“ต่วน ยาวะประภาษ” บุคคลแรกผู้ให้กำเนิดการพากย์หนังในสยาม

(ภาพประกอบเนื้อหา) บรรยากาศการ จำหน่ายตั๋วเข้าชมหนังล้อมผ้าของธุรกิจหนังกลางแปลง 999 บรรเจิดภาพยนตร์

ปัจจุบันการบันทึกเสียงจริงของนักแสดงในภาพยนตร์เป็นที่ยอมรับในหมู่คนดูหนังในปัจจุบัน แต่ก่อนที่นักแสดงจะมีเสียงพูดเองนั้น ครั้งหนึ่งในบ้านเรา ยังมีการพากย์เสียงของตัวละครแทนนักแสดงนั้น ๆ นักพากย์หลายคนมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นตำนานเล่าขานไม่รู้จบ แต่เมื่อเริ่มต้นเล่าตำนานการพากย์ในบ้านเรา นามของ ต่วน ยาวะประภาษ (12 เมษายน 2440 – 6 กุมภาพันธ์ 2526) ต้องปรากฏเป็นชื่อแรกในฐานะนักพากย์สมัครเล่นคนหนึ่งที่ใช้วิกฤติของการชมภาพยนตร์เงียบ เป็นโอกาสในการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์เงียบของบ้านเรา ให้มีเสียงพูดเสียงพากย์ที่สนุกสนานเกิดขึ้น

ต่วน ยาวะประภาษ เกิดที่แพหน้าวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารในปัจจุบัน) บิดาเป็นหมอไทยแผนโบราณส่วนมารดาเป็นแม่บ้านเรือนแพต่วนเป็นเด็กอาภัพบิดามารดาเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเล็กจึงเติบโตมาท่ามกลางการดูแลของพระครูแผ้วพระวัดแจ้งซึ่งเป็นลุงข้างบิดา

Advertisement

ปฐมวัยเรียนของต่วนเริ่มต้นที่โรงเรียนทวีธาภิเษก จากนั้นก็ข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ครั้นเรียนจบสวนฯ ต่วนสมัครเป็นนักเรียนทำการนายร้อยตำรวจ แต่เพราะเป็นเด็กและตัวเล็กมาก อาจารย์ตำรวจฝรั่งได้คัดออก ต่วนจึงย้ายไปทำงานเป็นข้าราชการเสมียนในกรมตำรวจ

นับตั้งแต่วัยนักเรียน ต่วนเป็นคนมีความสามารถหลายด้าน มีความรู้มากมายจากการอ่าน เขียนภาพเป็นที่ยอมรับ รวมถึงเล่นดนตรีได้อย่างดี และจากความสามารถหลายด้าน ผู้ใหญ่ในกรมตำรวจจึงส่งต่วนไปศึกษาวิชาตำรวจต่อที่ประเทศญี่ปุ่น โดยต่วนเรียนและทำงานในสถานทูตพร้อมกัน แถมมีวิชายูโดสายดำพกติดตัวกลับมา แต่เป็นที่น่าเศร้าว่าต่วนเมื่อกลับมา ทางกรมตำรวจขาดแคลนข้าราชการทดสอบความรู้ด้านภาษาญี่ปุ่น ต่วนจึงถูกแขวนงานรออยู่เป็นนาน

ต่วน ยาวะประภาษ ในชุดผ้าม่วงเสื้อราชปะแตน ในวันต้อนรับ มร. ดักลาส แฟแบงส นักแสดงชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ในยุคนั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2473

แล้วเส้นทางชีวิตของต่วนก็หักเหเมื่อ นาย หลุยส์ คีรีวัต สืบทราบว่ามีนักเรียนญี่ปุ่นตกงานอยู่คนหนึ่งจึงชวนให้มาทำงานด้านการแปลข่าวต่างประเทศให้กับหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ต่วนจึงลาออกจากงานตำรวจแล้วก็ทำงานด้านหนังสือครั้งแรกและทำงานจนกระทั่งหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ปิดตัวลง

แต่ในช่วงเวลานั้นเอง โรงภาพยนตร์พัฒนากรของ นาย เซียวซองอ๊วน สีบุญเรือง ต้องการผู้จัดการฝ่ายโฆษณาและฝ่ายต่างประเทศและบรรณาธิการหนังสือภาพยนตร์รายเดือนที่เตรียมจะออกเป็นเล่มแรกของเมืองสยาม นามของ ต่วน ยาวะประภาษ จึงกลายเป็นชื่อของบรรณาธิการหนังสือภาพยนตร์ของสยามคนแรก

“ภาพยนตร์สยาม” แม้จะลอกแบบมาจากนิตยสารพิคเจอร์ โชว์แต่ ต่วน ยาวะประภาษ ก็สร้างจุดขายของหนังสือด้วยสำนวนการเขียนบทความ และการตอบจดหมายด้วยตัวเองของต่วนที่ใช้นามปากกาว่า “พ่อตุ๋ย”

ฝ่ายกิจการหนังดำเนินเจริญก้าวหน้าอยู่สองสามปี ก็เกิดปัญหาคนดูลดลง บริษัท สยามภาพยนตร์ เจ้าของโรงหนังพัฒนากรต้องประชุมเครียดหาทางออก ต่วนเสนอความคิดใหม่ว่า ควรจะจัดให้มีการพากย์หนังมีเสียงพูดในหนังเงียบแทนการแสดงดนตรีประกอบหนังเงียบที่เป็นอยู่ แต่ความเห็นครั้งแรกของต่วนถูกปฏิเสธ หลายเดือนต่อมา ความคิดนี้เป็นความคิดหมากสุดท้ายที่ยังไม่เคยกระทำ ทางบริษัทจึงเปิดโอกาสให้ต่วนดำเนินการ แต่มีข้อแม้ว่าต่วนจะต้องพากย์เอง

จากประสบการณ์ดูหนังในสมัยเป็นนักเรียนญี่ปุ่น ต่วนจึงจัดการจำลองบรรยากาศการพากย์หนังของคนญี่ปุ่นมาเป็นแบบไทย ๆ โดยเตรียมบทพากย์ให้ตรงกับหนังที่จะฉาย จากนั้นเขาก็นุ่งผ้าม่วง สวมเสื้อราชปะแตน นั่งอยู่บนเวทีหน้าจอ พร้อมด้วยไฟส่องบท 1 ดวง โทรโข่ง 1 ตัว เมื่อภาพยนตร์เดินเรื่องไป ต่วนก็อ่านบทพูดและบทบรรยายเรื่องที่เตรียมมาให้เข้ากับภาพที่ปรากฏบนจอ เมื่อถึงตอนที่จะต้องมีเสียงประกอบ ต่วนก็จะทำตามเสียงคล้ายคลึงกับเสียงเหล่านั้นตามไปด้วย

ผลจากการพากย์ครั้งแรกของภาพยนตร์ในสยาม แม้จะไม่ค่อยได้อารมณ์และความสมบูรณ์ตามความคิดของต่วน เพราะเป็นงานใหม่และเป็นของใหม่ แต่ทว่ามันแปลกใหม่ของคนดู ความสนใจใหม่เกี่ยวกับหนังของคนดูจึงเริ่มขึ้น นัดต่อมาต่วนจึงแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทีละอย่างจนกระทั่งต้องมีลูกมือและผู้ช่วยพากย์ โดยผู้ช่วยพากย์คนสำคัญตามที่ปรากฏชื่อคือ นายกวา

ต่วน ยาวะประภาษ พากย์หนังอยู่ 4-5 วัน เพื่อนคนหนึ่งของเขา เป็นญาติคนหนึ่งของนายเซียวซองอ๊วน ชื่อว่า สิน สีบุญเรือง หนึ่งในกองบรรณาธิการหนังสือภาพยนตร์สยามเจ้าของนามปากกาทิดเขียว” 

นายสินอาสารับหน้าที่พากย์หนังแทนต่วน ด้วยว่านายสินเป็นคนชอบการเจรจา ชอบพูดตลกโปกฮาให้คนหัวเราะอยู่เป็นนิจ โดยเฉพาะการพูดเล่นพูดจริงสลับกับการพูดสองแง่สองง่ามอย่างน่าฟัง เป็นที่ยอมรับของพรรคพวกที่รู้จักดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะ ต่วน ยาวะประภาษ ผู้ให้นายสินพากย์หนังในนามทิดเขียวเพราะเชื่อว่าคนดูจะต้องจดจำติดตาติดปากและติดใจในรสพากย์ของหนุ่มผมน้อยและหลากคารมผู้นี้

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ผู้ให้กำเนิดการพากย์หนังในสยามคนแรก” เขียนโดย วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 สิงหาคม 2562