ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ก่อนทศวรรษ 2460 ที่แหล่งบันเทิงอย่าง “โรงภาพยนตร์” จะเป็นที่นิยม แหล่งเที่ยวเตร่ยามค่ำคืนของคนกรุงเทพฯ คือ โรงบ่อนเบี้ย เพราะโรงบ่อนเบี้ยเป็นพื้นที่บันเทิงของพระนครที่ได้รวมเอากิจกรรมการพักผ่อนหย่อนใจในยามค่ำคืนหลายอย่างเข้าไว้ด้วยกัน ตั้งแต่การเล่นพนัน การชมมหรสพ และการเดินหาของกินเล่น จนทำให้คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ออกมาเที่ยวเตร่ยามค่ำคืนตามโรงบ่อนเบี้ยต่าง ๆ ดังที่ พระยาอนุมานราชธน บันทึกไว้ว่า
“ที่สนุกในกรุงเทพฯ มีอยู่เป็นหย่อม ๆ ตามบ่อนเบี้ยและโรงหวย เพราะมีคนไปเล่นเบี้ยและแทงหวย และเที่ยวเตร่หาความสำราญ มีผู้คนพลุกพล่านในเวลาค่ำคืน” [1]
ครั้นเมื่อรัฐได้ประกาศให้มีการยกเลิกกิจการบ่อนเบี้ยลงอย่างถาวรในปี พ.ศ. 2460 ได้ส่งผลให้การเที่ยวเตร่ยามค่ำคืนของคนกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงไป
การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ มีการเที่ยวเตร่ยามค่ำคืนแบบใหม่ ที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตก เริ่มปรากฏชัดในทศวรรษ 2460-2470 ได้แก่ การชมภาพยนตร์ ในโรงภาพยนตร์, การเที่ยวกินดื่มตามสถานที่สาธารณะและสถานเริงรมย์ และการพักผ่อนหย่อนใจในสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตยามค่ำคืนของสังคมเมืองสมัยใหม่ จากการที่คนกรุงเทพฯ ออกไปทำกิจกรรมยามราตรี ในพื้นที่บันเทิงยามค่ำคืนของเมืองมากขึ้น
คนกรุงเทพฯ มีโอกาสชมภาพยนตร์เป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2440 ที่โรงละครหม่อมเจ้าอลังการในชื่อว่า “ซีเนมาโตแครฟ” โดย นาย เอส.จี. มาร์คอฟสกี (S.G. Marchovsky) เป็นผู้นำเข้ามา และได้สร้างปรากฏการณ์ความตื่นตาตื่นใจ ต่อสิ่งแปลกประหลาดมหัศจรรย์ที่เคลื่อนไหวได้นี้ จนทำให้มีผู้ออกไปชมถึง 600 กว่าคนในคืนแรก [2]
ล่วงถึงทศวรรษ 2460-70 ภาพยนตร์ยิ่งได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ขุนวิจิตรมาตรากล่าวถึงความนิยมในการชมภาพยนตร์ของคนกรุงเทพฯ ไว้ว่า
“ว่ากันว่าการมีมหรสพ ตั้งแต่มีหนังเรื่องยาวฉายติดต่อกันเริ่มแต่สมัยช่วงเข้าวัยรุ่นแล้ว คนก็นิยมดูหนังมากขึ้นทุกที ชั้นแรก ๆ เป็นพวกผู้ชายดูเป็นส่วนมาก เพราะเป็นเรื่องต่อยตีกันโลดโผน แต่ไม่ช้าหญิงสาวรุ่นใหม่ก็เริ่มดูหนังกันมากขึ้น” [3]
เหตุผลที่คนกรุงเทพฯ นิยมออกไปดูภาพยนตร์ในยามค่ำคืนมากกว่ามหรสพชนิดอื่นนั้น รามจิตติ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) สันนิษฐานไว้ในหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต ว่าเป็นเพราะประการแรก ภาพยนตร์ดำเนินเรื่องรวดเร็วทันอกทันใจ ประการที่สอง เป็นโอกาสที่ผู้ไปดูจะได้พบปะคนมากมายหลายชนิด ประการที่สาม โรงภาพยนตร์ จะมีช่วงเวลาที่ปิดไฟอยู่นานจึงเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้หาความเพลิดเพลินจากการจับมือ และลูบคลำกัน และประการสุดท้าย ภาพยนตร์เลิกไม่ดึกนักจึงสะดวกต่อการไปกินข้าวต้มที่ราชวงศ์ต่อ [4]
ความแพร่หลายของการชมภาพยนตร์ยังสะท้อนออกมาจากการขยายตัวของธุรกิจโรงภาพยนตร์ ในทศวรรษ 2460-70 กรุงเทพฯ มีโรงภาพยนตร์อยู่แทบทุกมุมเมือง เช่น โรงภาพยนตร์นาครเขษม ที่เวิ้งนาครเขษม, โรงภาพยนตร์สิงคโปร์ (เฉลิมบุรี) ที่สามแยก, โรงภาพยนตร์ชวา ที่ตำบลโรงหวยสามยอด และ โรงภาพยนตร์ชวา ที่ตำบลบางลำพู เป็นต้น [5] แต่โรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยที่สุดคือ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง
ความแพร่หลายของการชมภาพยนตร์ก่อให้เกิดความซบเซาของการเที่ยวชมมหรสพแบบเดิม คือ ละคร ลิเก และงิ้ว เพราะไม่อาจสู้การแสดงของภาพยนตร์ที่ดำเนินเรื่องรวดเร็วทันใจได้ ความรุ่งเรืองของกิจการภาพยนตร์ และความร่วงโรยของคณะละคร ลิเก และงิ้ว จึงสะท้อนการปะทะกันระหว่างมหรสพความบันเทิงยามค่ำคืนแบบตะวันออกกับตะวันตกในสังคมเมืองสมัยใหม่ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วมหรสพพื้นบ้านแบบตะวันออกต้องพ่ายแพ้ความนิยมให้กับมหรสพแบบตะวันตกของโลกสมัยใหม่อย่างภาพยนตร์
ภาพยนตร์จึงเป็นความบันเทิงยามค่ำคืนของสังคมเมือง และการชมภาพยนตร์ก็เป็นวิถีชีวิตยามค่ำคืนแบบสังคมเมืองสมัยใหม่
อ่านเพิ่มเติม :
- ตำนาน “โรงหนังวังเจ้าปรีดา” ของนายชัย บำรุงตระกูล โรงหนังยุคเฟื่องฟูสมัยร.5
- “ต่วน ยาวะประภาษ” บุคคลแรกผู้ให้กำเนิดการพากย์หนังในสยาม
- จุดเปลี่ยนอาชีพโสเภณี จากอยู่ประจำสำนัก สู่ขายบริการตามแหล่งบันเทิงยามค่ำคืน
เชิงอรรถ :
[1] เสถียรโกเศศ. ฟื้นความหลัง เล่ม 3. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ : ศยาม, 2547), น. 20.
[2] จำเริญลักษณ์ ธนะวังน้อย. ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย ตั้งแต่แรกเริ่มจนสิ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544), น. 8-9.
[3] ขุนวิจิตรมาตรา. 80 ปี ในชีวิตข้าพเจ้า. (กรุงเทพฯ : บัณฑิตการพิมพ์, 2523), น. 240.
[4] รามจิตติ. “ตามสมัย-6-มหรศพ มีภาพยนตร์เปนอาทิ,” ใน ดุสิตสมิต. น. 15, 176 (วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2465), น. 157-158.
[5] จำเริญลักษณ์ ธนะวังน้อย. ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย ตั้งแต่แรกเริ่มจนสิ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2. น. 23.
อ้างอิง :
วีระยุทธ ปีสาลี. “การเที่ยวเตร่ยามค่ำคืนของคนกรุงเทพฯ ในทศวรรษ 2460-70”, ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2556
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2565