พระพุทธรูป “คันธารราฐ” สมัยรัชกาลที่ 1 ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับศิลปะแบบคันธารราฐ

พระคันธารราฐ ปางขอฝน สมัยรัชกาลที่ 1 ในหอพระคันธารราฐ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ขอบคุณภาพจากเพจ หอสมุดพิกุลศิลปาคาร)

พระพุทธรูปแบบ “คันธารราฐ” หรือบ้างก็สะกดว่า “คันธาระ” (Gandhara) เป็นพระพุทธรูปยุคแรก ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยอิทธิพลทางศิลปะแบบกรีก ในดินแดนตอนเหนือของอนุทวีปอินเดีย ซึ่งเคยตกอยู่ใต้การครอบครองของชาวกรีกตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาซิโดเนียยกทัพมายึดครองไว้ได้

และศิลปะแบบกรีกก็ได้ส่งอิทธิพลต่อช่างฝีมือในการสร้างสรรค์งานประติมากรรมในศาสนาพุทธ ที่เดิมไม่นิยมการสร้างรูปเหมือนของพระพุทธเจ้า แต่มักใช้สัญลักษณ์แทนพระองค์เป็นหลัก และหันมาทำรูปเหมือนตามแบบนิยมของศิลปะกรีก กลายมาเป็นพุทธศิลป์ที่รู้จักกันดีในชื่อ “พระคันธารราฐ” ตามชื่อแคว้นที่ศิลปะแบบนี้เจริญรุ่งเรืองอยู่ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือของประเทศปากีสถาน

ในประเทศไทยเราก็มีพระพุทธรูปที่ถูกเรียกว่าเป็นพระคันธารราฐเหมือนกัน และมีความเก่าแก่กว่าสองร้อยปี ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปัจจุบันรักษาอยู่ในหอพระคันธารราฐ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ที่พระพุทธรูปองค์นี้ได้ชื่อว่า “พระคันธารราฐ” ก็มิใช่เพราะ พระองค์นี้เป็นพระที่สร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบคันธารราฐแต่อย่างใด

ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล บรรยายลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ องค์พระสูง ๖๕ ซม. มีลักษณะดังต่อไปนี้คือ รัศมีเป็นรูปบัวตูมหรือลูกแก้ว พระพักตร์ไม่ค่อยสวยงามมากนัก ครองจีวรตามแบบจีนพระหัตถ์ขวากวักเรียกเม็ดฝนพระพักตรซ้ายรองรับเม็ดฝน ประทับนั่งขัดสมาธิราบ”

พระคันธารราฐ ปางขอฝน สมัยรัชกาลที่ 1 ในหอพระคันธารราฐ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ส่วนเหตุที่ได้ชื่อว่า “พระคันธารราฐ” นั้น ม.จ.สุภัทรดิศ อธิบายว่า น่าจะเป็นเพราะมีตำนานหนึ่งที่เล่าว่า ในแคว้นคันธารราฐมีพญานาคตนหนึ่งชื่อเอลาปัตตร์ หรืออรวาลเป็นผู้ให้น้ำ แต่แรกได้ทำให้เกิดน้ำท่วมในแคว้นนั้น แต่ต่อมาเมื่อหันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว จึงได้ให้น้ำทำให้แคว้นนั้นเกิดความสมบูรณ์พูนสุข “ด้วยเหตุนั้นจึงเรียกพระพุทธรูปปางขอฝนว่าพระคันธารราฐ”

ดังนั้นคำว่า “คันธารราฐ” ที่ใช้ในเมืองไทยแต่เดิมมาจึงหมายถึงปางพระพุทธรูป ไม่ใช่รูปแบบศิลปะที่ใช้ในการสร้าง ซึ่งก็ยังมีพระพุทธรูปอีกองค์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับพระคันธารราฐในกรุงเทพฯ โดยองค์นี้ประดิษฐานอยู่ที่วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งตำนานวัดเล่าว่าเป็นพระเก่าแก่สร้างในสมัยอยุธยา แต่ ม.จ.สุภัทรดิศ ตั้งข้อสังเกตว่ามีความเป็นไปได้ที่พระองค์นี้จะสร้างเลียนแบบพระคันธารราฐที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1

พระพุทธรุปคันธารราฐ ปางขอฝน ในสมัยรัชกาลที่ 5
พระพุทธรุปคันธารราฐ ปางขอฝน ในสมัยรัชกาลที่ 5

ส่วนพระพุทธรูปในเมืองไทยที่สร้างขึ้นตามแบบศิลปะคันธารราฐจริงๆ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้โปรดให้สร้างขึ้นเป็นพระยืนปางขอฝน หลังการเสด็จพระพาสประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ. 2418 ซึ่งเป็นช่วงที่นักวิชาการตะวันตกกำลังให้ความสนใจศึกษาศิลปะแบบคันธารราฐ และลงความเห็นว่าที่นี่น่าจะเป็นต้นกำเนิดของการสร้างพระพุทธรูป


อ้างอิง:

“พระพุทธรูปสำคัญ สมัยรัตนโกสินทร์”. ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2525


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559