ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2562 |
---|---|
ผู้เขียน | พานิชย์ ยศปัญญา |
เผยแพร่ |
ชุมชนบ้านหนองขอน ตำบลคมบาง อำเภอเมืองจันทบุรี เป็นชุมชนเก่าแก่ ดูได้จากต้นมังคุดที่อายุมากกว่า 100 ปี ที่นี่คือถิ่นกำเนิดของ ทุเรียน “พวงมณี” เจ้าของคือ คุณยายทวดมณี เฉลิมพงษ์ อยู่บ้านเลขที่ 15 หมู่ 10 ตำบลคมบาง อำเภอเมืองฯ จังหวัดจันทบุรี วันที่เข้าไปเยี่ยมชมสวน ตรงกับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 คุณยายบอกว่า อายุได้ 90 ปี กับอีก 3 วัน เพราะเกิดวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปี 2472 ความจำท่านยังแจ่มชัด แต่หน้าที่การพาชมสวนตกแก่ คุณพิกุล สุวรรณคีรี ลูกสาวคนโต
สถานที่แห่งนี้ ปัจจุบันรู้จักกันในนาม “บ้านสวนพวงมณี”
ไปไม่ยากสวนแห่งนี้ เริ่มต้นกันในตัวเมืองจันท์ ไปตามถนนสุขุมวิท มุ่งไปทางจังหวัดตราด ก่อนถึงทางแยกเข้าน้ำตกพลิ้วราว 2 กิโลเมตร มีสามแยกไฟแดง คือสามแยกหนองขอน เลี้ยวขวาไปราวกิโลเมตรเศษๆ ทางซ้ายมือมีซอยเล็กๆ มีป้ายเขียนแนะนำว่าทางเข้าบ้านสวนพวงมณี ลักษณะทางเข้าคล้ายกับซอยเข้าสวนทั่วไป คือต้นไม้ร่มครึ้ม จะเรียกอุโมงค์ต้นไม้เลยก็ว่าได้ อาณาบริเวณ บ้านสวนพวงมณี ใกล้ๆ ตัวบ้าน พื้นดินปลูกด้วยหญ้ามาเลเซีย มีศาลาที่พักตั้งอยู่หลายหลัง มีปลูกดอกไม้
เนื่องจากเปิดให้เป็นสวนท่องเที่ยว จึงมีคนแวะเวียนเข้าไปอยู่เป็นประจำ แต่ที่คึกคักคือฤดูกาลผลไม้
คุณพิกุล ลูกสาวคุณยายทวดมณีเล่าว่า ครอบครัวเฉลิมพงษ์มีลูกหลายคน ตนเองเป็นลูกสาวคนโต ปัจจุบันอายุ 70 ปีแล้ว เรียนจบชั้นประถมปีที่ 7 สาเหตุที่ไม่ได้เรียนสูงกว่านี้ เพราะพ่อแม่เห็นว่าเป็นผู้หญิง ออกโรงเรียนจึงต้องมาช่วยงานสวน ส่วนน้องๆ ได้เรียนสูงๆ มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนก็มี
พื้นที่ทำสวนบริเวณนี้มีอยู่ 25 ไร่ ทางครอบครัวซื้อต่อเขามาอีกทีหนึ่ง
ต้นไม้ที่ขึ้นติดสวนอยู่เมื่อซื้อครั้งแรก มีเงาะ ทุเรียน มังคุด ลูกๆ ทุกคนจำได้ว่า เงาะที่มีอยู่เดิมเป็นเงาะสีชมพู ปัจจุบันพบเห็นน้อย ผู้ขายนิยมตัดเป็นช่อมัดขายเป็นกำ รสชาติจะแตกต่างจากเงาะโรงเรียน
มังคุด ต้นโตแล้ว มีอยู่จำนวนมาก เป็นไม้โตช้า ทรงพุ่มสวยงาม ใต้ต้นของเขา เพียงแต่ทำความสะอาดโดยการตัดหญ้า เก็บกวาดใบไม้ ก็เป็นที่พักผ่อนกันแดดได้เป็นอย่างดี
ทุเรียนมีอยู่ไม่น้อย เพราะพื้นที่สวนกว้าง แต่ที่คุณพิกุลชอบคือต้น อีเนื้อแดง
“เลิกจากโรงเรียนมา ก็วิ่งไปเก็บ อีเนื้อแดง มาแกะกินเนื้อ…จำได้มีอยู่ 2 ต้น ต้นใหญ่ต้นแรกอยู่ริมคลอง แม่มาซื้อที่ก็มีติดที่อยู่แล้ว คาดว่าต้นนั้นอายุน่าจะกว่า 100 ปี ต้นที่เหลืออยู่นี่อายุมากเช่นกัน” คุณพิกุลบอก
งานสวนของครอบครัวเฉลิมพงษ์ สามารถส่งลูกๆ เรียนหนังสือได้ โดยการขายผลผลิตอย่างเงาะ มังคุด หากเป็นทุเรียนก็พันธุ์ชะนี หมอนทอง ก้านยาว
อีเนื้อแดงขายไม่ได้ ไม่มีคนรู้จัก จนเจ้าของไม่ดูแล ปล่อยให้ต้นที่อยู่ริมคลองตายไป ต้นปัจจุบันก็ปล่อยทิ้ง
หลังปี 2510 เล็กน้อย จังหวัดระยองจัดประกวดผลไม้ สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี มาขอทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองจากครอบครัวเฉลิมพงษ์ไปประกวด ทั้งๆ ที่เรียก อีเนื้อแดง แต่เจ้าของไม่กล้าบอกเพราะอาย เนื่องจากชื่ออาจจะไม่สุภาพนัก จึงตอบเจ้าหน้าที่ไปว่าไม่มีชื่อ ผลการประกวดปรากฏว่า อีเนื้อแดง ได้ที่ 1 ประเภททุเรียนทั่วไป
ปีต่อมาได้นำเข้าประกวดอีก ปรากฏว่าชนะอีก เจ้าหน้าที่จึงอยากตั้งชื่อเป็นเกียรติให้กับทางสวน จึงได้ถามถึงลักษณะ ซึ่งได้ข้อมูลว่า ติดผลเป็นพวง จึงได้ชื่อ “พวงมณี” นำลักษณะการติดผลบวกกับชื่อเจ้าของคือยายทวดมณี
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไมเรียก “ทุเรียน”? และการเล่าขานผลไม้ที่กลิ่นเหม็นเหมือน “ขี้ซำปอกง”
- เส้นทางของ “แตงโม” ผลไม้ล้มลุกต่างชาติที่เข้ามาในไทย
- สตรอเบอรี่ จากผลไม้นำเข้าสู่ผลผลิตในประเทศ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พวงมณี มณีงาม ประดับวงการทุเรียนไทย” เขียนโดย พานิชย์ ยศปัญญา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2562
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กรกฎาคม 2562