ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“แพนด้า” เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่จัดอยู่ในวงศ์หมี (Ursidae) มีสีขาวแต้มด้วยดำ ขนฟูฟ่อง แถมยังตัวอ้วนกลม กิจวัตรประจำวันของแพนด้าที่คนทั่วไปเห็น ไม่ว่าจะจากคลิปวิดีโอหรือสวนสัตว์ก็คือการแทะไผ่อย่างเพลิดเพลิน นั่งจุมปุ๊กข้างธารน้ำ หรือเอาแต่นอน แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากกิจกรรมที่ว่ามาเหล่านั้น อีกรูทีนหนึ่งของแพนด้าก็คือสปา อุนจิม้า หรือ แพนด้าพอกตัวด้วยขี้ม้า นั่นเอง
การค้นพบนิสัยแปลก ๆ ที่หลายคนได้ยินครั้งแรกอาจจะตกใจหรือยี้แหยะนี้ เกิดขึ้นจากความสงสัยของนักวิจัยที่ทำงานในเขตสงวนธรรมชาติฝอผิง (Foping National Nature Reserve) แถบเทือกเขาฉินหลิ่ง (Qinling) ประเทศจีน หลังจากที่พวกเขาได้คลุกคลีอยู่กับแพนด้าเป็นระยะเวลาหนึ่ง กระทั่งสังเกตว่าขนสีขาวดำนั้นมักจะแปรเปลี่ยนเป็นสีกากีจาก ขี้ม้า เสมอ
นักวิจัยตั้งกล้องถ่ายตามติดชีวิตแพนด้าเป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 2016-2017 เพื่อดูพฤติกรรมแปลกประหลาด และเริ่มวิจัยข้อมูลว่า เหตุใดสัตว์ที่พวกเขาดูแลอยู่จะต้องเอาก้อนอึม้ามาป้ายตัวให้เปรอะเปื้อนขน
การศึกษาและวิเคราะห์นิสัยของแพนด้าคืบหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ จนท้ายที่สุดก็ได้คำตอบว่า ที่พวกมันทำเช่นนี้ เพื่อลดความหนาวเย็นที่เข้ามาปกคลุมทั่วร่างกาย เนื่องจากขี้ม้ามีสาร 2 ชนิด คือ เบต้าแคริโอฟิลลีน (beta-caryophyllene-BCP) และเบต้าแคริโอฟิลลีนออกไซด์ (beta-caryophylle oxide-BCTPO) ซึ่งมีหน้าที่ช่วยสร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย และแช่แข็งเซลล์ประสาทรับสัมผัสที่ชื่อว่า transient receptor potential melastatin 8 (TRPM8)
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้แพนด้ามักเอาตัวไปถูไถกับขี้ม้ากองพะเนิน เพื่อให้ผิวหนังของมันไม่รู้สึกกับอากาศภายนอกที่หนาวเย็น “เจจุน จาง” นักนิเวศวิทยาชาวจีน ยังตั้งข้อสันนิษฐานว่า สัตว์ขนสีดำขาวนี้น่าจะมีพฤติกรรมนี้มานานนับพันปี เพราะถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของแพนด้าอยู่ในภูเขา ซึ่งเคยเป็นเส้นทางการค้าต่าง ๆ
ทว่ายังมีนักวิชาการอีกหลายคนที่คาดว่าทฤษฎีเหล่านี้อาจไม่เป็นจริง มัลคอล์ม เคนเนดี (Malcom Kennedy) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ธรรมชาติ จากมหาวิทยาลัยกลาสโกว (University of Glasgow) ให้เหตุผลว่า
พวกแฟนคลับใบไผ่ตัวยงมีนิสัยอีกอย่างหนึ่งคือ สนใจใคร่รู้กับสิ่งที่น่าสนใจ และมักจะหยิบจับสิ่งนั้นมาป้ายขนของตนเองไปทั่ว ทั้งขี้ม้าอาจยับยั้งให้แพนด้าไม่หนาวก็จริง แต่ร่างกายยังต้องมีพลังงานมากพอในการจัดการกับความหนาวเหน็บ นอกจากนี้ แพนด้ายังมีขนปุกปุยเพื่อช่วยปกป้องความหนาวอยู่แล้ว การพอกขี้ม้าบาง ๆ อาจไม่ได้ช่วยมากนัก
ความคิดเห็นทางโลกวิชาการสองฟากฝั่งต่างนำเสนอผ่านหลักฐานที่พวกเขาพบเจอ กระทั่ง ไอแซค ซิว (Isac Chiu) นักประสาทวิทยา จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ได้ออกมาเสนอข้อสมมติฐานใหม่ว่า การที่แพนด้านำ ขี้ม้า มาพอกตัว ไม่ใช่เพียงเพราะป้องกันความหนาวอย่างเดียว แต่สาร 2 ชนิดในขี้ม้ายังมีฤทธิ์ลดการอักเสบและลดความเจ็บปวด คล้ายกับการออกฤทธิ์ในน้ำมันกัญชา
แม้ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเพราะเหตุผลใด “แพนด้า” จึงชอบเอามูลม้าสีกากีมาแปะป้ายตัวเอง แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวอ้วนกลม หรือ แพนด้าพอกตัวด้วยขี้ม้า เป็นชีวิตจิตใจ!
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไมจีนมอบแพนด้า มองนัยการทูตสัตว์ฉบับจีน กลยุทธ์เก่าแก่อันใสซื่อที่สุด-แสนน่ารัก
- ยุคแห่ง “แพนด้า” ในไทย จากการทูตสมัยพล.อ.ชวลิต ถึงกระแสฮิตช่วงช่วง-หลินฮุ่ย-หลินปิง
- “แพนด้า(ยักษ์)” กินไผ่และเกือบจะเป็นสัตว์กินมังสวิรัติ ทำไมยังอ้วนกลมเป็น “ต้าวอ้วน”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ป๋วย อุ่นใจ. ANI-MORE วิทยาสัตว์. กรุงเทพฯ: sundogs, 2566.
https://dusit.zoothailand.org/animal_view.php?detail_id=149&c_id=
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 สิงหาคม 2566