“แพนด้า(ยักษ์)” กินไผ่และเกือบจะเป็นสัตว์กินมังสวิรัติ ทำไมยังอ้วนกลมเป็น “ต้าวอ้วน”

แพนด้า ไผ่ จีน
แพนด้ายักษ์ กินใบไผ่ที่ฐานวิจัยการเพาะพันธุ์แพนด้ายักษ์ฉินหลิ่ง ในมณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 3 ธ.ค. 2019 ภาพจากแฟ้มภาพซินหัว

แพนด้า เป็นสัตว์ที่คนจำนวนมากมองว่าน่ารักน่าเอ็นดูจากรูปร่างภายนอก เคยสงสัยไหมว่า ทำไม แพนด้ายักษ์ ยังคงมีรูปร่างอ้วนกลม แม้ว่าเกือบจะเป็นสัตว์กินมังสวิรัติก็ตาม

ไม่นานมานี้ มีรายงานผลการศึกษาชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2022 โดยเผยแพร่ในวารสารเซลล์ รีพอร์ตส์ (Cell Reports) รายงานเผยว่าการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้ (Gut microbiota) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของแพนด้า อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว

การศึกษาระบุว่า อาณานิคมของโปรไบโอติก (probiotics) หรือจุลินทรีย์ตัวดีชนิดหนึ่งของ แพนด้า จะขยายตัวตามฤดูกาล ในช่วงที่มีหน่อไม้ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการให้พวกมันกิน ซึ่งจุลินทรีย์นี้จะช่วยให้แพนด้ากักเก็บไขมันได้มากขึ้น เพื่อชดเชยให้ร่างกายในยามหิวโหยที่มีเพียงใบไผ่ให้เคี้ยว

ทีมวิจัยที่นำโดยเว่ยฝู่เหวิน นักวิจัยจากสถาบันสัตววิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน พบว่าในฤดูกินหน่อไม้ แพนด้าป่าในเทือกเขาฉินหลิ่งจะมีระดับแบคทีเรียที่เรียกว่าคลอสตริเดียม บิวทิไรคัม (Clostridium butyricum) ในลำไส้ สูงกว่าช่วงฤดูกินใบไผ่อย่างมีนัยสำคัญ

คณะนักวิจัยปลูกถ่ายเชื้อจุลินทรีย์ในอุจจาระแพนด้าที่เก็บได้จากป่า สู่หนูทดลองที่ปราศจากเชื้อโรคและเลี้ยงด้วยอาหารที่ทำจากไผ่ ผลปรากฎว่าหนูซึ่งถูกปลูกถ่ายเชื้อจุลินทรีย์ในอุจจาระแพนด้าที่เก็บได้ในช่วงฤดูกินหน่อไม้ มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างมาก

การวิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่าบิวทิเรต (butyrate) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากการย่อยของแบคทีเรียคลอสตริเดียม บิวทิไรคัม สามารถปรับปรุงการแสดงออกของยีนจังหวะเซอร์คาเดียน (circadian rhythm gene) ที่เรียกว่าเพอร์2 (Per2) ได้ โดยยีนตัวนี้มีหน้าที่เพิ่มการสังเคราะห์และกักเก็บไขมัน

หวงกว่างผิง ผู้เขียนงานวิจัยคนแรกจากสถาบันสัตววิทยาฯ กล่าวว่า “การศึกษาครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราเจอความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างจุลินทรีย์ในลำไส้กับลักษณะทางพันธุกรรม (phenotype) ของแพนด้า”

ทีมวิจัยกำลังวางแผนที่จะคัดแยกจุลินทรีย์ในลำไส้ของแพนด้าเพิ่มเติม และค้นหาบทบาทที่จุลินทรีย์เหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพของแพนด้า

เว่ยกล่าวว่า “การระบุชนิดแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อสัตว์เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะวันหนึ่งเราอาจจะสามารถรักษาโรคบางชนิดด้วยโปรไบโอติกได้”

แพนด้าถือเป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญสำหรับจีนมายาวนาน จีนใช้แพนด้าในทางการทูตมาตั้งแต่สมัยบูเช็กเทียน (625-705) มีบันทึกว่าจีนในสมัยบูเช็กเทียนส่งแพนด้าคู่หนึ่งไปที่ญี่ปุ่น (Diana Usurelu, 2019) นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จีนส่งแพนด้าไปนานาประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงไทยด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Usurelu, Diana. “Animal Diplomacy: Does it melt the Diplomats’ Hearts?”. Berlin Global. Online. Published 12 APR 2019. Access 17 SEP 2019. <http://www.berlinglobal.org/index.php?animal-diplomacy-does-it-melt-the-diplomats-hearts>


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงจากบทความ “ไขข้อสงสัยทำไม ‘แพนด้า’ กินไผ่แล้วยังเป็น ‘ไอต้าวอ้วน’” ในบริการข่าวสารภาษาไทยของสำนักข่าวซินหัว เผยแพร่เมื่อ 20 มกราคม 2565


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มกราคม 2565