ตามรอย “พระพุทธสิหิงค์” พระพุทธรูปสำคัญของไทยทั้ง 3 องค์ กับพุทธศิลป์ 3 แบบ

พระพุทธสิหิงค์

ชื่อของ “พระพุทธสิหิงค์” มีการอธิบายคำว่า “สิหิงค์” นั้น เป็น 2 แนว

1. พระโพธิรังสี พระเถราจารย์ซึ่งเป็นผู้แต่งนิทานพระพุทธสิหิงค์ผูกขึ้นจากศัพท์ 2 คำ คือ สีห+องฺค มีความหมายว่า มีลักษณะท่าทางเหมือนราชสีห์

Advertisement

2. พระรัตนปัญญา พระเถราจารย์ผู้แต่งชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวถึงพระพุทธสิหิงค์เช่นเดียวกับที่พระโพธิรังสีแต่งไว้ ต่างกันแต่เพียงพระรัตนปัญญาเรียกพระพุทธสิหิงค์ว่า “พระสีหลปฏิมา” ซึ่งหมายถึงพระพุทธรูปลังกา

พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปสำคัญของบ้านเมืองในไทยปรากฏอยู่ด้วยกัน 3 องค์ คือ องค์ที่ 1 ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิราบเข้าใจว่ามีลักษณะทางศิลปกรรมแบบสุโขทัยที่มีอิทธิพลศิลปะลังกา

พระพุทธสิหิงค์ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระพุทธสิหิงค์ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพจากหนังสือพระพุทธรูปสำคัญ)

องค์ที่ 2 ประดิษฐานในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ศิลปะล้านนาที่เรียกว่า “แบบสิงห์หนึ่ง” หรือ “แบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง” อายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20

พระพุทธสิหิงค์ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ เชียงใหม่
พระพุทธสิหิงค์ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่

องค์ที่ 3 ประดิษฐานในหอพระพุทธสิหิงค์ นครศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร เช่นเดียวกับองค์ที่ 2 แต่พระองค์อ้วนเตี้ยมากกว่า นิยมเรียกว่า “แบบขนมต้ม” จัดเป็นสกุลช่างนครศรีธรรมราช ในสมัยอยุธยากำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 21

พระพุทธสิหิงค์ หอพระพุทธสิหิงค์ นครศรีธรรมราช
พระพุทธสิหิงค์ หอพระพุทธสิหิงค์ เมืองนครศรีธรรมราช

จะเห็นได้ว่า พระพุทธสิหิงค์องค์ที่ 2 และ 3 นั้นมีพุทธลักษณะบางประการคล้ายกัน

ผศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อธิบายว่า “ตำนานพระพุทธสิหิงค์และรูปแบบพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในศิลปะอยุธยาได้แผ่อิทธิพลไปยังนครศรีธรรมราช จึงมีพระพุทธสิหิงค์และพระพุทธรูปแบบขัดสมาธิเพชรเกิดขึ้นทางภาคใต้ การกำหนดอายุของสกุลช่างนครศรีธรรมราชน่าจะอยู่ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 21-22  และนิยมสร้างอย่างแพร่หลายมาถึงพุทธศตวรรษที่ 23

การศึกษาสายวิวัฒนาการของพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร หรือพระพุทธสิหิงค์ พบว่าเกิดขึ้นในล้านนาและลงมาทางใต้ ซึ่งตรงกันข้ามกับตำนานที่กล่าวว่ามาจากทางใต้และขึ้นไปทางเหนือ จึงแสดงให้เห็นว่า เรื่องของพระพุทธสิหิงค์และรูปแบบพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรเป็นตำนานของล้านนา ทั้งสุโขทัย อยุธยา นครศรีธรรมราช และเมืองต่าง ๆ ที่กล่าวถึงในตำนาน น่าจะรู้จักจากตำนานของล้านนา จึงสร้างพระพุทธรูปขึ้นตามตำนานอันมีลักษณะแบบเดียวกับพระพุทธสิหิงค์ของชาวล้านนา ที่เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร ซึ่งไม่ตรงกับตำนานที่มาจากลังกา

เพราะถ้ามาจากลังกาแล้วน่าจะต้องเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ จึงทำให้นึกถึงข้อสันนิษฐานของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ข้อหนึ่งที่ว่า ‘พระพุทธสิหิงค์องค์เดิมที่กล่าวว่ามาจากลังกาตามตำนานนั้นสูญหายไปเสีย และมีการหล่อแทนใหม่หรืออาจจะแต่งตำนานขึ้นเพื่อประกอบพระพุทธรูปให้ศักดิ์สิทธิ์ โดยกล่าวว่ามาจากลังกาก็ได้’ ”

ส่วนพระพุทธสิหิงค์องค์ที่ 1 ซึ่งมีประวัติว่า อัญเชิญมาจากเชียงใหม่ (พ.ศ. 2338) เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 รับสั่งให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา) กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จยกกองทัพขึ้นไปตีพม่าที่มาล้อมเชียงใหม่ไว้

จึงน่าสนใจว่า พระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธวรรย์ มีที่มาอย่างไร

ด้วยเหตุว่า พระพุทธสิหิงค์องค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ อันมีลักษณะและการแสดงปางที่สอดคล้องกับพระพุทธรูปลังกา อีกทั้งยังเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธสิหิงค์สกุลช่างสุโขทัย

เมื่อพิจารณาจากลักษณะพระพุทธรูปมีลักษณะโดยรวมแล้วใกล้เคียงอย่างมากกับพระพุทธรูปล้านนาในกลุ่มที่มีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยที่เรียกว่า “พระพุทธสิหิงค์แบบสิงห์สอง” ส่วนสังฆาฏิที่เป็นแผ่นใหญ่และลงมาจรดขอบสบงแล้วนี้ แสดงให้เห็นถึงกลุ่มที่มีอิทธิพลศิลปะอยุธยาที่ปรากฎในล้านนา ซึ่งไม่เคยปรากฏในศิลปะสุโขทัยเลย เปรียบเทียบได้กับพระเจ้าเก้าตื้อที่วัดสวนดอก เชียงใหม่ โปรดให้หล่อขึ้นโดยพระเมืองแก้วใน พ.ศ. 2053 ฉะนั้น พระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ อาจเป็นพระพุทธรูปล้านนาในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 แล้วก็ได้

ส่วนว่าทำไมพระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์จึงเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ อธิบายโดยนำเรื่องศิลปกรรมไปเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์การเมืองเสนอว่า การที่สมเด็จพระราชวังบวรฯ ทรงเลือกพระพุทธสิหิงค์ที่เป็นพระพุทธรูปแบบขัดสมาธิราบมานั้น เพื่อต้องการให้เห็นความแตกต่างจากงานศิลปกรรมของพม่าที่นิยมสร้างพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร อันแสดงให้เห็นถึงอำนาจทางการเมืองของพม่าด้วย ซึ่งนับเป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างมาก  ซึ่งประเด็นเรื่องพระพุทธสิหิงค์นี้ยังต้องศึกษาค้นคว้าและตรวจสอบหลักฐานกันต่อไป


ข้อมูลจาก :

วิศรุต บวงสรวง. ‘พระพุทธสิหิงค์ รัชกาลที่ 1’ กับการเมืองไทยสมัยคณะราษฎร ทศวรรษ 2470-90” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2562

ผศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์. “พระพุทธสิหิงค์ คือพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในศิลปะล้านนา” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2563