“มนต์ปราบเสนียด” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 ที่เจ้านายหลายพระองค์สนใจใช้ไล่สิ่งอัปมงคล?

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 วชิรญาณภิกขุ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

เสนียด หรือเสนียดจัญไร แค่ได้ยินก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องดี ถ้าต้องพบเจอก็ยิ่งไปกันใหญ่ และนี่คงเป็นเรื่องหนึ่งที่สังคมไทยให้ความสำคัญ รัชกาลที่ 4 จึงทรงพระราชนิพนธ์ “มนต์ปราบเสนียด” ทั้งได้รับความสนใจจากเจ้านายหลายพระองค์

สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงพระนิพนธ์ถึง “มนต์ปราบเสนียด” ไว้ว่า มนต์ปราบเสนียด เป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้นฉบับเดิมทรงลายพระราชหัตถเลขาเป็นอักษรอริยกะ เป็นความภาษามคธและภาษาไทย ครั้นเสด็จสวรรคตแล้ว พระองค์เจ้าโสมาวดี [พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชฐ] ได้ส่งสมุดพระราชนิพนธ์นี้ไปยัง เจ้าคุณสาสนโศภณที่พระธรรมวโรดม ทรงแจ้งว่า

เมื่อรัชกาลที่ 4 ยังทรงพระชนมชีพ เคยเกิดเหตุไฟไหม้กองกระดาษที่สมุดเล่มนี้อยู่ด้วย ไฟไหม้กระดาษไปหมด แต่สมุดไม่เป็นอะไร และในสมุดนั้นจะเป็นเรื่องอะไรก็ไม่ทรงทราบ จึงทรงขอให้ท่านเจ้าคุณสาสนโศภณตรวจดู ท่านจึงให้ขุนจิตรอักษร (ชุ่ม) เมื่อยังอุปสมบทเป็นพระสงฆ์ คัดออกเป็นตัวอักษรไทยสำหรับข้อความที่เป็นไทย และข้อความที่เป็นภาษามคธให้คัดเป็นภาษาขอม

ก่อนจะส่งคืนสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ซึ่งทรงสนพระทัย “มนต์ปราบเสนียด” จึงทรงคัดไว้ด้วยลายพระหัตถ์เองด้วยเช่นกัน มีพระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ [พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์] ทรงตรวจทานต้นฉบับ มีขุนมหาสิทธิโวหาร (ทับ) เป็นผู้แปลภาษาไทย ซึ่งมนต์ปราบเสนียดที่จะกล่าวต่อไปนี้ ก็มาจากข้อมูลที่พระองค์ทรงคัดไว้ ดังนี้

มนต์ต่างๆ จะสัมฤทธิ์ผลได้ เริ่มจาก “ผู้ทำพิธี” เป็นสำคัญ ในมนต์ปราบเสนียด รัชกาลที่ 4 พระราชนิพนธ์ไว้เช่นกันว่า

“…ผู้ที่จะทำพิธีนั้นๆ ต้องท่องอ่านสวดซ่อมอักษรปาฬีแลคาถาบรรดาที่ได้ว่าได้ท่องในการพิธีนั้นทั้งปวง แลคิดตรวจเนื้อความตามแปลและพิจารณอรรถาธิบายบทปาฬี แลคาถาทั้งปวงนั้นให้เข้าใจสว่างแจ้งแก่ใจ แลชำระสรณคมแลศีล 5 เปนอาทิ แลตั้งเมตตากรุณา ไว้อัทยาไศรยให้บริสุทธิ์ ทำใจให้ผ่องแผ้ว พ้นจากความรำคาญต่างๆ แลละความกระวนกระวายขวนขวายด้วยราคะ ด้วยโลภเจตนาในขณะนั้น แล้วจึงทำเถิดฯ

เมื่ออาบน้ำชำระตน เพื่อจะให้ได้วัตถุวิสุทธิกิริยา ก่อนเวลาจะทำพิธีนั้น ให้เขาเอาขันสำฤทธ์ก็ดี สังขก็ดี ไข่โอซาเทรศ [ไข่นกกระจอกเทศ]…ภาชนใดๆ ที่เปนมงคลจนม่อดินเปนที่สุด ใส่น้ำที่สอาดให้เต็มแล้ว เศกด้วยพระคาถา…แล้วจึงเอาน้ำนั้นลลายเครื่องสนานชำระน้ำที่เหลือรดเถิด ทำกายให้มีอำนาจในการพิธีนั้นแลฯ”

เมื่อกายและจิตบริสุทธิ์ดีแล้ว จึงว่าพระคาถา “กำเหนิดแห่งวัตถุวิสุทธิกิริยา” อธิษฐานอัญเชิญพระพุทธานุภาพเข้าในน้ำ หรือเสกน้ำนั้นเอง ความในคาถาขุนมหาสิทธิโวหารแปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า

“เมื่อเราทั้งหลายได้ฟังอยู่ว่า พระพุทธเจ้าเปนผู้บริสุทธวิเศศแล้ว เปนตาทีบุคคล เราเปนผู้เกิดได้ฟังคำสั่งสอนแล้ว ถึงซึ่งพระผู้มีพระภาคย์เจ้าพระองค์นั้นนั่นเทียวเปนสรณะ เราสึกษาคำสอนของพระผู้มีพระภาคย์พระองค์นั้น ตามสติกำลัง

เราเปนผู้ใคร่ซึ่งความบริสุทธิแก่ตน ย่อมไม่ถึงทับได้ซึ่งธรรมที่เปนที่ตั้ง เพราะโทษแห่งอวมงคล ขออานุภาพแห่งความกรุณาใหญ่ ของพระผู้มีพระภาคย์พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ที่ปรินิพพานแล้วนาน ย่อมเปนไปอยู่ตราบเท่าจนวันนี้ เมื่อสัตว์ทั้งหลายที่เกิดในภายหลัง ก็ได้ถึงแล้วซึ่งพระพุทธเจ้าเปนสรณ เพราะว่าธรรมก็ดี แลวิไนยก็ดี พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นก็ได้แสดงแลบัญญัติไว้แล้ว เพื่อชำระซึ่งกิเลสทั้งหลายของผู้ปฏิบัติชอบ

พระพุทธเจ้าย่อมแสดงอานุภาพของธรรมนั้น อันสำเร็จด้วยปัญญา ไม่เปนอย่างอื่น ก็เดชะอานุภาพแห่งธรรมนั้น จงประสิทธิลงในน้ำนี้ น้ำซึ่งตั้งอยู่ก็อาไสยซึ่งอานุภาพแลเดชแห่งธรรมนั้น เราทั้งหลายอธิษฐานซึ่งน้ำนี้ ด้วยเชดอานุภาพของธรรมนั้น เราย่อมทำการบูชาการบวงสรวงนี้ แก่อานุภาพของธรรมนั้น ผลแห่งเดชานุภาพแห่งธรรมนั้น ให้น้ำมีมีฤทธิ

การชำระซึ่งอวมงคลนี้ ย่อมมีด้วยฤทธิอันใด อวมงคลทั้งหลายทั้งปวง ก็ย่อมตกไปโดยไม่เหลือ ความบริสุทธิจากอวมงคลทั้งหลายทั้งปวง ก็ด้วยฤทธิในน้ำแลเดชานุภาพแห่งธรรมนั้น เมื่อกายนี้อันน้ำถูกพร้อมแล้ว ก็มีเดชานุภาพ ความสำเรจจงมี ความสำเรจจงมี ความสำเรจจงมี ผลนี้จงสำเร็จแก่บุคคลผู้มีจิตรเลื่อมไสยในการตั้งไว้แห่งจิตรฯ”

น้ำที่ได้ เรียกว่า “น้ำมนต์ปราบเสนียด” เมื่อจะใช้จะเสกคาถาอีกครั้งหรือไม่ก็ได้ น้ำนั้นจะเอาไปรดคนที่ต้องเสนียดจัญไร อัปมงคลต่างๆ ได้

นอกจาก “น้ำ” แล้ว ยังมีการเสก เครื่องสาน [สิ่งที่ใช้ในการอาบน้ำ] เช่น มะกรูด, ส้มป่อย, ดินสอพอง ฯลฯ แต่นิยมเสกดินสอพองเพราะสามารถเก็บไว้ได้นานกว่าสิ่งอื่นๆ ความในคาถาขุนมหาสิทธิโวหารแปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า

“พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า สามรัตนนี้ เปนของบริสุทธิ เปนรากของความบริสุทธิอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าเปนผู้บริสุทธิท่านตรัสรู้ธรรมอันบริสุทธิด้วยปัญยาอันบริสุทธิ แลแสดงธรรมสั่งสอนให้สงฆ์สาวกบริสุทธิด้วยฯ หมวดสามแห่งรัตนไตรที่ไม่มีมลทิน บริสุทธวิเศษอย่างนี้ จึงเปนไปเพื่อความเลื่อมไสยของผู้ที่ใคร่ซึ่งความบริสุทธิ ของบริสุทธิทั้งสามคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะปรากฏมีไนกาลบางทีบางคาบฯ

เราย่อมอธิษฐานซึ่งดินศรีพองเครื่องสนานนี้ด้วยความบริสุทธิคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้ฉันใด ดินศรีพองเครื่องสนานนี้ จงเป็นเครื่องชำระอวมงคลทั้งหลาย ฉันนั้นฯ

(1) อวมงคลทั้งหลายแลความขัดข้องทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งเจืออยู่ในกายนี้ จงอันตรธานฉิบหายไปโดยไม่เหลือเถิดฯ

(2) ความกลัวแลความวุ่นวาย แลความขัดข้องทั้งหลาย ซึ่งมีอวมงคลเปนปัจจัยก็ดี อันตรายและโรคทั้งหลายที่เกิดพร้อมเพราะอวมงคลทั้งหลายก็ดี จงอย่ามีมาด้วยประการทั้งปวงเลย จงสำเรจโดยชอบเถิดฯ

(3) ความปราฐนาของฆ่าศึกทั้งหลาย ที่มาแต่มีนั้นๆ จงอย่าได้มาพ้องพาลถูกต้องเลย ด้วยอำนาจดินศรีพองเครื่องสนานนี้ฯ ขอความสำเร็จจงมีแก่ผู้ที่มีจิตรเลื่อมไสยไนวัตถุทั้งสามนี้เทอญฯ”

“มนต์ปราบเสนียด” ที่ฟังดูออกแนวไสยศาสตร์ หากเพราะรัชกาลที่ 4 ทรงผนวชอยู่นาน มนต์ปราบเสนียดที่ทรงพระราชนิพนธ์ จึงขึ้นต้นด้วยการอธิษฐานอัญเชิญพระพุทธานุภาพเสมอ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ประชุมพระราชนิพนธ์ภาษาไทยในรัชกาลที่ 4 ภาค 2 พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางแจ่มวิชาสอน (ผิน นิยมเหตุ) ณ เมรุวัดสังข์กระจาย ธนบุรี วันที่ 20 กรกฎาคม พุทธศักราช 2512


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2566