ยุคแห่ง “แพนด้า” ในไทย จากการทูตสมัยพล.อ.ชวลิต ถึงกระแสฮิตช่วงช่วง-หลินฮุ่ย-หลินปิง

แพนด้า ช่วงช่วง หลินฮุ่ย หลินปิง
ภาพเบื้องหลังทีมงานถ่ายทอดสดภาพชีวิตแพนด้าหลินปิง ที่เชียงใหม่ เมื่อ 19 กันยายน 2010 (ภาพจาก PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ในบรรดาสัตว์ร่วมโลกจำนวนมหาศาล มีสัตว์หลากหลายชนิดเป็นที่นิยมในเหล่ามนุษย์ บางชนิดเป็นสัตว์เลี้ยง เป็นสัตว์สำหรับทำอาหาร บางชนิดใช้ประโยชน์เป็นทั้งแรงงานหรือความสวยงาม และมีบางชนิดสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายผสมรวมกันแบบบูรณาการก็ว่าได้ ตัวอย่างสัตว์ร่วมโลกของมนุษย์ในชนิดที่กล่าวถึงหลังสุดนี้ก็คือ แพนด้า

ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกและลักษณะท่าทางอันน่ารักน่าเอ็นดูทำให้แพนด้า กลายเป็นที่นิยมของมนุษย์มาหลากหลายรุ่น เวลาผ่านมาจนถึงยุคทศวรรษ 1980s จำนวนแพนด้าในธรรมชาติลดน้อยลงจนถึงขั้นวิกฤต ดินแดนซึ่งมีแพนด้าจำนวนมากอย่างจีนใช้ความพยายามอย่างมากในการแพร่พันธุ์แพนด้าจนกระทั่งในปี 2021 มีรายงานว่า ประชากรแพนด้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,800 ตัวแล้ว อยู่ในระดับที่พอจะพิจารณาถอดแพนด้าออกจากบัญชีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ได้

หากย้อนกลับไปในอดีต แพนด้า เป็นสัตว์อีกหนึ่งชนิดซึ่งจีนนำมาใช้ประโยชน์ในทางการเมืองด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาอย่างยาวนาน มีบันทึกว่า ในสมัยบูเช็กเทียน จีนส่งแพนด้าคู่หนึ่งไปที่ญี่ปุ่น (Diana Usurelu, 2019)

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จีนส่งแพนด้าไปนานาประเทศอย่างต่อเนื่อง Diana Usurelu คอลัมนิสต์จากสื่อในเบอร์ลิน บรรยายว่า ตั้งแต่ 1958-1982 จีน “ส่งมอบ” แพนด้าในฐานะของขวัญให้ 9 ประเทศ บรรดาประเทศปลายทางล้วนปรากฏชื่อมหาอำนาจยักษ์ใหญ่แต่ละทวีป ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, รัสเซีย (สหภาพโซเวียต) และอีกหลายประเทศ จุดเริ่มต้นมาจากในปลายยุค 50s ซึ่งจีนส่งมอบแพนด้าให้กับสวนสัตว์มอสโคว์

เมื่อ ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) เมื่อประธานาธิบดีริชาร์ด นิกซัน (Richard Nixon) เดินทางไปเยือนจีน หวังให้สัมพันธ์กับประเทศคอมมิวนิสต์ดำเนินไปอย่างราบรื่นมากขึ้น จีนตอบรับการเปิดประตูครั้งนั้นด้วยการส่งมอบแพนด้า 2 ตัวไปให้สวนสัตว์ในวอชิงตัน ดีซี ขณะที่สหรัฐฯ ส่งชะมดวัว (Musk oxen) ไปตอบแทน

การใช้แพนด้าแลกเปลี่ยนของจีนชะงักลงเมื่อช่วงที่แพนด้าลดน้อยลงอย่างมากราวต้นยุคทศวรรษ 1980s จีนระงับส่งแพนด้าไปเป็นของขวัญแก่นานาประเทศ แต่เปลี่ยนนโยบายมาเป็นให้ “ยืม” แพนด้าเป็นระยะเวลา 10 ปี และมีการพิจารณาต่อสัญญากันเป็นวาระ

ทั้งนี้ ข้อมูลเมื่อปี 2017 ระบุว่า จำนวนแพนด้าทั่วโลกอยู่ที่ 1,800 ตัว ขณะที่สื่อในสหรัฐฯเผยว่า ไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกจ่ายเงินประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้จีนเป็นค่าตอบแทนในการยืมแพนด้ามาไว้ในประเทศตัวเอง และหากพวกมันมีลูกก็จะต้องจ่ายเพิ่มตัวละ 4 แสนดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ลูกของพวกมันก็ยังถือว่าเป็นสมบัติของจีนอยู่ (MICHELE DEBCZAK, 2017)

ไม่ใช่แค่ประเทศจากตะวันตกเท่านั้น ไทยเองก็ยังอยู่ในเส้นทางกลยุทธ์ของจีนด้วย โดยรายงานข่าวจาก บีบีซีไทย ระบุว่า เมื่อปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) เจรจาขอแพนด้าจากประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ในแง่สัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ขณะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจทางราชการที่จีน โดยรัฐบาลจีนตกลง “มอบ” แพนด้าคู่หนึ่งให้ไทย หลังจากนั้นไทยก็เริ่มเตรียมการรับแพนด้าจากจีน

เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสวนสัตว์เชียงใหม่ระบุว่า “คณะรัฐมนตรี (ในเวลานั้น – กองบรรณาธิการ) มีมติรับทราบ และมอบหมายให้ องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประสานงานเพื่อเตรียมความพร้อมต่าง ๆ ซึ่งต่อมามีการประชุมและดำเนินการ ภายใต้โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2545 จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นจำนวน 39,818,313 บาท เป็นค่าก่อสร้างส่วนวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้า และมอบหมายให้กองพลทหารช่าง ค่ายภาณุรังสี จังหวัดราชบุรี เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างในระยะเวลา 210 วัน”

เวลาต่อมา แพนด้าคู่หนึ่งเดินทางจากจีนมาถึงท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546)

แพนด้าที่ไทยรับมาในสถานะทูตกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างไทย-จีนถูกจัดแสดงที่สวนสัตว์เชียงใหม่ แพนด้าเพศชายชื่อ ช่วงช่วง เพศหญิงชื่อ หลินฮุ่ย

แพนด้าคู่นี้ได้รับความนิยมจากชาวไทยอย่างมากถึงขั้นผู้ให้บริการ “ทรูวิชั่นส์” เปิดช่องถ่ายทอดความเคลื่อนไหวของแพนด้าแบบ 24 ชั่วโมงเริ่มในช่วงปลายปี 2552 ภายหลังแพนด้าหลินฮุ่ยให้กำเนิดลูกแพนด้าซึ่งเกิดจากการผสมเทียมเป็นสำเร็จ หลินฮุ่ยคลอดลูกแพนด้าเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 และเปิดให้เสนอชื่อลูกแพนด้ากันเข้ามาจนสุดท้ายได้ชื่อเรียกว่า “หลินปิง” การออกอากาศดำเนินไปเป็นเวลา 3 ปี และสิ้นสุดลงในปี 2555

เดิมทีแล้วไทยต้องคืนแพนด้าช่วงช่วงกลับคืนจีนใน พ.ศ. 2556 ตามสัญญารอบ 10 ปี แต่ได้ต่อสัญญาอีกครั้งไปจนถึงพ.ศ. 2566 อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 มีรายงานข่าวยืนยันว่า แพนด้าช่วงช่วงตายลงอย่างกะทันหันในวันที่ 16 กันยายน

จากการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 17 กันยายน นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ และทีมสัตวแพทย์ ชี้แจงเหตุการณ์ว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน เจ้าหน้าที่เลี้ยงอาหารช่วงช่วงตามปกติในเวลาประมาณ 15.00 น.

กระทั่งเวลาประมาณ 16.28 น. ช่วงช่วงลุกขึ้นเดิน และมีอาการเดินเซไปมา สะบัดคอ ก่อนล้มลงภายในส่วนจัดแสดงและไม่ลุกขึ้นมาอีก ซึ่งเจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือแต่ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้

ภายหลังช่วงช่วงตายลง ยังเกิดกระแสทวงคืนแพนด้าหลินฮุ่ยขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ในจีนด้วย

ส่วนหลินปิง ถูกส่งกลับไปที่จีนเมื่อปีค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) เวลาผ่านไป 2 ปี กระทั่งเมื่อ ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) หลินปิงตกลูกแฝดคู่หนึ่ง เป็นเพศเมียทั้ง 2 ตัว และอีก 2 ปีต่อมา หลินปิงตกลูกแฝดครั้งที่ 2 เมื่อ ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) ครั้งนี้เป็นเพศผู้และเพศเมีย รวมแล้วหลินปิงมีลูก 4 ตัวแล้ว

สำหรับความเป็นอยู่ของหลินฮุ่ยในปัจจุบัน เมื่อเดือนมกราคม 2021 (พ.ศ. 2564) สวนสัตว์เชียงใหม่ปิดส่วนจัดแสดงหมีแพนด้าหลินฮุ่ยตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2564 เป็นต้นไป เพื่อปรับปรุงหลังคาส่วนจัดแสดงหมีแพนด้า โดยรายงานข่าวเผยว่า ใช้เวลาปรับปรุงราว 6 เดือน ระหว่างช่วงปรับปรุง ทางสวนสัตว์เชียงใหม่ย้ายแพนด้าหลินฮุ่ยมาอยู่ในส่วนที่อยู่ของแพนด้าหลินปิง

กระทั่งเช้าวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2566 หลินฮุ่ยได้เสียชีวิต ณ สวนสัตว์เชียงใหม่ ด้วยวัย 21 ปี หลังสร้างความสุขให้แฟนคลับและนักท่องเที่ยวในไทยได้ร่วมชื่นชมความน่ารักมากว่า 15 ปี…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“สวนสัตว์เชียงใหม่ปิดปรับปรุงโซนแพนด้า 6 เดือน”. มติชนออนไลน์. เผยแพร่ 11 มกราคม 2564. เข้าถึงเมื่อ 19 กรกฎาคม 2564. <https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2524202>

“เศร้า ‘หลินฮุ่ย’ แพนด้าดัง สวนสัตว์เชียงใหม่ เสียชีวิตแล้ว อายุ 21 ปี”. มติชนออนไลน์. เผยแพร่ 19 เมษายน 2566. เข้าถึงเมื่อ 19 เมษายน 2566. <https://www.matichon.co.th/local/news_3932737>

“หลินปิงออกลูกเป็นแพนดาแฝดในเสฉวน”. บีบีซีไทย. เผยแพร่เมื่อ 15 กรกฎาคม 2560. เข้าถึงเมื่อ 19 กรกฎาคม 2564. <https://www.bbc.com/thai/international-40618313>

“ช่วงช่วง : 4 เรื่องน่าจดจำของแพนด้าช่วงช่วง”. บีบีซีไทย. เผยแพร่เมื่อ 19 กันยายน 2562. เข้าถึงเมื่อ 19 กรกฎาคม 2564. <https://www.bbc.com/thai/thailand-49724201>

“จีนปลื้ม เตรียมถอดแพนด้าจากบัญชีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างเป็นทางการแล้ว”. ไทยรัฐออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 10 กรกฎาคม 2564. เข้าถึงเมื่อ 19 กรกฎาคม 2564. <https://www.thairath.co.th/news/foreign/2136930>

DEBCZAK, MICHELE. “How China Uses Its Pandas as Diplomacy Tools”. Mentalfloss. Online. Published 24 MAR 2017. Access 17 SEP 2019. <http://mentalfloss.com/article/93627/how-china-uses-its-pandas-diplomacy-tools>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กรกฎาคม 2564 ปรับเนื้อหาเพิ่มเติม 19 เมษายน 2566