“พระพุทธสิหิงค์” ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ทำไมถึงเป็นปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ต่างจากที่อื่น?

พระพุทธสิหิงค์ ที่ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
การสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง (ภาพ : fb สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

“พระพุทธสิหิงค์” ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองชาวไทย ปัจจุบันปรากฏอยู่ 3 องค์ ประดิษฐาน ณ วัดพระสิงห์ จ. เชียงใหม่, หอพระพุทธสิหิงค์ จ. นครศรีธรรมราช และพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ โดย พระพุทธสิหิงค์ ที่ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ มักถูกอัญเชิญออกมาให้สรงน้ำ เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อสิริมงคลของประชาชนคนไทย

แม้ชื่อจะเหมือนกัน แต่หากพิจารณาตามรูปแบบศิลปะ จะเห็นว่าองค์ที่เชียงใหม่และนครศรีธรรมราช มีความใกล้เคียงกันทางด้านศิลปะ เพราะปรากฏปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แบบศิลปะล้านนา เหมือนกัน ต่างกันที่ องค์ จ. นครศรีธรรมราชจะอ้วนเตี้ย หรือเรียกกันว่า “แบบขนมต้ม”

แต่ที่แตกต่างเลยคือ พระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ เพราะพระองค์เป็นรูปปางสมาธิราบ มีลักษณะทางศิลปกรรมแบบสุโขทัยที่มีอิทธิพลศิลปะลังกา

เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น?

แต่ก่อนจะตอบคำถามที่เป็นข้อสงสัยข้างต้น ขอกล่าวถึงประวัติของพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ นี้เสียหน่อย…

ข้อมูลจากกรมศิลปากร อธิบายถึงประวัติของพระพุทธรูปองค์นี้ไว้ว่า…

“…ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้าสีหฬะ พระมหากษัตริย์แห่งลังกาทวีปทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๗๐๐ ต่อมาเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้ไปขอมาถวายพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ แห่งกรุงศรีอยุธยาได้กรุงสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา 

ต่อมาได้มีผู้นำไปไว้ที่เมืองกำแพงเพชรและเชียงรายตามลำดับ เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ยกทัพไปตีเมืองเชียงราย จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่พร้อมกับพระแก้วมรกต

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๕ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปไว้ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลานานถึง ๑๐๕ ปี

เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ แก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐ ชาวเชียงใหม่ก็ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปยังเชียงใหม่อีกครั้ง ต่อมาเมื่อมณฑลพายัพได้กลับมารวมเป็นส่วนหนึ่งของสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้เสด็จไปราชการทัพยังเชียงใหม่ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมายังกรุงเทพมหานครฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๘ และขอพระราชทานประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์อยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคลตั้งแต่นั้นมา”

กลับมาที่คำถามว่า เหตุใด “พระพุทธสิหิงค์” ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ถึงเป็นปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ต่างจากองค์อื่น ๆ 

เรื่องนี้ ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้อธิบายไว้ว่า…

“…ส่วนข้อสันนิษฐานว่าทำไมพระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ จึงเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ อันต่างจากรูปแบบทางศิลปกรรมและหลักฐานทางเอกสารที่กล่าวถึงว่าเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรนั้น ผู้เขียนยังหาหลักฐานใดมายืนยันไม่ได้ 

จะกล่าวว่าการที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ทรงไม่รู้จักพระพุทธสิหิงค์ ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะจากหลักฐานความเข้าใจของคนในสมัยอยุธยาตอนปลายก็รู้แล้วว่าพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร

ในส่วนที่นำเรื่องศิลปกรรมไปเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์การเมืองตามแนวคิดของพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เสนอว่าการที่สมเด็จพระราชวังบวรฯ ทรงเลือกพระพุทธสิหิงค์ที่เป็นพระพุทธรูปแบบขัดสมาธิราบมานั้น เพื่อต้องการให้เห็นความแตกต่างจากงานศิลปกรรมของพม่าที่นิยมสร้างพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร อันแสดงให้เห็นถึงอำนาจทางการเมืองของพม่าด้วย ซึ่งนับเป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างมาก 

ในส่วนของผู้เขียนเองยังไม่มีความเห็นใดในเรื่องนี้ จึงเห็นควรให้มีการศึกษาค้นคว้าและตรวจสอบหลักฐานกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://www.silpa-mag.com/history/article_4581

https://www.finearts.go.th/storage/contents/detail_file/HTr56om8BnBQcmGU2S86KvUaZgvd52gs8fqCpCrR.pdf


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มีนาคม 2567