พระยาทิพมณเฑียร ตำรวจในวังที่ใครก็เกรง กับเรื่องเล่า “ให้เจ้านายติดบัตรประจำพระองค์”?

เสวกเอก พระยาทิพมณเฑียร ม.ล.ผัด พนมวัน ตำรวจวัง พระยาทิพมณเฑียร (ม.ล. ผัด พนมวัน)
เสวกเอก พระยาทิพมณเฑียร ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2466 {ภาพจากหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เสวกเอก พระยาทิพมณเฑียร (ม.ล.ผัด พนมวัน)}

พระยาทิพมณเฑียร (ม.ล. ผัด พนมวัน) ตำรวจวัง ที่ใครก็เกรง กับเรื่องเล่า ให้เจ้านายติดบัตรประจำพระองค์ ?

ในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 6 มีหน่วยตำรวจที่เรียกว่า “กรมพระตำรวจ” หรือกรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์เป็นหน่วยงานที่แสดงให้เห็นถึงการดูแลปกครองภายในวังโดยเฉพาะ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันก็มีบุคลากรที่เรียกว่าตำรวจหลวงดูแลความสงบเรียบร้อยในวัง ในบรรดาตำรวจใหญ่ในวังซึ่งมีชื่อเสียงนั้น มีบันทึกเรื่องราวของ พระยาทิพมณเฑียร (ม.ล. ผัด พนมวัน) ข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ซึ่งว่ากันว่า เป็นบุคคลที่เข้มงวดและมากความสามารถในการจับกุมชาววังผู้กระทำผิด

เสวกเอก พระยาทิพมณเฑียร (ม.ล. ผัด พนมวัน) เป็นตำรวจหลวงมีประวัติชีวิตราชการในพระราชสำนักที่โดดเด่น ตั้งแต่อายุ 17 ปีก็อาสาสมัครเป็น ตำรวจวัง ถวายอารักขาในหลวงรัชกาลที่ 5 ประกอบความดีความชอบกระทั่งได้รับตำแหน่งหัวหน้าเรือนจำกระทรวงวังเมื่ออายุ 20 ปี

Advertisement
รัชกาลที่ 5
รัชกาลที่ 5 ทรงออกประกาศพระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ

จากนั้นก็ขึ้นเป็นรองอธิบดีตำรวจวังตั้งแต่อายุไม่ถึง 30 ปี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาทิพมณเฑียร ขึ้นเป็นเจ้าคุณแห่งราชสำนัก ตั้งแต่อายุเพียง 30 ปีเศษเท่านั้น

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งปลัดพระราชมณเฑียร โดยช่วงนั้นท่านยังอายุไม่ถึง 40

ตลอดราชการในราชสำนักไม่เคยมีบันทึกเรื่องความประพฤติอันด่างพร้อย ดังเช่นปรากฏในข้อความไว้อาลัยจากกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร อดีตประธานองคมนตรี ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมราชการในพระราชสำนักรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 บันทึกว่า

“เจ้าคุณทิพมณเฑียร (ม.ล. ผัด พนมวัน) …ไม่เคยได้ยินใครตำหนิว่าด่างพร้อยประการใด เมื่อได้ถึงแก่กรรมไปและคุณหญิงอัมพร ทิพมณเฑียร ปรารภจะขอรับพระราชทานเพลิงทำฌาปนกิจศพตามประเพณี…ข้าพเจ้ามีความภาคภูมิใจที่ได้วิสสาสะกับเจ้าคุณทิพมณเฑียรผู้เป็นญาติของข้าพเจ้า”

อีกด้านหนึ่งชื่อเสียงของพระยาทิพมณเฑียรเป็นที่เลื่องลือในวังสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ในแง่ความสามารถในการปราบปรามจับกุมชาววังผู้กระทำผิด ตั้งแต่สมัยที่รั้งเป็นปลัดกรมกรมพระตำรวจวัง เป็นจมื่นสิทธิกฤดากร ตำแหน่งเท่ากับรองอธิบดีตำรวจนอกวัง เมื่อครั้งอายุ 26 ปี “ไทยน้อย” (เสลา เรขะรุจิ) บันทึกไว้ในหนังสือ “30 คนไทยที่ควรรู้จัก” ว่า ในสมัยนั้น หากมีปฏิบัติการจับกุมผู้กระทำผิดกฎในวังหลวงแล้ว จะได้ยินเสียงร้องตะโกนมาแต่ไกลว่า “จมื่นมาแล้ว จมื่นมาแล้ว”

ขบวนตำรวจนำเสด็จจากพระที่นั่งบรมพิมาน (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ โดย คลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด https://oer.learn.in.th/)

วีรกรรมในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นที่โจษจันกันมานั้น ปรากฏในบันทึกเรื่องเล่าของ “ไทยน้อย” ซึ่งเป็นงานเขียนที่คาดว่า อ้างอิงข้อมูลจากอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เสวกเอก พระยาทิพมณเฑียร (ม.ล. ผัด พนมวัน) เมื่อ พ.ศ. 2501 แต่ไม่พบหลักฐานหรือข้อมูลในการบันทึกแหล่งอื่น ข้อเท็จจริงของข้อมูลจึงอาจไม่ชัดเจนนัก ข้อมูลในที่นี้จึงเป็นเสมือน “เรื่องเล่า” ที่กล่าวขานกันต่อมา อย่างไรก็ตาม เรื่องเล่าเหล่านี้ย่อมพอจะสะท้อนสภาพบรรยากาศในวังได้บ้างในแง่รายละเอียดจากบริบทฉากหลังของเรื่อง

เรื่องเล่าว่า ด้วยการปฏิบัติงานในช่วงที่เกิดความไม่สงบเล็กน้อยขึ้นในวังหลวง มีการบุกรุกเขตพระราชฐานขึ้น การสอบสวนพบว่า บุคคลนั้นไม่ใช่ชาววัง ข้าราชการทั้งทหารรักษาวังและตำรวจหลวงก็ไม่รู้จัก เมื่อประกอบเข้ากับบรรยากาศในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีผู้เข้าออกจำนวนมากแล้ว เหตุการณ์เช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย

ไทยน้อย บรรยายว่า พระยาทิพมณเฑียรเสนอความคิดเห็นว่า ให้ออกบัตรประจำตัวแก่ข้าราชสำนักและชาววัง ให้ทหารและตำรวจตรวจตราอย่างเข้มงวด มีเสียงบอกกล่าวกันในยุคนั้นว่า แม้แต่มหาดเล็กห้องบรรทมก็รู้กันดีว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จะเสด็จนอกวังหลวง มักมีพระราชกระแสรับสั่งให้นำบัตรประจำตัวมาด้วย และทรงใส่ในฉลองพระองค์ทุกครั้ง

ข้อมูลที่ไทยน้อยบรรยายดังข้างต้นไม่ปรากฏในเอกสารทางการ คาดว่าอ้างอิงจากเนื้อหาในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เสวกเอก พระยาทิพมณเฑียร (ม.ล.ผัด พนมวัน) เมื่อ พ.ศ. 2501 เช่นกัน เนื่องจากมีใจความหลายส่วนตรงกับข้อเขียนคำไว้อาลัย โดยกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรในหนังสือดังกล่าว

นอกเหนือจากแหล่งนั้นแล้วก็ไม่พบข้อมูลเรื่อง ม.ล. ผัด พนมวัน อย่างละเอียดในที่อื่นอีก จึงพอสันนิษฐานได้ว่า ข้อมูลเรื่องเสนอเจ้านายระดับสูงต้องพกบัตรประจำตัว หรือบัตรประจำพระองค์จากการบอกเล่าของไทยน้อย หากอ้างอิงมาจากส่วนหนึ่งของหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เสวกเอก พระยาทิพมณเฑียร (ม.ล.ผัด พนมวัน) ก็เป็นเรื่องเล่าที่พอมีน้ำหนักในระดับหนึ่ง

หากพิจารณาเรื่องเล่าจากบริบทของเรื่องเล่านี้ก็มีเรื่องอันเป็นที่กล่าวขานกันด้วยว่า ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชกรณียกิจบางครั้งที่เป็นการไปรเวท การเสด็จฯ กลับมาเพียงพระองค์เดียวขณะที่ทหารรักษาวังที่ส่วนหนึ่งเป็นทหารจากต่างจังหวัดเข้ามา เชื่อว่า ถ้าหากเป็นข้อเท็จจริงแล้ว ในยุคนั้นพระยาทิพมณเฑียรคงเกรงว่าทหารกลุ่มนี้ไม่เคยเห็นพระพักตร์ และยิ่งเมื่อสั่งการให้ตรวจตราบัตรประจำตัวอย่างเข้มงวดแล้วก็อาจเกิดเรื่องติดขัดได้ อาจเป็นไปได้ว่า นำมาสู่การเสนอทูลเกล้าฯ ถวายบัตรประจำพระองค์

ไทยน้อยบรรยายเพิ่มเติมว่า เมื่อเรื่องนี้ล่วงรู้ไปถึงข้าราชสำนักชั้นผู้ใหญ่ แม้แต่เสนาบดีกระทรวงวังก็ตกใจไปตามๆ กัน เห็นว่าการณ์นี้อาจทำให้พระยาทิพมณเฑียรถูกกริ้วได้ แต่เมื่อรู้ว่าเหตุการณ์เป็นตรงกันข้าม พระองค์พอพระราชหฤทัย ก็เป็นอันชื่นชมรองอธิบดีตำรวจวังไป

ชื่อเสียงของพระยาทิพมณเฑียรยังเป็นที่ชื่นชมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี พระองค์เจ้านภาพรประภา พระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีฝ่ายใน ดูแลเจ้านายฝ่ายในผู้หญิง ดังรับสั่งกับเจ้านายฝ่ายในว่า พระยาทิพฯ เป็นคนเรียบร้อยใช้สอยได้แคล่วคล่อง และรอบคอบ”

ในส่วนกรมพระตำรวจหลวงมีปรากฏทำหน้าที่เป็นกรมทหารรักษาพระองค์ในสังกัดกระทรวงวังมาจนสิ้นสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 7 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวรวงศ์พงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว. เย็น อิศรเสนา) เสนาบดีกระทรวงวังพิจารณาการในพระราชสำนักทุกแผนกให้ดำเนินไปตามกระแสพระราชดำริ ต่อมาจึงทำให้ยุบตำแหน่งต่างๆ ในกรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ในรัชกาลที่ 6 เหลือพระตำรวจประจำการ 2 หมวด เมื่อถึง พ.ศ. 2475 กรมพระตำรวจหลวงจึงถูกยุบเลิก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ไทยน้อย (เสลา เรขะรุจิ). 30 คนไทยที่ควรรู้จัก. กรุงเทพฯ : บำรุงบัณฑิต. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์

กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร. คำไว้อาลัย ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เสวกเอก พระยาทิพมณเฑียร (ม.ล.ผัด พนมวัน) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม พ.ศ. 2501

วรชาติ มีชูบท. ราชสำนักรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 สิงหาคม 2562