ใครคือ “แบบปั้น” พุทธรูปปางลีลาพุทธมณฑล-อนุสาวรีย์พระเจ้าตากของ “ศิลป์ พีระศรี”

ศิลป์ พีระศรี
(ซ้าย) พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์, (กลาง) ศิลป์ พีระศรี ถ่ายภาพโดยอวบ สาณะเสน (ภาพจากเว็บไซต์มติชน), (ขวา) อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่

ใครคือ “แบบปั้น” พุทธรูปปางลีลาพุทธมณฑล-อนุสาวรีย์พระเจ้าตากของ “ศิลป์ พีระศรี”

ตอนผมเด็ก ๆ หรือแม้กระทั่งเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ แล้ว ในเมืองไทยยังมีอนุสาวรีย์อยู่ไม่มาก คําว่าอนุสาวรีย์โดด ๆ นั้น โดยทั่วไปก็จะเป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไม่เป็นที่เข้าใจว่าเป็นอนุสาวรีย์อะไรไหนอื่น ไม่เข้าใจว่าเป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหรืออนุสาวรีย์ทหารอาสา

อนุสาวรีย์ที่เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์มีอยู่ไม่กี่แห่ง ศัพท์คําว่าพระบรมราชานุสาวรีย์นี้เพิ่งมาใช้กันภายหลัง ก็จะมีพระบรมรูปทรงม้า อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ที่สวนลุมฯ อนุสาวรีย์พระเจ้าตากที่วงเวียนใหญ่ อนุสาวรีย์สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ที่สะพานพุทธ และอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรที่ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี

จะปีไหนก็ไม่ได้จํานะครับ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไป ทรงทําพิธีเปิดอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรที่ว่านี้ จําได้ว่าผมอยู่ตลาดบ้านสุด อําเภอบางปลาม้า มีผู้ใหญ่พูดกันว่าเราจะเห็นในหลวงกัน แต่เห็นบนฟ้า มาทางเฮลิคอปเตอร์

จริงดังนั้น ผมเห็นเฮลิคอปเตอร์บนฟ้าสี่ลําผ่านตลาดบ้านสุดไป ในวันที่มีราชพิธีเปิดอนุสาวรีย์อนุสรณ์ดอนเจดีย์ หนึ่งในสี่ลํานั้นมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ด้วย ผมเห็นหรือจะเรียกว่ารับเสด็จฯ ก็ได้ ทั้งขาไปและขากลับ

ภาพนูนต่ำประดับฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระนเรศวรที่ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี

ผมเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนหนังสือและมีชีวิตวนเวียนอยู่กับอนุสาวรีย์สี่ห้าที่ เริ่มจากการที่เข้ามาอยู่แถวฝั่งธนบุรี วงเวียนใหญ่เป็นที่ซึ่งต้องผ่านหรือแวะเวียนไปอยู่เป็นประจํา ก็คุ้นกับอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตื่นเต้นมาก ตอนที่เห็นครั้งแรก

ครั้งหนึ่งเพื่อนนัดไปหาที่ร้านตัดผมซึ่งพี่ชายเขาทํางานอยู่ บอกผมว่าร้านอยู่ตรงกับหางม้านะ หางม้าพระเจ้าตาก เราบอกกันอย่างนั้นเพราะถนนหนทางยังไม่คุ้นเคย

ผมเดินผ่านสะพานพุทธเป็นประจําก็คุ้นกับอนุสาวรีย์สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ต่อมาไปอยู่แถว ๆ สวนลุมฯ ก็คุ้นกับอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 แล้วย้ายอยู่แถวซอยราชครู ถนนพหลโยธินพักใหญ่ ก็คุ้นกับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถนนราชดําเนินนั้นคุ้นแน่นอนอยู่แล้ว เพราะผ่านไปผ่านมาอยู่ตั้งแต่เริ่มต้นที่เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ

อนุสาวรีย์ที่ผมพูดถึงนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับสถานการศึกษาที่ผมเรียน คือโรงเรียนช่างศิลปและมหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้วางรากฐานทั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรและโรงเรียนช่างศิลปนั้น ท่านเป็นผู้เกี่ยวข้องในการสร้างอนุสาวรีย์เหล่านี้ ทั้งในส่วนที่เป็นการออกแบบหรือเป็นผู้ปั้นและอํานวยการในการปั้นและหล่อ

มีอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าเท่านั้นละมังที่ปั้นและหล่อจากเมืองนอก อื่น ๆ ในอนุสาวรีย์ต่าง ๆ ที่เห็น ๆ นั้น เป็นฝีมือของอาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์

อนุสาวรีย์ต่าง ๆ นานาที่เห็นอยู่มากมายในภายหลังยุคของอาจารย์ศิลป์ เห็นที่ไหนเมื่อกราบไหว้จะกราบไหว้อาจารย์ศิลป์ไปด้วยก็ได้ครับ เพราะแทบทั้งสิ้นนั้นมาจากลูกศิษย์ที่ท่านสั่งสอนอบรมมาทั้งนั้น

กราบพระใหญ่ปางลีลาที่พุทธมณฑล ก็กราบอาจารย์ศิลป์ไปด้วยได้ เพราะท่านเป็นผู้ออกแบบและปั้นต้นแบบไว้ด้วย ตัวของท่านเอง ลูกศิษย์ของท่านมาขยายแบบหล่อภายหลัง

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จและทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483

ลูกศิษย์ของท่านตั้งแต่สมัยก่อนเกิดมหาวิทยาลัยศิลปากร สมัยยังเป็นโรงเรียนประณีตศิลปกรรม-โรงเรียนศิลปากร ชื่อ “ปกรณ์ เล็กสน” เล่าว่า รูปพระพุทธรูปปางลีลานี้ ท่านปั้นในห้องทํางานของท่าน ปั้นแก้ผ้าก่อนนะ แล้วหล่อปูน แล้วแต่งปูน แล้วจึงเอาดินน้ำมันปั้นจีวรทับไป เอาชะแล็กทาปูนก่อน ไม่ให้ติดดินน้ำมัน นี่เพราะท่านเกรงจะขูดกินเนื้อ เวลาปั้นจีวร ถ้าทําอย่างนี้แล้วปั้นอย่างไรก็ไม่ขูดกินเนื้อแน่ อันนี้เป็นเทคนิคกันเข้าเนื้อ รอบคอบมาก ขนาดเป็นโปรเฟสเซอร์ท่านยังเอาคนมายืนเพื่อดูอนาโตมี”

คนที่อาจารย์ศิลป์ท่านเอามายืนเพื่อดูอนาโตมีคือใครรู้ไหมครับ ผมรู้แล้วยังนึกขัน คืออาจารย์สอนปั้นผมเอง อาจารย์ชําเรือง วิเชียรเขตต์

าจารย์ชําเรืองท่านเล่าไว้ว่าท่านเป็นแบบให้อาจารย์ศิลป์สองครั้ง ครั้งแรกนั้นอาจารย์ชําเรืองไปเป็นแบบให้อาจารย์ศิลป์ปั้นรูปพระเยซู ครั้งสองคืออาจารย์ศิลป์ตามไปเป็นแบบเมื่อตอนที่ปั้นพระพุทธรูปปางลีลา…องค์ที่พูดถึงนี้แหละครับ อาจารย์ชําเรืองท่านเล่าว่า “และเป็นแบบครั้งที่สอง ปั้นพระพุทธรูปปางลีลา สําหรับพุทธมณฑลขนาดขยายสองเมตรกว่า ท่านอาจารย์ต้องการตรวจสอบรูปปั้น (structure) การเชื่อมติดต่อของหน้า-ลําคอและลําตัว ข้าพเจ้าได้รับความกรุณาเป็นค่าแบบอีกเช่นเคย พร้อมกับท่านดีดลูกส้นแปด้านข้างเป็นของแถม”

อาจารย์ชําเรืองท่านออกจะภูมิใจมาก ท่านเขียนเล่าเรื่องนี้ไว้ว่าท่านเป็น “นายแบบสองศาสดา”

เรื่องเล่าของอาจารย์ชําเรืองนี้ทําให้เห็นอารมณ์ดีของอาจารย์ศิลป์อย่างหนึ่งคือ เรื่องแปลูกส้น อธิบายให้ฝรั่งยังไงคงเข้าใจยาก แต่เคยมีลูกศิษย์อีกท่านหนึ่งเล่าเรื่องแปลูกส้นนี้ เวลาอาจารย์ศิลป์ท่านอารมณ์ดี มีความสุข ทํางานเสร็จได้ดังใจ นึกเอ็นดูลูกศิษย์ผู้ชายหรือนึกขัน ๆ แกมเอ็นดูลูกศิษย์ผู้ชาย ท่านก็จะแปลูกส้นให้ ประมาณว่ายกเท้าแตะก้นหรืออะไรทํานองนั้นแหละครับ เป็นประพฤติปฏิบัติที่ผู้ใหญ่รุ่นเก่า ๆ ในสังคมไทยทําเวลาที่เอ็นดูเมตตาผู้อ่อนเยาว์ที่ใกล้ชิด

ใครจะนึกได้นะครับว่าพระพุทธรูปปางลีลาหรือพระเยซูนั้น อาจารย์ศิลป์ท่านจะเอาอาจารย์ชําเรือง วิเชียรเขตต์ มาเป็นแบบ เพราะอาจารย์ชําเรืองนั้นใครเคยเห็นท่านก็ต้องรู้ว่า ท่านเป็นผู้ชายไทยร่างสันทัด ล่ำสัน ไม่มีลักษณะอะไรที่จะเกี่ยวข้องไปถึงประติมากรรมอะไรอย่างพระเยซูหรือพระพุทธรูปปางลีลาเลย

แต่ใครเรียนประติมากรรมมาอย่างผมนี่พอจะรู้

อาจารย์ศิลป์นั้นท่านเป็นช่าง พวกช่างเขาจะรู้กันว่าใครเป็นใคร ทําอะไร เป็นต้นว่าท่านเข้ามาเมืองไทย มาเจอลายไทยศิลปกรรมต่าง ๆ ของไทย ท่านก็เห็นคุณค่าเห็นฝีมือช่าง ท่านก็ยอมรับในฝีมือช่างไทย ท่านรู้เรื่องลายไทย ท่านชื่นชมนิยมอย่างยิ่งกับพระพุทธรูปในยุคสมัยต่าง ๆ ท่านชื่นชมพระพุทธรูปสมัยอยุธยาที่เป็นพระประธานในโบสถ์วัดหน้าพระเมรุ ท่านชื่นชมพระพุทธรูปปางลีลาสมัยสุโขทัยเป็นพิเศษ

พระพุทธรูปปางลีลาสมัยสุโขทัยที่ระเบียงวัดเบญจมบพิตร ซึ่งยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นพระพุทธรูปปางลีลาที่สวยที่สุดเท่าที่เคยเห็นกันมานั้น อาจารย์ศิลป์ท่านเป็นคนบอกนะครับ และควรจะต้องตราไว้ด้วยว่าอาจารย์ศิลป์ท่านเคยพูดกับลูกศิษย์คนหนึ่งว่ามหาวิทยาลัยศิลปากรนั้นเกิดขึ้นได้จากวิชาประติมากรรม คือการปั้น

อาจารย์ศิลป์ท่านมารับราชการในเมืองไทยในฐานะช่างปั้น

ศิลป์ พีระศรี ปั้นหุ่น
ศิลป์ พีระศรี (ภาพจากหนังสือ 100 ปี นิทรรศการเชิดชูเกียรติ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี)

และผจญเวรผจญกรรมในฐานะช่างชั้นหนึ่งจากยุโรปกับระบบราชการไทยอยู่หนักหนาสาหัสเอาการ ผมยังเข้าใจว่า ถ้าไม่มีคนไทยใครอย่างสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือพระยาอนุมานราชธนแล้ว ท่านคงไม่ได้อยู่เมืองไทยจนถึงวันสุดท้ายแห่งชีวิต ซึ่งท่านคงจะเสียใจ

เรื่องที่ว่าท่านนําอาจารย์ชําเรือง วิเชียรเขตต์ มาเป็นแบบปั้นพระเยซูหรือพระพุทธรูปปางลีลาทั้ง ๆ ที่ดูไม่เห็นน่าจะเกี่ยวข้องกันเลยในทางหนึ่งทางใดนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก สําหรับใครที่เรียน ๆ อยู่แถวหน้าพระลานรุ่นก่อนผมหรือรุ่นผม เป็นที่เข้าใจกันอยู่ทํานองเดียวกับที่ท่านปั้นอนุสาวรีย์พระเจ้าตาก ท่านต้องการม้ามาเป็นแบบ ทางราชการเขาให้ท่านไปดูม้าซึ่งเป็นม้าอาหรับ สมัยนั้นราคาหนึ่งแสนบาท ท่านว่าไม่มีราคาสําหรับเรา คือท่านกับลูกศิษย์เลย เพราะเราต้องการดูม้าไทยหรือม้าพื้นเมือง ซึ่งในที่สุดท่านก็ได้ม้าไทยหรือม้าพื้นเมืองมาเป็นแบบ

การนําม้ามาเป็นแบบไม่ได้หมายความว่าต้องการปั้นม้าตัวนั้นนะครับ ทํานองเดียวกันกับให้อาจารย์ชําเรืองมาเป็นแบบ ไม่ได้หมายความว่าหน้าอาจารย์ชําเรืองจะเหมือนพระเยซูหรือพระพุทธรูป

เรื่องพระพุทธรูปปางลีลาที่จมูกหรือพระนาสิกโด่งโค้งนั้น มีช่างติติงท่านว่าก็จะปั้นพระพุทธรูปให้เป็นคนไทย ๆ ทําไมจมูกโด่งอย่างนั้น เล่ากันว่าวันหนึ่งท่านเดินผ่านอาจารย์ นิพนธ์ ผริตะโกมล ท่านก็บอกว่านี่ไง นี่ไง

อาจารย์นิพนธ์ หรือ “นิธ” ในนามปากกาเขียนภาพ ประกอบ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” สมัยก่อนโน้น ท่านจมูกโด่งทํานองนั้นเลยครับ

เมื่อทางราชการให้ท่านปั้นอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินที่วงเวียนใหญ่นั้น ไม่มีความคิดเห็นว่าหน้าตาของสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นอย่างไร “ครูวี” ของพวกผมหรืออาจารย์ทวี นันทขว้าง ท่านเล่า ไว้อย่างนี้

“ตอนนั้นผมสอนอยู่โรงเรียนเพาะช่าง มีคนเขามาบอกผมว่าอาจารย์ศิลป์อยากให้ไปเป็นแบบปั้น พอไปหาท่านก็พูดว่าฉันจะปั้นพระเจ้าตากสิน คือที่ประชุมกรรมการเขาถกเถียงกัน พยายามค้นคว้าหาหน้าตาพระเจ้าตากสินมาให้อาจารย์ปั้น แต่ก็หาไม่ได้ มีแต่รูปที่สเก๊ตช์ ๆ บอกว่ามีลักษณะเป็นจีน ๆ เท่านั้น ตกลงก็เอาแน่ไม่ได้ว่าหน้าตาท่านเป็นอย่างไร ก็ให้อาจารย์ศิลป์อิมเมยีนเอง อาจารย์ศิลป์ก็อิมเมยีนว่าพระเจ้าตากสินหน้าตาควรจะมีลักษณะคนไทยผสมจีน

‘ฉันนึกดูแล้วว่าหน้าตาพระเจ้าตากสินจะต้องเหมือนนายกับนายจํารัสบวกกัน ฉันว่าอย่างนั้น นายต้องมาเป็นแบบให้ฉัน’ ผมก็เลยต้องไปเป็นแบบให้อาจารย์ท่าน ไปยืนทําท่าเบ่งยืดอกเป็นพระเจ้าตากอยู่ 3-4 วันให้อาจารย์ท่านปั้นพร้อม ๆ กับอาจารย์จํารัส เกียรติก้อง”

(บน) อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ (ซ้ายล่าง) จำรัส เกียรติก้อง และ (ขวาล่าง) ทวี นันทขว้าง

ผมรู้ตํานานเรื่องนี้ตอนเข้าไปเรียนที่คณะจิตรกรรมฯ สมัยนั้นโรงหล่อของกรมศิลปากรยังรกเรื้อไปด้วยรูปหล่อโบร่ำโบราณอยู่ มีเศียรพระเจ้าตากตั้งอยู่ด้วย ผมดูแล้วก็พอจะนึกออกว่านี่หน้าครูวี… แต่มีหนวด

ครูวีท่านใจดี ไม่ดุอย่างหน้าพระเจ้าตากนี้เลย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เอารูปหน้า “ครูวี” ปั้นอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินที่วงเวียนใหญ่” เขียนโดย วาณิช จรุงกิจอนันต์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2545


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กันยายน 2562