ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
โฆษณาภาพยนตร์ หรือการโฆษณารอบฉายภาพยนตร์ในหน้าหนังสือพิมพ์เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย คนยุคหนึ่งอาจคุ้นเคยกับการโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่เมื่อมาถึงยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาไปมาก การโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์เริ่มจางหายไป
หากย้อนกลับไปในยุคสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่าภาพยนตร์กำลังตั้งไข่ขึ้นนั้น ชาวไทยมีโอกาสได้รับชม “ภาพยนตร์” จาก “โฆษณาภาพยนตร์” ของคณะเร่ฉายจากต่างประเทศด้วย
เอกสารเก่าที่พบในหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน “บางกอกไตมส์” (Bangkok Times) วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2440 ตีพิมพ์โฆษณาซึ่งเชื่อกันว่า หน้าโฆษณาในส่วนที่เป็นภาษาไทยนั้นเข้าข่ายเป็นหลักฐานการโฆษณาภาพยนตร์บนหน้าหนังสือพิมพ์รายวันเป็นภาษาไทยชิ้นแรกสุด
ข้อความในหน้าโฆษณามีดังนี้
“ขอแจ้งความให้ท่านทั้งหลายทราบทั่วกันว่า การละเล่นซึ่งเรียกว่า ซีเนมาโตรแครฟ คือรูปที่สามารถกระดิกแลทำท่าทางต่างๆ ได้ โดยคำขอของราษฎรจะเล่น 3 คืนติดๆ กัน คือวันพฤหัสบดี วันศุกร์ แลวันเสาร์ ตรงกับวันที่ 10, 11, 12 เดือนมิถุนายน ที่โรงลครหม่อมเจ้าอลังการ
จะมีวงแตรเป่าด้วย ปรอแฟศเซอร หมอรีศ ผู้ชำนาญการในการเล่นนี้ในทวีปตวันตก ประตูโรงจะเปิดเวลา 2 ทุ่ม ตรงกับ 8 โมงฝรั่ง ราคาห้องหนึ่งที่มีเก้าอี้หลายตัว (บอกซ์) ราคา 10 บาท ชั้นที่หนึ่ง ราคา 3 บาท ชั้นที่สอง ราคา 2 บาท ชั้นที่สาม ราคา 1 บาท ชั้นที่ 4 คือนั่งที่วงเวียน 2 สลึง เด็กที่อายุศม์ต่ำกว่า 10 ขวบจะเรียกเอาราคาแค่ครึ่งเดียว”
โดม สุขวงศ์ เขียนเล่าในบทความ “85 ปีภาพยนตร์ในประเทศไทย” ว่า คณะฉายภาพยนตร์เร่จากต่างประเทศนี้ ปรากฏหลักฐานว่าได้จัดรายการฉายภาพยนตร์ 2-3 ครั้ง ระหว่างเดือนมิถุนายนในกรุงเทพฯ แต่ไม่พบหลักฐาน ไม่มีใครทราบว่าเข้ามาตั้งแต่เมื่อใด และไม่มีข้อมูลว่าพวกเขาจัดรายการฉายภาพยนตร์ครั้งแรกสุดในกรุงเทพฯ ที่ไหน และวันใดกันแน่ ขณะที่โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันก็โผล่มาในวันที่ 9 มิถุนายน ปี 2440 โดยลงแจ้งทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
สำหรับภาษาอังกฤษใจความที่เขียนเชิญชวนมีเนื้อหาทำนองเล่าถึงการเรียกร้องจากสาธารณชน ซึ่งการแสดงนี้เรียกว่า Parisian Cinematograph และระบุสรรพคุณว่าเป็น Picture with Life Movements (ภาพที่เคลื่อนไหวเสมือนมีชีวิต) โดยจะแสดงอีก 3 คืน และเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว
การแสดงก็เป็นไปตามธรรมเนียมการฉายภาพยนตร์ยุคแรกที่ต้องมีการแสดงประกอบ โดยครั้งนี้มีแตรวงประกอบ และการแสดงมายากลโดยโปรเฟสเซอร์มอริส นักมายากลผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลกตะวันตกสลับรายการด้วย
ในโฆษณาฉบับภาษาอังกฤษลงนามว่า เอส.จี.มาร์คอฟสกี (S. G. Marchovsky) ซึ่งคาดว่าจะเป็นเจ้าของคณะผู้นำภาพยนตร์เข้ามาฉาย
โดม สุขวงศ์ แสดงความคิดเห็นว่า ข้อความโฆษณานี้ทำให้คาดคะเนได้ว่า ประดิษฐกรรมภาพยนตร์ที่ถูกนำเข้ามาฉายเป็นครั้งแรกในสยามคือ ภาพยนตร์ซีเนมาโตกราฟ (Cinematograph) ของชาวปารีส และเชื่อว่าตัวภาพยนตร์และอุปกรณ์ฉาย เป็นประดิษฐกรรมของพี่น้องลูเมียร์ (Lumiere) ชาวฝรั่งเศส
หลุยส์ ลูเมียร์ ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มนักประดิษฐ์ที่คิดค้นภาพยนตร์ในช่วงปี พ.ศ. 2438 คณะของเขานำภาพยนตร์ซีเนมาโตกราฟ ออกฉายเพื่อเก็บค่าชมจากสาธารณชนก่อนใคร โดยจัดแสดงที่ใต้ถุนร้านกาแฟแห่งหนึ่งในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2438 และกลายเป็นวันภาพยนตร์สากลในเวลาต่อมา หลังจากแสดงที่ปารีสก็จัดส่งคณะตัวแทนนำภาพยนตร์ ซึ่งผลิตสั่งสมเตรียมการไว้ออกเดินทางไปเผยแพร่ตามเมืองใหญ่ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนบทความระบุว่า ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะบอกว่านายมาร์คอฟสกี ที่เชื่อว่าเป็นผู้นำภาพยนตร์เข้ามาฉายเป็นตัวแทนของลูเมียร์โดยตรงหรือไม่ สันนิษฐานจากถ้อยคำในโฆษณานั้นว่า “จะฉายภาพยนตร์ตามคำเรียกร้องอีกครั้ง” เป็นไปได้ว่า นายมาร์คอฟสกี จะเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม และอาจจัดรายการฉายภาพยนตร์รายการแรกในระยะสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน
แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นไปได้ว่า อาจไม่มีการฉายภาพยนตร์ครั้งแรกก่อนหน้าการโฆษณานี้ เจ้าของภาพยนตร์อาจคิดว่า หากแจ้งโฆษณาแบบตรงไปตรงมาว่าฉายครั้งแรกอาจไม่มีใครสนใจดูมากนัก เนื่องด้วยไม่มีใครดูมหรสพชนิดใหม่เอี่ยมล่าสุด จึงใช้แผนโฆษณาป่าวร้องด้วยคำว่าเป็นการแสดงตามสาธารณชนเรียกร้อง
บางกอกไตมส์ รายงานเรื่องราวของภาพยนตร์ในฉบับวันที่ 10 มิ.ย. ปีเดียวกันในคอลัมน์เบ็ดเตล็ดว่า
“การเล่นเรียกชื่อว่า ปารีเซิน ซีเนโตรแครฟ อันได้เล่นที่โรงลครหม่อมเจ้าอลังการ แปลกปลาดน่าดูจริง รูปประดาน้ำกับรูปศรีต่อยมวยทำเห็นจริงมีคนชอบมาก แล้วตัวลครที่ชำนาญในการเล่นได้ออกมาแสดงการเล่นต่าง เปนที่เห็นจริงน่าชมทุกอย่าง มีเจ้านายขุนนางแลประชาชนชายหญิงได้ไปดูไปชมประมาณ 600 กว่า ลครนี้เล่นอีกคืนเดียววันนี้เท่านั้น เชิญไปดูเถิดจะได้เปนขวัญตาไว้เล่าสู่บุตรหลานฟังต่อไป ไม่น่าเสียดายเงินเลย”
โดม มองว่า ข้อเขียนที่ไม่ลงนามผู้เขียนนี้นอกจากจะเป็นหลักฐานทางวารสารแล้ว อาจถือได้ว่าเป็นข้อเขียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพยนตร์ในแง่ต้นเชื้อของการวิจารณ์ก็คงว่าได้
นอกจากนี้ ข้อเขียนในหนังสือพิมพ์ยังบ่งชี้ว่า ภาพยนตร์ที่ได้ชมกันและมีผู้ชื่นชอบคือม้วนหนึ่งเป็นภาพเกี่ยวกับประดาน้ำ อีกม้วนเกี่ยวกับภาพศรีต่อยมวย (ไม่สามารถบ่งชี้ชัดเจนว่า “ศรี” ในที่นี้หมายถึงอะไร) อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลว่าม้วนอื่นที่ฉายนั้นเกี่ยวกับอะไรบ้าง
เมื่อตรวจสอบรายชื่อภาพยนตร์ของบริษัทลูเมียร์ ในหมวดภาพเบ็ดเตล็ด เมื่อ พ.ศ. 2439-2440 (VUES DIVERSES : 1896-1897) ภาพยนตร์ในรายชื่อทั้งหมด 98 เรื่อง ในรายชื่อนี้มีชื่อเรื่อง Boxeurs (นักมวย) ในลำดับที่ 16 และ Scaphandrier (นักประดาน้ำ) ลำดับที่ 92 จึงเชื่อว่าเป็นไปได้ที่ 2 ม้วนที่ถูกนำออกมาฉายที่กรุงเทพฯ คือสองเรื่องดังกล่าวที่ปรากฏในบัญชีภาพยนตร์ของบริษัทลูเมียร์
ภาพยนตร์ในรายชื่อส่วนใหญ่เป็นการบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันทั่วไป ซึ่งยังไม่มีการถ่ายจัดฉากแบบภาพยนตร์สมัยใหม่
โดม ยังเล่าว่า หลังพ้นรายการฉาย 3 คืนแรกไปแล้ว คณะภาพยนตร์เร่ของปารีสเข้าไปฉายเป็นการภายในที่หอพระสมุด ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อคืนวันที่ 21 มิถุนายน คาดว่าจะเป็นฉายเพื่อ “รายงานตัว” ถวายเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนัก อาทิ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
ตามด้วยการฉายวันที่ 28 มิถุนายน คณะภาพยนตร์ของชาวปารีสเข้าไปจัดฉายภายในที่มุขพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ให้ทอดพระเนตรเป็นการส่วนพระองค์ ในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ประพาสยุโรปครั้งแรก
หนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ รายงานเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนว่า “เมื่อคืนนี้ หนังฝรั่งได้เข้าไปเล่นถวายที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สมเด็จพระบรมราชินีนารถ เสด็จออกทรงทอดพระเนตรพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการฝ่ายใน แล้วได้ทรงพระราชทานเงิน 150 บาท”
หลักฐานจากการรายงานของบางกอกไตมส์เป็นชิ้นสุดท้าย ที่กล่าวถึงกิจกรรมของนายมาร์คอฟสกี โดยรวมแล้วคาดว่า การมาสยามครั้งนั้นจัดฉายภาพยนตร์สำหรับสาธารณชนอย่างน้อยที่สุด 6 ครั้ง และอีก 2 ครั้งเป็นการฉายในราชสำนัก ไม่พบหลักฐานว่าเขาออกจากสยามเมื่อใด
อ่านเพิ่มเติม :
- วิพากษ์ “สุริโยไท” ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ฉบับนางแก้ว
- ย้อนรอย “มหาเวสสันดร” จากชาดกสู่ “ภาพยนตร์”
- แรกมี “โรงภาพยนตร์” ในสยาม เปิดโอกาสหนุ่มสาว จับมือ-ลูบคลำกัน ในโรงหนัง
อ้างอิง :
โดม สุขวงศ์. “85 ปีภาพยนตร์ในประเทศไทย”. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 3 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน, 2525)
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 25 ตุลาคม 2562