ภาพเขียน” ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ป้ายหิน และที่เนินดินด้านหลัง ไกด์ท้องถิ่นก็ให้ข้อมูลในลักษณะเดียวกันกับพระราชนิพนธ์ข้างต้น

สุสานพระเจ้าตากสินมหาราช พ.ศ. 2549 (ภาพจาก วิภา จิรภาไพศาล)

พ.ศ. 2558 อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะเคยเดินทางไปที่สุสานพระเจ้าตากสินมหาราช ขณะนั้นสุสานกำลังมีการก่อสร้างเพิ่มเติม ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 การปรับปรุงสถานที่แล้วเสร็จ ด้านหลังของตัวสุสานมีการสร้าง อนุสรณ์ พระเจ้าตากสิน เป็นพระบรมรูปขนาดใหญ่ประมาณ 1.5 เท่า ตั้งอยู่บนฐานสูงก่ออิฐฉาบปูน มีบันไดทางขึ้นสองข้าง

สุสานพระเจ้าตากที่เรียบง่าย เปลี่ยนไปหลังการบูรณะจนดูยิ่งใหญ่

ทีนี้กลับมาดูเรื่องที่ตั้งสุสานพระเจ้าตากสินกัน สุสานดังกล่าวตั้งอยู่ที่อำเภอเฉิงไห่ (เท่งไฮ้) จังหวัดซัวเถา เป็น 1 ใน 3 จังหวัดของถิ่นแต้จิ๋วหรือเมืองแต้จิ๋วในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑล มีขนาดพื้นที่ 10,346 ตางรางกิโลเมตร

พื้นที่ของเมืองแต้จิ๋ว ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นภูเขาและเนินเขา แต่ก็ไม่ใช่ภูเขาสูงที่ตระหง่านสวยแปลกตาอย่างภูเขาหัวซาน ในมณฑลส่านซี, มีพื้นติดชายฝั่งทะเล หากก็ไม่ได้มีทิวทัศน์งดงามอย่างเมืองซานย่า มณฑลไหหลำ, ถ้าจะมองเรื่องประเด็นวัฒนธรรมก็ไม่ยิ่งใหญ่เท่าเมืองหลวงปัจจุบันอย่างปักกิ่ง หรือเมืองหลวงเก่าอย่าง ลั่วหยาง, ซีอาน, นานกิง

ถ้ายืมศัพท์การเที่ยวของไทยมาใช้ สรุปว่า “แต้จิ๋วก็เป็นเมืองรอง”

แต่เมืองแต้จิ๋ว คือหนึ่งในเมืองสำคัญของชาวจีนโพ้นทะเลในโลก โดยเฉพาะคนแต้จิ๋ว และเมืองไทยคือประเทศที่คนแต้จิ๋วอพยพมาจำนวนมาก ดังนั้น “สุสานพระเจ้าตากสินมหาราช” พระมหากษัตริย์ที่มีเรื่องเล่าว่ามีพระราชบิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งสร้าง story เชื่อมโยงคนจีนเมืองไทย กับเมืองแต้จิ๋วได้ และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวของให้ผู้คนอำเภอเฉิงไห่ เมืองแต้จิ๋วได้…นี่คืออีกหนึ่งคุณูปการของพระองค์ในจีน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. คืนถิ่นจีนใหญ่. มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา จัดพิมพ์, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 พฤษภาคม 2549

ถาวร สิกขโกศล. แต้จิ๋ว: จีนกลุ่มน้อยที่ยิ่งใหญ่, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2554.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566