อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก ดอกผลศิลปะอิตาลีในสยาม กับปมคับข้องใจของ ศิลป์ พีระศรี

(ซ้าย) อนุสาวรีย์ Colleoni ในเวนิซ ภาพจาก MICHELE CROSERA / AFP (กลาง) อนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ (ขวา) อนุสาวรีย์ Gattamelata (Public Domain)

หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดย่อและเรียบเรียงจากบทความ “อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช : ดอกผลของศิลปะเรอเนสซองซ์ของอิตาลีในสยาม” โดย รศ.ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม

อันเป็นบทความที่ดัดแปลงจากปาฐกถาเรื่อง อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช : ดอกผลของศิลปะเรอเนสซองซ์ของอิตาลีในสยาม เนื่องในโอกาสสัปดาห์ภาษาอิตาเลียน จัดโดยสาขาวิชาภาษาอังกฤษ ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ณ ห้องบรรยาย 202 คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เวลา 7.00-18.00 น.

Advertisement

การสร้างอนุสาวรีย์เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติวีรบุรุษของชาติ มีมาตั้งแต่โบราณกาลในโลกตะวันตกครั้งสมัยกรีกและโรมัน บ้านเมืองของเราไม่เคยมีคตินิยมเช่นนี้ กระทั่งสังคมเริ่มตระหนักรับรู้อิทธิพลจากตะวันตกอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 5

อย่างไรก็ตาม ความต้องการสร้างอนุสาวรีย์ตามคติตะวันตกของรัฐไม่ได้ตั้งบนพื้นฐานความเข้าใจทางศิลปะของข้าราชการไทยและคนไทย อิสระในการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินจึงมักถูกมองข้ามและอยู่ในวงจำกัดจนกลายเป็นการปิดกั้นทางความคิด รศ.ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน ยกตัวอย่างในกรณี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือ Corrado Feroci (2345-2505)

รศ.ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน ผู้เขียนบทความ “อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช : ดอกผลของศิลปะเรอเนสซองซ์ของอิตาลีในสยาม” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม พ.ศ. 2552 แสดงความคิดเห็นว่า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถูกออกแบบมาโดยมิได้คำนึงถึงประติมากรรมที่จะนำมาประดับ จึงทำให้ขาดความเป็นเอกภาพและความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างสถาปัตยกรรมและประติมากรรม อันเป็นผลให้ตัวสถาปัตยกรรมเด่นเกินไป ส่วนงานประติมากรรมก็ด้อยคุณค่าไปอย่างน่าใจหาย หากสถาปนิกและประติมากรออกแบบอนุสาวรีย์ร่วมกันหรือเป็นคนเดียวกัน ประติมากรรมจะส่งเสริมสถาปัตยกรรมให้งดงามและดูเด่นมากขึ้น มิใช่ไปกันคนละทาง

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ รศ. ดร. กฤษณา มองว่า ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ตระหนักถึงความผิดพลาดทั้งหลายทั้งปวงนี้ แต่ไม่สามารถกล่าวคัดค้านได้ เพราะท่านตระหนักดีถึงสถานภาพของตนเองที่เป็นเพียงข้าราชการคนหนึ่ง ซึ่งต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

ผู้เขียนบทความยกคำบอกเล่าจากศิษย์ท่านหนึ่งของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เกี่ยวกับประติมากรรมที่ประดับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อัน “สะท้อนให้เห็นถึงความคับข้องใจของประติมากรท่านนี้อย่างเด่นชัด สำหรับงานชิ้นนี้ท่านศาสตราจารย์ไม่สบายใจเลย ถึงกับกล่าวว่าเป็นอนุสาวรีย์ที่ทำไว้เพื่อความขายหน้า เพราะในการออกแบบแรกทุกๆ ส่วนมีความประสานกลมกลืนกันในรูปนอก แต่ทางการทหารขอร้องให้รูปปั้นแต่ละรูปต้องมีท่าทางอย่างที่เป็นอยู่ จึงทำให้ขาดความกลมกลืน และเสียทรวดทรงของโครงรูปอนุสาวรีย์ทั้งหมด[1] ถึงแม้ว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้จะเป็นที่ชื่นชอบของคณะรัฐบาลและเหล่าผู้นำทหาร แต่ความสำเร็จในครั้งนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่น่าชื่นชมและน่าภาคภูมิใจสำหรับประติมากรเช่น ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อย่างแน่นอน[2]

อีกหนึ่งกรณีคือ อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งประดิษฐาน ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คำวิจารณ์ที่รุนแรงและไร้ซึ่งความเป็นธรรมต่อศิลปินและผลงานของเขาไม่เพียงแต่จะแสดงให้เห็นถึงจิตใจอันคับแคบและเต็มไปด้วยอคติแล้ว ยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่าบุคคลเหล่านั้นหาได้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะไม่

อนุสาวรีย์นี้สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2497 เป็นพระบรมรูปทรงม้าขนาดเท่าครึ่งพระองค์จริง หล่อด้วยโลหะรมดำ ออกแบบและปั้นโดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี โดยมี สิทธิเดช แสงหิรัญ ปกรณ์ เล็กสน และ สนั่น ศิลากร เป็นผู้ช่วย

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กล่าวอธิบายถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ของท่านไว้ว่า

…ข้าพเจ้าคิดทำอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินในลักษณะขององค์วีรบุรุษไทย…ข้าพเจ้าสร้างมโนภาพให้เห็นพระองค์ในลักษณะอันเปี่ยมด้วยมนุษยธรรมอย่างแท้จริงเพื่อกอบกู้อิสรภาพของชาติไทยในยามที่ความหวังทั้งหลายดูเหมือนจะสูญไปแล้วจากจิตใจของชาวไทยทั้งมวล ข้าพเจ้าคิดเห็นองค์วีรบุรุษของเราในขณะทำการปลุกใจทหารหาญให้เข้าโจมตีข้าศึกเพื่อชัยชนะ ดังนั้นความรู้สึกที่แสดงออกในพระพักตร์จึงเต็มไปด้วยสมาธิในความคิดและเต็มไปด้วยลักษณะของชายชาติชาตรี[3]

รศ.ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน แสดงความคิดเห็นว่า ลักษณะม้าศึกคู่พระทัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชคือจุดที่สะท้อนจฉริยะในการนำเสนอของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อย่างถ่องแท้ เพราะ

“ลักษณะของม้าทรงจะเป็นตัวเน้นการหยุดนิ่งที่เคลื่อนไหว และเป็นตัวเผยให้เห็นถึงวิกฤตการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนั้นอย่างกระจ่างแจ้ง ม้าทรงของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีลักษณะไม่ค่อยสูงใหญ่เท่าใดนัก ขาหน้าทั้งสองของมันเหยียดตรงในท่าหยุดนิ่งอยู่กับที่ เพราะจอมทัพทรงดึงบังเหียนกระชับไว้ หัวและลำตัวของมันโยกเอนไปข้างหน้าเล็กน้อย

ส่วนขาหลังทั้งสองเหยียดเอนไปข้างหน้าในท่าเตรียมพร้อมที่จะโลดแล่นไปข้างหน้าในทุกวินาที หากได้รับคำบัญชาจากเจ้าเหนือหัว อากัปกิริยาต่างๆ เหล่านี้ ตลอดจนหูทั้งสองที่ตั้งชัน กล้ามเนื้อในทุกอณูของร่างกายที่เขม็งตึง รูจมูกที่บานออกเพื่อพ่นลมหายใจออก ปากที่เปิดกว้างจนเห็นฟันในลักษณะเปล่งเสียงร้องอันคึกคะนองออกมา และหางที่ถูกยกสูงขึ้น เป็นลักษณะของม้าศึกชั้นดีที่กำลังคึกคะนองอย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะพาจอมทัพโลดแล่นไปข้างหน้าเพื่อสร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่และนำชัยชนะกลับมาสู่มาตุภูมิ”

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เคยศึกษาศิลปะสาขาประติมากรรมใน Academy of Fine Arts แห่งเมืองฟลอเรนซ์ ถึง 7 ปี ย่อมต้องเคยเดินทางไปดูผลงานชั้นบรมครูของประติมากรชื่อดังในสมัยต่างๆ มาแล้วอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกทั้งอนุสาวรีย์ Gattamelata ที่ออกแบบและปั้นโดย Donatello และอนุสาวรีย์ของ Bartolomeo Colleoni ที่ออกแบบและปั้นโดย Andrea del Verrocchio

จากคำกล่าวอธิบายของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ในบทความเรื่อง ลักษณะม้าทรงของอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เผยให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ภาพอนุสาวรีย์ของ Gattamelata และ Colleoni ยังคงติดตรึงแน่นอยู่ในความทรงจำของท่านมิรู้เลือน แม้กระทั่งการยกตัวอย่างเพื่ออธิบายและกล่าวแก้ให้กับผลงานสร้างสรรค์ชิ้นนี้ของตน ท่านก็ยังนำเอาลักษณะการนำเสนอภาพแม่ทัพใหญ่บนหลังม้าในผลงานอันเป็นอมตะของ Donatello และ Verrocchio มายกเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบ

…ยิ่งกว่านั้นข้าพเจ้าประสงค์จะเน้นความจริงว่า ข้าพเจ้าต้องการให้พระบรมรูปแทนองค์วีรบุรุษในขณะประกอบวีรกรรม มิใช่อนุสาวรีย์ของนายทัพที่นั่งผึ่งผายอยู่บนหลังม้าเพื่อรับคำสรรเสริญอย่างกึกก้องจากฝูงชนที่คับคั่งตามท้องถนน โห่ร้องต้อนรับผู้มีชัย…ม้าทรงของพระองค์ถึงแม้จะมีลักษณะไม่เคลื่อนไหว (ไม่วิ่ง) แต่ก็เต็มไปด้วยพลังอันแกร่งกล้า และข้าพเจ้าอยากกล่าวว่า แกร่งกล้ายิ่งกว่าที่เคลื่อนไหวไปแล้วเสียอีก อันที่จริงจากที่กล่าวมาแล้วนี้ ท่านผู้อ่านจะได้คิดว่า ผู้ชายจะปรากฏกำลังอำนาจของระบบกล้ามเนื้อและจะดุดันน่ากลัวก็ในขณะที่เตรียมพร้อมที่จะต่อสู้ด้วยความตื่นเต้นอย่างรุนแรงมากกว่าเมื่อกำลังทำการต่อสู้กัน…[4]

อนุสาวรีย์ Colleoni บนจัตุรัส SS. Giovanni e Paolo, Venice ออกแบบและปั้นโดย Verrocchio (ภาพจาก MICHELE CROSERA / AFP)

ขณะที่มุมมองของรศ.ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิเคราะห์ความแตกต่างของอนุสาวรีย์ทั้ง 3 ไว้ดังนี้

“…เมื่อเปรียบเทียบผลงานทั้ง 3 ชิ้นของประติมากรเอก 3 ท่านนี้อย่างละเอียด ก็จะพบความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดในรูปแบบการนำเสนอและเจตนารมณ์ของศิลปิน อนุสาวรีย์ Gattamelata ของ Donatello ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเทิดเกียรติแม่ทัพใหญ่แห่งสาธารณรัฐเวนิสแล้ว ยังมีจุดมุ่งหมายที่จะแสดงแสนยานุภาพของกองทัพแห่งสาธารณรัฐและของ Cosimo de Medici อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ อนุสาวรีย์ของ Donatello จึงมุ่งเน้นที่จะนำเสนอภาพแม่ทัพใหญ่ผู้เกรียงไกร ซึ่งได้ชัยชนะในการยุทธ์เหนือข้าศึก กำลังนั่งเด่นเป็นสง่าอยู่บนหลังม้าศึกคู่ใจ ที่กำลังก้าวเหยาะย่างอยู่ท่ามกลางเสียงโห่ร้องแสดงความยินดีของประชาชนในสาธารณรัฐ

อนุสาวรีย์ Gattamelata ออกแบบและปั้นโดย Donatello (ภาพ Public Domain)

ส่วนอนุสาวรีย์ Colleoni ของ Verrocchio ซึ่งสร้างขึ้นหลังจากอนุสาวรีย์ Gattamelata นานกว่า 30 ปีนั้น มุ่งแสดงภาพความกล้าหาญ เด็ดขาด และสุขุมเยือกเย็นของแม่ทัพใหญ่ขณะกำลังบัญชาการรบอยู่ในสนามรบ แต่อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี นอกจากจะสร้างขึ้นภายหลังอนุสาวรีย์ของประติมากรเอก 2 ท่านนี้ถึงกว่า 5 ศตวรรษแล้ว ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเทิดพระเกียรติมหาราชของไทยอีกด้วย

เมื่อพิจารณาดูอนุสาวรีย์ทั้งสามนี้อย่างละเอียด เราจะพบความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันในแง่ของหลักการสร้างงาน ซึ่งเผยให้เห็นวิญญาณแห่งการสร้างสรรค์งานแบบเรอเนสซองซ์อย่างชัดแจ้ง เพราะแน่นอนอยู่แล้วที่ประติมากรชาวอิตาเลียนผู้เคยศึกษาใน Academia มาก่อน เมื่อคิดจะสร้างอนุสาวรีย์ของวีรบุรุษผู้กู้ชาติย่อมอดไม่ได้ที่จะหวนคิดถึงแม่แบบซึ่งเป็นยอดและสมบูรณ์แบบในด้านการนำเสนอ เช่น อนุสาวรีย์ของ Donatello และ Verrocchio แต่ยอดศิลปินย่อมไม่ยึดติดหรือลอกเลียนแบบผลงานของผู้ใด นอกจากจะใช้เป็นแรงบันดาลใจและแนวทางในการสร้างสรรค์งานของตนเองเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ อนุสาวรีย์ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จึงแตกต่างจากอนุสาวรีย์ของประติมากรเอกทั้ง 2 ท่านที่กล่าวมาแล้วในแง่การนำเสนออย่างชัดแจ้ง

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี นำเสนอภาพแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์ชาติไทยในท่าทางที่สง่างามสมชายชาตินักรบ สงบนิ่งและไม่หวั่นไหวดังศิลา แต่เต็มไปด้วยพลังแห่งความหาญกล้าและเด็ดเดี่ยว ม้าทรงของพระองค์นั้นเล่าแม้จะหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่ก็เต็มไปด้วยพลังแห่งม้าศึกชั้นดีซึ่งเชี่ยวชาญในการยุทธ์ และกำลังคึกคะนองพร้อมที่จะโลดแล่นไปข้างหน้า เมื่อจอมทัพออกคำบัญชา พระรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและอาชาคู่พระทัย ถึงแม้จะอยู่ในลักษณะหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่ทุกอณูของกล้ามเนื้อในร่างกายกลับเขม็งตึงอย่างเห็นได้ชัด

ลักษณะของสีพระพักตร์และอากัปกิริยาของหัวม้าบ่งบอกถึงความเคลื่อนไหวที่อยู่ภายใน สภาวะทางจิตและอารมณ์ที่แปรปรวนอยู่ภายในประดุจดังคลื่นใต้น้ำซึ่งโหมกระหน่ำ การนำเสนอภาพวีรกษัตริย์ของไทยในลักษณะนี้เผยให้เห็นแนวคิดในการสร้างงานของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่แตกต่างจากของ Donatello แต่คล้ายคลึงกับของ Verrocchio อย่างชัดเจน

Verrocchio ต้องการเน้นให้เห็นอารมณ์อันแปรปรวนที่ซ่อนอยู่ภายในของยอดขุนพล ซึ่งส่งผลกระทบต่อสรีระภายนอก จนก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวอันทรงพลังขึ้น แต่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ต้องการนำเสนอภาพมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ที่นอกจากจะเชี่ยวชาญในการยุทธ์แล้ว ยังมีพระปัญญาอันเฉียบแหลมและมีความสุขุมคัมภีรภาพเป็นอย่างยิ่งขัตติยมานะทำให้พระองค์ทรงข่มความรู้สึกที่อยู่ภายในมิให้ปรากฏออกมาอย่างชัดเจน แต่ความเป็นปุถุชนปรากฏให้เห็นได้จากกล้ามเนื้ออันเขม็งตึง สีหน้าและแววตาที่บ่งบอกถึงอารมณ์ซึ่งแปรปรวนอยู่ภายใน ลักษณะการนำเสนอเช่นนี้จึงทำพระรูปของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเต็มไปด้วยพลังแห่งการเคลื่อนไหวอันสงบนิ่ง สง่างาม น่าเกรงขาม ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจแห่งขัตติยะ และมีค่าควรแก่การสักการบูชา และนี่คือจิตวิญญาณแห่งตะวันออกในรูปแบบการสร้างงานแบบตะวันตกที่ประติมากรผู้ปราดเปรื่องนามว่า ศิลป์ พีระศรี ประจักษ์แจ้งแก่ใจเป็นอย่างดีในการวางแนวคิดในการสร้างสรรค์อนุสาวรีย์แห่งนี้

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีเลือกรูปแบบการสร้างงานที่เหมือนจริงตามธรรมชาติและเน้นความงดงามที่สมบูรณ์แบบของโครงสร้างและสัดส่วนทางสรีระแบบอุดมคติคล้ายกับอนุสาวรีย์ Gattamelata ของ Donatello ซึ่งใช้หลักการสร้างงานเดียวกับการสร้างรูปอนุสาวรีย์ชนชั้นปกครองและจักรพรรดิของอาณาจักรโรมัน นั่นคือ เน้นความเหมือนจริงตามธรรมชาติและความงดงามของมนุษย์ตามแบบอุดมคติ ที่ว่าเหมือนจริงตามธรรมชาตินั้นคือ การปั้นร่างกายมนุษย์ให้ถูกต้องและเหมือนจริงตามหลักกายวิภาค ส่วนใบหน้าไม่เพียงต้องปั้นให้ดูเหมือนจริงเท่านั้น แต่ต้องแสดงลักษณะอันเป็นปัจเจกบุคคลออกมาด้วย ส่วนการเน้นความงามของมนุษย์ตามแบบอุดมคตินั้น จะเห็นได้จากการสร้างรูปทรงของมนุษย์และสัตว์ให้งดงามด้วยสัดส่วนที่สมบูรณ์แบบและการจัดวางท่วงท่าและการเคลื่อนไหวอันสง่างาม นอกจากนั้นยังมักเลือกการนำเสนอภาพบุคคลนั้นในวัยหนุ่มสาวอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ Donatello จึงเลือกที่จะปั้นรูปเหมือนของ Gattamelata ในวัยแห่งความสำเร็จมากกว่าจะเป็นวัยในปั้นปลายแห่งชีวิต[5]

ในการออกแบบอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็เช่นเดียวกัน ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี พยายามที่จะหาแบบที่มีชีวิตในอุดมคติของท่านก่อน ไม่ว่าจะเป็นม้าทรงหรือพระพักตร์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งไม่เคยมีผู้ใดเคยเห็นมาก่อน

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี วาดมโนภาพไว้ว่า พระพักตร์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จะต้องมีลักษณะไทยปนจีน แต่จะค่อนไปทางไทยมากกว่า สีพระพักตร์จะต้องบ่งบอกถึงความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว สุขุมคัมภีรภาพ และแสดงความปราดเปรื่องทั้งการยุทธ์และการปกครองเฉกเช่นมหาราชผู้เกรียงไกร และที่สำคัญที่สุดจะต้องอยู่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ คือมีพระชันษาประมาณ 30 กว่าๆ ถึง 40 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการกอบกู้เอกราชและทำนุบำรุงบ้านเมือง ไม่ใช่อยู่ในวัยแห่งปลายพระชนมชีพคือประมาณ 48 ปี[6] ด้วยเหตุนี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จึงเลือกแบบที่มีชีวิต 2 คน แทนคนๆ เดียว ซึ่งมีอายุไม่เกิน 40 ปี คือ ทวี นันทขว้าง และ จำรัส เกียรติก้อง ขณะนั้น ทวี นันทขว้าง อายุประมาณ 25 ปี ส่วนจำรัส เกียรติก้อง อายุประมาณ 34 ปี[7]

อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นอนุสาวรีย์ที่งดงามในทุกมุมมอง และตั้งอยู่ในสถานที่เหมาะสมที่สุด เพราะในอดีตผู้ที่อยู่บนถนนทุกสายที่มุ่งหน้าสู่วงเวียนใหญ่ จะสามารถมองเห็นพระบรมรูปที่สง่างามก่อนสิ่งอื่น แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ทัศนียภาพเช่นนี้จะไม่มีวันหวนกลับคืนมาให้เราได้ทัศนาอีกต่อไป เพราะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการวางผังเมือง ไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของอนุสาวรีย์แห่งนี้แม้แต่น้อย จึงปล่อยให้มีการสร้างอาคารและสิ่งก่อสร้างที่น่าเกลียดรอบวงเวียนใหญ่จนบดบังและทำลายทัศนียภาพอันงดงามแต่ดั้งเดิมของอนุสาวรีย์นี้ไปเกือบสิ้น นับเป็นการไร้ซึ่งความกตัญญูกตเวทิตาต่อมหาราชผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้ของไทยอย่างไม่น่าให้อภัย

ความงดงามทุกมุมมองของอนุสาวรีย์แห่งนี้ไม่เพียงแต่จะอยู่ที่การออกแบบทางโครงสร้างที่สมบูรณ์แบบและลงตัวด้วยการกำหนดสัดส่วนอันงดงามที่สอดประสานกันอย่างได้จังหวะและกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างม้าทรงและพระรูปแล้ว ยังอยู่ที่ความงดงามของเส้นในแนวตั้งและเส้นในแนวเฉียงซึ่งเกิดขึ้นจากความแยบยลในการกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวและท่าทางของม้าทรงและพระบรมรูปตามหลักการทางเรขาคณิต เส้นเหล่านี้นอกจากจะเป็นตัวเน้นพลังแห่งความเคลื่อนไหวแล้ว ยังเป็นตัวสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับตัวอนุสาวรีย์อีกด้วย

ภาพแสดงเส้นสมมติที่ช่วยสร้างความงดงามและความมีชีวิตจิตใจให้กับอนุสาวรีย์

เส้นสมมุติเส้นแรกคือเส้นในแนวดิ่งที่เริ่มต้นที่ปลายหูของม้าลงมายังเท้าหน้า เส้นนี้เป็นเส้นตายที่เน้นความสงบนิ่งอันตึงเครียดและทรงพลัง เส้นสมมุติที่ 2 คือเส้นในแนวเฉียงที่เริ่มต้นจากปลายหูของม้าไปยังปลายหาง เส้นนี้จะเป็นเส้นที่ก่อให้ให้เกิดการเคลื่อนไหวไปข้างหน้าราวกับการขับเคลื่อนอันทรงพลังของลูกธนูที่พุ่งแหวกอากาศไปสู่เป้าหมาย เส้นสมมุติที่ 3 เป็นเส้นในแนวดิ่งซึ่งวิ่งไปในแนวเฉียงจากปลายพระแสงดาบลงมายังเท้าหลังที่เหยียดเอนไปข้างหน้าของม้า เส้นนี้เป็นเส้นที่นอกจากจะเน้นความสูงสง่าของอนุสาวรีย์แล้วยังเป็นเส้นที่สร้างพลังและความสมบูรณ์แบบให้กับเนื้อหาอีกด้วย และนั่นคือจุดเริ่มต้นแห่งวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ ในวินาทีที่วีรกษัตริย์ทรงมีพระบัญชาให้กองทัพของพระองค์เข้าประจัญบาน

การออกแบบอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราชนับได้ว่าลงตัวที่สุดและสมบูรณ์แบบที่สุดจนไม่อาจแยกส่วนใดส่วนหนึ่งของอนุสาวรีย์นี้ออกจากกันได้ เพราะหากแม้ตัดส่วนใดส่วนหนึ่งออกก็เท่ากับว่าเป็นการทำลายเอกภาพและความสมบูรณ์แบบของอนุสาวรีย์นี้ลง ด้วยเหตุนี้จึงนับเป็นครั้งแรกที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ลุกขึ้นปกป้องผลงานสร้างสรรค์ชิ้นนี้ของท่านด้วยการเขียนบทความในหัวข้อ ลักษณะม้าทรงของอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หลังจากที่มีการวิจารณ์เกี่ยวกับหางม้าทรงอย่างรุนแรงจากผู้ที่หลงผิดคิดว่าตนเป็นผู้รู้จริงเกี่ยวกับศิลปะ ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นหารู้ไม่ว่าศิลปะคืออะไร”

ด้วยมุมมองข้างต้น รศ.ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน จึงสรุปไว้ว่า จุดมุ่งหมายและเจตนารมณ์ในการนำเสนอรูปแบบการสร้างสรรค์อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี สะท้อนให้เห็นความปราดเปรื่องทางปัญญา ความแม่นยำในการคำนวณโครงสร้างของประติมากรรม ตลอดจนความล้ำเลิศและแยบยลในการสร้างสรรค์ศิลปะของประติมากรผู้นี้ พร้อมทิ้งท้ายไว้ว่า

“ดังนั้น ผลงานชิ้นนี้จึงนับเป็นผลงานชิ้นเยี่ยมของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งนับเป็นดอกผลของศิลปะเรอเนสซองซ์ของอิตาลีในสยามประเทศอย่างแท้จริง”

 


 เชิงอรรถ

[1] อ้างจาก พิษณุ ศุภ. บทวิพากษ์ศิลปกรรมของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี, ใน วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับ 100 ปี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี. ปีที่ 12 ฉบับพิเศษ 2535, น. 127.

[2] นอกจากอนุสาวรีย์ทั้ง 2 แห่งนี้แล้ว ยังมีงานอนุสาวรีย์อีกหลายแห่งที่ถูกสร้างขึ้นอย่างผิดเจตนารมณ์ของประติมากร เช่น การออกแบบสร้างอนุสาวรีย์พระปฐมบรมราชานุสรณ์และอนุสาวรีย์พระมหาธีรราชเจ้า ที่ น. ณ ปากน้ำ ได้เขียนเล่าเอาไว้ดังนี้

ข้าพเจ้าเคยได้เห็นภาพสเก็ตช์ของอนุสาวรีย์พระปฐมบรมราชานุสรณ์ ท่าทางที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ประทับนั่งบนพระราชอาสน์ก็สวยงามสง่ามาก คือเอนพระอังสาเล็กน้อย พระบาทวางเหลื่อมกัน โดยพระบาทข้างที่พระอังสายื่นออกมานั้นอยู่เบื้องนอก พระพักตร์เชิดอย่างสง่า ท่าแบบนี้เป็นท่าที่จัดไว้อย่างสวยงามมีชีวิตชีวา ไม่ดูประทับนั่งเฉยๆ อย่างที่เห็นปัจจุบัน ข้อนี้ข้าพเจ้ารู้ความจริงภายหลังว่าคณะกรรมการได้ติชม แก้ไขพระบรมรูปให้เป็นท่าทางปัจจุบันนี้เอง เพราะเหตุนี้จึงออกเป็นเรื่องขมขื่นของท่านปฏิมากรเอกมิใช่น้อย ด้วยคณะกรรมการมิได้เล็งเห็นความงามในแง่ศิลป…

…อนุสาวรีย์พระมหาธีรราชเจ้าทั้งรูปสเก็ตช์และรูปขยายเท่าตัวจริง ซึ่งข้าพเจ้าเคยเห็นตั้งไว้ในมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นทรงสวมฉลองพระองค์ชุดจอมทัพเสือป่า พระหัตถ์เบื้องขวาหนีบพระมาลาทรงสูงอันประดับด้วยขนนก ทรงประทับยืนพักพระบาทข้างหนึ่ง นับว่าเป็นภาพอันสง่างามมิใช่น้อย ครั้งหนึ่งเมื่อได้ยืนต่อหน้ารูปปั้นขนาดเท่าองค์จริงชิ้นนั้น ข้าพเจ้าเรียนถามท่านศาสตราจารย์ว่า ท่านอาจารย์ครับ ทำไมถึงไม่ปั้นตามนี้ ผมว่าจะสง่ากว่ารูปจริงซึ่งสวมหมวก ดูแล้วเฉยๆ ชอบกล ท่านยักไหล่ แล้วสั่นหัวอย่างท้อแท้ตอบว่า เขาไม่เอา จะให้ฉันทำอย่างไร เขาบอกว่าท่านยืนตากแดดร้อนถ้าไม่สวมหมวก น. ณ ปากน้ำ. ผลงานที่ไม่มีใครรู้จักของ ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี, ใน วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับ ๑๐๐ ปี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี. น. 107 และ 108.

แสงอรุณ รัตกสิกร กล่าววิพากษ์วิจารณ์พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ดังนี้ พระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ที่หน้าสวนลุมพินี ดูจะเป็นรูปสุดท้ายที่สร้างขึ้นเพื่อความเหมือนจริงตามรูปถ่าย ไม่ได้แสดงความพยายามที่จะถอดความเป็นกษัตริย์นักปราชญ์ หรือความสามารถของรัชกาลที่ 6 ในฐานะผู้บุกเบิกทางงานด้านวรรณกรรมแต่อย่างไร อนุสาวรีย์แห่งนี้ก่อให้เกิดความรู้สึกที่แสนจะโดดเดี่ยว อ้างว้าง แกมทรมาน พระบรมรูปที่ตั้งอยู่บนฐานรูปชะลูดและแคบๆ นั้น อ้างจาก พิษณุ ศุภ. อ้างแล้ว. น. 122.

ข้อความดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ผู้วิจารณ์ไม่ได้ค้นคว้าข้อมูลในการเขียนและหาได้มีความรู้เกี่ยวกับศิลปะไม่ แต่กลับกล้าเขียนแสดงความคิดให้ผู้อื่นเห็นผิดตามอย่างไม่น่าให้อภัย ข้อมูลที่ผิดพลาดคือ ประติมากรสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์นี้โดยอาศัยต้นแบบสำหรับปั้นพระบรมรูปของรัชกาลที่ 6 ที่ปัจจุบันประดิษฐาน ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไม่ใช่อาศัยแบบจากภาพถ่าย ที่สำคัญ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จฯ มาประทับนั่งเป็นแบบให้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ปั้นด้วยพระองค์เอง หลักฐานของข้อมูลทางประวัติศาสตร์ คือ พระบรมรูปเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ที่ไม่เพียงแต่เหมือนจริงอย่างมีชีวิตชีวาเท่านั้น แต่ยังสะท้อนบุคลิกภาพของมหาราชผู้เป็นปราชญ์และกวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์อีกด้วย พระนลาฏที่เปิดกว้างและนูนได้รูป เผยให้เห็นความเป็นผู้ทรงปัญญา ดวงเนตรฉายแววอันมุ่งมั่น สุขุม เยือกเย็น และเมตตากรุณา สำหรับฐานที่แคบและสูงของอนุสาวรีย์นั้นประติมากรจงใจออกแบบเพื่อให้พระบรมรูปที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 3 เท่าของคนจริง สูงเด่นเป็นสง่าหน้าลุมพินีสถานของพระองค์ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับที่ประติมากรเอกทั่วโลกใช้ในการออกแบบฐานอนุสาวรีย์ของตน ดังจะเห็นได้จากอนุสาวรีย์ Gattamelata ของ Donatello และ อนุสาวรีย์ Colleoni ของ Vcrrocchio เป็นต้น

[3] ศิลป์ พีระศรี. ลักษณะม้าทรงของอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, ใน วารสารศิลปากร. ปีที่ 8 เล่มที่ 4 (กันยายน 2497), น. 63-64.

[4] ศิลป์ พีระศรี. อ้างแล้ว. น. 50-53.

[5] Gattamelata เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1443 ขณะที่มีอายุได้ประมาณ 73 ปี ถึงแม้ว่า Donatello จะไม่มีโอกาสเห็นเขาในช่วงระยะเวลานี้เลย เพราะ Donatello ได้ย้ายถิ่นฐานมาสร้างงานศิลปะที่เมือง Padua ภายหลังจากที่ Gattamelata ได้สิ้นชีวิตลงแล้วก็ตาม แต่ Donatello อาจเคยเห็นหรือเคยพบปะกับ Gattamelata ในขณะที่เขายังอยู่ในวัยแห่งความสำเร็จมาก่อนก็เป็นได้ เพราะระหว่างปี ค.ศ. 1409-27 Gattamelata เคยรับราชการในกองทหารรับจ้างให้กับสาธารณรัฐฟลอเรนซ์ ซึ่งถูกรุกรานจากสาธารณรัฐอื่นๆ เช่น การรุกรานของ Ladislas แห่งเนเปิลส์ ซึ่งยกกองทัพมาล้อมเมืองฟลอเรนซ์ บ้านเกิดของ Donatello เมื่อปี ค.ศ. 1414 หรือในปี ค.ศ. 1420 เมื่อ Braccio da Montone ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของ Gattamelata ได้นำกองทหาร 400 นาย เคลื่อนพลเข้าสู่เมืองฟลอเรนซ์ หรือระหว่างปี ค.ศ. 1427-34 ซึ่ง Gattamelata รับราชการทหารให้กับสันตะปาปา Marcellus V และสันตะปาปา Eugene IV ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ Donatello เข้ามาทำงานศิลปะในกรุงโรมเช่นเดียวกัน (ประมาณต้นทศวรรษที่ 30)

[6] พ.ศ. 2310 พระยาตาก (สิน) (33 ปี) ได้ตีฝ่ากองทัพพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยาไปรวบรวมพลที่เมืองจันทบูร จากนั้นจึงยกทัพจากเมืองจันทบูรพร้อมเรือรบ ๑๐๐ กว่าลำและกำลังทหารอีกประมาณ 5,000 คน โดยใช้ยุทธวิธีการรบแบบสายฟ้าแลบตีเมืองธนบุรี ที่พม่าให้นายทองอิน คนไทยขายชาติ เป็นผู้ดูแล ประมาณครึ่งวันทัพไทยกู้ชาติสามารถยึดกรุงธนบุรีได้สำเร็จ จากนั้นกองทัพของพระยาตากสินจึงเร่งยกกองทัพเรือมุ่งสู่อยุธยา และเข้าประชิดค่ายพม่าด้านวัดกลางเพื่อเตรียมวางแผนเข้าตีค่ายพม่า ในเวลาเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น ราวเที่ยงวันของวันเสาร์ เดือน 12 ขึ้น 11 ค่ำ ปีกุน นพศก จุลศักราช 1129 ซึ่งตรงกับวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 กองทัพไทยสามารถยกพลเข้าตีหักค่ายโพธิ์สามต้นจนทัพพม่าและมอญแตกพ่าย และสามารถกอบกู้เอกราชของบ้านเมืองกลับคืนมาให้แก่ปวงชนชาวไทยได้สำเร็จ หลังจากต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าได้ 7 เดือน โดยใช้เวลาเพียง 2 วัน และ 2 คืน เท่านั้น (นับตั้งแต่วันที่กองทัพของพระยาตากสินยกทัพมาถึงปากน้ำสมุทรปราการ) วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2313 พระยาตาก (สิน) (36 ปี) ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หรือ สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ ในปีเดียวกันนี้ทรงปราบปรามหัวเมืองที่ตั้งตนเป็นอิสระได้หมดแล้วรวบรวมเมืองไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวได้อีกครั้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงถูกปลงพระชนม์เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ขณะมีพระชนมายุได้ 48 พรรษา การฟื้นฟูบ้านเมืองที่พินาศย่อยยับให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงอีกครั้ง รวมทั้งการกอบกู้ฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศและสภาพจิตใจของราษฎรที่บอบช้ำยับเยินจากมหันตภัยสงคราม เป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่และหนักยิ่งที่วีรกษัตริย์พระองค์นี้ทรงเร่งกระทำก่อนสิ่งอื่น และได้ทรงกระทำตลอดเกือบ 15 ปีแห่งการครองราชย์ของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงไม่มีการก่อสร้างปราสาทราชวังที่ใหญ่โตหรูหราสมพระเกียรติเลย นอกจากป้อมปราการ ค่ายคู และหอรบเท่านั้น เพราะพระองค์หาได้ใส่ใจต่อการดำรงพระชนมชีพเยี่ยงขัตติยราชาไม่

ดังจะเห็นหลักฐานจากพระตำหนักเก๋งคู่ที่เล็กและคับแคบอันเป็นที่ประทับ และท้องพระโรงที่เรียบง่ายไร้การตกแต่งประดับประดาสำหรับว่าราชการในพระราชวังเดิม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตของกองทัพเรือ น้ำพระทัยอันประเสริฐสุดของมหาราชพระองค์นี้ สะท้อนออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดจากบันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม ความว่า ครั้งนั้นยังหาผู้จะทำนามิได้ อาหารกันดาร ข้าวสาร สำเภาขายถังละ 3 บาทบ้าง ถังละตำลึงหนึ่งบ้าง ถังละ 5 บาทบ้าง ยังทรงพระกรุณาด้วยปรีชาญาณอุตส่าห์เลี้ยงสัตว์โลกทั้งปวง พระราชทานชีวิตให้คงคืนไว้ได้และพระราชทานวัตถาลังกาภรณ์ เสื้อผ้าเงินตรา จะนับประมาณมิได้ จนทุกข์พระทัยออกพระโอษฐว่า บุคคลผู้ใดเป็นอาทิ คือเทวดาบุคคลผู้มีฤทธิ์ มาประสิทธิ์ มากระทำให้ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ขึ้น ให้สัตว์โลกเป็นสุขได้ แม้นผู้นั้นจะปรารถนาพระพาหาแห่งเราข้างหนึ่ง ก็อาจตัดบริจาคให้แก่ผู้นั้นได้

[7] ทวี นันทขว้าง เล่าเกี่ยวกับเรื่องการหาแบบสำหรับปั้นพระพักตร์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่า ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กล่าวว่า ฉันนึกดูแล้วว่า หน้าตาพระเจ้าตากสินจะต้องเหมือนนายกับนายจำรัสบวกกัน ฉันว่าอย่างนั้น นายต้องมาเป็นแบบให้ฉัน นิพนธ์ ขำวิไล (บรรณาธิการ). อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ, 2542, น. 141. สนั่น ศิลากร เล่าเกี่ยวกับการหาม้าสำหรับมาเป็นแบบปั้นม้าทรงของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่า ขั้นตอนของการสร้างของท่านก็คือสเก็ตช์รูปปั้นของพระเจ้าตากทรงม้าด้วยขนาด 3 ใน 4 ของคนจริงและม้าจริงก่อน ปั้นให้มีทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น ท่าทาง เครื่องทรง อารมณ์ และความหมายของเรื่อง งานช่วงนี้ท่านต้องคิดต้องค้นตามประวัติศาสตร์ เป็นงานหนักทางสมองมาก เช่น ม้าทรงเป็นม้าพันธุ์ไทย ท่านต้องให้กรมศิลปากรทำหนังสือถึงกรมสัตวแพทย์ทหารบก (ถ้าผมจำไม่ผิด) ตั้งอยู่ที่ข้างๆ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ…ในที่สุดขอดูม้าเป็นแบบปั้นได้ที่กรมทหารม้ารักษาพระองค์ บางซื่อ มีม้าไทยหลายตัวที่อาจารย์พอใจ ทางกรมทหารม้านี้ให้ยืมม้าพร้อมกับพลประจำมาอยู่ที่โรงหล่อของกรมหลายวัน เพื่อให้ท่านสเก็ตช์ส่วนสัด และส่วนละเอียดของกระดูก กล้ามเนื้อ เสร็จแล้วจึงส่งคืน เพิ่งอ้าง, น. 48-49.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2563