วิพากษ์ “สุริโยไท” ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ฉบับนางแก้ว

ขอชมเชยความกล้าหาญ 2 ประการของภาพยนตร์สุริโยไท

ข้อแรก คือ ความทะเยอทะยานต้องการสร้างภาพยนตร์คุณภาพระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยากให้เป็นมหากาพย์ (epic) ที่เป็นสากล

Advertisement

ข้อสอง คือ นี่มิใช่เรื่องของไทยรบกับพม่าอย่างภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมเรื่องอื่น ๆ แต่กลับเน้นการต่อสู้แก่งแย่งชิงดีแย่งอำนาจระหว่างชาวอยุธยาฝ่ายต่าง ๆ ส่วนเรื่องที่ผู้ชมและนักวิจารณ์บางคนยังเห็นว่าเป็นบทเรียนเรื่องความสามัคคี หรือทำให้ภูมิใจในอดีตของไทยมากยิ่งขึ้น คงเป็นสิ่งห้ามกันไม่ได้

คนบางคนไม่ว่าดูอะไรก็เห็นแต่สิ่งที่ตนเองคิดเอาไว้ล่วงหน้าแค่นั้น

มีเสียงวิจารณ์กันว่าสุริโยไทเป็นประวัติศาสตร์แค่ไหน จนท่านมุ้ยต้องออกตัวว่าเป็นจินตนาการของท่านเอง อย่าถือเป็นประวัติศาสตร์จนเกินไป

ผู้เขียนกลับคิดว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นประวัติศาสตร์มากไป จนหลายคนเบื่อ ดูไม่ค่อยรู้เรื่อง ผู้ใหญ่ที่ไม่มีพื้นความรู้ประวัติศาสตร์บ้างยังเหนื่อยกับการติดตามเรื่อง

ที่น่าสนใจที่สุด คือ สุริโยไทเป็นประวัติศาสตร์ ฉบับนางแก้ว จากมุมมองของนางแก้ว มีสาระสำคัญอยู่ที่การพรรณนาคุณสมบัติของนางแก้ว ผ่านโครงเรื่องตามพระราชพงศาวดารอยุธยา (ฉบับที่เขียนขึ้นภายหลังเหตุการณ์เกิน 100 ปีทั้งนั้น)

นางแก้ว คือ หนึ่งในรัตนะเจ็ดประการคู่ควรแก่บุญบารมีของจักรพรรดิราช ตามคติฮินดู-พุทธแต่โบราณ ตามที่ปรากฏในคัมภีร์โบราณหลายฉบับรวมทั้งในไตรภูมิพระร่วงตั้งแต่สมัยสุโขทัยโน้น

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเอารัตนะประการนี้เป็นจุดยืนเพื่อไปตีความอดีต

โปสเตอร์แผ่นสำคัญที่สุด ให้สุริโยไทเป็นศูนย์กลางประวัติศาสตร์ องค์ราชันย์อื่น ๆ อย่างเก่งก็แค่แวดล้อมสองข้างองค์สุริโยไท เป็นแค่ตัวประกอบของพระนาง

นี่เป็นความมหัศจรรย์อันแท้จริง ยิ่งกว่าภาพ การตัดต่อ เครื่องแต่งกาย หรือความสมจริง เพราะจารีตประวัติศาสตร์ของไทยไม่เคยมีประวัติศาสตร์ฉบับนางแก้วมาก่อน

แต่ประวัติศาสตร์ฉบับนางแก้วนี้เองกลับเป็นปัญหา จำกัดจินตนาการ จำกัดการตีความ และอาจทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีแต่ความอลังการทางเทคนิค ทว่า ไม่สามารถบรรลุถึงขั้นเป็นภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ได้ เป็นได้แค่ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่มีความสมจริงน่าตื่นตาตื่นใจกว่าเรื่องอื่น แค่นั้นเอง

ความขัดแย้งในตัวเองของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่สำคัญมี 2 ประการ

ประการแรก : นางแก้ว ณ ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21

ดังกล่าวแล้วว่าความคิดเรื่องนางแก้วเป็นคติโบราณที่ผูกมากับวัฒนธรรมชาววัง คุณสมบัติของนางแก้วที่สำคัญที่สุดคือความเพียบพร้อมเป็นเลิศคู่บุญบารมีองค์จักรพรรดิราช (ราชาแห่งราชา จึงมิได้หมายความว่าราชาทุกพระองค์จะมีบุญบารมีถึงขนาดเรียกได้ว่าเป็นองค์จักรพรรดิราช ขออนุญาตไม่อภิปรายในที่นี้ ว่าตามมาตรฐานของพระราชพงศาวดารอยุธยานั้น ถือว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเป็นจักรพรรดิราชหรือไม่)

คัมภีร์ต่าง ๆ บรรยายคุณสมบัติของนางแก้วไปต่าง ๆ นานา ว่าอย่างไรจึงจะนับว่าเป็นเลิศคู่บุญบารมี ยุคสมัยเปลี่ยนไปคุณสมบัติที่นับถือว่าเป็นเลิศก็เปลี่ยนไปด้วย

ลองเทียบนางแก้วในไตรภูมิพระร่วงกับนางนพมาศ (ต้นรัตนโกสินทร์) จะเห็นความแตกต่างลิบลับ

สุริโยไทคือนางแก้วของเรื่องราวสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 จากทัศนะของต้นศตวรรษที่ 21 คุณสมบัติของพระนางรวมถึงการเป็นคู่คิดคู่ปรึกษาออกว่าราชการ ออกรับการถวายตัวของขุนพลเอก ดูแลการฝึกซ้อมทหาร และทรงพระปรีชาสามารถไม่แพ้ขุนพลฝีมือเลิศ เป็นเสนาธิการผู้รอบรู้เข้าใจสถานการณ์ทะลุปรุโปร่ง ถึงขนาดถวายคำแนะนำเรื่องจังหวะลงมือปฏิบัติการที่เหมาะเจาะได้ (ซึ่งเป็นศิลปะสุดยอดอย่างหนึ่ง) และเลือกผู้ลงมือได้ไม่ผิดพลาด ถึงขนาดเสด็จกลางดึกเพื่อตรวจสอบผลการปฏิบัติงานด้วยพระองค์เอง

คุณสมบัติเหล่านี้ไม่มีในคัมภีร์โบราณ ไม่มีในพระราชพงศาวดารฉบับใดทั้งนั้น แต่เป็นจินตนาการและการตีความอย่างกล้าหาญของปัจจุบัน

ผู้ดูในปัจจุบันจึงย่อมมีสิทธิคิดเอาเองว่าจะยอมรับหรือไม่ว่านางแก้วควรมีบทบาททางการเมืองขนาดนั้น ลองคิดเอาจากมุมมองของเฟมินิสต์ พ่อบ้านแบบโบราณ ขุนศึก นายทหาร ชาววัง และชาวบ้าน

อาจเห็นสุริโยไทจากมุมแปลก ๆ ออกไปจากทัศนะมาตรฐานที่ได้ฟังกันมากแล้ว

ประการที่สอง : การนำเสนอความจริงแบบพระราชพงศาวดารด้วยความสมจริงแบบฮอลลีวูด

เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีบันทึกไว้ในเอกสารที่เขียนขึ้นมากว่า 100 ปีให้หลัง ซึ่งแทบไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับพระสุริโยทัย แถมยังบันทึกตามจารีตของยุคสมัยที่บันทึก เอกสารร่วมสมัยที่ใช้ในการค้นคว้าคงเป็นเอกสารฝรั่งโปรตุเกส จึงเห็นบทบาทของทหารรับจ้างชาวโปรตุเกส และอาวุธของพวกเขาเป็นพิเศษ และมีข้อมูลเกี่ยวกับทางตองอูมากสักหน่อย (เช่นการให้ภาพพจน์ของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ว่าเป็นเกย์จนออกจะ “เว่อร์” เพราะขุนพลที่เป็นเกย์ไม่จำเป็นต้องชัดเจนขนาดนั้น)

จากนั้นนำมาถ่ายทอดเป็นภาพวิ่งได้เมื่อ 500 ปีให้หลัง ในยุคสมัยที่แม้แต่นักประวัติศาสตร์ก็ไม่ค่อยรู้จักจารีตการเขียนพระราชพงศาวดารเท่าที่ควร และผู้คนทั่วไปอาจนึกว่าเราสามารถอ่านพระราชพงศาวดารแบบเดียวกับที่เราอ่านนิยายสมัยใหม่ได้

แถมยังต้องนำเสนอให้สอดคล้องกับรสนิยมที่ได้รับอิทธิพลฮอลลีวู้ด บวกกับแรงเชียร์อยากให้ไปประกวดออสการ์ เห็นใจท่านมุ้ย!

ต้องขอชมความพยายามใช้จินตนาการอย่างสูงของท่าน และนักประวัติศาสตร์ที่ให้คำปรึกษา เพื่อให้คนดูที่มีการศึกษาพลอยรู้สึกว่าสมจริงตามที่ผู้สร้างคะเนเอาว่าสมจริง (ส่วนคนดูที่ไม่ค่อยมีการศึกษาจึงอาจยึดติดความสมจริงตามยุคปัจจุบันเป็นเกณฑ์ ช่างเขาเถอะ!)

ผลคือตัวละครในพงศาวดารออกมาโลดเต้นอย่างมีเลือดเนื้อ และคงจองจำจินตนาการของเราเกี่ยวกับอยุธยาตอนต้นไปอีกนาน

นับจากนี้ไป อ่านพงศาวดารตอนนี้คงนึกถึงแต่หน้าของตัวละครชุดนี้ เพราะไม่สามารถจินตนาการอย่างอื่น อยุธยาในจินตนาการของเราคงคล้าย ๆ อยุธยาที่ท่านมุ้ยช่วยคิดไว้ให้เสร็จสรรพ

ถึงแม้จะมีข้อถกเถียงได้ไม่รู้จบ เรื่องก่องนม ทรงผม ชุด พราหมณ์ ฯลฯ การถกเถียงเหล่านั้นเป็นพยานว่าพลังของความสมจริงของภาพยนตร์เรื่องนี้มีอยู่สูง ถึงขนาดพยายามเถียงกันว่าที่จริงเป็นยังไง

ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วไม่มีทางรู้จริง ๆ ว่าความจริงแท้แน่นอนจริง ๆ เป็นยังไง

แต่ความสมจริงตามจารีตพระราชพงศาวดารที่จินตนาการของท่านไม่สามารถฝ่าข้ามไปเพื่อแปรมาเป็นความสมจริงให้เราเห็นบนจอภาพ ก็คือตัวนางแก้วกับนางผู้ร้ายนั่นแหละ

ความล้มเหลวของสุริโยไทอยู่ตรงที่ไม่สามารถชวนให้เราเข้าใจสุริโยไทและศรีสุดาจันทร์มากไปกว่าตัวละครแบบจืด (หรือแบน-flat) ตามจารีตพงศาวดาร

ตัวละครในการเล่าเรื่องแบบไทยจะต้องจืด (flat) เพราะเรื่องเล่าแบบไทยมีหน้าที่เชิงสั่งสอนศีลธรรมให้แยกดี-ชั่วชัดเจน เรื่องเล่าทุกประเภทตั้งแต่ปรัมปรา ชาดก มาจนถึงนิยายและหนังไทย ซึ่งไม่นานมานี้ถูกประณามว่าเป็นน้ำเน่า เพราะคนดีเลวต้องชัดเจน ตั้งแต่บุคลิกหน้าตา กิริยามารยาทจนถึงการกระทำและจิตใจ ขืนลึกซึ้งซับซ้อนจนยากจะตัดสินถูกผิด ย่อมเสี่ยงต่อการสร้างความสับสนทางศีลธรรม

มิได้หมายความว่า วรรณคดีไทยซับซ้อนไม่ได้ เพียงแต่ยากและปกติไม่ทำกัน ครั้นทำได้ก็เป็นอมตะไปเลย เช่น ขุนช้าง ขุนแผน เป็นต้น

เรื่องเล่าอันเป็นอมตะมักมีความสามารถทำให้ผู้อ่านผู้ชมต้องคิดหนักและเอากลับมาใช้วิจารณญาณของตนตัดสิน ว่าดีเลวอย่างสัมพัทธ์ (ตามกาลเทศะเงื่อนไขอื่น ๆ) ตรงไหน ผลก็คือ เราอาจเห็นใจคนทำผิด ไม่กล้าบอกว่าเขาเลว (เช่น นางวันทอง) และเราสามารถสังเวชใจกับชัยชนะหรือฝ่ายคนทำถูก (เช่น ขุนแผน)

ใบโฆษณาของใหม่ เจริญปุระ ดูเหมือนจะเชิญชวนทำนองนั้น แต่เธอทำไม่สำเร็จ เพราะความเป็นคู่ตรงข้ามของนางแก้ว ทำให้เธอไม่สามารถมีความลึกซึ้งซับซ้อนไปได้ ทั้งบทและนักแสดงถูกจำกัดโดยบทของนางแก้ว

ประวัติศาสตร์ฉบับนางแก้ว ขับคุณสมบัติของสุริโยไทให้เด่นโดยการอาศัยศรีสุดาจันทร์เป็นคู่ตรงข้าม ในเมื่อนางแก้วเป็นคนสมบูรณ์ไปหมด บทของศรีสุดาจันทร์จึงไม่มีทางเป็นอื่นนอกจากบกพร่องไปเสียทุกอย่าง

แม้จะพยายามช่วยด้วยการอธิบายว่าศรีสุดาจันทร์ทำเพื่อกอบกู้ราชวงศ์อู่ทอง แต่แค่นั้นเป็นการเพิ่มเหตุผลแบบหนังกำลังภายในอิงประวัติศาสตร์ (ประเภทชิงกับหมิง ซ้องกับหยวน ฯลฯ) ไม่สามารถช่วยให้ศรีสุดาจันทร์พ้นจากความเป็นหญิงสูงศักดิ์ที่มากด้วยราคะและความทะเยอทะยานส่วนตัวไปได้

ศรีสุดาจันทร์เป็นได้แค่นางผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ ความซับซ้อนของตัวละครในประวัติศาสตร์ถูกจำกัดตลอดมาหากยังคงรักษาความเป็นประวัติศาสตร์มากไป แทนที่จะปลดปล่อยจินตนาการให้โลดแล่นกว่านี้

แต่แน่นอนว่าหากทำเช่นนั้น ความสมจริงทางประวัติศาสตร์อาจลดลงและลดทอนอิทธิพลทางอุดมการณ์เกี่ยวกับนางแก้วลงไป จินตนาการกับประวัติศาสตร์สวนทางกันตรงนี้

ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์อย่างบางระจัน เน้นเหตุการณ์มีตัวละครเป็นองค์ประกอบ และไม่เน้นการตีความตัวละคร

ภาพยนตร์เรืองสุริโยไทเป็นเรื่องของตัวละคร แต่ไม่สามารถแหวกกรอบของประวัติศาสตร์แบบพงศาวดารฉบับนางแก้วที่สร้างขึ้นเอง

ตัวละครอื่น ๆ ก็จืด ๆ แบน ๆ ไร้ความซับซ้อนพอ ๆ กัน โดยส่วนใหญ่ ยกเว้นพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งยังพอดูได้หลายแง่ แต่ในเรื่องนี้มีบทบาทเป็นแค่องค์ประกอบ (คือเป็นภารกิจ) ที่ทำให้สุริโยไทกลายเป็นนางแก้วขึ้นมา

อีกคนที่น่าจะซับซ้อนได้คือพระมหาธรรมราชา แต่ดูเหมือนว่าผู้สร้างหรือผู้เขียนบทมิได้มองเห็นภาพรวมบทบาทในเวลาต่อมาของพระองค์ พระองค์เป็นขุนพลสำคัญคู่บุญจักรพรรดิราชถึง 2 พระองค์ คือ มีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้จักรพรรดิบุเรงนองพิชิตพระมหินทร์ของอยุธยาผู้เปี่ยมด้วยมิจฉาทิฐิ และเป็นผู้ให้กำเนิดพระนเรศวร จักรพรรดิราชของอยุธยาในเวลาต่อมา

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ พระมหาธรรมราชาเป็นแค่ขุนพลคู่บุญสุริโยไท ซึ่งเป็นนางแก้วคู่บุญพระมหาจักรพรรดิอีกที

ขอฝากอีกประเด็นเดียว พระนางจิรประภาซึ่งออกมายอมมอบกายถวายพระองค์แก่กษัตริย์อยุธยาโดยไม่พูดสักคำเดียว ภาพลักษณ์ขององค์ราชินีแห่งล้านนาจะเปลี่ยนไปไหม หากมองจากเชียงใหม่แทนที่จะมองด้วยสายตาของนางแก้ว แห่งราชธานีของสยาม (อยุธยา)

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “สุริโยไท ประวัติศาสตร์แห่งชาติ ฉบับนางแก้ว” เขียนโดย ธงชัย วินิจจะกูล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2544


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2565