ตำนาน “โรงหนังวังเจ้าปรีดา” ของนายชัย บำรุงตระกูล โรงหนังยุคเฟื่องฟูสมัยร.5

โรงหนังญี่ปุ่น พิพิธบางลำพู
โรงหนังญี่ปุ่น โรงหนังในอดีต, ที่มา : หลักหนังไทย (ภาพจาก เว็บไซต์พิพิธบางลำพู)

ในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ภาพยนตร์หรือหนังได้แพร่เข้าสู่สยาม กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของคนไทยที่ให้ความสนใจมาก จนเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว คนไทยคนแรก ๆ ที่ดำเนินกิจการด้านนี้คือ นายชัย บำรุงตระกูล เจ้าของ “โรงหนังวังเจ้าปรีดา” ซึ่งเคยได้นำหนังไปฉายถวายให้รัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 ทอดพระเนตรมาแล้ว

นายชัย บำรุงตระกูล เดิมชื่อ ซุ่นใช้ เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 ที่บ้านปากคลองวัดทองธรรมชาติ คลองสาน ธนบุรี เป็นบุตรคนสุดท้องของนายริ้วและนางเอม ซึ่งมีอาชีพค้าขาย ใช้ยี่ห้อในการค้าว่า “เลียงฮะ”

นายชัยทำกิจการค้าขายช่วยเหลือบิดามารดา จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็สามารถเปิดร้านค้าของตนเองแห่งแรกขึ้นที่ตึกมุมถนนพาหุรัดกับถนนตรีทอง มีชื่อว่า “สยามตรีเพ็ชร์” การค้าขายเติบโตขึ้น ก็ขยายกิจการ เปิดร้านค้าแห่งใหม่ มีชื่อว่า “รัตนมาลา”

นอกจากนี้ นายชัยยังได้ตั้งโรงภาพยนตร์ขึ้นอีกด้วย คือ โรงหนังวังเจ้าปรีดา (ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงภาพยนตร์พัฒนารมย์), โรงหนังสิงคโปร์ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงหนังเฉลิมบุรี), โรงหนังฮ่องกง (ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงหนังเฉลิมเวียง), โรงหนังปีนัง (ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงหนังศรีบางลำภู) และโรงหนังชวา

โรงหนังวังเจ้าปรีดา อยู่ริมคลองถม ถนนเจริญกรุง ตั้งขึ้นราว พ.ศ. 2450 มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า โรงกรุงเทพซินีมาโตกราฟ มีนายชัยเป็นผู้จัดการบริษัทรูปยนต์กรุงเทพ ทำการบริหารดูแลกิจการ ชื่อโรงหนังวังเจ้าปรีดานี้ มีที่มาจากพระนามของพระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปรีดา พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในหนังสืองานศพของนายชัยระบุว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำภาพยนตร์ไปฉายถวายทอดพระเนตรหลายครั้ง และพระองค์ก็ได้พระราชทานสิ่งของเป็นที่ระลึกแก่นายชัยหลายอย่าง รวมถึงตราแผ่นดินประจำห้างรัตนมาลาเพื่อเป็นเกียรติยศด้วย

ครั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำภาพยนตร์ไปฉายถวายทอดพระเนตรหลายครั้งเช่นกัน โดยพระราชนิยมว่าเป็นข้าหลวงเดิมและสหชาติ จึงทรงพระเมตตานายชัยเป็นพิเศษ และได้รับพระราชทานตราครุฑประดับห้างรัตนมาลา

บริษัทของนายชัยเคยนำภาพยนตร์ไปฉายประชันกับโรงหนังเจ้าอื่น ๆ ในคราวการสมโภชพระบรมรูปทรงม้า เมื่อ พ.ศ. 2451 โดยบริษัทรูปยนต์ตั้งโรงหนังอยู่ทางด้านเหนือของลานพระบรมรูป ตอนใต้เป็นโรงหนังบริษัทญี่ปุ่น ตอนกลางเป็นโรงหนังของกรมขุนสรรพสาสตรศุภกิจ

หนังสือพิมพ์ “ไทย” ลงข่าวไว้ว่า เมื่อเวลา 4 ทุ่ม รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ประทับพลับพลาหน้าโรงหนัง แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พอสุดเสียงแตรแล้วโรงหนังของนายชัยก็เริ่มฉาย แล้วโรงหนังทางใต้กับโรงกลางก็ฉายตามลำดับไป ประชาชนต่างก็มาชมภาพยนตร์กันเป็นจำนวนมาก

รัชกาลที่ 5 เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีชักผ้าแพรคลุมเปิดพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2451 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

กิจการโรงหนังของนายชัยได้ขายหรือถูกรวมเข้ากับบริษัทพัฒนากร เอนก นาวิกมูล สันนิษฐานว่า อาจขายราว พ.ศ. 2464-2465 เนื่องจากพบข้อความในหนังสือพิมพ์ “วายาโม” ฉบับ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 ว่า บริษัทพัฒนากรมีทุนรอนมาก “ภาพยนตร์ของนายซุ่นใช้รัตนมาลาต้องยกเข้ารวมกันเปนบริษัทเดียว” ซึ่งบริษัทพัฒนากรเป็นของนายโลวเปงทอง เจ้าของห้างซินซิ้นฮะ ถนนพาหุรัด

เดิมบริษัทรูปยนต์ของนายชัยกับบริษัทพัฒนากรแข่งขันกันอย่างดุเดือดถึงพริกถึงขิง โรงหนังวังเจ้าปรีดาเคยลงโฆษณาไว้เมื่อราว พ.ศ. 2452 เชิญชวนประชาชนให้มาชมภาพยนตร์ไว้ว่า “…ได้รับหนังเข้ามาใหม่หลายสิบชุด มีชุดรบโดยทางบกแลเรือเปนหลายอย่าง ดูน่าพิศวงมาก แลมีเรื่องแปลกต่าง ๆ สวยงามน่าชมจริง ๆ หนังใหม่ ๆ เหล่านี้จะได้ออกฉายให้ท่านชมตั้งแต่วันนี้แลต่อไป แลจะมีชุดรบต่าง ๆ กำกับด้วยทุกวัน ทั้งไฟที่ฉายก็เห็นกระจ่างชัดดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมา ส่วนโรง ความสอาดเรียบร้อยหรือเย็นสบายอย่างไรนั้น ท่านคงทราบได้ตลอดแล้วเพราะมีพัดไฟฟ้าถึงเจ็ดพัด อาจเปลี่ยนอากาศมิให้อบร้อนอยู่ได้เลย…”

หลังจากบริษัทพัฒนากรไปเชิญนายเซียวซองอ๊วนมาเป็นผู้จัดการราว 6-7 เดือน กิจการโรงหนังของบริษัทพัฒนากรก็เติบโตสูงมาก จนที่สุดก็รวมกิจการของบริษัทรูปยนต์เข้ามาสำเร็จ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “สยามภาพยนตร์บริษัท”

ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯเดลิเมล์ ฉบับวันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 ที่มา : หลักหนังไทย (ภาพจาก เว็บไซต์พิพิธบางลำพู http://banglamphumuseum.treasury.go.th/news_view.php?nid=104)

ส่วนกิจการอื่นของนายชัยนั้น ปรากฏว่ากิจการที่ห้างสยามตรีเพ็ชร์ พอถึงประมาณ พ.ศ. 2474 ราชการได้ขยายถนนตรีเพ็ชร จึงได้รื้อและยุบห้างลง และย้ายไปรวมอยู่กับห้างรัตนมาลา จนถึง พ.ศ. 2532 ห้างรัตนมาลาก็ถูกรื้อเป็นห้างดิโอลด์สยาม

บั้นปลายของนายชัยนั้น ด้วยความเป็นคนใจกว้าง ใจบุญ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น บริจาคทรัพย์บำรุงสาธารณะกุศลบ่อยครั้ง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงได้รับเกียรติให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ทำหน้าที่ 1 สมัย ต่อมา พ.ศ. 2485 ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงจนเป็นอัมพาต แต่ก็รักษาพยาบาลเป็นอย่างดี อาการจึงไม่รุนแรง และใช้ชีวิตเป็นปกติสุขเรื่อยมา กระทั่งนายชัยถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497 รวมอายุ 74 ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

เอนก นาวิกมูล. (2550). พ่อค้าชาวสยาม. กรุงเทพฯ : แสงดาว.

จอยุ่ยเหม็ง. (2498). พิมพ์เนื่องในการฌาปนกิจศพ นายชัย บำรุงตระกูล ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มิถุนายน 2563