“สำนัก” แหล่งเรียนรู้วิถีกุลสตรีชาววังของ “ฝ่ายใน” สมัยรัชกาลที่ 5

สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชเทวี และพระอัครราชเทวี พร้อมด้วยเจ้าจอมมารดา และ เจ้าจอม ณ อัฒจันทร์ พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชสำนักฝ่ายใน
สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชเทวี และพระอัครราชเทวี พร้อมด้วยเจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม ณ อัฒจันทร์ พระที่นั่งวิมานเมฆ (ภาพจาก หนังสือ “พระตำหนักสวนสี่ฤดูพระราชวังดุสิต” )

“สำนัก” แหล่งเรียนรู้วิถี สตรีชาววัง ของ “ฝ่ายใน” หรือ พระราชสำนักฝ่ายใน สมัย รัชกาลที่ 5

พระภรรยาเจ้า หมายถึง พระภรรยาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงเป็น “เจ้า” กล่าวคือ เป็นพระราชธิดาหรือพระราชนัดดาในพระมหากษัตริย์ อันมีพระอิสริยยศตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป โดยพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง พระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง และพระภรรยาเจ้าจากประเทศราช

Advertisement

พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง คือ พระราชธิดา (ลูก) ในรัชกาลที่ 4 ประกอบไปด้วย สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี, สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี, พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี, และพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี (มิได้สถาปนา)

พระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง คือ พระราชนัดดา (หลาน) ในรัชกาลที่ 3 ประกอบไปด้วย พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์, พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา และพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ส่วนพระภรรยาเจ้าจากประเทศราชมีพระองค์เดียวคือ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา

ทั้งนี้รายพระนามที่กล่าวมาข้างต้นคือพระภรรยาเจ้าทั้งสิ้น ส่วนตำแหน่ง “เจ้าจอมมารดา” และ “เจ้าจอม” เป็นสามัญชนถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาสนองพระเดชพระคุณรัชกาลที่ 5 สามารถเรียกได้ว่า “พระภรรยา”

พระภรรยาเจ้าและพระภรรยาต่างประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังบริเวณฝ่ายใน เรียกว่า “พระราชสำนักฝ่ายใน” ภายในฝ่ายในประกอบไปด้วยพระตำหนักและตำหนักจำนวนมาก โดยแต่ละแห่งมีความโดดเด่นเรื่อง “ชาววัง” แตกต่างกัน อาจเป็นเพราะเจ้าของพระตำหนักหรือตำหนักนั้นมีความสนใจหรือมีความสามารถด้านใดด้านหนึ่ง พระตำหนักหรือตำหนักนั้นก็จะมีชื่อเสียงพิเศษโดยเฉพาะ แต่จะไม่เรียกพระราชสำนักจะเรียกสั้น ๆ เพียง “สำนัก” ซึ่งแต่ละสำนักจะมีบรรดาข้าหลวงจากตระกูลขุนนางหรือตระกูลผู้รากมากดีมาถวายงานรับใช้ ได้เรียนรู้วิถี สตรีชาววัง แต่ละสำนักก็มีความพิเศษแตกต่างกันไป ดังนี้

“สำนักสมเด็จที่บน”

สมเด็จที่บนในที่นี้คือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ พระมเหสีที่พระอิสริยยศสูงที่สุดในบรรดาพระภรรยาเจ้าและพระภรรยาในรัชกาลที่ 5 เหตุที่เรียกสำนักของพระองค์ว่า “ที่บน” อันเนื่องมาจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ประทับ ณ พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ที่บน” หรือพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทตามที่ชาววังเรียกอย่างลำลอง

สำนักสมเด็จที่บนขึ้นชื่อในเรื่องการทำดอกไม้ มีฝีมือการทำงานดอกไม้อย่างปราณีต สวยงาม และแปลกใหม่ อย่างเช่น พวงมาลัยโซ่ที่ใช้คล้องคอม้าในวันเปิดพระบรมรูปทรงม้า รัชกาลที่ 5 ก็ทำขึ้นโดยสำนักนี้ รวมถึงการจัดดอกไม้บนโต๊ะอาหาร และประดับห้องเสวยเมื่อมีพระราชพิธีสำคัญ หรืองานเลี้ยงต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ จะทรงเป็นผู้ตกแต่งด้วยดอกไม้สดอย่างสวยงาม

ข้าหลวงประจำสำนักนี้มักจะเป็นลูกผู้ดีชั้นหนึ่ง มีความรู้การงานสูง การศึกษาสูง แต่ว่ากันว่ามักหยิ่ง ไว้เนื้อไว้ตัว มักแต่งตัวอย่างยิ่งใหญ่ คือทั้งโก้และเก๋ เมื่อกราบทูลลาออกไปมีครอบครัวมักออกไปเป็นคุณหญิงหรือท่านผู้หญิง โดยข้าหลวงประจำสำนักนี้มักมาจากราชนิกูลและตระกูลขุนนางสำคัญ เช่น ราชสกุลสุทัศน์, ตระกูลสุจริต, ตระกูล ณ นคร, ตระกูล ณ ระนอง, ตระกูลบุณยรัตพันธุ์, ตระกูลโชติกเสถียร เป็นต้น

สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ใน รัชการที่ 5 หรือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ในรัชการที่ 5 (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)

“สำนักสมเด็จพระตำหนัก”

สำนักสมเด็จพระตำหนักคือสำนัก สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เหตุที่เรียกสำนักนี้ว่าสำนักสมเด็จพระตำหนัก เนื่องจากพระตำหนักที่ประทับของพระองค์เป็นพระตำหนักประธานในฝ่ายในและมีขนาดใหญ่ สำนักสมเด็จพระตำหนักเชี่ยวชาญในเรื่องการเย็บผ้าทอผ้า เนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ทรงมีความสนพระทัยในการเย็บผ้าทอผ้า พระบรมวงศานุวงศ์ที่อยู่ในตำหนัก แม้แต่พระราชธิดาในพระอุปถัมภ์ก็ต้องทรงหัดทอผ้าเป็นทุกพระองค์

ข้าหลวงประจำสำนักนี้จะเป็นผู้เคร่งครัด เจ้าระเบียบ มีมารยาท แต่งกายเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ไม่ฉูดฉาด เมื่อกราบทูลลาออกไปมีครอบครัวมักมีผู้สรรเสริญว่าใจคอหนักแน่น มีความรู้ความสามารถ ปราดเปรื่อง และไม่ฟุ้งเฟ้อ โดยข้าหลวงประจำสำนักนี้มักมาจากตระกูลที่ใกล้ชิดสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ โดยเฉพาะตระกูลสุจริตกุลและตระกูลชูโต

“สำนักพระนาง”

สำนักพระนางคือสำนักของ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี เหตุที่เรียกว่าสำนักพระนางเนื่องจาก พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงพระองค์เดียวที่ดำรงพระอิสริยยศชั้น “พระราชเทวี” จึงออกพระนามนำหน้าเพียงแค่ “พระนางเจ้า” มิใช่ “สมเด็จ”

เนื่องจากพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ โปรดทางอักษรศาสตร์ ทั้งพระองค์และพระราชธิดาคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ทรงเป็น “ราชเลขานุการินี” ในรัชกาลที่ 5 ดังนั้น ข้าหลวงสำนักนี้จึงขึ้นชื่อว่ามีความรู้ทางหนังสือและความรู้รอบตัว นอกจากนี้ยังถนัดงานฝีมือแบบยุโรป เช่น การถักไหมพรม นิตติ้ง โครเชต์ เป็นต้น

ข้าหลวงประจำสำนักนี้มักโก้เก๋ แต่งตัวฉูดฉาด พูดเก่ง กล้าหาญ เมื่อกราบทูลลาออกไปมีครอบครัวส่วนใหญ่มักเป็นภรรยาของข้าราชการทหาร ข้าหลวงประจำสำนักนี้มักมาจากตระกูลบุนนาค เนื่องจากพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ทรงมีเชื้อสายสกุลบุนนาค นอกจากนี้ยังมีข้าหลวงจากตระกูลชูโต, ตระกูล ณ บางช้าง, ตระกูลศิริสัมพันธ์ เป็นต้น

พระราชสำนักฝ่ายใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี เจ้าคุณจอมมารดาสำลี และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
จากซ้าย: สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร (ขานพระนามว่า ทูลกระหม่อมหญิง), พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี, เจ้าคุณจอมมารดาสำลี และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

“สำนักท่านองค์เล็ก”

พระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระราชสำนักฝ่ายใน
พระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

“ท่านองค์เล็ก” คือ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ทรงเป็นพระอรรคชายาเธอพระองค์เล็กในจำนวนพระอรรคชายาเธอ 3 พระองค์ ซึ่งอีกสองพระองค์คือ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ และพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา ซึ่งในภายหลังที่พระพี่นางสิ้นพระชนม์ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ฯ ก็มีหน้าที่ดูแลข้าหลวงของพระพี่นางทั้งหมดด้วย จึงเป็นสำนักที่ใหญ่สำนักหนึ่ง

สำนักท่านองค์เล็กเชี่ยวชาญเรื่องการทำอาหารเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ฯ ทรงมีหน้าที่ดูแลและควบคุมห้องพระเครื่องต้น คือทำเครื่องเสวยถวายรัชกาลที่ 5 ดังนั้น ข้าหลวงในพระตำหนักจึงเชี่ยวชาญด้านอาหาร เก่งทางด้านบริการ ชำนาญขับร้องดนตรี แต่งตัวเรียบ ๆ เจียมตัว แม้จะมีความรู้พื้น ๆ แต่ทำอะไรรวดเร็ว ว่องไว จัดการครอบครัวดี เลี้ยงลูกดี เข้าตำรา “แม่ศรีเรือน” ข้าหลวงประจำสำนักนี้มักเป็นพระญาติของพระอรรคชายาเธอ หรือเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากรัชกาลที่ 3 เช่น ราชสกุลลดาวัลย์, ราชสกุลสิงหรา เป็นต้น

“สำนักพระราชชายา”

สำนักพระราชชายาคือสำนักของ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา พระภรรยาเจ้าจากเมืองเชียงใหม่ ข้าหลวงในพระตำหนักส่วนใหญ่เป็นชาวเหนือที่ตามเสด็จมาถวายงานรับใช้พระองค์ ดังนั้น สำนักแห่งนี้จึงล้วนมีวัฒนธรรมอย่างชาวล้านนา ข้าหลวงจะนุ่งซิ่น ไว้ผมยาวเกล้าผม พูดคำเมือง รับประทานเมี่ยง มีความงดงาม พูดจาไพเราะ ทั้งยังเชี่ยวชาญการฟ้อนแบบชาวเหนือ ขับร้อง และดนตรี แต่ข้าหลวงสำนักนี้มักไม่คึกคักเท่าข้าหลวงสำนักอื่น

“สำนักเจ้าคุณจอมมารดาแพ”

เจ้าคุณจอมมารดาแพ เป็นพระภรรยาในรัชกาลที่ 5 ก่อนที่จะเสวยราชย์สมบัติ ท่านจึงเป็นที่เคารพนับถืออยู่มาก แม้แต่พระภรรยาเจ้าที่มีพระอิสริยยศสูงกว่าก็ทรงยำเกรงท่าน สำนักเจ้าคุณจอมมารดาแพขึ้นชื่อเรื่องน้ำปรุง (น้ำหอม) เป็นพิเศษ เรียกว่า “น้ำปรุงเจ้าคุณ” ซึ่งมีกลิ่นหอมมากจนเป็นที่เลื่องลือว่าหอมรัญจวนใจ โดยเจ้าคุณจอมมารดาแพเป็นเจ้าของต้นตำรับสูตรน้ำปรุงนี้

เนื่องจากเจ้าคุณจอมมารดาแพสืบเชื้อสายมาจากสกุลบุนนาค ข้าหลวงในตำหนักจึงเป็นพวกบุนนาคค่อนข้างมาก สำนักของเจ้าคุณจอมมารดาแพจึงเป็นสำนักที่ใหญ่มากสำนักหนึ่ง โดยบรรดาข้าหลวงทั้งเก่งและกล้าหาญ มักแต่งตัวฉูดฉาด ชอบห้อยช่อดอกไม้หรือทัดดอกไม้ จนชาววังนินทาว่า “เปรี้ยว” และ “เจ้าชู้”

เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในรัชกาลที่ 5 ทรงนุ่งซิ่น เมื่อประทับอยู่ใน พระราชฐานฝ่ายใน พระราชสำนักฝ่ายใน
เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในรัชกาลที่ 5 ทรงนุ่งซิ่นเมื่อประทับอยู่ในพระราชฐานฝ่ายใน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

จิรวัฒน์ อุตตมะกุล. (2548). พระภรรยาเจ้าและสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน.

ฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์. (2561). การเมืองในราชสำนักฝ่ายใน สมัยรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มิถุนายน 2562