โรงหนังล้นประเทศ! หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยเคยมีโรงหนังถึง 700 แห่ง!

โรงหนัง ศาลาเฉลิมกรุง
ศาลาเฉลิมกรุง

โรงหนัง เป็นสถานที่ให้ความบันเทิงที่ได้รับความนิยมอย่างสูง อย่างน้อยก็ต่อเนื่องนานหลายสิบปี โดยเฉพาะโรงหนัง “สแตนด์ อโลน” ที่ผู้คนยังพอจดจำได้ก็เช่น เฉลิมไทย เฉลิมกรุง แมคเคนน่า สะท้อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เฟื่องฟู ยิ่งถ้าย้อนไปสมัยหลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ไทยเคยมีโรงหนังมากถึง 700 แห่ง

อุตสาหกรรมภาพยนตร์ เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2440 ผ่านการนำเข้ามาของฝรั่ง และเริ่มไต่ความนิยมในสังคมไทยมาเรื่อย ๆ เห็นได้จากการมีโรงหนังหลายแห่ง เช่น ศาลาเฉลิมบุรี (โรงหนังสิงคโปร์) ศาลาเฉลิมธานี (โรงหนังนางเลิ้ง)

แต่เมื่อเข้าสู่ช่วง สงครามโลกครั้งที่ 2 ความนิยมดังกล่าวกลับตกลงอย่างมาก เนื่องจากสภาวะสงครามไม่เอื้ออำนวยให้ผู้คนใช้ชีวิตได้ปกติ คนที่เข้าไปดูความบันเทิงในโรงหนัง เช่นที่ศาลาเฉลิมกรุง ต้องกังวลเกี่ยวกับระเบิด เพราะไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ และจะตกลงมาสร้างความเสียหายมากน้อยขนาดไหน คนที่อาศัยในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้บริการก็ลดลงอย่างมาก เพราะต้องอพยพไปต่างจังหวัดจากภาวะสงคราม เงินทองที่จะใช้ไปกับความบันเทิงก็ต้องเก็บออมไว้ใช้ในยามจำเป็น

ส่วนภาพยนตร์ที่มาจาก “ฮอลลีวูด” สหรัฐอเมริกา ก็ถูกห้ามนำเข้ามาฉายในไทย เนื่องจากไทยเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ หลงเหลือแค่เพียงภาพยนตร์จากญี่ปุ่น หรือเยอรมนีเท่านั้น ท้ายที่สุดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็ซบเซาลงไป

เมื่อสงครามยุติ ฝ่ายอักษะปราชัย บ้านเมืองเริ่มฟื้นฟูกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ผู้คนโหยหาความสุขหลังจากเผชิญความทุกข์ยากมาเป็นระยะเวลาหลายปี เริ่มมีการนำภาพยนตร์จากฮอลลีวูดเข้ามาฉายอีกครั้ง ความเฟื่องฟูดังกล่าวทำให้โรงหนังของประเทศไทยเพิ่มขึ้น สอดรับกับกระแสความนิยมของผู้คน

การเพิ่มขึ้นของโรงหนัง ได้รับการพูดถึงในนิตยสารภาพยนตร์และบันเทิงปี 2490 ว่า “ถ้าทุกแห่งสร้างเสร็จ กรุงเทพฯ คงเต็มไปด้วยโรงมหรสพเปนแน่” กระทั่งปี 2498 คณะกรรมการดำเนินการประสานงานทางเศรษฐกิจ ได้เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาสั่งงดการสร้างโรงภาพยนตร์ เนื่องจากกังวลถึงจำนวนโรงภาพยนตร์ที่มากเกินไป ซึ่งอาจทำให้บ้านเมืองแออัดไปด้วยโรงหนัง แต่ท้ายสุดมาตรการและข้อเสนอต่าง ๆ ก็ถูกงดไป เนื่องจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกรัฐประหารไปเสียก่อน

หากนับจำนวนแล้ว ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จวบจน พ.ศ. 2520 “โรงหนัง” ได้ขยายไปทั่วประเทศ รวมแล้วมากถึง 700 แห่ง

ความนิยมในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดปรากฏการณ์อื่น ๆ ตามมามากมาย โดยเฉพาะจำนวนภาพยนตร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพยนตร์ซึ่งฉายในไทยมี 10-20 เรื่องต่อปี ก็ทะยานเป็น 70 เรื่องต่อปี มีการฉายหนังรอบปฐมทัศน์ เพื่อดึงดูดความสนใจคนดู

นอกจากนี้ ยังเป็นการกำเนิด “มิตร ชัยบัญชา” ที่ก้าวเข้าสู่โลกจอเงิน และฝากผลงานที่มีชื่อเสียงไว้มากมาย เช่น จ้าวนักเลง (พ.ศ. 2502) ซึ่งสร้างรายได้เกินกว่า 1 ล้านบาท ส่งให้เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง กระทั่งต่อมาได้ชื่อว่าเป็นนักแสดงขวัญใจคนไทยตลอดกาล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ชลิดา เอื้อบำรุงจิต มูลนิธิหนังไทย. “100 ปี ภาพยนตร์ในประเทศไทย.” สารคดี, ฉ. 150 (สิงหาคม 2540): 89-96.

ปฏิพัทธ์ สถาพร. “การฟื้นคืนชีพของกิจการฉายภาพยนตร์กับวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ ทศวรรษ 2490.” วารสารประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์, ฉ. 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2559): 70-113.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2566