“พระพุทธสิหิงค์ รัชกาลที่ 1” กับการเมืองไทยสมัยคณะราษฎร

ภาพพระพุทธสิหิงค์ รัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุ (วัดประชาธิปไตย) ในฐานะพระพุทธปฏิมาสำคัญของคณะราษฎร (ภาพจาก “ประวัติวัดพระศรีมหาธาตุ” สำนักนายกรัฐมนตรี, 2495. น.16.)

เมื่อกล่าวถึง “คณะราษฎร” และ “พระพุทธสิหิงค์ รัชกาลที่ 1” ท่านผู้อ่านนึกถึงอะไร คาดว่าคนส่วนใหญ่จะนึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ปี 2475 และพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่ประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร (ตามลำดับ) แล้วทั้ง 2 เรื่องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร

“พระพุทธสิหิงค์ รัชกาลที่ 1” ประดิษฐานบนพระแท่นบุษบก พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพถ่ายโดย พิชัย ยินดีน้อย)

วิศรุต บวงสรวง นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวไว้ในบทความชื่อว่า พระพุทธสิหิงค์ รัชกาลที่ 1’ กับการเมืองไทยสมัยคณะราษฎร ทศวรรษ 2470-90 ที่ตีพิมพ์ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนธันวาคม 2562

ความสัมพันธ์ของพระพุทธรูปองค์หนึ่ง กับ คณะบุคคลกลุ่มหนึ่ง ขอรวบรวมบางส่วนมานำเสนอดังนี้

เริ่มตั้งแต่การจำลองรัฐธรรมนูญประจำจังหวัด ในปี 2477 ของรัฐบาล สำหรับมอบให้เป็นสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญประจำจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยรัฐธรรมนูญจำลองทั้งหมดอัญเชิญมาประดิษฐานบนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เบื้องหน้าพระพุทธสิหิงค์ รัชกาลที่ 1 เพื่อรอให้ผู้แทนแต่ละจังหวัดมารับไปยังจังหวัดของตนเอง

ซึ่งหลวงวิจิตรวาทการอธิบายว่า “…พระพุทธสิหิงค์เป็นที่เคารพสักการะของพระราชาธิบดีและประชาชนชาวสยามมาตลอดเวลากว่า 600 ปี รัฐธรรมนูญฉบับจำลองที่ประดิษฐานอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักรสยามนั้น ก็ได้ทำขึ้นและรักษาไว้ภายใต้อานุภาพของพระพุทธสิหิงค์ และด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้แน่นอนว่า พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศสยาม…”

ภายหลังประกอบพิธีสมโภชรัฐธรรมนูญจำลองประจำจังหวัดแล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าวยังมีการจำลองพระพุทธสิหิงค์ รัชกาลที่ 1 ไปประดิษฐานตามต่างจังหวัด โดยความสนับสนุนของรัฐบาลและกรมศิลปากรด้วย เช่น จังหวัดภูเก็ตที่จำลององค์พระพุทธสิหิงค์ประจำจังหวัดขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2479 ซึ่งกรมศิลปากรกำหนดให้มีพิธีกรรมการหล่อขึ้นที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เททองหล่อ เมื่อหล่อพระพุทธสิหิงค์องค์จำลองเสร็จแล้ว มีการฉลอง ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เบื้องหน้าพระพุทธสิหิงค์องค์จริง จากนั้นอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์องค์จำลองไปยังจังหวัดภูเก็ตโดยทางรถไฟ

งานหล่อและอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์(จำลอง)ไปภูเก็ต ประมาณ พ.ศ.2482 (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ https://www.nat.go.th)

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2482-83 จังหวัดยะลาก็ได้ดำเนินการให้มีการสร้างพระพุทธสิหิงค์จำลองประจำจังหวัดยะลาขึ้นด้วยเช่นกัน

หรือเมื่อสมาชิกคณะราษฎรและรัฐบาลในขณะนั้น มีความประสงค์จะสร้างวัดประชาธิปไตย (วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน) ขึ้นเพื่อเป็นวัดประจำคณะราษฎร รวมถึงเป็นที่บรรจุอัฐิบรรดาผู้ก่อการและผู้สละชีพในการปราบกบฏบวรเดช ขึ้นที่ทุ่งบางเขน อันเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลคณะราษฎรมีชัยชนะเหนือกบฏบวรเดช

ในการประชุมของคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดสร้างวัดดังกล่าว ได้มีการกล่าวถึงพระประธานจะประดิษฐานที่พระอุโบสถว่าจะเป็นพระพุทธรูปองค์ใด

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมถามในที่ประชุมว่า “พระประธานสำหรับวัดนี้จะเอาที่ไหน”

เมื่อหลวงวิจิตรวาทการเสนอว่า “ข้าพเจ้าพร้อมที่จะให้พระพุทธสิหิงค์…” ที่ประชุมก็เห็นชอบ

ดังนั้น เมื่อสร้างวัดประชาธิปไตยเสร็จแล้ว ก็จะได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ

นอกจากนี้ เมื่อ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรจะอุปสมบท ณ วัดประชาธิปไตย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการทำพิธีอุปสมบทเป็นปฐมฤกษ์ของวัด แม้ในขณะนั้นการก่อสร้างต่างๆ ยังไม่เรียบร้อยดีนัก รัฐบาลก็กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ รัชกาลที่ 1 ไปประดิษฐานเป็นการชั่วคราว 1 วัน สำหรับงานอุปสมบทดังกล่าว

ภาพถ่ายนาคพระยาพหลพลพยุหเสนาในหมู่สงฆ์ หน้า “พระพุทธสิหิงค์ รัชกาลที่ 1” ที่ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุ (ภาพจาก นริศ จรัสจรรยาวงศ์. “หลอมนิกาย มหาสังฆกรรมคณะราษฎร อุปสมบทพระยาพหลฯ พ.ศ. 2484” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2561. น.117.)

การอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ รัชกาลที่ 1 (5 กรกฎาคม 2484) มาประดิษฐานเพียงวันเดียวครั้งนั้น รัฐบาลแจ้งเรื่องไปยังสำนักพระราชวัง หลวงวิจิตรววาทการเห็นว่า เนื่องจากเป็นการประดิษฐานชั่วคราว จึงจัดพิธีพอสังเขป

โดยเชิญไปทางรถไฟหรือรถยนต์เงียบๆ แล้วพักรักษาไว้ที่กองทัพอากาศดอนเมืองซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับวัด 1 คืนก่อน แล้ววันรุ่งขึ้นจึงค่อยแห่โดยใช้กระบวนเครื่องสูงมายังพระอุโบสถ

แต่เลขาธิการพระราชวังเสนอให้ ถวายพระเกียรติยศเป็นพุทธบูชาต่อพระพุทธสิหิงค์ รัชกาลที่ 1 ตามจารีตแบบราชสำนักอย่างเต็มที่  และเสนอความเห็นว่า

ไม่ควรใช้รถยนต์อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ รัชกาลที่ 1 ตามดำริของรัฐบาล แต่ควรใช้ราชรถน้อย รัชกาลที่ 6 ในการอัญเชิญจึงจะควรแก่เกียรติยศของพระพุทธรูป

ถ้าพระราชทานหรือโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้รัฐมนตรีท่านหนึ่ง นำสายสะพายราชอิสริยาภรณ์มหาวชิรมงกุฎ จำเพาะแพรแร่งไม่มีดวงตรา ไปคล้องพระหัตถ์ขวาองค์พระพุทธสิหิงค์ได้ก็จะดี

เมื่อพระพุทธสิงหิงค์ รัชกาลที่ 1 ไปถึงวัดแล้ว ควรที่จะมีการสมโภชด้วยมหรสพและดอกไม้ไฟด้วย ฯลฯ

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ คงพอได้เห็นความสำคัญของพระพุทธสิหิงค์ รัชกาลที่ 1 องค์นี้ และความสัมพันธ์ระหว่างคณะราษฎรและพระพุทธสิหิงค์ รัชกาลที่ 1 ที่ชัดเจนยิ่ง

หากน่าสนใจว่าทำไมต้องเป็น “พระพุทธสิหิงค์ รัชกาลที่ 1” ทำไมคณะราษฎรจึงเลือกพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปองค์นี้มีความสำคัญอะไร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ขอเชิญท่านหาคำตอบไปด้วยกันในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เดือนธันวาคม 2562

ปกนิตยสารศิลปวัฒธรรม ฉบับธันวาคม 2562

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 14 ธันวาคม พ.ศ.2562