พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช พระราชโอรสพระองค์เล็กที่ร.5 โปรดปรานให้ใกล้ชิดตลอดเวลา

พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช และ รัชกาลที่ 5
พระองค์เจ้าอุรุพงศ์ฯ ประทับไม่ห่างกายของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงฉายในคราวตามเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2450

พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช พระราชโอรสพระองค์เล็กที่ รัชกาลที่ 5 โปรดปรานให้ใกล้ชิดตลอดเวลา

“—การที่ลูกเจ็บคราวนี้ได้รับความเดือดร้อนเต็มที เพราะยังเหลืออยู่ด้วยเพียงคนเดียวเท่านั้น นอกนั้นก็ต่างคนต่างแยกกันไปแล้ว—”

เป็นข้อความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีไปพระราชทานพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ขณะเสด็จเชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมเยียนบ้านเกิด จะมีพระราชหัตถเลขาเล่าถึงเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เรื่องหนึ่งที่ทรงเล่าให้พระราชชายาฯ รับรู้ด้วยความกังวลพระราชหฤทัย คือพระอาการประชวรของพระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช พระราชโอรสพระองค์เล็กที่ “—เหลืออยู่ด้วยเพียงคนเดียว—” และโปรดปรานให้อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์ตลอดเวลา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโอรสธิดารวมกันถึง 78 พระองค์ ทรงปฏิบัติพระองค์เช่นเดียวกับพ่อทั่วไป คือให้ความรักใคร่ใกล้ชิดกับลูกๆ ทุกคน แต่ที่เหนือกว่าพ่อของสามัญชน คือการต้องทรงอบรมทั้งพระราชโอรสธิดาให้ทรงรู้จักหน้าที่และมีส่วนรับผิดชอบในบ้านเมือง

พระราชโอรสธิดาทุกพระองค์จึงล้วนมีพระสำนึกในการที่จะช่วยกันทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองมั่นคง โดยมีสมเด็จพระบรมชนกนาถทรงเป็นผู้วางแนวทางที่เหมาะสมและถูกต้องตามพระปรีชาสามารถ พระสติปัญญา และความถนัดของพระราชโอรสแต่ละพระองค์

ด้วยเหตุนี้เมื่อพระราชโอรสทรงเจริญพระชันษาสำเร็จการศึกษาจากประเทศต่างๆ ในยุโรป ทุกพระองค์จะต้องทรงมีหน้าที่ปฏิบัติพระภารกิจน้อยใหญ่สนองพระเดชพระคุณตามพระบรมราโชบาย เป็นเหตุให้ทรงต้องห่างเหินจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ซึ่งเมื่อทรงสูงพระชันษา มีพระโรคเบียดเบียน กำลังพระราชหฤทัยถดถอย จึงมีพระราชประสงค์จะมีพระราชโอรสสักพระองค์ซึ่งยังเยาว์พระชันษา ยังมิได้ทรงงาน มาอยู่ใกล้ชิด

พระราชโอรสพระองค์นั้นคือพระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช พระราชโอรสรุ่นเล็ก ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเลื่อน สายสกุลนิยวานนท์ เป็นพระราชโอรสที่มีพระรูปโฉมน่ารักน่าเอ็นดู พระฉวีขาว แม้พระวรกายจะเล็กบาง แต่ก็ทรงคล่องแคล่วว่องไว มีพระอารมณ์รื่นเริงอยู่เป็นนิตย์ จึงเป็นที่สนิทเสน่หาในสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทำให้ทรงปฏิบัติต่อพระราชโอรสพระองค์นี้แตกต่างจากพระราชโอรสพระองค์อื่นๆ เป็นต้นว่ามิได้ทรงส่งให้เสด็จไปศึกษาวิชาการในต่างประเทศ แต่โปรดให้มีครูฝรั่งมาถวายพระอักษรตามหลักสูตรสากลเป็นการส่วนพระองค์ทุกวัน และโปรดให้ทรงอยู่รับใช้ใกล้ชิดติดพระองค์เกือบตลอดเวลา

พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางศรีบุรินทร์ (เยื้อน รัตนไชย) เล่าไว้ว่านางมีหน้าที่ร้องเพลงถวายหน้าห้องพระบรรทม ซึ่งพระองค์เจ้าอุรุพงศ์ฯ จะประทับอยู่กับสมเด็จพระบรมชนกนาถตลอดเวลา จะมีพระเมตตาคอยดูเติมน้ำดื่มให้ไม่ขาด นางศรีบุรินทร์เล่าถึงวิธีขอประทานหมากจากพระองค์เจ้าอุรุพงศ์ฯ ไว้ว่า “—ถ้าปากแห้งอยากหมาก ก็จะชี้ที่ปาก พระองค์เจ้าชายอุรุพงศ์ฯ ก็จะหยิบหมากพลูจากพานพระศรีปามาให้—”

การกระทำดังกล่าวของเจ้าชายมิได้รอดพ้นจากสายพระเนตร แต่ก็มิได้ทรงว่ากล่าว ซ้ำยังแย้มพระโอษฐ์ ซึ่งก็น่าจะเป็นเพราะมีพระเมตตาทั้งพระราชโอรสและนางเยื้อน และความโปรดปรานในพระราชโอรสพระองค์นี้ ปรากฏชัดเจนเมื่อโปรดให้ตามเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2450

การเสด็จประพาสยุโรปครั้งนั้นเป็นการเสด็จส่วนพระองค์ เพื่อทรงฟื้นฟูพระพลานามัยและรักษาพระอาการประชวร ตลอดเวลาที่เสด็จประพาสยุโรป ด้วยพระบุคลิกและพระรูปโฉมที่น่ารัก ประกอบเข้ากับความคล่องแคล่วว่องไวมีพระปฏิภาณไหวพริบดีของพระราชโอรสพระองค์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของความสุขและความเบิกบานพระราชหฤทัย ปรากฏความรู้สึกนี้ในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงเจ้าฟ้านิภานภดล ทรงเล่าเกี่ยวกับเจ้าชายน้อยอย่างเอ็นดูเสมอ เช่น “—คนอื่นๆ ที่มาด้วยกันอ้วนขึ้นทุกคน อุรุพงษ์เห็นจะยิ่งกว่าเพื่อน แก้มเป็นกระติก เพราะแกลงมืออ้วนมาเสียแต่อยู่ในเรือแล้ว มาถึงที่นี่เข้าแก้มแดง—”

ในพระราชหัตถเลขาแต่ละฉบับที่ทรงเล่าถึงเจ้าชายพระองค์นี้ ล้วนแสดงให้เห็นชัดเจนว่าพระราชโอรสพระองค์นี้อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์อย่างที่ทรงเรียกว่า “ลูกไม้เท้า” เช่น “—ลงเดินมาในตลาดกับบริพัตร อุรุพงษ์ ดุ๊กสี่คนด้วยกัน ตลาดนั้นเห็นจะยาวสักเท่าตลาดเมืองสงขลาได้—” และ “—ได้ขโมยขึ้นรถโมเตอร์คาร์ของรพี ซึ่งดูหน้าตาตันๆ อยู่ไปกับชายบริพัตร ชายอุรุพงษ์ รพี และพระยาบุรุษ—”

ทรงตามพระทัยเจ้าชายน้อย “—แต่อุรุพงษ์เศร้าสร้อยว่าไม่ได้ไปกลัวจะร้องไห้อย่างเช่นตาต่อ จึงได้เอาไปด้วย—” หรือขณะอยู่ที่ประทับก็มิได้ทรงห่างจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ “—วันนี้เจ็บขาไม่ได้ไปกินเข้าตามเคย กินในห้องกับชายสองคนคลุกข้าวกับกะปิ—” ทรงมีพระปฏิภาณไหวพริบคล่องแคล่วในการทรงรับใช้ใกล้ชิด ดังที่ทรงเล่าว่าให้มหาดเล็กเข้าไปค้นหนังสือเรื่องเมอริวิโดในห้องพระบรรทม แต่ไม่ได้เรื่อง ต้องทรงใช้เจ้าชายน้อย ดังที่ทรงเล่าว่า “—ต้องให้อุรุพงษ์ไปค้นจึงได้—”

นอกจากเจ้าชายน้อยจะเป็นที่รักใคร่เอ็นดูของสมเด็จพระบรมชนกนาถแล้ว ยังทรงเป็นที่รักเอ็นดูของเจ้านายในราชวงศ์ที่เสด็จไปเยี่ยมเยียน ดังที่ทรงเล่าไว้อย่างชื่นชมและภูมิพระราชหฤทัยว่า “—พ่อลืมเล่าถึงชายอุรุพงษ์ออกจะรวยๆ ใครเห็นใครอี๋ ถูกแต่ผู้หญิงหยอกจับแก้มร่ำไป ไปข้างไหนตามกันเป็นพรวนน่าเอ็นดู ใครๆ ชอบให้ของ แมรี่เมืองฟลอเรนซ์ก็ให้หีบเงินใส่ขนม เมียเซคโยให้ลูกกระดุม ยังได้อะไรอีกหลายสิ่ง—”

ที่พระราชวังอะมัลเลียนเบิร์ก ประเทศเดนมาร์ก ทรงเล่าว่า “—เด็กสามคนลูกวัลดิมาร์ (ปรินซ์วาลเดอร์มาร์) เป็นผู้ชายสองผู้หญิงหนึ่ง น่ารักทั้งสามคน ผู้หญิงนี่จะฉลาดกว่าเพื่อน ด้วยมาเล่นอยู่ในห้องพ่ออยู่เสมอ ไปสวนก็ลงไปด้วย ชอบเล่นกับอุรุพงษ์อย่างยิ่ง แต่ของเราขี้กระดาก แต่เพราะอยู่ด้วยกันก็คุ้นกันไป ลงปลายถึงอยากให้เข้าไปบางกอก—”

ที่ประเทศอิตาลี ทรงเล่าว่าพระเจ้าวิกเตอร์ แอมมานูแอล เสด็จมาเยี่ยมในเรือที่ประทับ “—เจ้าแผ่นดินลอดตาไป เห็นอุรุพงษ์จับตัวมาปล้ำ ขอให้พาไปกินข้าวกลางวันด้วย—”

ความรักเอ็นดูในพระราชโอรสพระองค์นี้ปรากฏเสมอๆ แม้บางครั้งจะทรงทำสิ่งใดผิดพลาดก็มิได้ทรงกริ้วโกรธ เช่นครั้งนี้มีพระราชประสงค์จะทำ “เข้าต้มบะช่อ” ครั้งนั้นมีอุปสรรคเกิดขึ้นมากมาย นับแต่อุปกรณ์หุงต้มซึ่งมีเพียงหมอดินหนาตึ้บ “—ได้หม้อดินหนาตึ้บ โตกบเตา—” เครื่องปรุงมีความผิดพลาด “—หม่อมนเรนท์กับตาอ้นหั่นไก่จะมาผัดน้ำปลากับพริกไทย พ่อเป็นผู้ผัด ผัดไปผัดมาดำเป็นหมึก ไม่รู้ว่าเรื่องราวอะไร—” หน้าตากินตาย ตกลงเป็นต้องเททิ้ง จึงโปรดให้เปลี่ยนจากไก่เป็นเบคอนทอด อุปสรรคสำคัญคือน้ำข้าวต้มไม่พอ โปรดให้ไปหาน้ำมาเพิ่ม

ครั้นได้น้ำมาก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเมื่อ “—ชายอุรุพงษ์เหยียบโครมลงไปในถังหกหมด—” ประกอบเข้ากับ “—คอยเข้าจนทุ่มครึ่งก็ไม่เดือด—” วงการทำ “เข้าต้มบะช่อ” ซึ่งประสบอุปสรรคนานาประการจึงมีอันต้องล้มเลิก “—ทั้งความมืดก็เข้ามาเยือน ความหิวโหยก็เข้ามาซ้ำ—” แต่ก็มิได้ทำให้ทรงพระอารมณ์เสีย เพียงแต่ “—กลับไปกินโฮเตลดีกว่า—”

แม้เมื่อพระราชโอรสพระองค์นี้จะทรงเจริญพระชันษาตามพระราชประเพณีจะต้องทรงออกวัง แต่ก็มิได้โปรดให้พระองค์เจ้าอุรุพงศ์อยู่ห่างจากพระองค์มากนัก โปรดให้สร้างพระตำหนักพระราชทานใกล้ๆ กับพระราชสำนักฝ่ายใน มิได้แยกไปเสียทีเดียว มีเพียงกำแพงกั้นด้านหลังบังตาตอนต่อกับข้างใน เพื่อมิให้แลเห็นกันเท่านั้น

ความสุขของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอันเกิดจากพระราชโอรสพระองค์นี้มีระยะเวลาอันสั้น เพราะโดยที่ไม่มีผู้ใดคาดคิดมาก่อน ว่าเจ้าชายผู้ยังทรงหนุ่มแน่น มีพระชันษาเพียง ๑๗ ปี จะประชวรหนักกะทันหันด้วยพระโรคพระอันตะอักเสบ เรียกกันในสมัยนั้นว่า โรคไส้ตัน เพราะลำไส้มีอาการบวม ทำให้อาหารเดินไม่สะดวก

สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระวิตกกังวล เอาพระราชหฤทัยใส่ดูแลใกล้ชิดถึงกับทรงออกพระโอษฐ์ว่า “—การที่ลูกเจ็บคราวนี้ได้รับความเดือดร้อนเต็มที—” แต่ก็ไม่ทรงสามารถที่จะยึดยื้อพระชนมชีพของเจ้าชายหนุ่มได้ เสด็จสิ้นพระชนม์ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2452 ทรงโทมนัสเป็นที่สุดถึงกับประทับอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ไหว “—จะทนอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ไหวด้วยรู้สึกไม่สบายมาก จึงจะออกไปพักอยู่เพชร สบายจึงจะกลับ—”

และเชื่อกันว่าการสิ้นพระชนม์ของพระราชโอรสพระองค์นี้ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระพลานามัยของพระองค์ทรุดโทรม อันเนื่องมาแต่ความโทมนัสถึงพระราชโอรสที่ “—เหลืออยู่เพียงคนเดียวเท่านั้น—”

งานพระเมรุพระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช

* อุรุพงศ์ – ตามหนังสือ “ราชสกุลวงศ์” อุรุพงษ์ – ตามพระราชหัตถเลขา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มกราคม 2561