“ละครเวที” ยุครุ่งเรืองยังเล่นท่ามกลางการทิ้งระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ศาลาเฉลิมกรุง

การแสดงเพื่อความบันเทิงได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย เช่นเดียวกับละครเวทีที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทางเลือกเพื่อความบันเทิงของคนกรุงเทพฯ เหลืออยู่ไม่มากนัก

“ระหว่างสงครามคนก็ดูละครก็แสดงที่เฉลิมกรุง ขณะแสดงถ้าหวอมา ละครจะปิดฉากหนีแบบหนังเหมือนกัน เขาแสดงแต่รอบกลางคืน รอบบ่ายดูเหมือนจะไม่มี ถ้าหวอลงกลางคืนก็แสดงกลางวัน” สุวัฒน์ วรดิลก นักประพันธ์ และะศิลปินแห่งชาติกล่าว

ศาลาเฉลิมกรุง เป็นโรงมหรสพที่เกิดขึ้นด้วยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงประสงค์จะจัดสร้างโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ทันสมัยพร้อมติดเครื่องปรับอากาศเป็นแห่งแรกในภูมิภาค เพื่อฉลอง 150 ปี กรุงเทพฯ จึงได้พระราชทานนามว่า “ศาลาเฉลิมกรุง” ด้วยเหตุนี้ (เปิดให้บริการเป็นวันแรกเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2476)

ส่วนสาเหตุที่ศาลาเฉลิมกรุงได้กลายมาเป็นสถานที่ที่ใช้ในการจัดแสดงละครเวทีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ชัยยศ ทับทิมแก้ว ศิลปินอาวุโสที่เป็นทั้งนักแสดงและช่างเขียนฉากละครเวทีและลิเก กล่าวว่า “อย่างศาลาเฉลิมกรุง บริษัทไม่มีหนังป้อน ละครเข้าตะพัดไป”

ละครเวทีเรื่อง "หัวใจนักรบ"
ละครเวทีเรื่อง “หัวใจนักรบ”

การจัดแสดงระหว่างสงครามยังประสบอุปสรรคหลายอย่าง ทั้งเรื่องความปลอดภัย และเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ต้องอาศัยไฟฟ้า ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มักขาดตกบกพร่องในช่วงสงคราม

“สมัยนั้นบางทีโรงไฟฟ้าไม่เปิด กลัวถูกบอมบ์ ต้องใช้ไฟปั่นเอง มันให้แสงน้อย ก็เปิดประตูให้แสงสว่างเข้าไป คนนั่งใกล้ประตูพอหวอมารีบผลักประตูวิ่งออกไปเลย (หัวเราะ) นี่คนดูนะ เมื่อปลอดภัยคนดูจะกลับมา ถ้าละครเล่นต่อ เขาก็เข้าดูได้” ชัยยศ กล่าว

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ละครเวทีก็ยังได้รับความนิยมสืบมาอีกระยะหนึ่ง และระหว่างนั้น เมื่อเข้าสู่ช่วง “การเมืองแรง” ละครเวทีก็มีปัญหาถูกเซ็นเซอร์ จนกระทบต่อความนิยมเช่นกัน

สุวัฒน์ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2494 ว่า ในปีนี้ได้เกิด “กบฏแมนฮัตตัน” ขึ้น โดยส่วนตัว เขารู้สึกเห็นใจทหารเรือ จึงเขียนบทละครเกี่ยวกับทหารเรือเรื่อง “เจ็ดคาบสมุทร” ทำให้เข้าถูกเพ่งเล็งจากทางเจ้าหน้าที่รัฐ

“เนื้อเรื่องหรือ เราไม่ได้ทำถึงขั้นเป็นขบถ เป็นเพียงให้ตัวเอก [ซึ่งเป็นทหารเรือ] ขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชา แยกตัวเป็นโจรสลัด เราแยกไปอย่างนั้น กระนั้นตำรวจก็เอาตัวไปสอบสวน แต่ทางรัฐบาลไม่ว่าอะไร เพราะคนมันแน่น เขาไม่รู้จะว่าอย่างไร”

และอีกครั้งหนึ่งที่ สุวัฒน์ โดนคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐคือเมื่อมีการเล่นเรื่อง “ฝ่ามรสุม” ที่เขาเขียนบทให้คณะชุมนุมศิลปินของเขาเองแสดงที่ศาลาเฉลิมไทย ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทหารเรือ เมื่อแสดงไปได้ 7 รอบ เขาก็ถูกจับตัวไปที่สถานีตำรวจสำราญราษฎร์ เพื่อบีบให้เขาเปลี่ยนแปลงบท

“การสอบสวนครั้งนั้นปืนนี่เต็มโต๊ะเลย เขาคุยกันว่าปืนกระบอกนี้ซื้อจากประเทศโน้นประเทศนี้ ผมยังจำได้ ตอนหลังตกลงแก้บท หลังจากนั้นแล้วคนตกลงเป็นแถว” สุวัฒน์ กล่าว

สุวัฒน์เล่าว่า หลังจากนั้นเพียงไม่นาน กระแสความนิยมของละครเวทีก็เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว

“ช่วงปี 2496 ละครเวทียังอยู่ที่เวทีศรีอยุธยา ส่วนเฉลิมไทย เฉลิมนคร เป็นโรงหนังไปแล้ว ละครก็อพยพมาทำที่ศรีอยุธยา ผมก็มาร่วมทำด้วย ก็ราวปี 96-97 ดูเหมือนจะหมดลมหายใจ ระยะเวลาในช่วงใกล้เคียงหรือก่อนหน้านั้น คนเขียนบทละครไปเขียนบทหนัง…ผู้กำกับละครเก่งๆ เป็นผู้กำกับหนังหมด ผู้แสดงละครก็ไปแสดงหนัง”

แต่ละครเวทีไทยก็ยังไม่สิ้นลมหายใจไปเสียทีเดียว ปัจจุบันศิลปะแขนงนี้ได้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เริ่มจากการปลุกกระแสของผู้ที่มีใจรักในละครเวที และมีการโปรโมตละครเวทีไทยไปถึงต่างประเทศ ในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ก็มีกิจกรรมละครเวทีอย่างสม่ำเสมอ จนทำให้มีแฟนเฉพาะกลุ่มที่ติดตามการแสดงละครเวทีต่างๆ อย่างเหนียวแน่น

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“ตำนานนักแสดงในยุค ‘ละครเวที’ รุ่งเรือง”. พิทยา ว่องกุล. บานไม่รู้โรย ฉบับพฤศจิกายน 2528


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2559